นศ.วิจิตรศิลป์ มช. บุกยึดพื้นที่จัดแสดงงานคืนจากผู้บริหาร

นศ.วิจิตรศิลป์ มช. บุกยึดพื้นที่จัดแสดงงานคืนจากผู้บริหารคณะและผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยมีคณาจารย์บางส่วนช่วยเหลือ แต่ยังปรากฏว่าตึก Media Art and Design ถูกสั่งตัดน้ำตัดไฟ

16 ต.ค. 2564 วันนี้ เมื่อเวลา 13.00 น. นักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เกือบ 100 คน รวมตัวกัน บุกเข้ายึดพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คืนจากผู้บริหารคณะและผู้บริหารมหาวิทยาลัย เพื่อเข้าติดตั้งผลงานให้ทันแสดงงานตามกำหนดในวันจันทร์ที่จะถึงนี้

นักศึกษามีการประกาศผ่านทาง Facebook เพจ “ประชาคมมอชอ - Community of MorChor” ตั้งแต่เมื่อคืนนี้หลังแจ้งความลงบันทึกประจำกรณีถูกห้ามแสดงผลงานศิลปะที่สถานีตำรวจเสร็จ โดยเมื่อนักศึกษาเดินทางมาถึงบริเวณหน้าประตูทางเข้าสาขาวิชา Media Art and Design ซึ่งเป็นที่ตั้งของหอศิลปวัฒนธรรม ประตูรั้วทางเข้าถูกล็อคด้วยโซ่คล้องกุญแจ ทำให้นักศึกษาที่มาต้องใช้คีมตัดเหล็กตัดโซ่พังประตูหน้าเข้ามา

นอกจากนี้ นักศึกษาระบุว่า ตึก Media Art and Design ถูกตัดน้ำตัดไฟทั้งคืนจนถึงตอนนี้ และมีนักศึกษาประมาณ 4 – 5 คนที่ทำงานอยู่ในตึกถูกขังอยู่ในคณะตั้งแต่เมื่อคืน เนื่องจากมีการโซ่คล้องล็อคประตูทางเข้าออกคณะหมดทุกทาง

หลังจากนั้นเมื่อนักศึกษามาถึงทางเข้าหอศิลปวัฒนธรรมพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการประตูทางเข้าหอศิลป์ถูกล็อคประตูไว้เช่นกัน นักศึกษาจึงต้องหาทางพังประตูทางเข้าหอศิลปวัฒนธรรมอีกครั้ง แม้ตอนนี้นักศึกษาสามารถเข้ามาจับจองพื้นที่ติดตั้งงานในหอศิลป์ได้แล้ว แต่ภายในตึก Media Art and Design ยังไม่มีการต่อไฟฟ้ากลับคืนมา โดยทางเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่ถูกตามตัวมาเพื่อจัดการเรื่องต่อไฟยืนยันว่า ไม่สามารถต่อไฟคืนให้ได้ เนื่องจากเป็นคำสั่งของคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ที่ให้ตัดน้ำตัดไฟภายในตึก เจ้าหน้าที่ไม่สามารถฝ่าฝืนคำสั่งได้

นอกจากนี้ยังมีคณาจารย์บางส่วนของ มช. มาร่วมช่วยเหลือนักศึกษาด้วย อาทิ ทัศนัย เศรษฐเสรี, ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์ประจำสาขาวิชา Media Art and Design คณะวิจิตรศิลป์ ศ.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ รศ.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์ รศ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ ชัชวาล บุญปัน อดีตอาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ ฯลฯ

“งานศิลปะคืองานที่พยายามกระตุกเตือนให้สังคมเข้าใจถึงความงาม ความดี ความจริง การปิดกั้นการเข้าถึงความงาม ความดี ความจริงด้วยวิธีการแบบนี้ถือว่าเป็นวิธีการที่หยาบคาย และทำให้สังคมไทยขาดโอกาสที่เข้าถึงสิ่งที่เป็นคุณค่าสูงสุดของงานศิลปะ” อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ กล่าว

ทัศนัย เศรษฐเสรี เหตุผลที่คณะไม่อนุญาตให้นักศึกษาเข้าใช้พื้นที่คณะได้มีการอธิบายไว้ว่าอย่างไร

