ฟังความเห็นคนใน ม็อบ "12.12 ยกเลิก 112"

คุยกับผู้เข้าร่วมชุมนุมกับคณะราษฎรยกเลิกมาตรา 112 นักศึกษา รัฐศาสตร์ ป.โท ย้ำหากมีอำนาจทางการเมืองต้องรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ นักข่าวต่างประเทศชี้ มาตรานี้เป็นสัญญาณว่ายังมีหัวข้อบางหัวข้อที่ยังไม่สามารถจับต้องได้

12 ธ.ค.2564 คณะราษฎรยกเลิกมาตรา 112 (ครย) จัดกิจกรรมม็อบ "12.12 ยกเลิก 112" จากแยกราษฎรประสงค์ (หรือแยกราชประสงค์) ซึ่ง ครย อ่านแถลงการณ์คณะราษฎรยกเลิก 112 ระบุขณะนี้ประชาชนได้ร่วมกันลงชื่อเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกมาตรา 112 เป็นจำนวนถึง 230,000 คนแล้ว

ครย. ยังชวนประชาชนทุกสาขาอาชีพ ทุกภาคส่วน ทุกฟากฝ่าย ทุกแนวความคิด รวมพลังกันลงชื่อเพิ่มเติมให้ถึงหนึ่งล้านคน และขอเรียกร้องต่อทุกพรรคการเมืองให้ประกาศนโยบายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ - ประชาธิปไตย รักษาไว้ซึ่งความยุติธรรม เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมทั้งกำหนดมาตรการให้มีการปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน แก้ไขกฎหมายเพื่อยกเลิกมาตรา 112 และดำเนินงานทุกวิถีทางที่จะให้รัฐบาลประยุทธ์ลาออกไป แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้เป็นไปตามครรลองของประชาธิปไตยเพื่อให้สังคมไทยมีความเจริญก้าวหน้าต่อไป

ทั้งนี้การชุมนุมมีผู้เข้าร่วมหลากหลาย ในโอกาสนี้ประชาไทได้พูดคุยกับผู้ชุมนุมบางส่วนต่อ มาตรา 112 ดังนี้

กรกฎ (นามสมมติ) นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเหตุผลที่ร่วมลงชื่อยกเลิก ม.112 ว่า ตนเรียนรัฐศาสตร์ การวิพากษ์วิจารณ์ การพูดมันเป็นสิ่งสำคัญ ในทางการเมืองนั้นเราไม่สามารถที่จะไม่พูดเรื่องหนึ่งได้ หรือพูดเพียงด้านด้านเดียวได้ ดังนั้นการวิพากษ์จึงสำคัญ เพราะมันยกระดับเพดานของความรู้ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นและเกี่ยวข้องกับเราทุกคนโดยเฉพาะเรื่องการเมือง เรื่องสถาบันกษัตริย์ เกี่ยวของกับประชาชนดังนั้นการวิพากษ์วิจารณ์จึงเป็นเรื่องปกติสามัญ และไม่เกี่ยวกับการที่จะล้มล้างอะไร

กรกฎ กล่าวอีกว่า การพูดในโลกสมัยใหม่ ในประเทศที่เจริญแล้วเป็นเสรีประชาธิปไตย การวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องปกติและสถาบันกษัตริย์ยังเหมือนเป็นตัวแสดงทางการเมืองที่สำคัญ หลายครั้งยังเป็นตัวตัดสินทางการเมือง

"ถ้าไม่อยากถูกวิพากษ์วิจารณ์ก็ต้องไม่มีอำนาจทางการเมือง แต่หากมีอำนาจทางการเมืองต้องรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้" นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มธ. กล่าว รวมทั้งฝากให้กำลังใจกับผู้ที่ถูกดำเนินคดีและคุมขังจาก ม.112 เขาเป็นคนที่เสียสละและเราต้องร่วมรับผิดชอบเรื่องนี้ร่วมกัน

การบูร หอมดี อธิบายว่าที่เขาอยากให้ยกเลิกมาตรา 112 เพราะเขาเห็นกฎหมายนี้ไม่ได้ถูกเอามาใช้ปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างแท้จริง แต่ถูกรัฐบาลประยุทธ์เอามาใช้ในการปิดปากกำจัดคนเห็นต่าง เขาตั้งคำถามว่าการใช้กฎหมายแบบนี้เป็นธรรมหรือไม่

การบูรกล่าวอีกว่ายิ่งมีการใช้มาตรา 112 ก็ยิ่งทำให้ประชาชนยิ่งไม่ชอบสถาบันกษัตริย์มากขึ้นด้วยจากการที่คนออกมาแสดงความคิดเห็นถูกดำเนินคดีมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ไม่ได้รับการประกันตัวออกมาต่อสู้คดี เพราะเยาวชนเหล่านี้ก็มีทั้งเพื่อนทั้งครอบครัวเหมือนกัน ซึ่งการใช้มาตรา 112 ก็ไม่ได้เป็นผลดีกับสถาบันกษัตริย์

“อยากให้ประชาชนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ไม่อยากให้เด็กๆ เขาต้องถูกเอาไปขังคุก ต้องให้ได้ประกันตัวออกมาสู้คดีอย่างถูกต้องไม่สมควรเอาไปขัง”

“ยกเลิกก็ถือว่าใช้ได้แล้ว เพราะว่าเด็กก็จะได้ไม่ต้องมีโทษอะไร อย่างลุงยังรักเจ้าเลยเพราะเจ้าก็อยู่คู่ประเทศไทยมาช้านาน ลุงรักเจ้า แต่ว่ากฎหมายตัวนี้เอามาปกป้องประยุทธ์อย่างเดียว ทำให้มาตรา 112 เสื่อมแล้วคนหมดศรัทธา” การบูร กล่าว

ฟุตบอล นามสมมติ อายุ 16 ปี ที่มายืนเดาะลูกเทนนิสโชว์อยู่ในม็อบพร้อมกับป้ายที่แสดงความต้องการของเขาว่า “ปฏิรูปสถาบัน เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ประยุทธ์ออกไป ปิดสวิตช์ ส.ว. 250” ฟุตบอลคิดว่รการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์กับการยกเลิกมมาตรา 112 ว่าเพราะกฎมหายมาตรานี้มีอำนาจมากเกินไป แต่จะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกก็ได้แค่ทำให้ความรุนแรงของกฎหมายน้อยลงกว่านี้เพื่อให้ยังสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้ เขาได้ยกตัวอย่างกรณีที่มีการใช้มาตรา 112 กับการวิจารณ์เรื่องวัคซีนพระราชทานทำให้ประชาชนไม่สามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้

ฟุตบอลยังเห็นอีกว่าก่อนที่จะแก้มาตรา 112 ได้ก็ต้องไปยกเลิก ส.ว.ก่อนเพราะถ้ายังมีอยู่ก็จะทำให้ไม่สามารถแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 ได้ เพราะต่อให้ ส.ส.ในสภาแก้ไขมาตรา 112 ได้ก็ไปติดที่ ส.ว.อีก

ฟุตบอลบอกว่าที่เขาเริ่มมาสนใจติดตามการชุมนุมเพราะว่าที่บ้านพ่อก็มักจะเปิดข่าวดูอยู่ที่บ้านเรื่อยๆ ก็เรียนออนไลน์ไปแล้วก็ฟังไปด้วย เขาจึงได้สะท้อนปัญหาของการเรียนออนไลน์ไปด้วยว่าการเรียนออนไลน์พอนักเรียนตามไม่ทันครูก็ผ่านไปเลยก็เป็นปัญหาที่ทำให้วิชาที่ลงเรียนที่ผ่านมาติด “ร” ไปเกือบหมดแล้วตอนนี้ถึงจะเปิดเรียนแล้วแต่ก็ยังเป็นสลับเข้าที่ละชั้นเรียนก็เรียนไม่รู้เรื่องอยู่ดี เขาก็อยากให้เปิดเรียนเต็มที่ไปเลยแล้วก็ฉีดวัคซีนให้นักเรียนให้ครบให้หมดจะดีกว่า

ฐิติวัชร์ กล่าวว่า ม.112 นั้นจะยกเลิกได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับประชาชน และส่วนตัวคิดว่ากฎหมายมาตรานี้ควรปรับปรุง กรณีที่ไม่รุนแรงไม่ควรใช้กฎหมายมาตรานี้ พร้อมทั้งอยากให้ปล่อยผู้ที่ถูกคุมขังจากการดำเนินคดีตาม ม.112 

เซบาสเตียน ชาวต่างชาติที่ประกอบอาชีพสื่อมวลชน เล่าว่าเขาไม่ทราบว่ามีการชุมนุมในวันนี้ การมาเดินแถวนี้แล้วเจอกับม็อบจึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจ แต่แม้ไม่ทราบว่ามีการชุมนุม เขาก็รู้สึกว่ากฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นอุปสรรคที่สำคัญกับเสรีภาพในการพูด 

สื่อมวลชนต่างชาติรายนี้เล่าว่า เคยได้ยินเรื่องพรรคกรีนอภิปรายเกี่ยวกับการพำนักในเยอรมนีของวชิราลงกรณ์อยู่บ้าง ซึ่งเรื่องนี้ดูเป็นเรื่องใหญ่สำหรับชาวไทย เพราะปีที่แล้วก็มีการเดินขบวนไปยังสถานทูตฯ เยอรมนีประจำประเทศไทยด้วย

“ผมไม่ได้รู้อะไรมากนัก (เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านเสรีภาพสื่อไทย) แต่มาตรา 112 เป็นสัญญาณว่ายังมีหัวข้อบางหัวข้อที่ยังไม่สามารถจับต้องได้ และผมคิดว่านั่นขัดแย้งกับเสรีภาพในการพูด ซึ่งดูเหมือนว่าจะยังต้องมีเรื่องที่ต้องทำกันอยู่อีกแน่นอน” เซบาสเตียนตอบคำถามเกี่ยวกับสถานการณ์เรื่องเสรีภาพสื่อในไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท