Skip to main content
sharethis

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก/บล็อกเกอร์ ชื่อ 'พูติกาล ศายษีมา' นำเสนอลำดับเวลาความพยายามแก้ผลกระทบจาก #ขบวนเสด็จ ตั้งแต่ปี 44-65 ที่ 'ไม่เคยสำเร็จ' พร้อมเปิดเรื่องเล่าที่เผยถึงความเข้าใจผิด 

 

15 ก.พ.2565  หลังจากมีกระแสเคลื่อนไหว ทั้งการสำรวจความเห็นต่อขบวนเสด็จหรือการที่นักกิจกรรมพยายามชูป้ายระหว่างมีขบวนเสด็จ จนต่อมาเฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ทหารหลังกองพัน' ซึ่งมีกว่า 72,00 คนติดตามเพจนี้โพสต์ว่า ขบวนเสด็จกรณีส่วนพระองค์ไม่มีการปิดถนนตั้งแต่ปี 63 แล้วนั้น

11 ก.พ.ที่ผ่านมา ผู้ใช้เฟซบุ๊ก 'พูติกาล ศายษีมา' บล็อกเกอร์ผู้มักนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับสถาบันและการเมือง โดยครั้งนี้นำข้อมูลซึ่งเป็นโพสต์เก่าของตนเองเกี่ยวกับแนวปฏิบัติขบวนเสด็จมาโพสต์ พร้อมระบุว่า "ที่บอกว่าขบวนเสด็จส่วนพระองค์ ในคู่มือกำหนดแนวปฏิบัติให้ ไม่ปิดถนนตั้งแต่ปี 63 นั่นไม่ใช่ ที่ถูกคือมีความพยายามทำมาตั้งแต่ปี 44 สมัย ร.9 แล้ว แต่ไม่เคยสำเร็จ"

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อพูติกาลฯ ไล่ไทมไลน์ดังนี้

ปี 2544 :

ในหนังสือจากสำนักราชเลขาฯ 27 ม.ค. 53 ราชเลขา(อาสา สารสิน) ได้เล่าถึงเรื่องนี้ไว้ว่า ร.9 มีพระราชปรารภให้หาทางแก้ปัญหาปัญหาจราจรเวลามีขบวนเสด็จ ตั้งแต่ปี 2544 ซึ่งก็ได้มีการจัดทำแนวทางคู่มือไว้แล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จมาตลอดเพราะผู้ปฏิบัติหน้างานกลัวถูกตำหนิลงโทษสอดคล้องกับข้อมูลจากวิกิลีกส์ #10BANGKOK192 วันที่ 25 ม.ค.2553 ที่ทูตสหรัฐฯ คุยกับ พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา(อดีตองคมนตรี) ซึ่งสิทธิเล่าว่า ร.9 เห็นด้วยและให้อาสาพูดคุยกับสมาชิกราชวงศ์ กำหนดแนวทางจัดระเบียบขบวนเสด็จ เพื่อลดปัญหาจราจร มาสัก 8 ปีแล้ว แต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง โดยสิทธิยังเล่าว่า ตัวเองอาทิตย์ก่อนกลับจากการพบทูตจีนก็ติดบนถนน 45 นาที เพราะขบวนเสด็จ นอกจากเรื่องปิดถนน สิทธิเห็นว่าการที่ขบวนเสด็จของบางท่าน (You Know Who) สั่งให้บ้านเรือนริมถนนต้องปิดหน้าต่าง ชั้นสองด้วยเวลามีการเสด็จนั่นยิ่งไม่ได้อะไรนอกจากความไม่พอใจของประชาชน

ม.ค. 2553 :

ปลายมกราคม 53 ช่วงเวลาที่ สิทธิคุยกับทูตสหรัฐนั้น ก็คือช่วงเวลาเดียวกับที่ อาสา ทำหนังสือเรื่องแนวทางแก้ปัญหาจราจรจากการเสด็จส่วนพระองค์ ถึง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฯลฯ โดยบอกว่า ร.9 ได้รับสั่งย้ำเรื่องนี้อีกครั้ง จึงจะขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อวางแนวปฏิบัติ โดยในหนังสือสำนักราชเลขาเรื่องแนวทางแก้ปัญหาจราจรจากขบวนเสด็จส่วนพระองค์ 27 ม.ค. 53 นั้นมีเอกสารแนบเป็น นโยบายและแนวทางปฏิบัติในการจัดการจราจรในการเสด็จส่วนพระองค์ ที่จัดทำโดยคณะกรรมการอำนวยการจราจรในการเสด็จฯ เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 53 แนวทางหลักคือให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

มีการกำหนดแนวปฏิบัติไว้ตามแต่สถานที่ สภาพถนน อย่างละเอียด โดยหลักก็คือปิดถนนให้น้อยที่สุด(เฉพาะช่องทางเสด็จ) ปิดถนนเท่าที่จำเป็น (ถ้ามีทางขนานให้รถวิ่งบนทางขนานได้) ให้ประชาชนใช้ชีวิตตามปกติ (ห้ามสั่งปิดหน้าต่าง ประตู ไม่ต้องปิดถนนทั้งเส้น แค่ในระยะใกล้ให้รถจอดด้านซ้าย) ถ้าดูรายชื่อ คกก.อำนวยการจราจรในการเสด็จฯ จะพบว่าจัดเต็มมาก เพราะไม่ใช่มีแค่ ราชเลขาฯ รองเลขาฯพระราชวัง ตัวแทนกองงานของพระบรมวงศานุวงศ์หลักทั้งหมด แต่ยังมี ปลัดมหาดไทย และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นกรรมการในการกำหนดแนวปฏิบัติฯดังกล่าวด้วย

หลังจากนั้น 4 ก.พ.53 ปลัดมหาดไทยก็ออกหนังสือแจ้งเรื่องดังกล่าวถึงผู้ว่าทุกจังหวัด และย้ำว่าให้ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด แต่ไม่แน่ใจว่าจะนำไปใช้จริงได้สำเร็จ หรือล้มเหลวแบบความพยายามในปี 2544

ต้นปี 53 เรื่องนี้ไม่เป็นข่าวตามหน้าสื่อ เพราะข่าวใหญ่ช่วงนั้นคือการชุมนุมเสื้อแดง

ก.ค. 2555 :

กว่าเรื่องนี้ได้ขึ้นหน้าสื่อก็ผ่านไปปีครึ่ง เดือนกรกฎาคม 2555 เมื่อ ผบ.ตร. ขณะนั้น (เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์) มีการสั่งการให้จัดทำ หนังสือคู่มือการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางการปฏิบัติด้านการจราจรในการเสด็จพระราชดำเนิน (เป็นการส่วนพระองค์) ให้ตำรวจทั่วประเทศ

พอปลายเดือน ก.ค. 55 ก็มีข่าวว่า สนช. จัดพิมพ์หนังสือคู่มือดังกล่าวเพิ่มเพื่อแจกประชาชนอีก 25,000 เล่ม โดยเนื้อหาในหนังสือดังกล่าวหลักๆ ก็คือการเอา แนวทางปฏิบัติในการจัดการจราจรในการเสด็จส่วนพระองค์ ที่ราชเลขาฯเป็นประธานจัดทำขึ้นมาอธิบายพร้อมใส่รูปประกอบ

ม.ค. 2563 : 

เรื่องนี้ก็เงียบไปพักใหญ่ จนเปลี่ยนรัชสมัยไปสักพัก เดือน มกราคม 2563 ก็กลับมาเป็นข่าวอีกครั้งเมื่ออยู่ดีๆ สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็มีการอัพคลิป "หลักการอำนวยความสะดวก ด้านการจราจรฯ โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ขึ้น Youtube https://youtube.com/watch?v=b3tYuI4iQDk แต่คลิปต้นฉบับถูกลบไปแล้ว แต่ยังดูได้จากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ซึ่งนำเสนอหลังจากที่ นฤมล โฆษกรัฐบาลขณะนั้นหยิบเรื่องนี้มาแถลงข่าว ซึ่งถ้าดูเนื้อหาของแนวทางจัดการจราจรยามมีขบวนเสด็จส่วนพระองค์ในปี63 ก็เหมือนฉบับย่อของแนวทางในคู่มือปี 55 อาจมีเพิ่มแค่เรื่องการใช้กรวยยาง

มกรา 63 ตอนนั้นก่อนกระแส #ปฏิรูปสถาบัน แต่การแสดงออกว่าไม่พอใจ #ขบวนเสด็จ มีอยู่ประจำบนโซเซียลเน็ตเวิร์กโดยเฉพาะบนทวิตเตอร์ จะเห็น Hashtag #ขบวนเสด็จ ขึ้นติดกระแสอยู่ประจำ ในวันที่มีการปิดถนน ปิดสถานที่ อันทำให้ประชาชนได้รับความเดือนร้อนเป็นจำนวนมาก

ซึ่งเข้าใจว่าที่ตำรวจ/รัฐบาล อยู่ดีๆ ก็กลับมาพูดเรื่อง การจัดระเบียบการจราจร ตอนมี #ขบวนเสด็จ ส่วนพระองค์อีกครั้งในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมกราคม 63 ก็เพื่อโต้กับกระแส #ปิดเกาะ ที่พึ่งเกิดขึ้น ตอนสัปดาห์แรกของ มกราคม 63 จากการเสด็จส่วนตัวของบางพระองค์

ก.พ. 2565 : 

ผ่านไป 2 ปีกว่า ล่าสุดสองสามวันก่อน หลังจาก ทะลุวัง - ThaluWang ไปทำโพลเรื่องความเดือดร้อนจาก #ขบวนเสด็จ ก็มีเพจเฟซบุ๊กเชียร์ประยุทธ์ นำเรื่องแนวทางจัดจราจรขบวนเสด็จส่วนพระองค์ ที่เคยพูดถึงตอนปี 63 แล้วเงียบไปกลับมาเล่าอีกรอบ พร้อมกับภาพรถ Honda สีเปลือกไข่ที่ติดอยู่บนถนน

"ภาพรถยนต์ Honda สีเปลือกไข่ จอดติดการจราจรอยู่กลางถนนคันเดียวดังกล่าว เป็นภาพเก่าหลายปีแล้ว ที่เคยถูกนำมาใช้ "เล่าเรื่อง" ทำนองนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ก่อนหน้านั้นส่วนใหญ่จะถูกใช้เล่าเรื่องของขบวนเสด็จ "พระเทพฯ" แต่ก็ไม่เคยมีการยืนยันว่าเป็นรถของกองกิจการพระเทพจริงไหม การนำภาพรถที่จอดติดการจราจรแล้วนำมาสร้างเรื่องเล่า อย่างผิดๆ ว่าเป็นรถขบวนเสด็จ จอดติดกลางถนน เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาบ่อยๆ เช่นในปี 2556 ก็เคยมีคนเข้าใจผิดคิดว่าขบวนรถบรรดาห้าเสือ ทบ. ที่ติดการจราจรบนถนนนั้น เป็นรถขบวนเสด็จ Somsak (สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล) ยังเคยเอามาแซวพร้อมกับพยายามอธิบายปรากฎการณ์นี้" พูติกาล โพสต์

ภาพที่มีการพูดถึงขบวนเสด็จจอดติดกลางถนนและมีคนแสดงความเห็นแย้งว่าเป็นขบวนรถบรรดาห้าเสือ ทบ.เมื่อปี 56 ซึ่งสมศักดิ์นำมาโพสต์

พูติกาล ระบุด้วยว่า ช่วงเดือนพฤษจิกายน 63 ตอน ร.10 เสด็จนครสวรรค์ มีการนำภาพขบวนรถพระที่นั่งที่วิ่งอยู่เลนขวาบนทางด่วน ในขณะที่รถประชาชนวิ่งอยู่เลนซ้าย มาประกอบเรื่องเล่า ว่าเดี่ยวนี้ขบวนเสด็จไม่ได้ปิดจราจร "อย่างที่ม็อบเค้ากล่าวอ้าง" ทั้งที่วันนั้นเสด็จด้วยเครื่องบินพระที่นั่ง

ภาพที่พูติกาลเคยโพสต์เทียบเรื่องเล่ากับข่าวที่ปรากฏจริงว่าเสด็จด้วยเครื่องบินพระที่นั่ง 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net