“เขาอ้างถึงประกาศของทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นประกาศที่ทำให้นักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทั้งหมดจัดการชุมนุมได้ยากขึ้น เหตุผลคือเพื่อไม่ให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมและศีลธรรมอันดีงาม ซึ่งเป็นสิ่งที่ทางคณะไปอ้างอิงจากระเบียบของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งผมก็ตั้งคำถามว่าศิลปะไปทำให้เกิดความวุ่นวายทางสังคมและความเสื่อมเสียต่อศีลธรรมอันดีงามอย่างไร เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมาเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ว่าคนที่ได้รับผลกระทบเหล่านั้นไม่เคยออกมาส่งเสียงเลย สโมสรคณะวิจิตรศิลป์นายกสโมสรจะโพสอะไรต้องเอาเนื้อหานั้นให้ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาดูก่อน เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ทุกวัน กรณีนี้เป็นเหมือนภูเขาไฟที่มันจะทำให้ลาวาในที่อื่นๆ ปะทุขึ้นมาอีก” ทัศนัย กล่าว

“มหาวิทยาลัยชอบให้เหตุผลว่าจะไม่นำการเมืองมายุ่งเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย หลายๆ มหาวิทยาลัยก็ชอบให้เหตุผลแบบนี้ เราก็รู้ดีว่านี่คือคำโกหก เพราะว่าพื้นที่ตรงนี้เคยเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองครั้งหนึ่งก่อนการรัฐประหาร 2557 ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยควรเปิดให้เป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นของผู้คนกลุ่มต่างๆ อย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนมหาวิทยาลัยควรต้องเปิดให้แสดงความคิดเห็น ซึ่งนี่คือหน้าที่สำคัญของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ปิดกั้นฝ่ายที่ตนไม่เห็นด้วยและสนับสนุนฝ่ายที่ตนเห็นด้วยเพียงอย่างเดียว กรณีเช่นนั้นจะไม่ทำให้มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ที่ทำให้เกิดความงอกงามทางปัญญา ไม่ใช่เฉพาะทางด้านงานศิลปะ แต่ความคิดเห็นทางด้านวิชาการมหาวิทยาลัยควรเปิดให้หมด” สมชาย ปรีชาศิลปกุล กล่าว

“มหาวิทยาลัยเชียงใหม่มีเป้าหมายที่สำคัญระดับนานาชาติที่อ้างถึงอยู่ตลอดเวลา มหาวิทยาลัยดำเนินงานเพื่อที่จะให้บรรลุเป้าเกี่ยวกับ SDGs Sustainable Development Goals ของ UN เป้าหมายที่สำคัญข้อ 16 คือการรักษาไว้ซึ่งความเป็นธรรม การเข้าถึงความยุติธรรม และสันติภาพ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับคณะวิจิตศิลป์ในขณะนี้การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและการสร้างความไม่เป็นธรรมให้กับนักศึกษา มันขัดแย้งกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยอ้างมาตลอด อยากจะฝากถึงผู้บริหารถ้าต้องการที่จะสร้างหลักประกันเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายความยุติธรรมที่แท้จริงต้องเปิดให้นักศึกษาสามารถมีเสรีที่จะแสดงออกได้” ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี กล่าว

“ผมไม่คิดว่ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ของเราจะตกต่ำถึงที่สุดขนาดนี้ นับตั้งแต่มีการรัฐประหารมาผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นเครื่องมือของเผด็จการมาโดยตลอด คงจำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนมีการจัดงานวิชาการแล้วคณาจารย์ของเรารณรงค์เรื่องมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารก็โดนดำเนินคดี โดยที่มหาวิทยาลัยไม่เคยยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือเลย ต่อมาเมื่อมีการรณรงค์เรื่องเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหารที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นเจ้าภาพ มีคนถูกดำเนินคดีเรื่องนี้ก็ไม่มีสิ่งที่มหาวิทยาลัยออกมาแสดงสำนึกอะไรในเรื่องเหล่านี้เลย ฉะนั้นสิ่งที่นักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ทำอยู่ตอนนี้คือการกู้อิสรภาพทางมโนธรรมสำนึกให้กับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อที่จะให้หลุดพ้นจากลัทธิเผด็จการทรราชนิยม” ชัชวาล บุญปัน กล่าว

“ไม่ใช่เฉพาะศิลปะอย่างเดียว มหาวิทยาลัยกับเสรีภาพต้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กรณีที่ไหนก็แล้วแต่ที่ไม่มีเสรีภาพไม่รู้จะเปิดมหาวิทยาลัยไปทำไม เพราะว่าความรู้ที่เรารู้อยู่แล้วเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยไม่ต้องมี เราก็สอนในโรงเรียนก็ได้ แต่มหาวิทยาลัยมีหน้าที่สร้างความรู้ใหม่ สร้างความงามใหม่ แล้วถ้าคุณไม่มีเสรีภาพในการทดลองผิดก็ได้ ถูกก็ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะสร้างมหาวิทยาลัยขึ้นมา ยุบมหาวิทยาลัยไปเลยดีกว่า ถ้าคุณต้องการให้เป็นมหาวิทยาลัยเชื่องๆ แบบนี้ ไม่ต้องมีมหาวิทยาลัย” นิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท