Skip to main content
sharethis

26 พ.ย. 2564 ศบค. แถลงพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 6,559 คน ตาย 64 คน เคาะขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินถึง 31 ม.ค. 2565 ยกเลิกมาตรการเคอร์ฟิว แต่ยังไม่อนุญาตเปิดสถานบันเทิง ชี้ขึ้นกับความพร้อมของผู้ประกอบการ เตรียมเปิดช่องทางเข้าประเทศทางบกและทางเรือ นำร่องที่ด่านหนองคาย 24 ธ.ค. 2564

ติดเชื้อใหม่ 6,559 คน ตาย 64 คน

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์โควิดประจำวันที่ 26 พ.ย. 2564 ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 6,559 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ 5,768 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 39 คน ติดเชื้อจากในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 752 คน ผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 2,094,886 คน ขณะที่กรมควบคุมโรครายงานผู้ติดเชื้อเข้าข่ายจากการตรวจด้วยแอนติเจนเทสต์คิต (antigen test kit: ATK) เป็นบวก 2,806 คน โดยจำนวนนี้ไม่ถูกนับรวมเป็นผู้ป่วยยืนยัน

ด้านจำนวนผู้เสียชีวิต วันนี้เสียชีวิตเพิ่ม 64 คน เสียชีวิตสะสมทั้งหมด 20,645 คน อัตราการเสียชีวิต 0.99% ผู้เสียชีวิตอายุระหว่าง 22-93 ปี 98% ของผู้เสียชีวิตอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือมีโรคเรื้อรัง

ผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ 80,277 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยอาการหนัก 1,440 คน ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 341 คน รักษาหาย 6,875 คน ฉีดวัคซีนครบโดส 40,202,745 คน คิดเป็น 55.81%

โฆษก ศบค. กล่าวว่า นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันต่ำว่าเส้นคาดการณ์ โดยคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะลดต่ำลงเรื่อยๆ แต่มีข้อสังเกตว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวเลขผู้ติดเชื้อทรงตัว ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันขยับใกล้เส้นคาดการณ์มากขึ้น

ขยายเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน-ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุม ศบค. เห็นสมควรให้ขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินต่อไปอีก 2 เดือน ระหว่าง 1 ธ.ค. 2564-31 ม.ค. 2565 เป็นคราวที่ 15 ด้วยเหตุผลเรื่องการควบคุมโรคเป็นหลัก

นอกจากนี้ โฆษก ศบค. กล่าวว่า มีการปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ทั่วราชอาณาจักร โดยใช้ข้อมูลสถิติการติดเชื้อ ความรุนแรงของโรค แนวโน้มการระบาด พื้นที่ติดชายแดน  พื้นที่การท่องเที่ยว สรุปได้ว่า พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) จาก 6 จังหวัด ปรับเป็นไม่มีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ปรับจาก 39 ลดเหลือ 23 จังหวัด พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) มี 23 จังหวัดเท่าเดิม พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) เพิ่มจาก 5 เป็น 24 จังหวัด และพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว เพิ่มจาก 4 เป็น 7 จังหวัด

พื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) 23 จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น, จันทบุรี, ชุมพร, เชียงราย, เชียงใหม่, ตรัง, ตราด, ตาก, นครราชสีมา, นครศรีธรรมราช,​ นราธิวาส, ประจวบคีรีขันธ์, ปราจีนบุรี, ปัตตานี, พระนครศรีอยุธยา, พัทลุง, ยะลา, ระยอง, สงขลา, สตูล, สระบุรี, สระแก้ว, สุราษฎร์ธานี

พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 23 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา, ชัยนาท, ชัยภูมิ, ชลบุรี, นครนายก, นครปฐม, พิษณุโลก, เพชรบุรี, เพชรบูรณ์, แม่ฮ่องสอน, ระนอง, ราชบุรี, ลพบุรี, ลำปาง, ลำพูน, สมุทรปราการ, สมุทรสงคราม, สมุทรสาคร, สิงห์บุรี, สุพรรณบุรี, อ่างทอง, อุดรธานี, อุบลราชธานี

พื้นที่เฝ้าระวัง (สีเหลือง) 24 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์, กำแพงเพชร, นครพนม, นครสวรรค์, น่าน, บึงกาฬ, บุรีรัมย์, พะเยา, พิจิตร, แพร่, มหาสารคาม, มุกดาหาร, ยโสธร, ร้อยเอ็ด, เลย, ศรีสะเกษ, สกลนคร,​ สุโขทัย, สุรินทร์, หนองคาย, หนองบัวลำภู, อุตรดิตถ์, อุทัยธานี, อำนาจเจริญ

พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, กระบี่, กาญจนบุรี, นนทบุรี, ปทุมธานี, พังงา, ภูเก็ต และมีบางพื้นที่ในอีก 19 จังหวัด

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า เมื่อไม่มีพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจึงให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน หรือเคอร์ฟิว

ยังไม่เปิดสถานบันเทิง ศบค. แนะผู้ประกิบการเร่งดำเนินการโควิดฟรีเซ็ตติ้ง

โฆษก ศบค. แถลงเรื่องการปรับมาตรการควบคุมโรคในกิจการสถานบันเทิงว่า ช่วงที่ผ่านมามีผู้ประกอบการสถานบันเทิง คนทำงานกลางคืนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบาย ยื่นข้อเสนอต่อสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาตอ (สมช.) ให้เปิดกิจการภายในเดือน ธ.ค. 2564 ซึ่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ตลอด 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สมช. พบปะกับผู้ประกอบการและผู้ได้รับผลกระทบ นำไปสู่การประชุมอีกหลายครั้ง เช่น คณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558, คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ, คณะที่ปรึกษา ศบค., ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขกรณีโรคติดเชื้อโควิด-19 (EOC), และ ศปก.ศบค.

โฆษก ศบค. กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขเห็นควรดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดไว้เดิม คือ เปิดสถานบันเทิงในเดือน ม.ค. 2565 โดยที่ประชุมเห็นว่า หากเปิดกิจการมีความเสี่ยงหลายประเด็น ได้แก่ 1. สถานที่ผับ บาร์ คาราโอเกะ มีปัญหาเรื่องการถ่ายเทอากาศ ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย 2. พฤติกรรมของบุคคล คือ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต้องเปิดหน้ากาก และมักมีการพูดคุยกัน รวมถึงส่งผลต่อการครองสติ จึงการเกิดละอองฝอยระหว่างการพูดคุย 3. การใช้เวลาจะนานกว่าการรับประทานอาหารปกติหลายชั่วโมง ทำให้เสี่ยงติดเชื้อได้ง่าย และที่ผ่านมามีคลัสเตอร์ใหญ่ที่เกิดจากสถานบันเทิงไม่ต่ำกว่า 2 คลัสเตอร์

อย่างไรก็ตาม นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมมีความเห็นผู้ประกอบการและคนทำงานสถานบันเทิง จึงขอดูความพร้อมของสถานประกอบการเป็นระยะ หากผู้ประกอบการและคนทำงานให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ อาจจะเปิดกิจการได้เร็วกว่า 16 ม.ค. 2565

สำหรับกิจการที่ต้องการเปิดให้บริการ โฆษก ศบค. กล่าวว่า ต้องมีมาตรการโควิดฟรีเซ็ตติ้ง (COVID Free Setting) ทั้งในส่วนของพนักงาน ลูกค้า และสถานประกอบการ โดยเตรียมตัวทั้งบุคคลและสถานที่ให้พร้อมโดยเร็ว หากสามารถตอบคำถามของคณะที่ปรึกษา หรือกระทรวงสาธารณสุขได้ ก็มั่นใจได้ว่ากิจการกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้จะกลับมาดำเนินกิจการได้

ด้านผลกระทบสำหรับกิจการ/กิจกรรมที่ไม่สามารถดำเนินการได้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีในฐานะ ผอ.ศบค. มอบหมายให้กระทรวงแรงงานไปสำรวจผู้ได้รับผลกระทบทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง ว่ามีจำนวนเท่าไร และให้ผู้เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงการคลัง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาดูแลว่าจะเยียวยาอย่างไรต่อไป

ปรับมาตรการสำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร

โฆษก ศบค. กล่าวว่า ตามนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่เปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศ พบว่า ผู้เดินทางเข้าประเทศในโครงการเทสต์แอนด์โก (Test&Go) ติดเชื้อน้อยมาก อัตราการติดเชื้อเพียง 0.08% และถึงแม้จะรวมผู้เดินทางเข้าประเทศในโครงการแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) และผู้เดินทางเข้าประเทศที่ต้องกักตัว (Quarantine) ก็มีอัตราการติดเชื้อเพียง 013%

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า เดิมผู้เดินทางเข้าประเทศต้องตรวจหาโควิดด้วยวิธี RT-PCR และมีช่วงเวลารอผลไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง ปัจจุบันที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับมาตรการเป็นตรวจด้วย ATK เนื่องจากผู้เดินทางต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR ก่อนเดินทางเข้าประเทศอยู่แล้ว

โฆษก ศบค. กล่าวว่า นอกจากการเดินทางเข้าประเทศทางอากาศแล้ว ที่ประชุมยังพิจารณาเปิดช่องทางเข้าประเทศทางบก เริ่มนำร่องที่ด่านหนองคาย วันที่ 24 ธ.ค. 2564 และทางเรือ โดยผู้เดินทางต้องได้รับวัคซีน และตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR 72 ชั่วโมงจากท่าสุดท้าย และไม่มีการติดเชื้อบนเรือ มีการลงทะเบียนผ่าน Thailand pass โดยตรวจ RT-PCR อีกครั้ง เมื่อไม่พบเชื้อจึงจะลงจากเรือได้

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า กรณีเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ที่เดินทางเข้าประเทศ ไม่ต้องมีผล RT-PCR แต่ต้องเดินทางมาพร้อมผู้ปกครอง และตรวจหาเชื้อทางน้ำลายเมื่อเดินทางเข้าราชอาณาจักร เด็กอายุ 6-11 ปี ต้องมีผล RT-PCR อย่างน้อย 72 ชั่วโมง ส่วนเด็กอายุ 12-17 ปี ต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม หรือมีผล RT-PCR อย่างน้อย 72 ชั่วโมง

ส่วนคนไทยที่ต้องการเดินทางไปต่างประเทศ และต้องใช้หนังสือรับรองวัคซีน หรือวัคซีนพาสปอร์ต โฆษก ศบค. กล่าวว่า หนังสือรับรองวัคซีนในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์สามารถดำเนินการผ่านแอปพลิเคชั่นหมอพร้อมโดยไม่มีค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับประเทศปลายทางด้วยว่ายอมรับเอกสารผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์หรือไม่ ส่วนหนังสือรับรองวัคซีนในรูปแบบเอกสารยังมีค่าธรรมเนียม 50 บาท

เตรียมมาตรการรับแรงงานข้ามชาติกว่า 4 แสนคน

ด้านสถานการณ์แรงงานข้ามชาติ โฆษก ศบค. กล่าวว่า กรมการจัดหางานให้ข้อมูลว่า เริ่มดำเนินการเปิดสถานกักตัวใน 5 จังหวัด ได้แก่ ตาก, ระนอง, หนองคาย, มุกดาหาร, และสระแก้ว โดยพูดคุยกับประเทศต้นทาง คือ ลาว, กัมพูชา, และเมียนมา จากนั้นแรงงานข้ามชาติ 424,703 คน จะเข้าทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกกฎหมายและปลอดภัยจากโรค ไม่มีเหตุผลที่จะต้องลักลอบนำแรงงานข้ามชาติเข้าประเทศผิดกฎหมายอีกต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net