Skip to main content
sharethis

พรรคก้าวไกลชี้กรณี #ผู้กำกับโจ้ เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว พร้อมระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่ผ่าน กมธ. เข้าสภาไปเมื่อปีที่แล้วยังคงไร้วี่แววได้รับการพิจารณา ด้าน 'พิธา' เผยว่าพรรคก้าวไกลพร้อมเป็นปากเสียงให้ประชาชนและ 'ตำรวจน้ำดี' ร่วมเปิดโปงการซ้อมทรมาน

25 ส.ค. 2564 วานนี้ (24 ส.ค. 2564) พรรคก้าวไกลโพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กทางการของพรรค ระบุว่า การซ้อมทรมานเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของการละเมิดสิทธิมนุษยชน กระบวนการยุติธรรม และวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทย จากกรณีที่ พ.ต.อ.ธิติสรรค์ อุทธนพล ผกก.สภ.เมืองนครสวรรค์ หรือผู้กำกับโจ้ ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายผู้ต้องหาคดียาเสพติดเพื่อกรรโชกทรัพย์ 1,000,000 บาท โดยมีการเผยแพร่คลิปวิดิโอออกมาเป็นหลักฐาน ทั้งยังระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ที่บรรจุระเบียบวาระเข้าในสภาผู้แทนราษฎรไปตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 2563 ยังคงไร้วี่แววว่าจะได้รับการพิจารณาในเร็วๆ นี้

พรรคก้าวไกลระบุว่าการทำร้ายร่างกายประชาชนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และ “การซ้อมทรมาน” เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงที่สุดประเภทหนึ่ง และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาโดยตลอด ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เผด็จการทหารรุ่งเรือง และกฎหมายพิเศษถูกบังคับใช้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการได้ตามอำเภอใจโดยไม่ต้องรับผิด

ความแตกต่างของ “การซ้อมทรมาน” กับ “ฆาตกรรม” หรือ “ทำร้ายร่างกาย” คือ การซ้อมทรมานเป็นการสร้างความเจ็บปวดต่อผู้เสียหาย เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ให้ยอมรับสารภาพ ข่มขู่ให้กลัว อีกทั้งยังมีการทรมานด้วยวิธีใหม่ๆ ที่ไม่ทำให้เกิดบาดแผลภายนอก หรือการทรมานทางจิตใจอย่างรุนแรง เป็นการกระทำที่ป่าเถื่อนย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และส่วนมากเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐและเกิดขึ้นระหว่างกระบวนการยุติธรรมทั้งสิ้น

ตัวอย่าง การซ้อมทรมาน-อุ้มหาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐระหว่างกระบวนการยุติธรรม คือ กรณีของ อับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัว โดยหน่วยซักถาม ค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี จนถึงวันนี้การตายของอัลดุลเลาะก็ยังเป็นปริศนา และไม่มีใครถูกลงโทษแม้แต่คนเดียว รวมทั้ง ลูกชายของสมศักดิ์ ชื่นจิตร ซึ่งถูกตำรวจซ้อมทรมานระหว่างสอบสวน ทุบตี เอาถุงขยะครอบหัว เพื่อบังคับให้รับสภาพว่าวิ่งราวทอง ต่อมาแม้ศาลจะพิพากษาลงโทษนายตำรวจหนึ่งคนที่เกี่ยวข้อง แต่ศาลก็ยกฟ้องคดีของนายตำรวจอีกคนเพราะหมดอายุความ มิหนำซ้ำตำรวจคนดังกล่าวยังฟ้องผู้เสียหายกลับในข้อหาฟ้องเท็จอีก นอกจากนี้ ยังมีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกอุ้มหายและจากสภาพศพที่พบในภายหลังก็พบร่องรอยการถูกซ้อมทรมานก่อนเสียชีวิตอย่างทารุณ ไม่ว่าจะเป็น ชัชชาญ บุปผาวัลย์ (ภูชนะ), อิทธิพล สุขแป้น (ดีเจซุนโฮ) และ ไกรเดช ลือเลิศ (สหายกาสะลอง) ฯลฯ

ปัญหาที่เกิดขึ้นที่นครสวรรค์จึงไม่ใช่แค่ปัญหาเฉพาะกรณี ไม่ใช่ความเลวทรามของตำรวจคนเดียว แต่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของการละเมิดสิทธิมนุษยชน กระบวนการยุติธรรม และวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐในประเทศไทย การจะป้องกันไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นอีก จำเป็นต้องผลักดัน “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” เพื่อให้มีกลไกป้องกัน ปราบปราม และเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าจะเป็นการกระทำต่อบุคคลให้เจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานในลักษณะที่ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีโดยเจ้าหน้าที่ต้องเป็นความผิดทางอาญา, ให้ความผิดมีอายุความยาวกว่าปกติ, การควบคุมตัวต้องแจ้งสิทธิ ลงบันทึก เปิดเผยข้อมูล, การเสียชีวิตระหว่างควบคุมตัวต้องเร่งชันสูตรและให้ญาติมีส่วนร่วม, พ่อแม่-ลูก-คู่ชีวิต นับเป็นผู้เสียหายในคดี มีสิทธิตามกฎหมาย, ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและผู้บังคับบัญชาต้องรับโทษด้วย, ให้มีคณะกรรมการกลางที่มีตัวแทนผู้เสียหายและภาคประชาสังคม

ปัจจุบัน “ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย” ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน โดยการผลักดันของภาคประชาชนแล้ว กมธ. มีมติเห็นชอบและส่งเข้าบรรจุระเบียบวาระของสภาผู้แทนราษฎรไปตั้งแต่วันที่ 8 ก.ค. 2563 แต่ผ่านมาแล้วมากกว่า 1 ปี 1 เดือน 16 วัน ยังไม่มีวี่แววว่าสภาผู้แทนราษฎรจะได้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เลย จึงเรียกได้ว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ถูกอุ้มหายไปแล้วเหมือนกัน

เมื่อประธานสภาไม่บรรจุกฎหมายเข้าระเบียบวาระ อีกหนึ่งความเป็นไปได้ในการผ่านกฎหมายก็คือรอร่างกฎหมายของ ครม. ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม (ทั้งนี้ยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหาของร่างที่ไม่ครอบคลุมประเด็นรายล้มต่างๆ เกี่ยวกับการซ้อมทรมานและอุ้มหายอย่างเพียงพอ) ส่งเข้ามาให้สภาพิจารณา แล้วจึงจะสามารถนำร่างกฎหมายฉบับอื่นในประเด็นเดียวกันมาพิจารณาประกบได้ แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังเงียบหาย ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าผู้มีอำนาจในสังคมไม่เคยคิดว่าการซ้อมทรมานและการอุ้มหายคือการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

สุดท้าย พรรคก้าวไกลระบุว่าหากประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายใดที่ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานอย่างเพียงพอ และยังไม่มีมาตรการที่สอดคล้องกับหลักการสากลเพื่อยุติการบังคับให้บุคคลสูญหาย ผู้กระทำผิดโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังคงลอยนวลต่อไป และเหตุการณ์ลักษณะนี้อาจเกิดขึ้นซ้ำๆ ในสถานีตำรวจ ในค่ายทหาร ในจุดตรวจ อีกหลายแห่ง

นอกจากนี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังโพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ระบุว่าขอแสดงความเสียใจกับผู้เสียชีวิตที่ถูกกระทำจากบุคคลในระบบยุติธรรม และขอให้กำลังใจคนที่ออกมาเปิดโปงเหตุการณ์ในครั้งนี้ พร้อมติดแฮชแท็ก #ผู้กำกับโจ้ ทั้งยังระบุว่าพรรคก้าวไกลได้เสนอร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการบังคับสูญหาย รวมถึง Anti-SLAPP Law ป้องกันการฟ้องปิดปากไปแล้ว โดยอยู่ในระหว่างกระบวนการศึกษาและรอการพิจารณา แลกหากประชาชนหรือเจ้าหน้าที่รัฐมีข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในลักษณะนี้ รวมถึงกรณีการทุจริตต่างๆ สามารถส่งเบาะแสเข้ามาได้ที่อีเมลของพรรค office@moveforwardparty.org โดนตนและพรรคก้าวไกลจะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง และเก็บรักษาความลับ เพื่อปกป้องพยานให้ดีที่สุด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net