Skip to main content
sharethis

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชนเละเครือข่ายออกแถลงการณ์คัดค้านการตัดสินประหารชีวิตทนายความและนักเคลื่อนไหว 82 คนในเมียนมา ชี้ไม่มีความชอบธรรม เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติทุกฉบับที่ประเทศเมียนมาได้ลงนามรับรองไว้ ขอให้อาเซียนยกเลิกโทษประหารชีวิต 

24 ม.ค.2565 สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.), คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF), เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต และมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF) ออกแถลงการณ์ คัดค้านการตัดสินประหารชีวิตทนายความและนักเคลื่อนไหว 82 คนในเมียนมา

โดยระบุว่า

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และองค์กรตามรายนามต่อท้ายนี้ ขอคัดค้านคำพิพากษาของศาลทหารเมียนมาที่ตัดสินประหารชีวิตจำเลย ผู้เรียกร้องประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการทหาร 2 คนเมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 คือ นาย พโย เซยาร์ ตอ ทนายความ สมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรค NLD ของนางอองซาน ซูจี และนาย จ่อ มิน ยู นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยคนดังที่รู้จักกันในชื่อ "Jimmy"

ตั้งแต่มีการยึดอำนาจโดยทหารนำโดย พลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 และประกาศกฎอัยการศึก เกิดการใช้ความรุนแรงจนกลายเป็นสงครามกลางเมือง มีการจับกุมประชาชนที่ออกมาประท้วงจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1500 คน และศาลได้ตัดสินประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวด้วยข้อหาต่างๆไปถึง 82 คน รวมทั้งเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี (ข้อมูลจาก AAPP) แม้การตัดสินประหารชีวิตจะยังไม่มีการลงมือประหารฯก็ตาม การกระทำดังกล่าวบั่นทอนเสถียรภาพของประเทศและประชาคมอาเซียน ซึ่งองค์กรต่างๆในไทยและต่างประเทศได้ออกมาแสดงความห่วงใยกันอย่างมากมายนั้น

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเครือข่ายขอเรียกร้องไปยังกลุ่มคณะที่อยู่ในอำนาจอย่างผิดกฎหมาย และประชาคมอาเซียนดังนี้

1. ขอให้คณะผู้ทำการรัฐประหารที่ยึดอำนาจ คืนอำนาจให้ประชาชน ยุติสงครามกลางเมือง ยกเลิกกฎอัยการศึก และให้ยุติการใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดีใดๆต่อพลเรือนพม่าทุกกรณี

2. การลงโทษประหารชีวิตผู้เรียกร้องประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ ไม่มีความชอบธรรม เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติทุกฉบับที่ประเทศเมียนมาได้ลงนามรับรองไว้ (CEDAW, ICESCR, CRC, CRPD)

3. ขอให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอาเซียน มีมติเห็นพ้องให้ทั้ง 10 ประเทศทำการยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งทางกฎหมายและการปฏิบัติ เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าโทษประหารชีวิตเป็นเครื่องมือที่อันตราย สุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งในการใช้กลั่นแกล้งหรือขจัดฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

4. ประชาคมอาเซียนควรจะมีวิสัยทัศน์ในเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เคารพสิทธิในการมีชีวิตอยู่ของประชาชนในอาเซียน โดยการยกเลิกโทษประหารชีวิตอย่างถาวร

5. กลไกหลักในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights - AICHR) ควรแสดงท่าทีอย่างเปิดเผยชัดเจนต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา คัดค้านคำพิพากษาของศาลทหารเมียนมาที่ตัดสินประหารชีวิต นาย พโย เซยาร์ ตอ และนาย จ่อ มิน ยู รวมทั้งคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion of the Rights of Women and Children – ACWC) ควรออกมาปกป้องสตรีและเด็กที่มีบทบาทในการเรียกร้องประชาธิปไตยและถูกเข่นฆ่าเป็นจำนวนมาก

ในฐานะที่เป็นประชาชนและองค์กรภาคประชาสังคมในภูมิภาคอาเซียน เราหวังเป็น อย่างยิ่งว่าสถานการณ์ในประเทศเมียนมาจะกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็ว ปล่อยตัวนักโทษการเมือง ทุกกรณีโดยไม่มีเงื่อนไข

24 มกราคม 2565

สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF)

เครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต

มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net