ศาลตัดสินจำคุกมือปืนลอบยิง 'ดำ อ่อนเมือง' นักปกป้องสิทธิฯ สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)

ศาลพิพากษาคดีการลอบสังหารรายที่ 6 นักปกป้องสิทธิฯ ด้านที่ดินสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) โดยศาลจังหวัดเวียงสระสั่งลงโทษจำคุกสมพร ผู้ลอบยิง 'ดำ อ่อนเมือง' เป็นเวลา 13 ปี 16 เดือน พร้อมกับให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

26 ส.ค. 2564 ทีมสื่อของสหพันธ์เกษตรภาคใต้ (สกต.) รายงานว่าวันนี้ (26 ส.ค. 2564) เวลา 09.00 น. ที่ศาลจังหวัดเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ อ.18/2564 คดีของ 'ดำ อ่อนเมือง' นักปกป้องสิทธิในที่ดินชุมชนสันติพัฒนา ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ที่ถูกลอบสังหาร โดยดำสามารถหลบกระสุนปืนแบบฉิวเฉียดและเอาชีวิตรอดมาได้ ก่อนหน้านี้ ในวันที่ 29-30 มิ.ย. 2564 ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์และจำเลย โดยคดีนี้ดำได้ตั้งทีมทนายความเข้าไปเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการจังหวัดเวียงสระ

วันนี้ศาลจังหวัดเวียงสระ มีคำพิพากษาจำคุกสมพร ฉิมเรือง (จำเลย) เป็นเวลา 13 ปี 16 เดือน และขอให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ดำอีก 30,000 บาท เนื่องจากดำได้เรียกค่าเสียหายไปเป็นจำนวน 60,000 บาท และสมพร (จำเลย) ชดใช้ไปแล้วจำนวน 30,000 บาท (เป็นการสรุปคำพิพากษาเบื้องต้น)

ดำ ในฐานะผู้เสียหาย (โจทก์) กล่าวความรู้สึกจากการฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นแล้วว่า "รู้สึกพอใจในคำพิพากษา รู้สึกว่าตนเองได้รับความยุติธรรมแล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการต่อสู้ของ สกต. ที่ผ่านมา ซึ่งเพื่อนๆ ได้ถูกสังหารไปแล้ว 4 คน และยังถูกลอบยิงอีก 2 คนรวมตนเอง และเรื่องของตนเองเป็นครั้งแรกที่สามารถจับตัวคนร้ายมาลงโทษได้จริง ถือว่าเป็นผลดีกับ สกต. ที่ได้รับความยุติธรรมในครั้งนี้"

ดำกล่าวเสริมอีกว่า ตนรู้สึกขอบคุณหน่วยงานต่างๆ เป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น สกต., พีไอ และทนายความ ที่ได้ให้ความช่วยเหลือตนเป็นอย่างดีมากมาโดยตลอดในการเตรียมตัวทำคดี จนมาถึงวันนี้ที่ตนได้รับความยุติธรรม

นัฐาพันธ์ แสงทับ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และผู้รับมอบอำนาจจากทนายความของนายดำกล่าวภายหลังการจากการรับฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้นว่า "รู้สึกตื่นเต้น และดีใจกับลุงดำเป็นอย่างมาก ที่ศาลได้ให้ความยุติธรรมแก่คดีลุงดำ ตนรู้สึกว่าลุงดำได้รับความยุติธรรมอย่างแท้จริง 100% และตนเห็นว่าในเมื่อเรื่องของลุงดำสามารถได้รับความยุติธรรมได้จริง ดังนั้นเรื่องที่คนอื่นๆ ใน สกต. ที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือที่ตอนนี้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ในประเทศไทยที่กำลังเรียกร้องหาความเป็นธรรม ก็ควรจะได้รับความยุติธรรมอย่างทั่วถึงเช่นกัน”

ด้าน อัมพร สังข์ทอง ทนายความของดำกล่าวหลังจากได้รับทราบผลของคำพิพากษาแล้วว่า คดีนี้ประสบความสำเร็จ รู้สึกพอใจกับความพิพากษาในวันนี้ เพราะเห็นว่าศาลมีคำพิพากษาลงโทษตามกฎหมายและคดีนี้เป็นที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นคดีแรกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ที่กระบวนการยุติธรรมสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ โดยที่ผ่านมามีผู้หญิงและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนถูกลอบสังหารไปแล้ว 4 คน และพยายามถูกลอบสังหารไปแล้วจำนวน 1 คน ก็ไม่สามารถที่จะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ โดยคดีนี้ผู้เสียหายหรือประจักษ์พยานก็ยืนว่าผู้ใดเป็นผู้กระทำ และมีพยานหลักฐานชัดเจน แต่ก็อาจจะมีความกังวลว่าจำเลยจะดำเนินการอุทธรณ์คดีซึ่งเป็นไปตามสิทธิของจำเลย แต่ก็ยังยืนยันในพยานหลักฐานที่มีและพร้อมที่จะต่อสู้เคียงข้างนายดำต่อไป ทั้งนี้ ดำกับ สกต. และทนายความก็ยังรอติดตามว่าทางจำเลยจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ โดยการอุทธรณ์สามารถทำได้ภายใน 30 วัน ซึ่งหากจำเลยยื่นอุทธรณ์ ตนกับทนายก็จะดำเนินการเขียนคำคัดค้านการอุทธรณ์

ด้าน อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวว่า “การที่ศาลมีคำพิพากษาลงโทษผู้กระทำผิดกรณีสังหารนายดำ อ่อนเมือง .. สมาชิก สกต. ถือเป็นชัยชนะระดับหนึ่งของชาวบ้าน อย่างไรก็ดี การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถหาพยานหลักฐานเพื่อเอาผิดต่อผู้จ้างวานฆ่าถือเป็นความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรม และทำให้ผู้กระทำผิดยังคงลอยนวล ดิฉันหวังว่ากรณีนี้จะกระตุ้นเตือนให้รัฐบาลหามาตรการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และยุติการลอยนวลพ้นผิดในประเทศไทยต่อไป”

ปรานม สมวงศ์ จาก Protection International ระบุว่า ในประเทศไทยการละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมอย่างเลวร้ายที่สุดเกิดขึ้นจากการแสวงหาและใช้ประโยชน์อย่างไม่ถูกต้องจากที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการทุจริตในโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจของประเทศทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินและสิ่งแวดล้อมและขบวนการต่อสู้ของพวกเขา เช่นกรณีนี้คือ ดำ อ่อนเมือง และสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) พวกเขาคือประชาชนที่ยืนหยัดอย่างเข้มแข็งในการต่อต้านระบบนี้ เราขอเรียกร้องอีกครั้งให้รัฐปฏิบัติหน้าที่ของตนเพื่อ 'ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการสอบสวนในทันทีและอย่างเป็นอิสระในทุกกรณีที่มีการละเมิดนักปกป้องสิทธิมนุษยชน' 'มีการดำเนินคดีกับผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด' และ 'มีการเข้าถึงการเยียวยาที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ' รวมถึงมีการชดเชยสำหรับผู้เสียหาย

"หน้าที่ของรัฐในการปกป้องคุ้มครองนักปกป้องสิทธิฯ ดังกล่าวนี้ขึ้นอยู่กับเจตจำนงทางการเมือง ตลอดจนความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือรัฐบาล เจ้าหน้าที่ตำรวจและตุลาการ" ปรานมกล่าว

ดำ อ่อนเมือง (กลาง) และผู้เกี่ยวข้องที่เข้าร่วมรับฟังคำพิพากษาในคดีนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท