นักวิชาการหนุนเก็บภาษีและกำกับควบคุมคริปโตเคอเรนซี่เข้มงวดขึ้น

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย สนับสนุนการเก็บภาษีและกำกับควบคุมคริปโตเคอเรนซี่เข้มงวดขึ้น คาดสัญญาณฟองสบู่คริปโตแตกหลังเดือน มี.ค. 2565 สนับสนุนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ


ที่มาภาพประกอบ: Jorge FranganilloFollow (CC BY 2.0)

6 ก.พ. 2565 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทยและอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต เปิดเผยว่าขอสนับสนุนการเก็บภาษีและกำกับควบคุมคริปโตเคอเรนซี่เข้มงวดขึ้นของทางการ โดยเก็บเฉพาะส่วนกำไรจากทุน ช่วงที่ผ่านมา ธุรกิจผิดกฎหมายหรือธุรกิจสีเทาใช้ คริปโตเคอเรนซี่ เป็นกลไกในระบบการชำระเงินและฟอกเงิน เนื่องจากธุรกิจผิดกฎหมายหรือธุรกิจสีเทาเหล่านี้ถูกปฏิเสธการทำธุรกรรมผ่านระบบการเงินในระบบที่ถูกกำกับโดยทางการของประเทศต่างๆ ธนาคารกลางในบางประเทศจึงควบคุมไม่ให้มีธุรกรรมดังกล่าวและเร่งออกเงินสกุลดิจิทัลของตัวเอง ขณะเดียวกันธุรกรรมคริปโตเคอเรนซี่เองก็เป็นทางเลือกของประชาชนและกิจการต่างๆ ที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบการชำระเงินในระบบหรือเผชิญต้นทุนสูง โดยเฉพาะการชำระเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังถือเป็นการให้การบริการทางการเงินหรือระบบการชำระเงินแบบกระจายศูนย์ สร้างระบบนิเวศทางการเงินสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล 

อย่างไรก็ตามการใช้คริปโตเคอเรนซี่ก่อให้เกิดทั้งโอกาสและความท้าทาย รวมทั้งความเสี่ยงต่อระบบการเงิน ระบบเศรษฐกิจในขณะเดียวกัน แต่เทคโนโลยีทางการเงินนี้ยังดำรงอยู่ต่อไปและพัฒนาต่อไปอีกในอนาคต อย่างไรก็ตาม คริปโตเคอเรนซี่นี้ไม่พ้นภาวะฟองสบู่และการแตกตัวของฟองสบู่ระลอกสอง ระลอกแรกได้ผ่านมาแล้วจากการที่คริปโตเคอเรนซี่หลายสกุลราคาได้ปรับตัวลงมามากกว่า 40% หรือ บางสกุลก็แทบจะไม่มีมูลค่าหรือมีการฉ้อโกงกัน โดยคาดว่าสัญญาณฟองสบู่คริปโตจะแตกชัดเจนหลังเดือนมีนาคมเมื่อสภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลงจากการลด QE และขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้ว จะทำให้ราคาคริปโตสกุลต่างๆ สะท้อนมูลค่าที่แท้จริงมากขึ้น

"ขอเตือนให้นักลงทุนที่ถือครองสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงทางการเงิน โปรดระมัดระวังการลงทุนเป็นพิเศษหลังสภาพคล่องในตลาดการเงินโลกทยอยลดลงอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสสองเป็นต้นไปและอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น" รศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุ

รศ.ดร.อนุสรณ์ ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวขององค์กรผู้ใช้แรงงานเสนอให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 492 บาท อัตราเดียวทั่วประเทศ ว่าเห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเพื่อคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยการปรับเพิ่มขึ้นเท่าไหร่นั้นควรต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทุกมิติเพื่อให้เกิดผลดีต่อสวัสดิภาพต่อแรงงานอย่างแท้จริง และเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจ ไม่เกิดแรงกดดันเงินเฟ้อ หรือเกิดปัญหาการเพิ่มขึ้นของการว่างงาน รวมทั้งเพิ่มต้นทุนของการผลิตมากเกินไป การตัดสินใจต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและใช้กลไกไตรภาคี การใช้ค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจในระยะยาวมากกว่าแบบกำหนดตามพื้นที่โดยเฉพาะในมิติความเป็นธรรมและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ในปัจจุบันค่าจ้างของแรงงานภาคอุตสาหกรรมแบ่งออกเป็น 4 ระบบใหญ่

1. ระบบค่าจ้างขั้นต่ำของลูกจ้างในสถานประกอบการกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัด ซึ่งเป็นคณะกรรมการไตรภาคีและการประกาศบังคับใช้กฎหมายโดยกระทรวงแรงงาน เดิมระบบค่าจ้างขั้นต่ำถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างเป็นอัตราเดียวทั่วประเทศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2544 จึงได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่โดยมีอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำประจำจังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคีในจังหวัดของตัวเอง

2. ระบบค่าจ้างเงินเดือนในสถานประกอบการตามฝีมือแรงงาน คือ ค่าจ้างที่นายจ้างเป็นผู้กำหนดจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นการตอบแทนตามผลงานในรอบระยะเวลาที่ผ่านมา ปัญหาในสถานประกอบการหลายแห่งเกิดขึ้นเมื่อไม่ได้มีกำหนดโครงสร้างค่าจ้างที่ชัดเจน ปัญหาอีกประการหนึ่งในปัจจุบัน คือ การไม่มีความแตกต่างระหว่างค่าจ้างขั้นต่ำกับอัตราค่าจ้างประจำปีในสถานประกอบการซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ต้องการให้เป็นเพียงค่าจ้างของแรงงานไร้ฝีมือในระยะแรกของการทำงานไม่ใช่ค่าจ้างของลูกจ้างที่ทำงานมาหลายปีจนมีทักษะฝีมือแล้ว ค่าจ้างในระบบนี้มักเป็นไปตามค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือแรงงาน 
 
3. ระบบค่าจ้างรายชิ้น เป็นระบบค่าจ้างที่จ่ายให้ตามจำนวนชิ้นงานโดยไม่คำนึงถึงเวลาที่ใช้ในการผลิต ใช้กับแรงงานนอกระบบในกลุ่มผู้รับงานไปทำที่บ้านซึ่งค่าจ้างถูกกำหนดโดยผู้ว่าจ้าง จากการศึกษาของ ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ และนภาพร อติวานิชพงศ์ พบว่าค่าจ้างเฉลี่ยที่ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้รับเมื่อคำนวณตามชั่วโมงการทำงานแล้วต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน และโดยส่วนใหญ่ลูกจ้างไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องค่าจ้างรายชิ้น ยกเว้นในกรณีมีอุปสงค์หรือความต้องการสินค้าสูงมีความจำเป็นต้องการแรงงานเพื่อเร่งผลิต อำนาจต่อรองของลูกจ้างรายชิ้นจึงสูงขึ้น 

4. ระบบค่าจ้างของแรงงานนอกระบบ ระบบค่าจ้างของแรงงานนอกระบบมักยึดการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ (Minimum Wage) เป็นพื้นฐานโดยไม่ใช่ค่าจ้างที่เพียงพอแก่การดำรงชีวิต (Living Wage) แรงงานนอกระบบมักมีสภาพการจ้างที่ไม่เป็นทางการ ขาดความมั่นคงในงานและไม่มีสวัสดิการแรงงาน รวมทั้งมักถูกเลือกปฏิบัติจากกฎหมายคุ้มครองแรงงานและระบบประกันสังคม 

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวถึงหลักเกณฑ์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำว่า อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ นั้น หมายถึง อัตราค่าจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นแรงงานไร้ฝีมือเมื่อแรกเข้าทำงาน เพื่อให้มีรายได้เพียงพอต่อการเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว (ตัวลูกจ้าง + ภรรยา 1+ บุตร 2 คน) ให้อยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข นั่นคือ เกณฑ์ค่าแรงขั้นต่ำขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เกณฑ์การพิจารณา การปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำในแต่ละปีนั้น แต่ละประเทศก็จะมีแนวทางและหลักเกณฑ์ของตนเองแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่จะพิจารณาจากการปรับเพิ่มขึ้นของ ภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living) ของปีนั้นๆ เป็นหลัก หากภาวะค่าครองชีพ ปรับเพิ่มขึ้นไปกี่เปอร์เซ็นต์ ค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำก็จะต้องปรับเพิ่มตามไปเท่านั้น เรียกว่า ปรับเพิ่มตามภาวะค่าครองชีพ (Cost of Living Adjustment) เพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้เพียงพอกับภาวะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ลูกจ้างนั้นจะมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าเดิมแต่อย่างใด หากแต่ปรับเพิ่มให้รายได้มีความสมดุลกับรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น เพื่อมิให้ลูกจ้างได้รับความเดือดร้อนจากการมีรายจ่ายที่เพิ่มขึ้น จึงประสงค์ของค่าแรงงานขั้นต่ำ ก็เพื่อให้ความคุ้มครองทางสังคม และกระจายผลประโยชน์ของการพัฒนาและผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ มีคณะกรรมการค่าจ้างไตรภาคีประกอบด้วยตัวแทนนายจ้าง ลูกจ้าง และภาครัฐเป็นผู้พิจารณากำหนด และควรมีกำหนดค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำพื้นฐานเป็นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ สำหรับจังหวัดที่ไม่ได้กำหนดอัตราของตนเอง หรือ หากไม่ใช้วิธีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอัตราเดียวทั่วประเทศ 

เรื่องค่าแรงขั้นต่ำที่ต้องปรับตัวขึ้นสูงแน่เป็นเพียงแนวโน้มสำคัญหนึ่งของตลาดแรงงานไทยเท่านั้น ยังมีแนวโน้มอื่นๆ อีก ที่ธุรกิจอุตสาหกรรมต้องปรับตัว และรัฐต้องมีนโยบายและมาตรการอันเหมาะสมในการตอบสนอง ไม่เช่นนั้นแล้วจะสร้างปัญหาทางเศรษฐกิจในมิติใดมิติหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขัน ความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ แนวโน้มที่สำคัญและยังเป็นแนวโน้มที่ช่วยอธิบายเราว่า ค่าจ้างในไทยแพงหรือไม่ คือ ผลิตภาพแรงงานไทยในอนาคตว่าเป็นอย่างไร ปัจจุบันผลิตภาพแรงงานไทย (Labor Productivity) เติบโตในระดับปานกลาง ขณะเดียวกันผลตอบแทนของแรงงานก็ลดลงทุกระดับการศึกษา สะท้อนปัญหาด้านคุณภาพของการศึกษาไทย ผลิตภาพแรงงานโดยเฉลี่ยต่อคนปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (Purchasing Power Parity) หากเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้วพบว่าผลิตภาพแรงงานเฉลี่ยต่อคนของไทยปรับด้วยอำนาจการซื้อเปรียบเทียบ (PPP) อยู่ในระดับปานกลาง ผลิตภาพการผลิตเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาวและเป็นตัวกำหนดระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน 

รศ.ดร.อนุสรณ์ ทิ้งท้ายว่าการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลอย่างมากต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผลิตภาพแรงงานเป็นตัวบ่งชี้ประสิทธิภาพในการทำงานของปัจจัยการผลิตด้านแรงงานเพื่อใช้เปรียบเทียบผลงานทางด้านเศรษฐกิจ โดยทำการวัดจากอัตราส่วนของผลผลิตกับจำนวนแรงงานในระบบเศรษฐกิจ ผลิตภาพแรงงานในระยะหลังไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นนักเพราะมีปัญหา การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะทำให้ไม่สามารถพัฒนาไปสู่การใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตได้ ขณะเดียวกันระบบการศึกษาก็มีปัญหาทางด้านคุณภาพในการผลิตทรัพยากรมนุษย์ป้อนเข้าสู่ระบบการผลิตนอกจากนี้แรงงาน (ประชากรในวัยทำงาน) ยังมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท