ตำรวจออกหมายเรียก ทัศนัย เศรษฐเสรี , ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อาจารย์คณะวิจิตรศิลป์ มช. และยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ มช. เข้ารับทราบข้อหาบุกรุก หอศิลป์ มช. ในวันที่ 10 พ.ย. นี้ เวลา 13.00 น. ณ สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ จากการกรณี 'ตัดโซ่' เข้าไปแสดงศิลปนิพนธ์ตัวจบของนักศึกษา Media Art and Design เมื่อปี 2564 พบผู้แจ้งความคือ อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีวิจิตรศิลป์คนเก่า
8 พ.ย. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2565 ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ และ ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์ภาควิชาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาครั้งที่ 2 จากสถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ ในคดีที่มี อัศวิณีย์ หวานจริง อดีตคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ เป็นผู้กล่าวหาทัศนัย เศรษฐเสรีกับพวก ในข้อกล่าวหาร่วมกันเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นฯ
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ให้ข้อมูลอีกว่านอกจากอาจารย์ทั้งสองคนแล้ว ยังมี ยศสุนทร รัตตประดิษฐ์ นักศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้ร่วมอีกด้วย กำหนดให้ทั้งหมดเข้าพบพนักงานสอบสวนเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา
วันที่ 10 พ.ย. 2565 เวลา 13.00 น. โดยทั้งสามเตรียมจะเข้ารับทราบข้อหาพร้อมกันในวันเวลาดังกล่าว
สำหรับสาเหตุในคดีดังกล่าว มาจากเหตุการณ์ที่กลุ่มอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design พยายามเข้าไปใช้พื้นที่ของหอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อจัดแสดงงานศิลปะประจำปีของสาขาวิชา ซึ่งก่อนหน้านั้นนักศึกษาได้มีความพยายามขออนุญาตใช้สถานที่จากผู้ดูแลและผู้บริหารของหอศิลป์ตามระเบียบ แต่ทางผู้บริหารหอศิลป์ไม่มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าว
ภาพจาก ศูนย์ ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
- นศ.วิจิตรศิลป์ มช. บุกยึดพื้นที่จัดแสดงงานคืนจากผู้บริหาร
- [Live+ประมวลภาพ] ศิลปนิพนธ์ นศ. วิจิตรศิลป์ มช. รุ่นตัดโซ่ทะลุขั้วหัวใจผู้บริหารมหา'ลัย
- นศ.วิจิตรศิลป์ มช.ขึ้นโรงพักปมถูกห้ามแสดงผลงานศิลปะ ประกาศเข้ายึดคืนพื้นที่จัดแสดงจากผู้บริหารพรุ่งนี้
- ศาลปกครองให้เหตุผลยันสิทธิ นศ.วิจิตรศิลป์ มช. จัดแสดงศิลปนิพนธ์ที่หอศิลป์ แม้จำหน่ายคดี
จนกระทั่งวันที่ 15 ต.ค. 2564 เป็นวันที่ถึงกำหนดการที่จะต้องแสดงงานศิลปะของนักศึกษาและต้องมีขั้นตอนการเตรียมติดตั้งผลงานด้วย กลุ่มนักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design จึงได้มีการรวมตัวเพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน จากเหตุการณ์ปิดกั้นไม่ให้ใช้พื้นที่หอศิลป์ดังกล่าว ซึ่งอาจก่อให้เกิดเสียหายต่อการแสดงผลงานศิลปะและการศึกษาของนักศึกษาที่เกี่ยวข้อง พร้อมกับประกาศเข้าใช้หอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันรุ่งขึ้น เพื่อป้องกันความเสียหายต่อการแสดงงานศิลปะของนักศึกษา
จากนั้นวันที่ 16 ต.ค. 2564 กลุ่มนักศึกษาพบว่าประตูของหอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้มีการคล้องโซ่และกุญแจล็อกไว้ ซึ่งปกติแล้วไม่มีการปิดกั้นในลักษณะดังกล่าว นักศึกษาและอาจารย์สามารถผ่านเข้าออกได้โดยอิสระ เพราะนอกจากพื้นที่หอศิลปวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่แล้ว บริเวณดังกล่าวยังมีตึกเรียนของนักศึกษาคณะวิจิตรศิลป์ตั้งอยู่ด้านหลังของหอศิลป์ด้วย ด้วยเหตุนี้ กลุ่มนักศึกษาและอาจารย์จึงได้ร่วมกันตัดโซ่ที่คล้องประตูทางเข้าหอศิลป์เพื่อเข้าไปใช้งานพื้นที่
ภาพขณะนศ.วิจิตรศิลป์ มช. บุกยึดพื้นที่หอสิลป์ มช.
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2564
ภายหลังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีรายงานข่าวว่า อัศวิณีย์ หวานจริง คณบดีคณะวิจิตรศิลป์ในขณะนั้น ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ไว้ที่สถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับกลุ่มนักศึกษาและอาจารย์ที่เข้าไปใช้พื้นที่ดังกล่าว
นอกจากเหตุการณ์แจ้งความลงบันทึกประจำวันของกลุ่มนักศึกษาและการบุกยึดพื้นที่หอศิลป์แล้ว นักศึกษาสาขาวิชา Media Art and Design ยังได้มีการฟ้องร้องความล่าช้าของผู้ดูแลและผู้บริหารของหอศิลป์ที่ไม่มีคำสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ จนอาจเกิดความเสียหายต่อนักศึกษา โดยได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเชียงใหม่ว่าการไม่ออกคำสั่งของผู้ดูและผู้บริหารของหอศิลป์นั้น เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่การพิจารณาคดีของศาลปกครองนั้นเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มนักศึกษาได้เข้าใช้งานพื้นที่หอศิลป์จนเสร็จสิ้นกิจกรรมแล้ว ศาลปกครองจึงได้มีคำสั่งจำหน่ายคดี เนื่องจากเห็นว่าล่วงพ้นเวลาที่ศาลจะมีคำสั่งใดๆ เพื่อเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายของนักศึกษาได้แล้ว