ศูนย์ทนายฯ ศาลเผยไม่ให้ประกัน 2 ผู้ถูกกล่าวหาในคดีปาระเบิดแยกราชประสงค์

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยศาลไม่ให้ประกัน 2 ผู้ถูกกล่าวหาในคดีปาระเบิดแยกราชประสงค์ ศาลระบุพฤติการณ์คดีร้ายแรง เกรงจะไปก่อเหตุอันตราย - 'เมนู-ทานตะวัน' ถูก ตร.ลุมพินีแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้ ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พิชัย และ นฤเบศร์ (สงวนนามสกุล) 2 มวลชนอิสระกลุ่ม “ทะลุแก๊ซ” ในคดีที่ถูกกล่าวหาว่าขว้างวัตถุคล้ายระเบิดใส่รถยนต์สายตรวจใน #ม็อบ4ตุลา โดยวางหลักประกันคนละ 150,000 บาท แต่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้อง โดยระบุว่า การกระทำของทั้งสองร้ายแรง หากปล่อยตัวชั่วคราวจะก่ออันตรายประการอื่น

นฤเบศร์ อายุ 26 ปี และ พิชัย อายุ 30 ปี คือ 2 มวลชนที่ถูกจับกุมในช่วงเช้าของวันที่ 4 ต.ค. 64 บริเวณแยกราชประสงค์ จากเหตุที่มีการขว้างวัตถุคล้ายระเบิด ใส่รถยนต์สายตรวจ สน.ลุมพินี ทั้งสองถูกแจ้ง 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ร่วมกันมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่, ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่, ร่วมกันทำให้เกิดเสียงหรือการกระทำความอื้ออึงโดนไม่มีเหตุอันควร 

ในวันนี้ ทนายความระบุเหตุผลไว้ในคำร้องขอประกันทั้งสองโดยสรุปว่า ทั้งสองประสงค์จะขอติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) เพื่อเป็นหลักประกันว่า จะไม่หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น 

ทั้งยังระบุว่า พฤติการณ์แห่งคดีที่พนักงานสอบสวนกล่าวหานั้นเป็นเหตุการณ์เลื่อนลอย ไม่มีพยานหลักฐานที่เชื่อได้ว่าผู้ต้องหากระทำความผิด ทั้งผู้ต้องหายังให้ความร่วมมือในการสอบสวนมิได้ขัดขืน จึงไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด รวมไปถึงเหตุผลที่ว่าพวกเขาประกอบอาชีพรับจ้าง หากไม่ได้รับการปล่อยตัวจะเดือดร้อน กระทบต่อการทำมาหากินของตัวเองและครอบครัว 

ท้ายคำร้องยังได้หยิบยกเอากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทําผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” เพื่อให้ศาลใช้ประกอบการพิจารณาให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว

อย่างไรก็ตามเวลา 14.43 น. ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องทั้งสองฉบับ พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า “การกระทำของผู้ต้องหาเป็นการกระทำที่ร้ายแรงต่อสังคม ไม่เกรงกลัวกฎหมาย หากปล่อยตัวชั่วคราวเกรงว่าจะเป็นภัยอันตรายหรือก่อเหตุร้ายประการอื่น จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว” ยกคำร้อง

คำสั่งดังกล่าวลงนามโดย เนตรดาว มโนธรรมกิจ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้

จากคำสั่งดังกล่าวทำให้ พิชัยและนฤเบศร์ ยังคงถูกคุมขังระหว่างสอบสวนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพต่อไป รวมถูกขังมาเป็นระยะเวลากว่า 46 วันแล้ว 

'เมนู-ทานตะวัน' ถูก ตร.ลุมพินีแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าวันที่ 17 และ 18 พ.ย. 2564 ที่ สน.ลุมพินี นักศึกษา-นักกิจกรรม 2 ราย ได้แก่ “เมนู” สุพิชฌาย์ ชัยล้อม และทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก จากกรณีการชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564

ก่อนหน้านี้ นักกิจกรรมหลายรายทยอยได้รับหมายเรียกของ สน.ลุมพินี ลงวันที่ 8 พ.ย. 2564 ในคดีที่มี พ.ต.ท.ภราดร สุวรรณรัตน์ เป็นผู้กล่าวหา เนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ดังกล่าว ก่อนพบว่ามีการออกหมายเรียกผู้ต้องหารวมทั้งหมด 13 คน

วันที่ 17 พ.ย. “เมนู” สุพิชฌาย์ อดีตสมาชิกกลุ่มนักเรียนล้านนา ได้ถูก พ.ต.ท.เทอดศักดิ์ มนัสชน และ ร.ต.อ.สุทวัฒน์ ศรีพรวรรณ์ พนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี แจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหา ได้แก่ ร่วมจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลมากกว่า 50 คน ที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรค ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่เกี่ยวกับความมั่นคงฯ และข้อหาร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385

พฤติการณ์ข้อกล่าวหาระบุว่าสุพิชฌาชย์ได้ขึ้นปราศรัยในการชุมนุมเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 ที่สี่แยกราชประสงค์ มีเนื้อหากล่าวถึงการที่ประชาชนถูกกดขี่ให้อยู่ภายใต้ความกลัวของอำนาจ แต่ต้องมีความหวังที่จะยกเลิกมาตรา 112 เพื่อให้สามารถพูด สามารถวิจารณ์ได้ เพราะหมดยุคสมัยที่คนจะถูกกดขี่แล้ว ทั้งยืนยันว่าตนจะสู้ต่อไป ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชนที่จะยกเลิกมาตรา 112 และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้

สุพิชฌาย์ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมภายใน 30 วัน ก่อนตำรวจให้ปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้

วันที่ 18 พ.ย. 2564 ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ได้ถูกพนักงานสอบสวนทั้งสองคนแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหา เช่นเดียวกับสุพิชฌาย์ โดยกล่าวหาว่าเธอได้ขึ้นปราศรัยในเวทีเดียวกันนี้ มีเนื้อหากล่าวถึงการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 112 เสนอให้ประชาชนที่เผชิญกับความไม่ยุติธรรม สู้ต่อไป เชื่อมั่นในพลังของประชาชนที่ยิ่งใหญ่กว่าทุกสิ่ง

ทานตะวันได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาเช่นเดียวกัน และจะยื่นคำให้การเพิ่มเติมต่อไป พร้อมกับให้การเบื้องต้นว่ากิจกรรมที่เกิดขึ้นเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรองรับไว้ ทั้งข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ถูกใช้อยู่ในขณะนี้นั้น มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการแพร่โรคระบาด มิควรถูกนำใช้ปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนที่ใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังมีฐานะทางกฎหมายด้อยกว่ารัฐธรรมนูญ การตั้งข้อกล่าวหาในลักษณะนี้จึงไม่ถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ นอกจากทั้งสองคน ยังมีผู้ถูกออกหมายเรียกอีก 11 คน ที่ร่วมขึ้นปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว ซึ่งจะทยอยรับทราบข้อกล่าวหาต่อไป ได้แก่ ชาติชาย แกดำ, เกียรติชัย ตั้งภรณ์พรรณ, อรรถพล บัวพัฒน์, ยิ่งชีพ อัชฌานนท์, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, ธนัตถ์ ธนากิจอำนวย, ธนพร วิจันทร์, ธิษะณา ชุณหะวัณ, ธนพัฒน์ กาเพ็ง, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และพรหมศร วีระธรรมจารี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท