Skip to main content
sharethis

“เจ้ย อภิชาติพงศ์” ออกจดหมายเปิดผนึกท้วงคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติกรณีถอด สุชาติ สวัสดิ์ศรีจากตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ ติงเป็นการใช้อำนาจโดยขัดหลักประชาธิปไตย ปฏิเสธสิทธิคนเห็นต่างที่ใช้เสรีภาพแสดงออก เป็นความตกต่ำในการพัฒนาวัฒนธรรมของไทย

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

24 ส.ค.2564 อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ Memoria ที่เพิ่งได้รางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด 2564 ออกจดหมายเปิดผนึกถึง วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และผู้เกี่ยวข้อง กรณีมีมติเห็นควรให้ยกเลิกการยกย่องเชิดชูเกียรติ สุชาติ สวัสดิ์ศรี เป็นศิลปินแห่งชาติด้านวรรณศิลป์

อภิชาติพงศ์ระบุไว้ในจดหมายว่ามติดังกล่าวของคณะกรรมการฯ เป็นการใช้อํานาจในทางที่ขัดกับหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ปฏิเสธสิทธิของบุคคลที่จะคิดต่างโดยปราศจากการข่มขู่จากรัฐ อีกทั้งยังเป็นแบบอย่างของการเกื้อหนุนการกําจัดหรือลงโทษผู้ที่เห็นต่างที่จะทำให้เกิดสงครามระหว่างประชาชนกันเอง สร้างบรรยากาศความหวาดกลัวเช่นเดียวกับรัฐเผด็จการในหลายประเทศ

ผู้กำกับมือรางวัลยังระบุไว้อีกว่ามติดังกล่าวเป็นความตกต่ำในการพัฒนาวัฒนธรรมของไทยอีกด้วย

 

Memoria ของ 'อภิชาติพงศ์' คว้า Jury Award งานภาพยนตร์เมืองคานส์

 

24 สิงหาคม 2564

จดหมายเปิดผนึก

ถึง

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

นายประสพ เรียงเงิน รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม

คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

 

ผมติดต่อท่านมา ณ ที่นี้เพื่อแจ้งความกังวลเกี่ยวกับการที่คณะกรรมการฯ มีมติในการประชุมวันที่ 19 ส.ค.2564 ยกเลิกการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2554

การดึงใครบางคนออกจากเกียรติที่รัฐเคยมอบให้เพราะเขาแสดงความคิดเห็นโดยชอบ ท่านได้ใช้อํานาจของท่านในทางที่ขัดกับหลักการพื้นฐานของสังคมประชาธิปไตย ท่านปฏิเสธสิทธิของบุคคลที่จะคิดต่างโดยปราศจากการข่มขู่จากรัฐ เป็นแบบอย่างของการเกื้อหนุนการกําจัดหรือลงโทษผู้ที่เห็นต่าง ซึ่งนําไปสู่สงครามระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ทําให้ความมั่นคงในชาติสั่นคลอน มติของท่านสร้างบรรยากาศแห่งความกลัวซึ่งไม่ต่างจากรูปแบบการควบคุมความคิดประชาชนของรัฐเผด็จการในหลายประเทศ

การตัดสินใจของท่านถือเป็นก้าวที่ตกต่ำในการพัฒนาวัฒนธรรมของประเทศไทย อย่างไรก็ตามผมหวังว่าการพิจารณาในครั้งนี้ทําด้วยดุลยพินิจของท่านเอง ซึ่งเป็นผลมาจากทัศนคติส่วนตัวเกี่ยวกับคําว่า "ศิลปิน" และ"เสรีภาพในการแสดงออก" ว่ามีความหมายต่อท่านอย่างไร ซึ่งเราจะต้องหารือเกี่ยวกับบทบาทของรัฐที่เหมาะสมในสังคมประชาธิปไตย เกี่ยวกับสิ่งที่เราคาดหวังจากบุคลากรที่ปรึกษาทางวัฒนธรรมผู้มีรายได้จากภาษีของประชาชน

แต่หากการตัดสินใจของท่านเกิดขึ้นเพราะมีการแทรกแซงจากอํานาจเบื้องบน นั่นหมายความว่าท่านเต็มใจที่จะปล่อยให้ความซื่อสัตย์ของท่านถูกบดขยี้ด้วยความกลัวและความขลาด ท่านถูกข่มขู่ให้ยอมจํานนและส่งมอบการข่มขู่นี้ไปยังนายสุชาติ สวัสดิ์ศรี และต่อมายังสาธารณชน

จดหมายฉบับนี้เป็นเพียงมุมมองหนึ่ง หากคํานึงถึงหลักการและความหนักหนาของมตินี้แล้ว ควรจะมีการตั้งเวทีสาธารณะเพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นต่อประเด็นนี้อย่างจริงจัง ในขณะที่เราอยู่ท่ามกลางโรคระบาดผมขอแนะนําให้ท่านเปิดพื้นที่ออนไลน์สําหรับการสนทนาสด ด้วยจิตวิญญาณของความโปร่งใสและหวังไปพร้อมกันว่าเราจะพัฒนาภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมของเราให้ดียิ่งขึ้นไป

ด้วยความเคารพในเสียงที่ต่างกันของเพื่อนมนุษย์

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

 

ศิลปินรางวัลศิลปาธรประจําปี 2548 สาขาภาพยนตร์

ศิลปินเครื่องราชอิสริยาภรณ์ Ordre des Arts et des Lettres ชั้น Commandeur ประเทศฝรั่งเศส 2560

ศิลปินรางวัล The Prince Claus Awards ประเทศเนเธอร์แลนด์ 2559

ศิลปินรางวัลฟูกูโอกะ สาขาศิลปะและวัฒนธรรม ประเทศญี่ปุ่น 2556

ศิลปินรางวัล Sharjah Biennial Prize สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net