Skip to main content
sharethis

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยศาลให้ประกัน 14 ผู้ถูกจับกุม #ม็อบ11สิงหา หลังตร.ขอฝากขัง อ้างกลัวก่อเหตุร้ายอีก - ตร.จับกุมผู้ชุมนุม #ม็อบ7สิงหา อีกราย อ้างยุยงให้ขว้างก้อนหินใส่จนท. ก่อนศาลให้ประกันตัว - ศาลอุทธรณ์ให้ประกัน “ปูน ธนพัฒน์” ชี้เพิ่งพ้นวัยเยาวชน-เข้ามอบตัวเอง ส่วนอีก 8 นักกิจกรรมศาลยกร้องคำร้อง ด้าน “ไผ่ จตุภัทร์” นัดไต่สวนประกัน 16 ส.ค.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 ว่าหลัง 14 ผู้ถูกจับกุมระหว่างและหลังการชุมนุม #ม็อบ11สิงหา ถูกควบคุมตัวที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ตั้งแต่คืนวันที่ 11 ส.ค. 64 รวมเป็นเวลา 2 คืน พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลฝากขังตามพื้นที่ของสถานีตำรวจที่เกิดเหตุและฐานความผิดที่ถูกกล่าวหา โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ถูกจับกุมระหว่างการชุมนุม บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จำนวน 11 ราย (มี 1 รายได้ประกันในชั้นตำรวจวานนี้) และกลุ่มที่ถูกจับกุมบริเวณแยกดินแดง หลังกลุ่มทะลุฟ้าประกาศยุติการชุมนุม 

กลุ่มประชาชน 11 ราย ที่ถูกจับกุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมทั้ง “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง พนักงานสอบสวน สน.พญาไท ได้ยื่นคำร้องขออำนาจศาลอาญาฝากขังระหว่าง โดยระบุเหตุว่ายังต้องสอบสวนเพิ่มเติม และยังคัดค้านการประกันตัว โดยอ้างว่าผู้ต้องหานั้นกระทำการไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง  ไม่คำนึงถึงความปลอดภัย และความสงบเรียบร้อยของสังคมในภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และยังเข้าร่วมชุมนุมก่อเหตุร้ายขึ้นเรื่อยๆ เช่น วางเพลิงเผาทรัพย์ทรัพย์สินของราชการ ทุบทำลายทรัพย์สินจนเกิดความเสียหายรวมไปถึงการร่วมกันทำร้ายเจ้าหน้าที่ ดังนั้น ถ้าหากปล่อยตัวผู้ต้องหาไปอาจไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก 

ด้านทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว พร้อมกับใช้ตำแหน่งสภาผู้แทนราษฎรจาก ส.ส.พรรคก้าวไกลเป็นหลักประกัน โดยยืนยันว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวเป็นการชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธ อันได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยในพฤติการณ์ข้อกล่าวหาของพนักงานสอบสวนนั้นเป็นการกล่าวหาโดยรวม ไม่ได้ชี้ชัดเจาะจงว่าผู้ต้องหากระทำผิดอะไรบ้าง และถ้าหากเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีการกระทำผิดเกิดขึ้นในภายหลัง ต้องถือว่าเป็นเจตนาของแต่ละคน ถือเป็นเจตนาร่วมกันสำหรับผู้ชุมนุมทุกคนไม่ได้

ต่อมา ราว 16.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวทั้ง 11 คน ในวงเงินคนละ 35,000 บาท โดยใช้ตำแหน่ง ส.ส. ของพรรคก้าวไกลจำนวน 2 คน พร้อมกำหนดนัดรายงานตัวต่อศาลวันที่ 30 ก.ย. 64 เวลา 08.30 น. ที่ศาลอาญา 

อ่านข่าวนี้เพิ่มเติมในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ตร.จับกุมผู้ชุมนุม #ม็อบ7สิงหา อีกราย อ้างยุยงให้ขว้างก้อนหินใส่จนท. ก่อนศาลให้ประกันตัว

13 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 14.00 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้รับแจ้งเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุม “ทัช” (นามสมมติ) อายุ 35 ปี จากบ้านพักในเขตบางกะปิ ก่อนควบคุมตัวไปที่ สน.ลาดพร้าว ในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม #ม็อบ7สิงหา เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 64 เพื่อยืนยันข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ ให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี, ให้นำงบสถาบันฯ และกองทัพมาใช้ในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และให้รัฐบาลใช้วัคซีน mRNA แทนวัคซีนอื่นๆ ที่ได้รับการระบุว่าเป็นของ “เจ้าสัว CP”

ตำรวจชุดจับกุมจาก สน.ลาดพร้าว และ กองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 4 รวม 13 นาย ได้ร่วมจับกุมตัวทัช ตามหมายจับออกโดยศาลอาญาที่ จ.1321/2564 ลงวันที่ 12 สิงหาคม 2564 ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ต.พรชัย ขจรกลิ่น ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 4

หลังนำตัวผู้ต้องหามาที่ สน.ลาดพร้าว ตำรวจได้ทำบันทึกจับกุม โดยบรรยายพฤติการณ์ว่า ก่อนมีการจับกุมคดีนี้ เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับคําสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ออกสืบสวน ติดตาม จับกุมตัวนายทัช ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา ที่ จ.132/2564 ลงวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งถูกกล่าวหาว่า “ร่วมกันมั่วสุ่มกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือกระทําการอย่างหนึ่งอย่างใดให้ เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง โดยมีหน้าที่เป็นผู้สั่งการในการกระทําความผิด” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215

หลังจากเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้สืบสวนจนพบที่อยู่ของทัช จึงได้ร่วมกันไปตรวจสอบสังเกตการณ์อยู่บริเวณหน้าที่พัก จนเวลาประมาณ 11.00 น. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมพบกับทัช จึงได้แสดงหมายจับ

นอกจากนี้ ในบันทึกการจับกุมยังมีการระบุว่า เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ร่วมกันตรวจยึดทรัพย์สินต่างๆ เป็นของกลาง อาทิ โทรศัพท์มือถือ โน้ตบุ๊ค แฟลชไดรฟ์ และชุดแต่งกาย รวมทั้งสิ้น 6 รายการ 

ต่อมาพนักงานสอบสวนจาก สน.ดินแดง ได้เดินทางมาสอบปากคำทัช และแจ้งข้อกล่าวหาอื่นๆ เพิ่มเติม ได้แก่ “ร่วมกันพยายามทําร้ายร่างกายเจ้าพนักงานซึ่งกระทําตามหน้าที่ จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 296 และ “ฝ่าฝืนข้อกําหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ข้อ 7 (2)” ทำให้รวมถูกแจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด 3 ข้อหา ในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

อ่านข่าวนี้เพิ่มเติมในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ศาลอุทธรณ์ให้ประกัน “ปูน ธนพัฒน์” ชี้เพิ่งพ้นวัยเยาวชน-เข้ามอบตัวเอง ส่วนอีก 8 นักกิจกรรมศาลยกร้องคำร้อง ด้าน “ไผ่ จตุภัทร์” นัดไต่สวนประกัน 16 ส.ค.

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าเมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 เวลาประมาณ 10.00 น. ทนายความได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญา เพื่อขอประกันตัว “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมกลุ่ม “ทะลุฟ้า” ใน 2 คดี ได้แก่ คดี #ม็อบ3สิงหา สาดสีหน้าสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง และคดี #ม็อบ30กรกฎา สาดสีรั้วหน้าพรรคภูมิใจไทย รวมถึงยื่นประกันกรณีถูกเพิกถอนประกันชั่วคราวในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร 

นอกจากนี้ทนายความยังได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวนักกิจกรรม 9 ราย จากเหตุชุมนุม #ม็อบ2สิงหา ต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ที่ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 1 อนุญาตให้ประกันตัวเพียง 1 ราย คือ “ปูน” ธนพัฒน์ ส่วนผู้ถูกกล่าวหาอีก 8 รายที่เหลือศาลได้ยกคำร้อง

ทนายความยังได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่” ต่อศาลอาญาอีกด้วย โดยได้ยื่นขอประกันใน 2 คดีเป็นครั้งที่ 2 ได้แก่ คดี #ม็อบ30กรกฎา สาดสีรั้วหน้าพรรคภูมิใจไทย และคดีชุมนุม #ม็อบ3สิงหา สาดสีป้ายสน.ทุ่งสองห้อง หลังจากศาลไม่ให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 อีกทั้งยังได้ยื่นขอประกันในการถูกเพิกถอนประกันในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร อีกด้วย 

คำร้องขอประกันตัวจตุภัทร์ จากเหตุการถูกเพิกถอนประกันในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร นั้น ทนายความได้ระบุว่า การที่ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 2564 ศาลกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวเพียง 2 ข้อคือ “ห้ามทำกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร”และต่อมาพนักงานอัยการยื่นคำร้องเพิกถอนประกันโดยระบุว่า จำเลยได้กระทำการก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง

จำเลยเห็นว่าคำร้องขอเพิกถอนประกันดังกล่าวยังไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย โดยไม่เปิดโอกาสให้จำเลยได้โต้แย้งและชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาล และระบุอีกว่าเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวที่ถูกเพิกถอนไปในคดีนี้นั้น จำเลยยืนยันว่าไม่ได้กระทำการใดๆ ที่ผิดเงื่อนไขของศาลทั้งสิ้น 

คำร้องขอเพิกถอนประกันของอัยการที่อ้างว่า จำเลยได้ก่อความวุ่นวายนั้น ยืนยันว่าเป็นพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างสันติวิธีภายใต้ขอบเขตของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีกิจกรรมร้ายแรง ไม่ได้ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญ ซึ่งศาลไม่ได้กำหนดเป็นเงื่อนไขห้ามไม่ให้จำเลยใช้สิทธิและเสรีภาพดังกล่าวอีกด้วย

อีกทั้งจำเลยเป็นเพียงนักศึกษาทั่วไปที่มีจิตใจรักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม ไม่ได้มีพฤติกรรมเลวร้าย หรือมีจิตคิดเป็นอาชญากร กิจกรรมที่ทำลงไปเพียงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำการแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคโควิด 2019 อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น

ต่อมาศาลอาญาได้มีคำสั่งนัดให้มีการไต่สวนคำร้องขอประกันตัวจตุภัทร์ ในวันที่ 16 ส.ค. 2564 เวลา 10.00 น. 

อ่านข่าวนี้เพิ่มเติมในเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net