Skip to main content
sharethis

คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ณ สน.ลุมพินี จากกรณีถูกหมายเรียกข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุร่วมเวทีเสวนา "ราษฎรพิพากษามาตรา 112" เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2564 บริเวณแยกราชประสงค์ เจ้าตัวยืนยันป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ชี้ การแจ้งข้อหาลักษณะนี้เป็นการฟ้องปิดปากและลิดรอนสิทธิของประชาชน

13 ม.ค. 2565 เฟซบุ๊กเพจสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รายงานว่า วันนี้ (13 ม.ค. 2565) เวลา 10.00 น. คอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ณ สน.ลุมพินี จากกรณีถูกหมายเรียกข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุร่วมเวทีเสวนา "ราษฎรพิพากษามาตรา 112" เมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2564 บริเวณแยกราชประสงค์ ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนในประเด็นการแก้ไขมาตรา 112 หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการชุมนุมที่มีข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เป็นการล้มล้างการปกครอง โดยมีอุเชนทร์ เชียงเสน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาในเวทีดังกล่าว ร่วมให้กำลังใจ

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 คอรีเยาะ ได้รับหมายเรียกจาก สน.ลุมพินี ลงวันที่ 22 ธ.ค. 2564 ให้ไปพบพนักงานสอบสวนในข้อกล่าวหา ร่วมกันจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันชุมนุมหรือกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่กรุงเทพมหานครโดยไม่ได้รับอนุญาต

 

 

คอรีเยาะได้เปิดเผยในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ตนมีเจตนาที่จะให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างสิ้นเชิงเนื่องจากตนเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวในฐานะแขกรับเชิญ ไม่ได้โพสต์เชิญชวนให้ผู้ใดเข้าร่วมกิจกรรม มีการป้องกันตนเองโดยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา รวมถึงยังได้รับวัคซีน 3 โดสตามนโยบายการควบคุมโรคระบาดของรัฐเรียบร้อยแล้ว ทั้งบริเวณแยกราชประสงค์เป็นพื้นที่สาธารณะที่อากาศถ่ายเท ล้อมรอบด้วยศูนย์การค้าขนาดใหญ่หลายแห่ง มีประชาชนสัญจรและรวมกลุ่มในการทำกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งกิจกรรมสันทนากรเนื่องในเทศกาลคริสต์มาสที่ศูนย์การค้าจัดขึ้นบริเวณโดยรอบให้ประชาชนมาท่องเที่ยวชื่นชมความสวยงามจำนวนมาก

การอ้างว่าเป็นว่าพื้นที่เฉพาะส่วนที่เป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองซึ่งเป็นเพียงจุดหนึ่งในพื้นที่กว้างใหญ่ของบริเวณแยกราชประสงค์ว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ นั้นเสมือนหนึ่งเจ้าหน้าที่ถือกฎหมายและใช้กฎหมายนั้นตามอำเภอใจว่าจะนำกฎหมายนั้นไปประกาศใช้ที่ใด ณ เวลาใดก็ได้ อันเป็นใช้กฎหมายเพื่อตอบสนองเจตจำนงค์ส่วนตนมิใช่ตามเจตนารมย์ของกฎหมายตามหลักนิติรัฐนิติธรรม เป็นการจงใจให้ร้ายประชาชนอย่างร้ายแรง เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองอันขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนว่าด้วยการเลือกปฏิบัติ และเป็นการลิดรอนต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน ใช้อำนาจโดยไม่สุจริต ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อประเด็นสาธารณะซึ่งได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญและปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง การบังคับใช้กฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่าย่อมต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญ

คอรีเยาะยังได้ให้ข้อสังเกตในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “การแจ้งข้อกล่าวหาในลักษณะนี้เกิดขึ้นกับประชาชนที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองจำนวนมาก ซึ่งเข้าข่ายเป็นการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะ (Strategic Lawsuits AgainstPublic Participation - SLAPP) หรือที่เรียกกันว่า 'การฟ้องกลั่นแกล้ง' หรือ 'การฟ้องปิดปาก' อันเป็นรูปแบบที่รัฐเผด็จการในคราบประชาธิปไตยอันมีข้าราชการฝักใฝ่เผด็จการเป็นเรื่องมือในการคุกคามประชาชนในนามของความยุติธรรม แม้จะอ้างว่าเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ แต่หากเป็นการใช้สิทธิที่มีความมุ่งหมายหรือเจตนาให้บุคคลหรือประชาชนได้รับความเดือนร้อน เสียหายโดยอาศัยกฎหมายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกล่าวหาบุคคลหรือประชาชน การใช้กฎหมายนั้นก็เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ย่อมเป็นการกระทำละเมิดต่อบุคคลหรือประชาชนได้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นองค์กรหน้าด่านในการปกป้อง คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจึงต้องระมัดระวังในการใช้กฎหมายและต้องตระหนักว่าหน่วยงานของตนนั้นมีพันธกิจตามกฎหมายที่จะไม่ใช้กฎหมายในทางที่ไม่สุจริต หรือเพื่อกลั่นแกล้ง และเพื่อป้องกันการดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมในกิจการสาธารณะของประชาชน (Anti – SLAPPs Law) ด้วย”

การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาดำเนินคดีเพื่อปิดปากประชาชนดังเช่นที่เกิดขึ้นกับคอรีเยาะนี้ ไม่ใช่สิ่งใหม่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่านับแต่เริ่มการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,751 คน และในจำนวนนี้เป็นการดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อประชาชนอย่างน้อย 1,415 คน เป็นที่น่าสังเกตว่าการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯที่รัฐอ้างว่าบังคับใช้เพื่อควบคุมโรคระบาดนั้น ถูกใช้อย่างต้องตามจุดประสงค์หรือไม่ หรือเป็นเพียงเครื่องมือของรัฐ ในการปิดปากประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ในหมายเรียกได้ระบุให้คอรีเยาะไปพบพนักงานสอบสวนในวันที่ 29 ธ.ค. 2564 แต่เนื่องจากติดภารกิจส่วนตัว คอรีเยาะได้ทำการเลื่อนนัดหมายกับเจ้าพนักงานตามหมายเลขโทรศัพท์ในหมายเรียก แต่ถูกพนักงานสอบสวนปฏิเสธการเลื่อนนัดดังกล่าวและขอให้แจ้งเป็นหนังสือ ซึ่งคอรีเยอะ ได้ให้ข้อสังเกตอีกว่า เป็นการสร้างภาระให้ประชาชนเกินสมควร เพราะไม่ว่าจะเป็นทนายความ นักเคลื่อนไหว หรือชาวบ้านไร่บ้านนาก็ควรที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงความยุติธรรมโดยสะดวก ไม่สร้างเงื่อนไขหรือภาระให้ประชาชนเกินสมควรอย่างเสมอภาค

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net