Skip to main content
sharethis

กสม. มีหนังสือถึงนายกฯ เสนอแนะ 4 แนวทางแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ ปลดล็อกเงื่อนไขการทำงานของแรงงานข้ามชาติ เปิดจุดผ่านแดนถาวร เข้มงวดตรวจหาโควิด-19 และพัฒนาระบบลงทะเบียนแรงงานให้มีประสิทธิภาพ พร้อมกันนี้ กสม. ยังได้รับคำร้องกรณีการบูลลี่คนอีสานไว้ตรวจสอบ เตรียมชงข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา

13 ม.ค. 2565 เวลา 10.30 น. วสันต์ ภัยหลีกลี้ และ ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 1/2565  โดยมีวาระสำคัญ 2 เรื่องได้แก่ ข้อเสนอแนะกรณีการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายของแรงงานข้ามชาติ และประเด็นที่มีผู้ร้องเรื่องการบูลลี่คนอีสานในแอปพลิเคชันคลับเฮาส์ (Clubhouse)

กสม. มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องข้อเสนอแนะกรณีแรงงานข้ามชาติกับสถานการณ์การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ตามที่ กสม. ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเด็นแรงงานข้ามชาติในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 และพบรายงานการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายผ่านช่องทางธรรมชาติตามแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับปัญหาการค้ามนุษย์ และการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานโดยกลุ่มบุคคลต่างๆ

กสม. จึงได้จัดประชุมเรื่อง “สิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติกับสถานการณ์การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย” เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 โดยรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรภาคธุรกิจ องค์กรภาคประชาสังคมและผู้ทรงคุณวุฒิของ กสม. และพบสภาพปัญหาสำคัญ เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะภายหลังรัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศและผู้ประกอบการเริ่มกลับมาเปิดกิจการเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 แต่เนื่องจากช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านได้เดินทางกลับประเทศ ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน และเร็วๆ นี้ เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมืองในพม่า ทำให้แรงงานชาวพม่าต้องการเข้ามาทำงานในประเทศไทย เป็นเหตุให้มีการลักลอบนำเข้าแรงงานอย่างผิดกฎหมายมากขึ้น

ส่วนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และพม่า) อย่างถูกต้องตามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจ้างแรงงาน (MOU) ระหว่างประเทศไทยกับประเทศต้นทาง ประสบปัญหาอุปสรรค เช่น การขึ้นทะเบียนแรงงานในประเทศต้นทางที่ใช้ระยะเวลานาน ขั้นตอนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติมีหลายขั้นตอน และบางขั้นตอนมีค่าใช้จ่ายสูง โดยเฉพาะค่าธรรมเนียมการตรวจลงตรา ค่าตรวจเชื้อโควิด-19 รวมทั้งค่าใช้จ่ายสำหรับการกักตัวแรงงาน เป็นต้น ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่ายได้ ขณะที่สถานที่กักตัวสำหรับแรงงานข้ามชาติบริเวณจุดผ่านแดนยังมีจำนวนจำกัด ทั้งยังพบปัญหาการเข้ารับการตรวจสุขภาพของแรงงานซึ่สถานพยาบาลหลายแห่งปฏิเสธการตรวจสุขภาพ ทำให้การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด และต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทาง

การตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 ที่ จ.สมุทรสาคร (แฟ้มภาพ)
 

นอกจากนี้ยังมีอุปสรรคอันเกี่ยวเนื่องกับกฎระเบียบ เช่น ข้อจำกัดเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานและการเปลี่ยนนายจ้างของแรงงานข้ามชาติตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่อาจเป็นการจำกัดสิทธิของแรงงานข้ามชาติที่ควรเลือกทำงานได้อย่างเสรีและเป็นไปตามหลักอุปสงค์และอุปทาน อย่างไรก็ดี พบว่าคณะรัฐมนตรีมีมติเกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมาก ทำให้การบริหารจัดการทางทะเบียนของแรงงานข้ามชาติไม่เป็นเอกภาพและมีความซ้ำซ้อนกัน

กสม. ได้พิจารณาข้อมูลดังกล่าวแล้วเห็นว่า การบริหารจัดการเกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานข้ามชาติควรคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในเรื่องสิทธิในการทำงาน สิทธิในโอกาสที่จะหาเลี้ยงชีพโดยงานซึ่งตนเลือกหรือรับอย่างเสรี มีสภาพการทำงานที่ยุติธรรม ตลอดจนสิทธิที่จะไม่ถูกเอาตัวลงเป็นทาสหรือถูกบังคับให้ตกอยู่ในภาวะเยี่ยงทาส และสิทธิที่จะไม่ถูกบังคับใช้แรงงาน ตามที่ได้มีการรับรองและคุ้มครองไว้ในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICESCR) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี

ด้วยเหตุนี้ กสม. จึงได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรื่องข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติกับสถานการณ์การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ลงวันที่ 30 ธ.ค. 2564 โดยได้แจ้งสภาพปัญหาพร้อมข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณามอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้มีผลในทางปฏิบัติโดยเร่งด่วน สรุปได้ดังนี้

ข้อเสนอแนะในระยะสั้น

  1. ให้กระทรวงแรงงาน พิจารณาดำเนินการ เช่น  สำรวจความต้องการแรงงานข้ามชาติของผู้ประกอบการในทุกประเภทกิจการเพื่อเป็นฐานข้อมูลกลางสำหรับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติทั้งระบบ และร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนขั้นตอนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติตาม MOU พร้อมหารือกับประเทศต้นทางเพื่อปรับลดขั้นตอนการดำเนินการให้มีความสะดวก รวดเร็วยิ่งขึ้น และปรับลดค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมเพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยสามารถนำเข้าแรงงานได้ นอกจากนี้ควรแก้ไขเพิ่มเติม MOU การจ้างงานระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อเพิ่มโอกาสให้แรงงานเวียดนามสามารถทำงานได้ในประเภทกิจการอื่น (นอกเหนือจากกิจการประมงทะเลและก่อสร้าง) ได้เช่นเดียวกับแรงงานกัมพูชา ลาว และพม่า ทั้งนี้ ควรเร่งจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวฉบับใหม่ เพื่อใช้แทนยุทธศาสตร์ฯ พ.ศ.2560-2564 เพื่อจัดหาแรงงานข้ามชาติให้เพียงพอต่อความต้องการทางเศรษฐกิจ และลดจำนวนแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายที่นำไปสู่ผลกระทบอื่น เช่น โรคระบาด ปัญหาสังคม การค้ามนุษย์ เป็นต้น โดยที่แนวทางการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติตามมติคณะรัฐมนตรีฉบับต่าง ๆ ควรรวบรวมให้เป็นแนวทางเดียวกัน พร้อมจัดทำเป็นเอกสารเผยแพร่ด้วยภาษาราชการของประเทศต้นทางด้วย
  2. ให้สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พิจารณาเปิดจุดผ่านแดนถาวรที่มีความพร้อมเพิ่มเติม เพื่อให้แรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมายสามารถเดินทางเข้ามาได้รวดเร็วขึ้น
  3. ให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกักตัวแรงงานข้ามชาติตามมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตรวจสอบและจัดหาสถานที่สำหรับการกักตัวแรงงานข้ามชาติที่มีมาตรฐานและเพียงพอ
  4. ให้กระทรวงแรงงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จัดทำฐานข้อมูลแรงงานข้ามชาติให้เป็นระบบเดียวกัน รวมถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับยืนยันตัวตนเพื่อความสะดวก รวดเร็ว และลดค่าใช้จ่ายการขึ้นทะเบียนแรงงาน

ข้อเสนอแนะในระยะยาว

ให้กระทรวงแรงงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณาดำเนินการ นำปัญหาการลักลอบนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายไปหารือและเจรจาหาข้อตกลงร่วมกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อแก้ไขป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและคุ้มครองสิทธิของแรงงานย้ายถิ่น นอกจากนี้ควรสำรวจ ทบทวน และแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย หรือขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่อาจไม่สอดคล้องหรือเป็นอุปสรรคต่อการคุ้มครองแรงงาน เช่น ปรับปรุงระบบการเคลื่อนย้ายและการเปลี่ยนนายจ้างให้มีความเหมาะสมเพื่อให้แรงงานเลือกทำงานตามที่กฎหมายกำหนดได้อย่างเสรี ปรับปรุงระบบการเข้าถึงบริการสาธารณสุข รวมถึงสถานที่ตรวจสุขภาพที่สะดวกและเพียงพอ

กสม. ชี้ ประเด็นเหยียดคนอีสานใน Clubhouse ไม่เคารพความแตกต่างและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

กสม. รับคำร้องกรณีการเหยียดหยามคนอีสานใน Clubhouse ไว้ตรวจสอบ ห่วงปัญหาการบูลลี่และการสื่อสารที่สร้างความแตกแยก เตรียมชงข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหา

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2565 ได้พิจารณาเรื่องที่มีผู้ร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน กรณีบุคคลในสื่อสังคมออนไลน์ Clubhouse กระทำการในลักษณะดูถูก เหยียดหยามและด้อยค่าคนอีสาน ซึ่งเป็นกรณีที่นำไปสู่การถกเถียงของสังคมในวงกว้างเมื่อปลายปี 2564 ที่ผ่านมา โดยเห็นว่า กรณีดังกล่าวนอกจากเข้าข่ายละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์แล้ว ยังไม่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 4 ที่บัญญัติว่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคลย่อมได้รับความคุ้มครอง” รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 17 (1) ซึ่งระบุว่า “บุคคลจะถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัว ครอบครัว เคหสถาน หรือการติดต่อสื่อสารโดยพลการหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายมิได้ และจะถูกลบหลู่เกียรติและชื่อเสียงโดยมิชอบด้วยกฎหมายมิได้ และ (2) บุคคลทุกคนมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายมิให้ถูกแทรกแซงหรือลบหลู่เช่นว่านั้น”

กรณีที่เกิดขึ้นจึงเป็นการตอกย้ำว่าสังคมไทยมีปัญหาในด้านการตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชนและการเคารพในความแตกต่างของบุคคลทั้งในทางวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิต กสม. ยังเห็นว่าปัญหาในลักษณะดังกล่าว โดยเฉพาะการสื่อสารที่ลดทอนคุณค่าหรือกระทบกระเทือนจิตใจของผู้อื่น (Bully) และการสื่อสารที่สร้างความแตกแยก (Hate Speech) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามการพัฒนาของเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งทุกภาคส่วนของสังคมควรให้ความสำคัญและพิจารณาหาแนวทางการป้องกันมิให้เกิดปัญหาซ้ำขึ้นอีก

ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขและป้องกันปัญหาลักษณะเดียวกันที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต กสม. จึงมีมติให้ดำเนินการดังนี้ (1) รับคำร้องกรณีการเหยียดหยาม ดูถูกและด้อยค่าคนอีสานไว้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนและจัดทำข้อเสนอแนะมาตรการในการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไป (2) ศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายหรือข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปด้วยความรอบด้านและมีประสิทธิผล และ (3) ขับเคลื่อนการรณรงค์และเสริมสร้างให้สังคมเกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพื่อสร้างสังคมแห่งการเคารพสิทธิมนุษยชนซึ่งกันและกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net