Skip to main content
sharethis

เพจ 'ทหารหลังกองพัน' ระบุ 'ขบวนเสด็จ' กรณีส่วนพระองค์ ไม่ปิดถนนตั้งแต่ปี 63 กรณีที่มีพระราชพิธี หรืองานสำคัญมีขบวนอยู่แล้ว แม้แต่ต่างประเทศเพื่อความปลอดภัยของประมุข รวมถึงทันต่อกำหนดการ

10 ก.พ.2565 หลังจากมีกระแสเคลื่อนไหว ทั้งการสำรวจความเห็นต่อขบวนเสด็จหรือการที่นักกิจกรรมพยายามชูป้ายระหว่างมีขบวนเสด็จนั้น

เมื่อวันที่ 9 ก.พ.ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กแฟนเพจ 'ทหารหลังกองพัน' ซึ่งมี 72,460 คนติดตามเพจนี้โพสต์ถึงขบวนเสด็จว่า เรื่องราวที่หลายคนอาจไม่เคยรู้เกี่ยวกับขบวนเสด็จ ณ ปัจจุบัน ก่อนอื่นต้องขอไขข้อข้องใจในส่วนนี้ คือ 1. ขบวนเสด็จกรณีส่วนพระองค์ไม่มีการปิดถนนตั้งแต่ปี 63 แล้ว 2. ในกรณีที่มีพระราชพิธี หรืองานสำคัญต่างๆ จะมีขบวนอยู่แล้ว แม้แต่ต่างประเทศไหนๆก็มีเพื่อความปลอดภัยของประมุขของประเทศ รวมถึงทันต่อกำหนดการในการทรงงานต่าง ๆ

3. หลายครั้งที่เราเห็นพระบรมวงศานุวงศ์ อาทิเช่น พระเทพฯ รถติดอยู่บนท้องถนนเฉกเช่นประชาชน เพราะทรงทราบว่าช่วงเวลานั้นรถติด การให้รีบระบายรถเพื่อให้ขบวนเสด็จฯ ผ่านจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน ก็ทรงเลือกปล่อยให้รถพระที่นั่งติดอยู่ในท้องถนน ความที่ทรงเกรงใจประชาชนอย่างที่สุด

"การที่คนบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องและแสดงความคิดเห็นเป็นสิ่งที่ดีครับ หากแต่ควรคิดเห็นในสิ่งที่เหมาะสมและมีสาระประโยชน์ สิ่งสำคัญคือ ควรให้เกียรติบุคคลที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ซึ่งต่อให้ไม่ใช่พระราชวงศ์หรือแม้กระทั้งบุคคลอื่นทั่วไป เราก็ควรให้เกียรติซึ่งกันและกันครับ จึงจะทำให้สังคมของเรานั้นน่าอยู่" ทหารหลังกองพัน ระบุ

เมื่อ 12 ม.ค.63 มติชนออนไลน์ รายงานด้วยว่า นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการโพสต์คลิปสำนักงานตำรวจแห่งชาติกำหนดแนวทางการจัดการจราจรกรณีมีขบวนเสด็จฯ โดนเปิดเผยว่า ได้รับการประสานงานจาก พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ให้เผยแพร่ข้อความดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ยึด 3 แนวทางหลักคือ 1.จะต้องดูแลและถวายความปลอดภัยอย่างสูงสุด 2.จะต้องดูแลให้สมพระเกียรติ และ 3.เป็นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยการดำเนินการต่างๆ จะต้องคำนึงถึงประชาชนและให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด

สำหรับแนวทาง 10 แนวทางมีดังนี้

1.ไม่ให้ทำการปิดการจราจร เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้เส้นทางได้ตามปกติ

2.ในเส้นทางเสด็จฯ ให้จัดช่องทางเสด็จฯและช่องทางประชาชนโดยใช้อุปกรณ์เช่นกรวยยาง ป้ายไฟ เพื่อความสะดวก

3.เส้นทางฝั่งตรงข้ามเส้นทางเสด็จฯ กรณีที่มีเกาะกลางถนน เส้นทางฝั่งตรงข้ามสามารถใช้ได้ตามปกติทุกเส้นทาง กรณีไม่มีเกาะกลางถนนให้ใช้อุปกรณ์ เช่น กรวยยางวาง โดยประชาชนสามารถวิ่งตามเส้นทางที่จัดไว้ได้ตามปกติ

4.กรณีทางร่วมทางแยกให้ประชาชนใช้เส้นทางได้ตามปกติ ใช้วิธีการควบคุมรถ เช่นใช้กรวยยางวางควบคุมกระแสรถ

5.สำหรับสะพานกลับรถหรือสะพานข้ามผ่านเส้นทางเสด็จฯ ให้ประชาชนใช้ได้ตามปกติ

6.กรณีทางพิเศษที่มีด่านเก็บเงินให้วางแนวกรวยยางด้านซ้ายให้ประชาชนเดินรถได้ โดยให้เหลือช่องทางสำหรับขบวนเสด็จฯอย่างน้อย 2 ช่องทาง

7.กรณีเส้นทางร่วมทางแยก ไม่ให้บังคับให้ประชาชนเปลี่ยนเส้นทาง ให้คำนึงความตั้งใจของประชาชนเป็นหลัก

8.เน้นย้ำในการวางอุปกรณ์ให้พิจารณาตามความเหมาะสม ให้คำนึงเวลา กระทบประชาชนน้อยที่สุด

9.ใช้มาตรการประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดกับทั้งประชาชนและผู้ปฏิบัติหน้าที่

10.ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้น ต้องลงไปกำกับดูแลด้วยตนเอง สำหรับผู้ปฏิบัติให้ใช้วาจา กิริยาท่าทางด้วยความสุภาพ ไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าถูกบังคับ

ทั้งนี้ หลังเพจ 'ทหารหลังกองพัน' โพสต์ข้อมูลดังกล่าวมีผู้ยกเหตุการณ์ต่างๆ ที่ยังมีการปิดถนนเพื่อตั้งคำถามถึงแนวทางการปฏิบัติที่เป็นจริง รวมทั้ง 10 แนวทางปฏิบัติข้างต้น พบว่าตั้งแต่ ก.ค. 55 ที่ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เคยเคยมีคำสั่งให้กองสารนิเทศจัดพิมพ์หนังสือคู่มือการปฏิบัติตามนโยบายและแนวทางการปฏิบัติด้านการจราจรในการเสด็จพระราชดำเนิน (เป็นการส่วนพระองค์) ให้ตำรวจทั่วประเทศมีแนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่ง อย่างไรก็ตามไม่รวมกรณีหมายพระราชกรณียกิจ ที่ยังต้องถวายความปลอดภัยและความสะดวกในการจราจรอย่างเคร่งครัด แล้วเช่นกัน

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net