Skip to main content
sharethis

สรุปเสวนาบนเวทีสาธารณะ "ทะลุทางออกที่ดินแดง" ฟังเรื่องราวสะท้อนเสียงประชาชนชาวแฟลตดินแดง ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและการควบคุมฝูงชนที่ยืดเยื้อยาวนาน กว่า 2 เดือนบริเวณแยกดินแดง เพื่อให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ องค์กรอิสระ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ได้รับฟังปัญหา เชื่อมประสานเพื่อหาทางออก

2 ต.ค. 2564 วันนี้ (2 ต.ค. 2564) เวลา 14.00-16.00 น. ที่โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF) ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และศูนย์สื่อสารวาระทางสังคมและนโยบายสาธารณะ Thai PBS หรือ The Active จัดงานเสวนาบนเวทีสาธารณะในหัวข้อ “ทะลุทางออกที่ดินแดง” เพื่อเปิดพื้นที่รับฟังเรื่องราวสะท้อนเสียงประชาชนชาวแฟลตดินแดงและผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและการควบคุมฝูงชนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยมีตัวแทนชุมชนแฟลตดินแดง, ตัวแทนเด็ก เยาวชน และผู้ร่วมชุมนุม, ตัวแทนกลุ่ม Child in Mob, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม และกรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)

วสันต์ ภัยหลีกลี้ ตัวแทนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน กล่าวว่าการจัดเวทีสาธารณะเพื่อพูดคุยหาทางออกการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงในวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการหาทางออกร่วมกันระหว่างผู้ชุมนุม ผู้อยู่อาศัยบริเวณแฟลตดินแดง และภาครัฐ ด้านพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า เป็นโอกาสให้ทุกฝ่ายได้มีพื้นที่พูดคุยกันและได้สื่อสารต่อไปยังสาธารณะ

ฟังเสียงชาวแฟลตดินแดง

วิโรจน์ (สงวนนามสกุล) ผู้อยู่อาศัยบริเวณตลาดศรีวานิชในชุมชนดินแดงกล่าวว่าตนเข้าร่วมชุมนุมทุกครั้ง แต่ช่วงหลังที่มีการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ซึ่งเป็นบ้านของตนบ่อยขึ้น ตนและผู้คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้ก็เริ่มเอือมระอา เพราะมีคนมาก่อความไม่สงบตรงบริเวณนี้ เริ่มแรกบางคนก็สนับสนุนด้วยอุดมการณ์ แต่การชุมนุมในระยะหลังๆ เริ่มมีความรุนแรงตามมา คนร่วมชุมนุมเริ่มน้อยลง ตนจึงเป็นห่วงเยาวชนที่มาชุมนุม รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน คฝ. ตนไม่อยากให้ทุกฝ่ายใช้ความรุนแรง พร้อมยืนยันว่าตนไม่เห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และไม่เอาความรนุแรงเช่นกัน

สุปราณี (สงวนนามสกุล) ผู้อยู่อาศัยบริเวณแฟลตดินแดง พ.2 แยกประชาสงเคราะห์ กล่าวว่า ตนเดือดร้อนเพราะแก๊สน้ำตาลอยเข้าบ้าน และในบ้านมีเด็กอยู่ 4 คน สุนัขที่เลี้ยงไว้ก็ทนไม่ไหว เพราะเสียงดังตลอดทั้งคืน สุปราณีกล่าวว่าตนไม่ชอบ พล.อ.ประยุทธ์ และสนับสนุนจุดยืนของผู้ชุมนุม แต่ในช่วงหลังมานี้ตนมองว่าเหมือนผู้ชุมนุมออกมาเล่นสนุกกัน ผู้อยู่อาศัยบริเวณนี้ก็เดือดร้อน เพราะตำรวจจ้องจะจับกุมทุกคนที่สัญจรผ่านไปมา เพียงเพราะใส่เสื้อสีดำ แต่งตัวคล้ายผู้ชุมนุม

ประสงค์ หอมสนั่น กรรมการชุมชนแฟลต 1-17 กล่าวว่า ตนในฐานะผู้นำชุมชนแฟลตดินแดงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ไขในหลายประเด็น แต่ในที่นี้จะหยิบยกประเด็นเร่งด่วนที่ชาวแฟลตดินแดงเรียกร้อง เพื่อให้ปัญหาเฉพาะหน้าทุเลาเบาบางลงก่อน ประสงค์กล่าวว่าตนส่งหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2564 แล้ว แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งตนอยากให้รัฐบาลเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและการสลายการชุมนุม พร้อมกันนี้ยังได้เรียกร้องให้การเคหะแห่งชาติต้องเข้ามารับผิดชอบด้วย เพราะถือเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่โดยตรง

ประสงค์ หอมสนั่น
 

นอกจากการเยียวยาแก่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายโดยตรงต่อชีวิตและทรัพย์สินแล้วนั้น ประสงค์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมด้วย เช่น พ่อค้าแม่ค้าที่ต้องเก็บร้านตั้งแต่ 16.00 น. ของทุกวัน จากปกติที่ปิดร้านประมาณ 19.00 น. กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนแต่ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน เพราะสูญเสียรายได้จากการประกอบอาชีพ ทั้งยังเรียกร้องให้ดูแลเรื่องความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมร่วมด้วย

นอกจากนี้ ชาวแฟลตดินแดงบางส่วนที่ไม่พร้อมเปิดหน้าในเวทีแลกเปลี่ยน ได้ส่งเสียงบอกผ่านกับทีมผู้จัดกิจกรรมมาว่าต้องการให้การเคหะแห่งชาติเข้ามาดูแลเรื่องความปลอดภัยของที่อยู่อาศัยบริเวณนี้ เช่น การป้องกันประตูทางขึ้นลงแฟลต รวมถึงการเพิ่มแสงสว่างและกล้องวงจรปิด เป็นต้น

ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมจากการควบคุมฝูงชน

ณัฐวุฒิ ตัวแทนจากกลุ่ม Child in Mob กล่าวว่าทางกลุ่มเน้นย้ำเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กที่เข้ามาร่วมชุมนุม เราไม่ได้ฝักใฝ่ฝ่ายใด แต่ยืนยันว่าเด็กที่เข้าร่วมชุมนุมต้องได้รับการคุ้มครอง อย่างไรก็ตาม สถิติเด็กและเยาวชนที่ถูกจับกุมเพราะเข้าร่วมชุมนุมนับตั้งแต่ปี 2563 กลับเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และอายุน้อยลง โดยเด็กอายุน้อยที่สุดที่ทางกลุ่มเข้าให้ความช่วยเหลือมีอายุเพียง 12 ปีเท่านั้น และหากนับสถิติเฉพาะเดือน ก.ย. 2564 มีเด็กถูกดำเนินคดีแล้ว 97 คนจาก 38 คดี ไม่ได้ประกันตัว 1 คน เด็กส่วนมากที่ถูกตั้งข้อหาอายุ 15-18 ปี ซึ่งทางกลุ่ม Child in Mob เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจหยุดใช้ความรุนแรง ส่วนเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต้องออกมาเรียกร้องและแสดงจุดยืนด้านสิทธิเด็กให้มากขึ้น

ณัฐวุฒิ ตัวแทนจากกลุ่ม Child in Mob
 

บุ๊ค (นามสมมติ) เยาวชนผู้ร่วมการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง กล่าวว่า เขาเกิดและเติบโตในชุมชนคลองเตย จึงมองเห็นปัญหาที่ไม่เคยได้รับการแก้ไข ผลกระทบเกิดจากหลายๆ ส่วน ซึ่งเราต้องมององค์ประกอบว่ามันเกิดจากอะไร อย่างแรกคือการปฏิบัติการของรัฐบาล ทั้งการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการสลายการชุมนุม ซึ่งทั้งการใช้กระสุนยางและน้ำผสมสารเคมี ทั้งหมดนี้ล้วนผิดหลักสากลโดยชัดเจน ตนขอให้คำนิยามการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงว่าเป็น “ม็อบรากหญ้า” เพราะผู้ชุมนุมเป็นคนชนชั้นแรงงาน เป็นคนที่หลุดจากการระบบศึกษา หลุดออกจากระบบสวัสดิการซึ่งเกิดจากการบริหารงานผิดพลาดของรัฐบาล ผู้ชุมนุมทุกคนมาร่วมชุมนุมด้วยสันติวิธี แต่การตอบโต้ของรัฐบาลนั้นชัดเจนว่าไม่ถูกหลักสันติวิธีใดๆ ผู้ชุมนุมที่เรียกตนเองว่ากลุ่มทะลุแก๊สไม่ได้จะใช้ความรุนแรงเสมอไป ทุกคนพยายามหาทางออกให้เป็นทางสายกลาง พยายามพูดคุย อย่างแรกที่รัฐบาลต้องทำ คือ รับฟังเสียงของประชาชน แต่รัฐบาลกลับเพิกเฉย หากเป็นเช่นี้ต่อไป ไม่มีทางที่เสียงของประชาชนจะดังไปถึงรัฐบาล นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราถึงออกมาทุกวัน

บุ๊ค (นามสมมติ) เยาวชนผู้ร่วมชุมนุมบริเวณแยกดินแดง
 

บุ๊คกล่าวว่าการออกมาชุมนุม คือ การใช้สิทธิตามระบอบประชาธิปไตย และตนไม่เห็นด้วยกับคนที่มาร่วมชุมนุมเพราะเห็นว่าสนุก หรือมองว่าดินแดงคือสนามเด็กเล่น ตนอยากให้ทุกคนที่มาชุมนุมบริเวณแยกดินแดงหรือที่ไหนก็แล้วแต่ ขอให้มาด้วยอุดมการณ์ มาเพราะอยากต่อสู้เพื่อสิ่งที่ดีขึ้น นอกจากนี้ บุ๊คยังบอกว่าตน รวมถึงผู้ชุมนุมคนอื่นๆ เคารพในสิทธิของผู้อยู่อาศัยบริเวณแฟลตดินแดง แต่ขณะเดียวกันตนและกลุ่มผู้ชุมนุมก็ต้องการพื้นที่สำหรับการพูดคุย ไม่ได้ต้องการความรุนแรง แต่ที่ต้องใช้ความรุนแรงตอบโต้ เพราะฝ่ายรัฐนั้นใช้กำลังเกินกว่าเหตุ

พร้อมกันนี้ บุ๊คยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลต้องเร่งจัดเวทีรับฟังเสียงประชาชนให้เร็วที่สุด ส่วนเหตุผลทำไมต้องชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ก็เพราะที่นี่คือทางผ่านไปบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์

 

ประธานสภาเยาวชนแฟลตดินแดง สะท้อนความรู้สึกว่า “เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า” แต่เหตุใดผู้ใหญ่จึงไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของเด็กบ้าง นายกฯ และผู้ใหญ่หลายๆ ท่านต้องสะท้อนดูการกระทำของตัวเองด้วยเช่นกัน ตอนนี้สิทธิของเด็กและสวัสดิการของเด็กพังทลายลง เช่น เรื่องการศึกษา และสุขภาพ ตนต้องการให้มีการเปิดเวทีพูดคุยกันระหว่างเยาวชนและผู้ใหญ่ เพราะหากผู้ใหญ่พร้อมที่จะเปิดใจคุยกับเด็กผมเชื่อว่าปัญหาความรุนแรงน่าจะเบาบางลง ส่วนแนวทางการดำเนินการให้เป็นรูปธรรมนั้น ขอให้กรมกิจการเด็กและเยาวชนช่วยพิจารณา

พรเพ็ญ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนไม่ควรเข้ามาจับกุมหรือยุ่งเกี่ยวกับคดีของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชุมนุม แต่ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนโดยตรง เช่น กรมกิจการเด็ก, กรมคุ้มครองสิทธิ์ กระทรวงยุติธรรม หรือใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่สังกัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำคดีเด็กแทน พรเพ็ญตั้งคำถามถึงหน่วยงานของตำรวจควบคุมฝูงชนว่าได้รับการฝึกอบรมมุมมองด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงการปฏิบัติกับเด็กและเยาวชนมามากน้อยเพียงใด และขอให้มีการเปิดพื้นที่พูดคุยกันโดยเร็ว พรเพ็ญเชื่อว่าหากมีการเปิดพื้นที่กว้างๆ ให้พูดคุยกันแล้ว เชื่อว่าเหตุการณ์ต่างๆ ที่โหมกระหน่ำมายังพื้นที่ดินแดงจะทุเลาลงได้

 

ด้าน นารี เจริญผลพิริยะ นักจัดกระบวนการสันติวิธี กล่าวว่า ตำรวจไม่ได้ใช้สันติวิธีในการสลายการชุมนุม แต่เป็นการใช้กำลัง ฉะนั้นขั้นตอนที่ตำรวจประก่าศทุกครั้งว่า “จากเบาไปหาหนัก” หมายถึงการใช้กำลัง โดยให้สังเกตว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้พูดคำว่า “เราปฏิบัติตามหลักสันติวิธี” แต่จะใช้คำว่า “เราปฏิบัติตามกฎหมาย” เสมอ นารี กล่าวว่า คฝ. คือหน่วยใช้กำลัง ถ้าปรากฏตัวเมื่อใดก็หมายความว่ามาใช้กำลัง หากไม่ต้องการให้มีการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุม ต้องเปิดให้มีการเจรจากันทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายเจ้าหน้าที่และฝ่ายผู้ชุมนุม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นบริเวณแยกดินแดงอาจจะทำให้การเจรจาเกิดขึ้นยาก เพราะฝ่ายก็ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊สนั้นไม่มีแกนนำ ตนจึงขอฝากคำถามกลับไปยังกลุ่มผู้ชุมนุมว่าจะหาแนวทางเจรจากับตำรวจหรือไม่ และเหตุใดจึงไม่เข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีแมวทางการเคลื่อนไหวแบบสันติวิธีอยู่แล้ว

บุ๊ค ตอบคำถามของนารีว่าหากเจ้าหน้าที่ต้องการพูดคุยกับผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ส เราก็จัดให้มีตัวแทนในการพูดคุยได้ แต่การคุยต้องคุยกับทุกคน ไม่ใช่แค่คุยกับตัวแทนเพียงคนเดียว และการที่ตนมาพูดในเวทีนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าตนเป็นตัวแทนของกลุ่ม พร้อมฝากไปถึงหน่วยงานต้นสังกัดของ คฝ. ว่าควรจัดอบรมเรื่องกระบวนการสันติวิธีเพิ่มเติมแก่ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงควรสอนความเป็นมนุษย์ให้กับเจ้าหน้าที่ด้วย ด้านตัวแทนกลุ่ม Child in Mob ระบุว่าในส่วนของการเจรจาเราคงพูดไม่ได้โดยตรงเพราะว่าเราไม่ใช่ผู้ที่มีบทบาทตรงนั้น แต่สิ่งที่อยากจะเสริมคือเรื่องสิทธิเด็ก เพราะเป็นเรื่องในระดับโลก ไม่ใช่แค่เรื่องในระดับประเทศเท่านั้นรัฐบาลอย่าอ้างว่าปฏิบัติตามกฎหมายไทย แต่ต้องใส่ใจกฎหมายโลกที่ประเทศไทยไปลงนามไว้ด้วย ภาพของกลุ่มเยาวชนที่มาบริเวณแยกดินแดงนั้นถูกมองว่าเป็นกลุ่มเด็กที่ใช้ความรุนแรง แต่หากมองไปที่จุดเริ่มต้นจริงๆ จะพบว่าเยาวชนเหล่านี้มาด้วยสันติวิธี เป็นกลุ่มเด็กชายขอบซึ่งเป็นผลผลิตของของสังคมที่มีปัญหา จนนำมาสู่การชุมนุมเรียกร้อง หากต้องการให้การชุมนุมยุติลงก็ต้องย้อนกลับไปดูที่ปัญหาเหล่านั้น

การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

วรชาติ อหันทริก จิตอาสาที่เข้ามาช่วยเหลือชาวแฟลตดินแดงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม กล่าวว่า หนังสือที่ตนส่งถึงนายกฯ และ พ.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) มีประชาชนชาวแฟลตดินแดงร่วมลงชื่อทั้งหมดกว่า 300 คน แต่จนถึงบัดนี้ก็ไม่มีการตอบรับใดๆ กลับมา หนังสือดังกล่าวมีข้อเสนอของประชาชนที่พักอาศัยในแฟลตดินแดงจำนวน 10 ข้อ เรียกร้องให้แก้ปัญหาให้ชาวแฟลตดินแดง มีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้

1.ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนโดยใช้วิธีควบคุมการชุมนุมมากกว่าการใช้กำลัง หรืออาวุธ เพื่อควบคุมการชุมนุม หรือเพื่อทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับบาดเจ็บ

2. ให้ใช้หลักวิธีควบคุมและสลายการชุมนุม เพื่อวัตถุประสงค์ให้ผู้ชุมนุมเลิกกระทำกิจกรรม และก็ให้กลับที่พักอาศัยมากกว่าที่จะไล่ล่าผู้ชุมนุม ทำร้ายผู้ชุมนุม ดังที่ปฏิบัติอยู่ในเวลานี้

3. เรียกร้องให้ลดปริมาณการใช้แก๊สน้ำตา ให้ใช้เท่าที่จำเป็นและก็ปรับปรุงเปลี่ยนการยิงแก๊สน้ำตา ให้เป็นโดยการยิงในลักษณะวิถีโค้ง เพื่อกระชับพื้นที่และให้ใช้ในบริเวณที่ห่างไกลชุมชนที่อยู่อาศัย การใช้กระสุนยางที่ไม่สูงกว่าเอวขึ้นไป

4. ในการสลายการชุมนุมขอให้เน้นใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง เพื่อสลายการชุมนุมมากกว่าการใช้แก๊สน้ำตา และปืนบรรจุลูกกระสุนยาง โดยการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ขอให้หลีกเลี่ยงการฉีดน้ำไปยังตัวผู้ชุมนุมโดยตรง และขอให้ลดปริมาณสารเคมีที่ผสมอยู่ในน้ำ เพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นต่อผิวหนังใบหน้า และก็การระคายเคืองต่อผู้ที่สัมผัสกับน้ำที่ฉีดไป

ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ในหนังสือ ส่วนใหญ่เป็นข้อเรียกร้องต่อการปฏิบัติการของ คฝ. จนถึงข้อที่ 10 เกี่ยวข้องโดยตรง ขอให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้ามาสำรวจความเสียหาย และรับผิดชอบต่อการเสียหาย เสียโอกาส ในการค้าขาย เนื่องจากต้องรีบร้านตั้งแต่ 16.00 น. เพื่อหนีแก๊สน้ำตา และควบคุมฝูงชนในบริเวณแฟลตดินแดง

 

นอกจากนี้ วรชาติยังฝากถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ว่าขอให้ คฝ. เข้าใจว่าตัวเองมีหน้าที่ควบคุมฝูงชน ไม่ใช่ตำรวจปราบจราจล ดังนั้นต้องปฏิบัติหน้าที่ให้ตรงกับภารกิจที่แท้จริง เพราะพฤติกรรมของผู้ชุมนุมบริเวณแยกดินแดงนั้นก็ไม่ใช่การก่อจลาจลแต่อย่างใด

ประสงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในวันจันทร์ที่ 4 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ตนจะเดินทางไปยื่นข้อเรียกร้องเพิ่มเติมแก่นายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาลอีกครั้ง ประการแรกจะร้องเรียนนายกฯ และการเคหะแห่งชาติที่เพิกเฉย ไม่สั่งการใดๆ ต่อกรณีแฟลตดินแดง มีประการที่สอง จะเรียกร้องไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ คฝ. ถ้าเป็นไปได้ตนอยากจะขอให้ถอนกำลังออกจากกรมดุริยางค์ทหารบก เพราะมิเช่นนั้นแล้ว เหตุการณ์ที่สามเหลี่ยมดินแดงไม่มีวันจบ ประการที่สาม ถ้าเป็นไปได้จะขอให้นายกฯ ย้ายบ้านออกไปจากบ้านพักหลวงในกรมทหารราบที่ 1 ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับบริเวณแยกดินแดง พร้อมฝากคำถามไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ว่า “ท่านไม่มีบ้านอื่นอยู่หรือ อยู่มา 7 ปีแล้ว บ้านท่านยังสร้างไม่เสร็จอีกหรือ” พร้อมกันนี้ ประสงค์ยืนยันว่าข้อเรียกร้องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับจุดยืนทางการเมือง ไม่ได้เรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากตำแหน่ง แต่เรียกร้องให้ย้ายบ้านเท่านั้น เพราะจะช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้า บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณแฟลตดินแดงได้

ไพบูลย์ (สงวนนามสกุล) ประชาชนอีกคนที่อาศัยอยู่บริเวณแฟลตดินแดงกล่าวว่าตนได้รับความเดือนร้อนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ คฝ. ที่บุกเข้ามาไล่ยิงผู้ชุมนุมที่วิ่งหลบเข้ามาภายในเขตชุมชน ตนเข้าใจว่าที่กลุ่มผู้ชุมนุมต้องวิ่งเข้ามาหลบเพราะพวกเขามามือเปล่า ไม่มีทางสู้กับอาวุธของตำรวจได้

“ทำไมต้องยิงมันด้วยล่ะ เด็กมือเปล่า แต่ คฝ. ขี่มอเตอร์ไซค์ไล่ยิงเด็ก เด็กไม่มีอะไรมันก็หนี ถ้าเด็กมีปืน มีรถน้ำก็ให้มาสู้กันเลยไหม จะได้จบ แต่เด็กไม่มีอะไรมันก็ต้องหนี แล้วตำรวจก็ยิงโดยไม่ดูเลยว่ามันโดนบ้านคนหรืออะไร ยิงใส่อย่างเดียวเลย” ไพบูลย์ กล่าว

ตัวแทนสภาเยาวชนดินแดง กล่าวว่า การพูดคุยกันเป็นสิ่งที่ดี แต่ขอทวงถามไปถึง คฝ. ว่าถ้ามีการยิงแก๊สน้ำตาไปยังบ้านประชาชนแล้วเกิดความเสียหาย ทาง คฝ. ต้องรับผิดชอบทรัพย์สินของประชาชนหรือเปล่า ขณะที่ตัวแทนกลุ่มโมกหลวงริมน้ำเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ อย่ารอให้ประชาชนไปยื่นหนังสือหรือร้องเรียนก่อนถึงจะทำ พร้อมแสดงความผิดหวังที่วันนี้ ตำรวจนครบาลที่ยืนยันว่าจะเข้าร่วมรับฟังบนเวที กลับไม่เข้าร่วม พร้อมขอให้ตำรวจทำความเข้าใจเรื่องสิทธิผุ้ต้องหาและสิทธิมนุษยชนให้มากขึ้น นอกจากนี้ ตัวแทนกลุ่มโมกหลวงริมน้ำยังได้ฝากถึงสื่อมวลชน ขอให้นำเสนอให้รอบด้าน อย่านำเสนอแค่ “วันนี้ที่ดินแดงเกิดอะไรขึ้นบ้าง” แต่ขอให้นำเสนอด้วยว่า “จริงๆ แล้ว ดินแดงต้องการอะไร” สุดท้าย ทางกลุ่มต้องการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจอย่าปิืดกั้นสื่อ ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนหรือประชาชนทั่วไป เพราะประชาชนทุกคนควรเป็นหูเป็นตาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นฝั่งที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับผู้ชุมนุมก็ตาม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย

ขณะที่ ‘เพชร’ ประชาชนที่มาร่วมเวทีอภิปรายหาทางออกวันนี้ กล่าวว่า ปัญหาการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ คฝ. และประชาชน ที่แยกดินแดงนั้น ตนมองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น เพราะที่ประชาชนต่อสู้กันมา ข้อเรียกร้องจริงๆ คือ การหยุดระบอบที่ได้มาซึ่งอำนาจของรัฐบาลชุดนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรียกร้องความเสมอภาค และปฏิรูปด้านต่างๆ  

นอกจากนี้ ‘เพชร’ ประชาชนชาวแฟลตดินแดงได้แสดงความเห็นด้วยต่อข้อเรียกร้อง 10 ข้อของชาวแฟลตดินแดงที่ให้เจ้าหน้าที่ คฝ. ปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ชุมนุมแยกดินแดงอย่างเป็นธรรม และเตือนเจ้าหน้าที่ คฝ. ด้วยว่าอย่าหลงลืม ‘ความเป็นมนุษย์’

“ผมอ่านแล้ว 10 ข้อเรียกร้อง คือการปฏิบัติที่เป็นธรรมและอย่าลืมว่าคุณเป็นมนุษย์ แม้ว่าคุณเป็น คฝ. เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ ถือกฎหมาย แต่คุณอย่าลืมว่าคุณเป็นมนุษย์ มีความเป็นมนุษย์ เราเป็นมนุษย์ เรามีศักดิ์ศรีความเท่าเทียมกัน” เพชร ทิ้งท้าย

ฟังเสียงตัวแทนภาครัฐ

ตัวแทนจากกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การเข้าไม่ถึงสิทธิ์ การถูกละเมิด และการเข้าไม่ถึ งสวัสดิการ จะนำข้อเรียกร้องไปจัดประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการดำเนินงานร่วมกัน และหาแนวทางการช่วยเหลือ รวมถึงอาจจะจัดเวทีให้เด็กและเยาวชนเข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยน ขณะที่ตัวแทนการเคหะแห่งชาติระบุว่าได้รวบรวมข้อเสนอและความคิดเห็นบนเวทีสาธารณวันนี้และจะนำไปเสนอต่อผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เพื่อดำเนินการต่อไป

ด้าน โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม กล่าวว่า ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งตรงนี้ทางฝ่ายรัฐบาลพยายามมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาพิจารณาดูว่าจะมีมาตรการด้านใด หรือกฎหมายใดที่สามารถช่วยเหลือได้ และในอนาคตจะวางกรอบหรือมาตรการการช่วยเหลือให้ไปถึงขั้นไหน แต่ในปัจจุบัน กฎหมายของกรมคุ้มครองสิทธิฯ คุ้มครองเฉพาะคดีอาญาทั่วไป คือ กลุ่มผู้เสียหายในคดีอาญา ซึ่งครอบคลุมความเสียหายที่เกิดขึ้นโดยตรงต่อชีวิต ร่างกาย และเพศ เป็นหลัก และผู้เสียหายต้องไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ส่วนผู้ที่สูญเสียรายได้ซึ่งเกิดจากการชุมนุมหรือการสลายการชุมนุมนั้น กฎหมายในปัจจุบันยังไม่คุ้มครอง แต่ก็ยืนยันว่าทางกรมไม่ได้นิ่งนอนใจแต่อย่างใด สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพจิตสามารถขอรับการเยียวยาได้ แต่หลักสำคัญคือต้องมีการรักษาโดยจิตแพทย์ มีใบรับรองแพทย์ประเมินว่าได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจ นอกจากนี้ กรมคุ้มครองสิทธิฯ กล่าวว่าในอนาคต ทางกรมฯ ยินดีที่จะตั้งโต๊ะรับเรื่องรับฟังความเดือดร้อนของประชาชน

ช่วงท้ายของเวทีสาธารณะ วสันต์และพรเพ็ญกล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่เข้าร่วมการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดกันในวันนี้ พร้อมระบุว่าเวทีนี้คือ “อิฐก้อนแรก” ที่จะนำไปสู่การก่อร่างสร้างประตูสู่ทางออกของปัญหาการชุมนุมที่แยกดินแดง ซึ่งยืดเยื้อมานานกว่า 2 เดือน รวมถึงปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นจากการสลายการชุมนุมอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net