สรุปเสวนากลางม็อบ 'ราษฎรพิพากษา มาตรา 112'

12 ธ.ค.2564 บนเวทีการชุมนุม “ราษฎรยกเลิก 112” ที่แยกราชประสงค์ มีเสวนาหัวข้อ “ราษฎรพิพากษา มาตรา 112” ที่วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยว่าการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริยืเมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 เป็นการล้มล้างการปกครอง และปัญหาของการใช้มาตรา 112 จนทำให้มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมากและการขยายขอบเขตการใช้กฎหมายมาตรานี้เพื่อใช้ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

ผู้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ได้แก่ คอรีเยาะ มานุแช ทนายความจากภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน อุเชนทร์ เชียงเสน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ และอนุลักษณ์ กุลสิงห์ครับ ตัวแทนจากเครือข่ายนักศึกษา

อุเชนทร์ เชียงเสน แสดงความเห็นถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อการปราศรัยถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ว่าคำวินิจฉัยนี้ไม่ได้น่าสนใจในทางกฎหมายมากนัก แต่กลับสะท้อนว่าคนในสังคมนี้คิดอ่านอย่างไร และสะท้อนความเห็นของชนชั้นนำต่อการเคลื่อนไหวปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในช่วงที่ผ่านมาที่พวกเขามองว่ามีเจตนาซ่อนเร้นเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขไม่ใช่การปฏิรูป

“ถ้าอ่านแบบนี้ก็จะเห็นว่าโอกาสการปฏิรูปสถาบันฯ นั้นเป็นไปได้มากน้อยขนาดไหนและชนชั้นนำเขามีความพร้อมในการปรับตัวขนาดไหน” อุเชนทร์กล่าวถึงสิ่งที่สะท้อนมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

อุเชนทร์กล่าวต่อว่าศาลให้เหตุผลเน้นไปที่ความสำคัญและความต่อเนื่องของสถาบันกษัตริย์ในฐานะที่เป็นองค์ประกอบหลักของชาติ เช่นการระบุว่าสถาบันเป็นเสาหลักที่สำคัญที่จะขาดไม่ได้เพราะสถาบันกับชาติไทยดำรงอยู่คู่กันเป็นเนื้อเดียวกันตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี่คือหลักคิดของพวกเขาทั้งหมดและไม่ได้อ้างอิงบนหลักกฎหมายเลยดังนั้นจึงเป็นเพียงการแสดงความเห็นของศาลเท่านั้น

อุเชนทร์ เชียงเสน

อุเชนทร์ตั้งข้อสังเกตต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า คำวินิจฉัยทั้งหมดนี้ไม่ได้มีการวางหลักเลยว่าอะไรคือหลักการประชาธิปไตย แล้วอะไรคือหลักการแก่นสารของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพราะว่าถ้าเราจะตัดสินเรื่องอะไรว่าเป็นการล้มล้างหรือไม่ล้มล้างก็ต้องระบุนิยามก่อนว่าแก่นหรือสาระของสิ่งนั้นคืออะไร “แต่คำวินิจฉัยนี้วางไว้แต่หลักหรือแก่นสารของสถาบันกษัตริย์เท่านั้น การตัดสินแบบนี้สะท้อนว่าระบอบการปกครองตอนนี้ใครเป็นผู้ยิ่งใหญ่หรือใครใหญ่กว่ากัน”

เขายกตัวอย่างในคำวินิจฉัยเกี่ยวกับหลักการของว่า “การกระทำใดๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะด้วยวิธีการพูดเขียนหรือการกระทำต่างๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยค่า หรือทำให้อ่อนแอลงย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์” เขาอธิบายเรื่องที่ศาลใช้คำว่าด้อยค่าหรือทำให้อ่อนแอกับเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ถ้าหากมีการใช้เกณฑ์แบบนี้ก็จะทำให้การแตะต้องเรื่องพระราชอำนาจ การลดพระราชอำนาจถือว่าเป็นการล้มล้างทั้งหมด

อุเชนทร์อธิบายถึงเวลามีการพูดถึงระบอบประชาธิปไตยก็จะหมายถึงประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ที่มีหลักเรื่องเสรีนิยมที่มีความเป็นนิติรัฐคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและควบคุมจำกัดการใช้อำนาจรัฐ แม้ว่าคำวินิจฉัยของศาลที่อ้างเรื่องสิทธิเสรีภาพเอาไว้บ้างแต่ก็เป็นไปเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพของขวนการเคลื่อนไหวเสียมากกว่าการคุ้มครองโดยศาลได้ยกเหตุผลนามธรรมเช่น ความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน

นอกจากนั้นศาลก็อ้างว่าในการชุมนุมมีการใช้คำหยาบคำด่า ไม่ยอมรับฟังความเห็น เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ซึ่งอุเชนทร์มองว่าคำกล่าวอ้างของศาลเหล่านี้ประเด็นพวกนี้ถ้าจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทเท่านั้น แต่ว่าการที่ผู้ชุมนุมไม่เห็นด้วยคัดค้านโต้แย้งกับคนอื่นไม่ได้เป็นการจำกัดการใช้เสรีภาพของคนอื่นเพราะผู้ชุมนุมไม่ได้เป็นผู้มีอำนาจรัฐไม่ได้ใช้กำลังบังคับกักขังหน่วงเห็นี่ยวมให้บุคคลอื่นใช้เสรีภาพแสดงความเห็นไม่ได้

อุเชนทร์กล่าวว่าส่วนหลักการประชาธิปไตยคือการปกครองของประชาชน และอำนาจของประชาชนเกี่ยวกับการเลือกตั้งไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างทั้งเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพเลย เพราะอันนั้นเป็นคำขวัญของการปฏิวัติฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตามประชาธิปไตยก็มีเงื่อนไขขั้นต่ำอยู่ด้วยคือ ผู้มีอำนาจตัดสินใจในทางนโยบายหรือรัฐบบาลต้องมาจากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งต้องมีอย่างสม่ำเสมอ ยุติธรรมและเสรี ประชาชนที่เป็นผู้ใหญ่ต้องมีสิทธิเลือกตั้ง พลเมืองมีสิทธิในการแสดงความเห็นทางการเมือง ปราศจากอันตรายและการลงโทษ มีสิทธิในข้อมูลข่าวสาร มีสิทธิในการรวมตัว องค์กร หรือพรรคการเมือง นอกจากนั้นที่สำคัญก็คือว่าฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนจะต้องใช้อำนาจของตนเองโดยไม่ขึ้นต่อฝ่ายที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งรวมทั้งระบบการเมืองจะต้องเป็นการปกครองตนเองปราศจากการครอบงำของรัฐภายนอก

“ปรากฏว่าถ้าเราไปอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลไม่ได้ระบุหลักการเหล่านี้ไว้เลย นิยามแต่เรื่องสถาบันกษัตริย์เท่านั้น”

อุเชนทร์ตอบต่อคำถามเกี่ยวกับระบอบการปกครองของไทยตอนนี้ว่า ไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอีกแล้ว โดยเขายกสิ่งที่ศาลรัฐธรรมนูญเขียนว่า “การใช้สิทธเสรีภาพเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูยที่ว่าด้วยพระราชฐานะของกษัตริย์ที่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองจะนำไปสู่การบ่อนทำลายระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในที่สุด”

ทั้งนี้เขาเห็นว่าข้อเรียกร้องของแกนนำการชุมนุมที่ต้องการให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงแล้วการอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองจะเกิดขึ้นได้จริงก็ต่อเมื่อกษัตริย์ไม่ได้เป็นผู้กระทำทางการเมืองก็ไม่ต้องรับผิดชอบแล้วก็ไม่ได้ทำเองให้ทั้งหมดมาอยู่ที่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐสภาแทน ซึ่งปัญหาในการเมืองไทยตอนนี้ที่เป็นสิ่งตกค้างมาจาก 2475 คือกษัตริย์ยังเป็นผู้กระทำทางการเมืองอยู่ไมได้เป็นไปตามหลักการของระบอบประชาธิปไตยที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญยังได้อ้างรัฐธรรมนูญหลายฉบับที่ผ่านมาด้วยจนถึงฉบับ 27 มิ.ย.2475 เพื่อทำให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์มีความสำคัญอย่างไร โดยอ้างมาตรา 2 ขึ้นมาแต่การอ้างนี้ก็ขัดแย้งกับเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญอ้างว่าการปกครองไทยนั้นอำนาจการปกครองเป็นของกษัตริย์ เพราะอย่างน้อยตั้งแต่ 2475 มาแล้วที่อำนาจการปกครองไม่ได้เป็นของกษัตริย์นอกจากนั้นในคำวินิจฉัยก็พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าการแก้ไขมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ 2560 นั้นเป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างเหมือนกัน แต่ถ้าดูมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกก็ไม่ได้เป็นแบบเดียวกับฉบับ 2560 มาแต่ต้นเพราะในฉบับแรกมาตรา 6 ระบุว่ากษัตริย์จะถูกฟ้องร้องในคดีในศาลไม่ได้แต่เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรวินิจฉัย ดังนั้นการที่ศาลอ้างว่ามาตรา 6 จะแก้ไม่ได้เลยนั้นก็ไม่ได้เป็นจริง

อุเชนทร์กล่าวถึงงานเขียนเกี่ยวกับระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ที่เป็นศาลรัฐธรรมนูญอยู่ในปัจจุบันว่า นครินทร์เคยมีความเห็นว่าระบอบประชาธิปไตยและระบอบกษัตริย์นั้นเป็นขั้วตรงข้ามกันเป็นปฏิปักษ์กันมาแต่โบราณเพราะระบอบกษัตริย์เป็นระบอบการปกครองของบุคคลเพียงคนเดียวตรงข้ามกับประชาะปไตยที่เป้นการปกครองของคนส่วนใหญ่โดยหลักการแล้วการปกครองของคนๆ เดียวจะมาผสมกับการปกครองที่เป็นของคนส่วนใหญ่ไม่ได้ จึงไม่ควรเอา 2 คำนี้มาผูกเป็นคำเดียวกัน ฉะนั้นการที่เราจะมีระบอบที่กษัตริย์จะอยู่ร่วมกับประชาะปไตยนั้นเป็นประดษิฐกรรมทางการเมืองและทางปัญญาของโลกสมัยใหม่ แต่การรวมกันจะเกิดแนวโน้มทางการเมืองสองอย่าง คือการกลายเป็น “สาธารณรัฐจำแลง” กับการเป็น “เสมือนสมบูรณาญาสิทธิ” ซึ่งเขาเห็นว่าประเทศไทยเป็นอย่างหลัง

อุเชนทร์อธิบายว่า “สาธารณรัฐจำแลง” คืออำนาจที่แท้จริงจะเบี่ยงมาอยู่ที่คณะรัฐมนตรีกับสภา ส่วน “เสมือนสมบูรณาญาสิทธิ” คืออำนาจจะเบี่ยงไปทางสถาบันกษัตริย์และขุนนาง และการเกิดขึ้นของระบอบประชาธิปไตยอันทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยก็เพิ่งเกิดขึ้นในปี 2492 นอกจากนั้นระบอบนี้ยังเชื่อมโยงอยู่กับ “ประชาธิปไตยแบบไทยๆ” ที่เพิ่งสร้างขึ้นเมื่อสมัยรัฐบาลเผด็จการสฤษดิ์ และสถานะของสถาบันกษัตริย์ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ในรัฐบาลเผด็จการหากเชื่อมโยงกับเรื่องพระราชอำนาจนำก็ปรากฏขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เท่านั้น

“การที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไม่นิยามระบอบนี้ให้ชัดเจนสร้างความกำกวมว่าอำนาจอธิปไตยอยู่ที่ใครกันแน่ระหว่างกษัตริย์หรือประชาชน มันเปิดให้มีการตีความแบบคลุมเครือสุดโต่งได้เช่นคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาและจะถูกใช้ประโยชน์ในการทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน ผมเลยอยากเรียกตุลาการชุดนี้ว่า ตุลาการในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

อุเชนทร์อธิบายความคิดเรื่อง “ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ว่าคือผู้รับใช้ที่มีประสิทธิภาพของกษัตริย์ และความภักดีนี้จะเพิ่มความชอบธรรมและอำนาจให้กับพวกเขา และในประเทศไทยตอนนี้ทุกสิ่งทุกอย่างแม้กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญก็ถูกทำให้เป็นของกษัตริย์

คอรีเยาะ มานุแช

คอรีเยาะ มานุแช ภาคีนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวถึงปัญหาของมาตรา 112 ว่าอาจจะถือได้ว่าเป็นกฎหมายตบปากประชาชน เขาไมได้แค่ปิดปากแต่เอาคนที่พูดเข้าคุกแล้วไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราว เป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อไม่ให้ประชาชนแสดงออกิสทิธิเสรีภาพในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ในหลายประเทศการใช้กฎหมายแบบนี้เป็นเรื่องผิดกฎหมายเพราะเป็นเครื่องมือของทุนของรัฐที่มาคุกคามสิทธิเสรีภ่าพของประชาชน

การฟ้องคดีตบปากมักจะเป็นคดีที่ไม่มูลคดีและสร้างภาระให้กับประชาชนไม่ว่าาเรื่องระยะเวลาและค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ทำให้ประชาชนที่ไม่ทรัพยากรในการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมต้องจำยอมรับเงื่อนไขที่จะอยุ่ภายใต้การกดขี่ของมาตรานี้ไม่ว่าจะเป็นการขอโทษการลบข้อความที่รัฐตั้งเงื่อนไขไว้

ไทยก็มีกระทรวงดิจิทัลในการเป็นตัวหลักในการฟ้องมาตรา 112 แล้วก้ตามไปลบโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ แล้วคนที่ถูกดเนินคดีก็มีทั้งนักเคลื่อนไหวทั่วไป นักการเมือง นักสิทะมนุษยชน กิจกรรมหลักทที่ทำพให้เป็นการฟ้องร้องคือการพูดหรือปราศรัยในที่สาธารณะหรือการแสดงความเห็นในออนไลน์

คอรีเยาะกล่าวว่าที่ผ่านมาทางสมาคมนักกฎหมายสิทะมนุษยชนเคยทำรายงานและมีข้อเรียกร้องถึงรัฐบาลให้ต้องปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับนานาชาติว่าจะคุ้มครองนักปกป้องสิทะมนุษยชนรวมถึงปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศที่จะไม่ฟ้องบุคคลในคดีที่ไม่มีความจริงหรือในคดีที่มีลักษณะเป็นการปิดกั้นประชาชนไม่แสดงออกทางความคิดหรือการมีส่วนร่วมทางการเมือง

นอกจากนั้นในระดับเวทีนานาชาติอย่างเช่น UPR ประเทศไทยก็ไปด้วย ในเวทีนั้นไม่ว่าจะเยอรมนี สวีเดน นอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ แม้กระทั่งสหรัฐฯ ก็ได้แสดงความห่วงใยที่รัฐไทยบังคับใช้มาตรา 112 เพราะมีการใช้ดำเนินคดีกับบุคคลเป็นจำนวนมากก็มีการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยทบทวนการใช้กฎหมายมาตรานี้ และมีการขยายขอบเขตการใช้กฎหมายที่ละเมิดต่อการแสดงออกของประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ

“ต้องบอกว่าสิ่งที่นานาชาติกังวลมีหลักฐานประจักษ์แน่นหนาทีเดียวว่าประเทศไทยใช้มาตรา 112 ในการตบปากประชาชนอย่างบ้าคลั่งขนาดไหน ระยะเวลาตั้งแต่ก.ค.ปีที่แล้วรัฐดำเนินคดีกับประชาชนแล้วไม่น้อยกว่า 1,600 กว่าคดีแล้วก็มีกว่า 200 คนที่เป็นเยาวชนต่ำกว่า 18 ปี ในจำนวนนี้มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 จำนวน164 คนรวมเป็น 168 คดี”

คอรีเยาะแจกแจงว่าในคดีมาตรา 112 เหล่านี้เป็นคดีที่มาจากการปราศรัยหรือการชุมนุมทางการเมืองประมาณ 36 คดี เป็นคดีที่ไม่ใช่การปราศรัยอย่างเช่นการติดป้ายรณรงค์ 40 กว่าคดี และจำนวนมากมาจากการแสดงความเห็นในโลกออนไลน์

“อยากจะยืนยันตรงนี้ว่าคดี 112 เป็นคดีในประมวลกฎหมายอาญา ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ก็ยังงงอยู่ว่าคนที่ออกมาเรียกร้องให้แก้ไขหรือยกเลิกมาตรา 112 กลายเป็นเรื่องของการล้มล้างระบบการปกครองประชาธิปไตยได้อย่างไร แล้วมาตรา 112 ที่เป็นกฎหมายอาญาก็อยู่ในกรอบกฎหมายรัฐธรรมนูญที่คนที่ถูกฟ้องร้องจะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะต้องคำพิพากษา นอกจากนั้นรัฐธรรมนูญยังระบุว่าจะปฏิบัติเหมือนกับว่าบุคคลนั้นเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้”

คอรีเยาะชี้ให้เห็นว่าการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมของไทยในขณะนี้ละเมิดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน เช่น การไม่ปล่อยตัวชั่วคราวที่ได้ทำลายหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์วไจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นมาตรา 112 ยังมีการบังคับใช้ที่ผิดหลักนิติธรรมและนิติรัฐอย่างมากเพราะผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีไมได้รับสิทธิในการพิสูจว่าตนเองทำหรือแสดงออกเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือปกป้องส่วนได้เสียของตนเองหรือผู้อื่น นอกจากนี้ยังไม่มีสิทธิในการพิสูจน์ว่าสิ่างที่เขาทำเป็นความจริงเพื่อจะได้รับการยกเว้นการรับโทษตามกฎหมาย เป็นการผิดรัฐธรรมนูญและหลักนิติธรรมนิติรัฐที่ไม่ให้ผู้ต้องหาได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

คอรีเยาะกล่าวว่าศาลยังได้ใช้ดุลพินิจที่มักจะใช้ในทางที่เป็นโทษกับผู้ต้องหาในการยกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวซ้ำๆ อย่างไม่มีเหตุผลที่เพียงพอ ในการพิจารณาคดีอาญาของไทยที่ใช้ระบบกล่าวหาก็คือคนกล่าวหามีภาระในการพิสูจน์ เช่นตำรวจที่เป็นผู้กล่าวหาไปยื่นคำร้องต่อศาลให้ฝากขังหรือคัดค้านการประกันตัวว่ายังสอบสวนไม่เสร็จเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุประการอื่นก็เป็นหน้าที่ของตำรวจที่จะต้องพิสูจน์กับศาลโดยแสดงหลักฐานหรือระบุมูลเหตุให้ได้ว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอื่นได้อย่างไร แต่ศาลก็ไม่ได้ไต่สวนให้เป็นที่ประจักษ์ว่าเหตุผลของตำรวจหรืออัยการยกมาเหล่านี้เพียงพอเอาข้อยกเว้นที่จะไม่ปล่อยตัวชั่วคราวมาบังคับใช้ในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน

“มันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องทบทวนการใช้มาตรา 112 ของรัฐที่ใช้อย่างบ้าคลั่งไร้สติเช่นนี้เพื่อที่จะให้เรามีบรรทัดฐานในการบังคับใช้กฎหมายในกรอบที่เป็นอารยะเท่ากับนานาชาติ แล้วในท้ายที่สุดก็จะต้องนำไปสู่การยกเลิกมาตรา 112 เพื่อที่จะให้พวกเราได้เปิดตาเห็นความจริงว่าสิ่งที่มันเป็นจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร”

อนุลักษณ์ กุลสิงห์ ตัวแทนจากเครือข่ายนักศึกษา กล่าวว่า 3 ข้อเรียกร้องความฝันของข้อเรียกร้อง ตามสถานการณืตอนนี้ไม่มีข้อเรียกร้องไหนดีไปกว่า 3 ข้อนี้แล้ว ถ้ารธน.ไม่ถูกแก้ ประยุทธ์และส.ว.ก็จะยังอยู่ต่อไปแน่ และรัฐธรรมนูญ 2560 ก็ยังสืบทอดอำนาจของ คสช.มาจนถึงทุกวันนี้

อนุลักษณ์กล่าวต่อว่าข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แม้ว่าประเทศไทยจะมีสถาบันกษัตริย์มาอย่างยาวนานแต่ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลง และสถาบันกษัตริย์ก็ยังไม่ได้ถูกปฏิรูปมาตั้งแต่ยุคคณะราษฎร ผ่านยุคคอมมิวนิสต์ที่สหรัฐฯ ก็ใช้สถาบันกษัตริย์เป็นเครื่องมือทางการเมืองแล้วมาถึงยุคนี้สถาบันกษัตริย์ก็ยังเข้ามามีบทบาททางการเมืองอย่างมากอีก 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท