Skip to main content
sharethis

เลือกตั้งซ่อมหลักสี่จบอย่างน่าดีใจสำหรับฝ่ายค้าน สุรชาติ เพื่อไทย ชนะอย่างงดงาม พรรคก้าวไกลก็ปักฐานคะแนนนิยม ทั้งที่กระทุ้งประเด็นแหลมคม “สุ่มเสี่ยง” ในสังคมไทย

นึกว่าโลกออนไลน์จะสงบ ที่ไหนได้ ประวิตร โรจนพฤกษ์ รายงานว่า “ติ่งแดงติ่งส้มตีกันอีกรอบ”
“ติ่ง” ไม่ได้หมายถึงคนเลือกเพื่อไทยก้าวไกลทั้งหมด “ติ่ง” คือ ultra เพราะคนจำนวนมากเป็น “แดงส้ม” ดีใจที่เพื่อไทยชนะดีใจที่ก้าวไกลมาที่สอง โดยต่างคนต่างก็เลือกพรรคที่ตัวเองนิยม

กระนั้นติ่งก็เป็นปัญหาได้ หากปลุกความเกลียดชังกันจนกลายเป็น IO ประเภทหนึ่ง
ประเด็นแรกที่ควรทำความเข้าใจก่อนต่อสู้ถกเถียงกันต่อไปคือ คุณไม่มีวันเลิกต่อสู้ถกเถียงกันได้หรอก (ฮา)

เพราะทั้งสองพรรคแม้อยู่บนฐานประชาธิปไตยไม่เอาเผด็จการ แต่มีความแตกต่างในแนวทาง เป้าหมาย ความคิด วิธีทำงานการเมือง ตั้งแต่แกนนำ องค์กร ไปถึงมวลชน ก็มีทัศนะและที่มาแตกต่างกัน

ยกตัวอย่างง่ายๆ คนที่ตั้งตารอพี่โทนี่คืนวันอังคาร กับคนฟังทิม พิธา อภิปรายในสภาแล้วโดนไปเสียทุกอย่าง มันไม่ง่ายหรอกที่จะบอกให้เลือกตั้งเชิงยุทธศาสตร์ เทคะแนนให้พรรคหนึ่งพรรคใดเพื่อชัยชนะ (พอแพ้ก็ชี้หน้าโทษกัน เพราะมึงทำให้ประยุทธ์ชนะ ประชาชนต้องทนทุกข์)

ประเด็นที่สองคือ เลิกพูดเถอะว่า อย่าทะเลาะกันเลย สามัคคีกันดีกว่า นั่นมันคาถาแบบไทยๆ ไม่ยอมรับความเห็นต่าง วิถีประชาธิปไตยในปัจจุบัน เช่น การเมืองยุโรป มีทั้งพรรคการเมืองขวาจัด ขวากลาง กลางขวา กลางซ้าย สังคมนิยมประชาธิปไตย ฯลฯ เพราะสังคมพัฒนาไปจนมีความคิดหลากหลาย

พรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลจึงเป็นแนวร่วมประชาธิปไตย ที่ทั้งต้องร่วมมือกันและต่อสู้แข่งขันกันเอง ซึ่งเวลาพูดนั้นง่าย แต่ลงสนามจริงมันยาก เลี่ยงไม่ได้ที่จะซัดกัน ทั้งตัวพรรค ตัวบุคคล และกองเชียร์

แต่ประเด็นสำคัญคือเคารพสิทธิผู้เลือกตั้ง ยอมรับว่าคนเลือกแต่ละพรรคมีความคิดต่าง ถ้าเขาไม่เลือกก็อย่าโทษประชาชนหรือด่าพรรคคู่แข่ง ต้องน้อมรับและปรับตัวเอง ว่าทำไมไม่ชนะใจคน

เช่น ก้าวไกลส่งวิโรจน์ลงผู้ว่าฯ กทม. ก็เกิดกระแสจะเป็น “ตัวบาป” ทำชัชชาติแพ้ ทั้งที่ชัชชาติพูดเอง ถ้าไม่สามารถเอาชนะใจประชาชนก็ไม่สมควรเป็นผู้ว่า ส่วนตัวเชื่อว่า FC ก้าวไกลมีไม่น้อยที่เลือกชัชชาติ แต่พรรคก้าวไกลก็ต้องปักธงนำเสนออุดมการณ์ของตัวเอง เช่นประกาศชนระบบราชการและกลุ่มทุน

ถ้าเข้าใจความแตกต่าง ก็ควรยอมรับว่าหมดยุค “ประชาธิป ไตยพรรคเดียว” ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยไม่ได้เป็นของใครคนเดียว ทั้งสองพรรคมีแฟนคลับของตัวเอง ไม่ใช่ปลาจากบ่อเดียวกันที่ต้องตั้งหน้าตั้งตาแก่งแย่ง

มีความเข้าใจผิดๆ แบบคิดว่าคะแนนอนาคตใหม่ 6.3 ล้านมาจากคนเคยเลือกเพื่อไทย ซึ่งผลเลือกตั้งหลักสี่ตอกย้ำว่าไม่ใช่ (ปี 54 สุรชาติได้ 28,376) แม้ส่วนหนึ่งมาจากไทยรักษาชาติถูกยุบ แม้มีคนเคยเลือกเพื่อไทยเปลี่ยนใจ แต่จำนวนไม่น้อยก็มาจากคนรุ่นใหม่ “ธนาธรฟีเวอร์” จำนวนไม่น้อยก็มาจากคนชั้นกลางในเมืองที่เคยไล่ทักษิณ แต่ 5 ปีผ่านไป “ตาสว่าง” เหลืออดรัฐประหาร เห็นสันดานแมลงสาบ (“ติ่งเพื่อไทย” แซะว่ากลุ่มนี้เป็นสลิ่มแปลงร่าง)

พูดในทางการตลาดคือทับซ้อนกันกลุ่มเดียว อย่ามุ่งหวังแต่แย่งชิง มองไปกว้างๆ ดึงคะแนนคนเบื่อรัฐบาลดีกว่า จะต้องเลือกเชิงยุทธศาสตร์ไหม เดี๋ยวพวกเราตัดสินใจเอง รบกันมากๆ เดี๋ยวหมั่นไส้ ขอคะแนนกันไม่ได้

ประการต่อมาถ้าทำใจได้ ว่าต้องแข่งกัน 2 พรรค 3 พรรค 4 พรรค (อย่าลืมเสรีรวมไทย ประชาชาติ ไทยสร้างไทย) ก็มองให้เห็นจุดแข็งจุดอ่อนแต่ละฝ่าย

พรรคเพื่อไทยเดินแนวทางพรรค Mass ขายความเชื่อมั่นในฝีมือเศรษฐกิจ “การเมืองเป็นเรื่องปากท้อง” อุดมการณ์อย่างเดียวเอาชนะไม่ได้ จึงเดินแนวทางประสานประโยชน์ผู้คนหลากหลาย แต่เมื่อเดินแนวทางนี้ก็ไม่สามารถแหลมคมทะลุทะลวง ต้องสู้ไปประนีประนอมไปเป็นเรื่องๆ กระนั้นด้วยข้อจำกัดของทักษิณ ของนักการเมืองทุนท้องถิ่น เมื่อมีอำนาจแล้วไม่สามารถรักษากระบวนท่าต่อสู้ได้ จึงโดนข้อหาเกี้ยเซี้ย “สู้ไปกราบไป”

พรรคอนาคตใหม่ก้าวไกลเติบโตจากความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของกระแสโลก ที่คนรุ่นใหม่ต้องการปฏิรูป “ถอดรื้อ” ครั้งใหญ่ทุกด้าน ทั้งโครงสร้างอำนาจปรสิต ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความคิดวัฒนธรรม แต่ก็เช่นเดียวกับคนรุ่นใหม่ทั้งโลก ที่มีทั้งจุดแข็งจุดอ่อน นั่นคือมีพลังถอดรื้อแหลมคม แต่ยังไม่สามารถนำเสนอสังคมใหม่ในอุดมคติ และยังไม่ใช่พรรคที่จะชนะเลือกตั้งวงกว้าง

กระนั้น ความแหลมคมของอนาคตใหม่ก้าวไกล ก็ส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเปลี่ยนเป้าหมายประชาธิปไตยอย่างไม่มีวันหวนกลับ

ยอมรับเถอะว่า ประชาธิปไตยไทยมาถึงจุดที่มี 2 พรรค ต่อสู้แข่งขัน ผลักดันซึ่งกันและกัน และผลักทั้งขบวนไปข้างหน้า เลิกคิดได้แล้วว่าถ้าไม่มีอีกพรรค คนจะยอมรับการผูกขาด

ยอมรับแล้วถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์กันต่อไปให้เต็มเหนี่ยว แต่อย่าให้ร้าย ปลุกเกลียดชัง แตะต้องไม่ได้ แบบนั้นเรียกว่าสลิ่ม

 

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์ www.khaosod.co.th/politics/news_6872493

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net