เผย แนวโน้ม #CPTPP เข้าครม.ไม่ทันสิ้นปี สำนักเลขาฯ ครม. ขอเอกสารค้านประกอบ

27 ธ.ค.2564 ผู้สื่อข่าวประชาไทได้รับแจ้งจากแหล่งข่าวว่า ตามที่ สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ได้ส่งหนังสือถึงสำนักเลขาคณะรัฐมนตรีขอให้ไม่รับประเด็น CPTPP (หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก  Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership ) เข้า เป็นวาระประชุมคณะรัฐมนตรี เพราะจนถึงขณะนี้ ทางกระทรวงพาณิชย์ในฐานะเลขานุการของนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ยังไม่เคยนำประเด็นข้อตกลง CPTPP มาประชุมหารือร่วมกับทาง สอบ.ตามข้อสั่งการของนายกฯ และขอให้ชะลอการแสดงความจำนงเข้าร่วมข้อตกลงดังกล่าว จนกว่าจะมีความเห็นร่วมที่แท้จริงบนฐานของความถูกต้อง 

แหล่งข่าวแจ้งด้วยว่ารายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผยว่า ทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้ติดต่อขอเอกสารจุดยืนของทางกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ที่ได้แจ้งต่อ ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกฯและประธาน กนศ. ในการหารือเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมา 

ทั้งนี้ ช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่สำนักเลขาธิการเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำข้อสั่งการนายกฯ ถึง สภาองค์กรของผู้บริโภค ลงวันที่ 20 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้ทำข้อสั่งการถึงคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ด้วย ใจความหลักว่า

นายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่ง

1. ให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (คกก.กนศ.) ดำเนินการจัดทำผลการพิจารณาดำเนินการตา รายงานการพิจารณาศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญเข้า CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร ให้ครบถ้วนตามประเด็นของ กมธ. เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีอีกครั้งและแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรทราบต่อไป

2. ให้กระทรวงพาณิชย์หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อให้ได้ข้อยุติรวมทั้งชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP ให้แก่สภาองค์กรของผู้บริโภค ตลอดจนประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจแก่ประชาชน เพื่อให้ทราบถึงประโยชน์ของการเข้าเป็นสมาชิก CPTPP ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อที่จะดำเนินการแสดงเจตจำนงเข้าร่วมความตกลง CPTPP ต่อไป

ต่อมาคณะกรรมการ กนศ.ได้ประชุมเมื่อวันที่ 18 ต.ค. และมีมติดังนี้

1. มอบกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศจัดทำกรอบการเจรจา CPTPP ของไทยบนพื้นฐานของการศึกษาของ กมธ. และผลการดำเนินการของ กนศ.ที่ผ่านมาพร้อมด้วยรายการข้อสงวน ข้อยืดหยุ่น และระยะเวลาปรับตัวของไทยประกอบการเจรจา

2. มอบฝ่ายเลขานุการ กนศ.ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้จัดทำข้อสงวน ข้อยืดหยุ่น และ/หรือ ระยะเวลาปรับตัวของไทย รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ โดยการจัดทำดังกล่าว ให้หน่วยงานหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้รอบคอบ เพื่อนำมาประกอบการจัดทำข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนส่งให้กับฝ่ายเลขานุการ กนศ. ภายใน 30 วัน

3. ให้ฝ่ายเลขานุการ กนศ.ประสานจัดส่งข้อมูลที่ได้รับจากหน่วยงานต่างๆให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเพื่อให้กรมเจรจาฯดำเนินการและจัดทำเป็นเอกสารให้ครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อเสนอให้ที่ประชุม กนศ.ครั้งหน้า เพื่อพิจารณาก่อนจะเสนอ ครม. ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในการประชุม กนศ. เมื่อวันที่ 14 ธ.ค.ที่ผ่านมา พบว่า จากการมอบหมายให้ 24 หน่วยงานจัดทำข้อสงวน ข้อยืดหยุ่น และ/หรือ ระยะเวลาปรับตัวของไทย รวมทั้งข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ นั้นมีหน่วยงานที่ดำเนินตามไม่ถึง 10 หน่วยงานจึงต้องขยายเวลาออกไปอีก 45 วัน

สำหรับจุดยืนของภาคประชาชนซึ่งได้รวมอยู่ในข้อเสนอแนะจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร และข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภคที่ยื่นต่อประธาน กนศ.ในการหารือเมื่อวันที่ 20 ธ.ค.ที่ผ่านมานั้น ไม่เห็นด้วยกับการยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงขอเข้าร่วม CPTPP ด้วยเหตุผล 4 ข้อดังนี้ 

  • หนึ่ง การเข้าร่วมความตกลง CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งมีผลกระทบด้านลบต่อเกษตรกร ทั้งราคาเมล็ดพันธุ์ที่จะแพงขึ้น สิทธิเกษตรกรที่ถูกลิดรอน และการทำลายความหลายหลากทางชีวภาพ
  • สอง การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะสารพิษที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก
  • สาม การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยจะส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย
  • และสุดท้าย ข้อบทในความตกลง CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล จากงานวิจัยการประเมินผลกระทบของ CPTPP ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นเกือบ 400,000 ล้านบาท เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 89 และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท แน่นอนว่านี่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงโดยตรงต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นผลงานอวดชาวโลกของไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท