Skip to main content
sharethis

การศึกษาชิ้นใหม่แสดงความเชื่อมโยงระหว่าง 'ความรุนแรงในครอบครัว-การตกงาน-แรงกดดันทางเศรษฐกิจ' ช่วงการระบาดใหญ่ของ COVID-19 พบผู้หญิงออสเตรเลียมักจะเผชิญความรุนแรงในครอบครัวซ้ำเติมเมื่อคู่ครองของพวกเธอตกงาน


ที่มาภาพประกอบ: Marco Verch Professional Photographer (CC BY 2.0)

21 ก.พ. 2565 การสำรวจออนไลน์ผู้หญิงออสเตรเลีย 10,000 คน จากองค์กรวิจัยความปลอดภัยสตรีแห่งชาติของออสเตรเลีย (National Research Organisation for Women's Safety) ที่ทำการสำรวจระหว่างเดือน ก.พ.-เม.ย. 2564 แสดงให้เห็นว่าเมื่อคู่ครองของพวกเธอตกงาน ผู้หญิงมักจะประสบกับความรุนแรงเป็นครั้งแรก จากนั้นก็จะเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น

นอกจากที่พวกเธอจะตกงานแล้ว โดยผู้หญิง 1 ใน 3 (ร้อยละ 31) ในแบบสำรวจถูกเลิกจ้าง ตกงาน หรือต้องลดค่าจ้างหรือลดชั่วโมงการทำงาน ในช่วง 12 เดือนแรกของการระบาดใหญ่ และประมาณ ร้อยละ 25 ระบุว่าคู่ครองของพวกเธอตกงาน

ผู้หญิง 1 ใน 10 คน เคยประสบกับความรุนแรงทางร่างกายจากคู่ครองในปัจจุบันหรืออดีต ร้อยละ 8 ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ และร้อยละ 32 เคยประสบกับพฤติกรรมล่วงละเมิดทางอารมณ์ 

สำหรับผู้หญิงที่เคยประสบกับความรุนแรงจากคู่รักเป็นครั้งแรก ส่วนใหญ่กลุ่มที่คู่ครองของพวกเธอไม่ได้ทำงานหรือตกงาน มีแนวโน้มที่จะประสบกับความรุนแรงทางร่างกายมากกว่าผู้หญิงที่คู่ครองมีงานทำอยู่ถึง 2 เท่า 

ส่วนผู้หญิงที่มีประวัติถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว มีโอกาสประสบกับความรุนแรงทางร่างกายบ่อยครั้งหรือรุนแรงขึ้นถึง 4 เท่า หากคู่ครองตกงาน และมีแนวโน้มสูงที่จะเผชิญความรุนแรงทางอารมณ์ถึง 2 เท่า

การสำรวจนี้ยังพบว่าความเครียดจากปัญหาทางการเงินมีส่วนเกี่ยวข้องในการที่ผู้หญิงจะประสบกับความรุนแรงทางร่างกายเพิ่มขึ้น 3 เท่า 

แอนโธนี่ มอร์แกน ผู้จัดการฝ่ายวิจัยของสถาบันอาชญวิทยาแห่งออสเตรเลีย (Australian Institute of Criminology) ระบุว่ามีปัจจัยหลายประการที่มีส่วนทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัวช่วง COVID-19

"มันเป็นการบรรจบกันของปัญหาทางการเงิน การสูญเสียงาน ความกดดันที่เพิ่มขึ้นในแง่ของการดูแลเด็ก มีปัจจัยหลายอย่างมารวมกัน" เขากล่าว

ความสัมพันธ์ที่สำคัญประการหนึ่งที่เกิดกับคู่ครองที่มีความรุนแรงครั้งแรกคือสถานการณ์ที่มีความไม่สมดุลในความมั่นคงทางเศรษฐกิจระหว่างชายหญิง

ในคู่ที่ผู้หญิงที่เป็นคนหาเลี้ยงครอบครัว ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะประสบกับความรุนแรงทางร่างกาย 1.7 เท่า และมีแนวโน้มที่จะประสบความรุนแรงทางเพศ 1.6 เท่า และมีแนวโน้มที่จะประสบกับความรุนแรงทางอารมณ์มากกว่าผู้หญิงที่คู่ครองที่หารายได้เท่าๆ กันหรือผู้ชายหารายได้มากกว่า 1.5 เท่า

มอร์แกนกล่าวว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างผู้หญิงกับคู่ของเธอมีความสัมพันธ์กับการใช้ความรุนแรงครั้งแรกแต่ไม่เกิดซ้ำ เป็นไปได้ว่าแนวโน้มว่าความไม่สมดุลทางการเงินมีส่วนทำให้ผู้ชายแสดงพฤติกรรมรุนแรง

ส่วนเฮย์ลีย์ ฟอสเตอร์ ซีอีโอของ Full Stop Australia ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว ระบุว่าว่าการระบาดใหญ่ของ COVID-19 ไม่ได้เป็นจุดเริ่มของการสร้างความรุนแรงในครอบครัว แต่หากไปช่วยเพิ่มความรุนแรงขึ้นต่างหาก 

"มันถูกทำทำให้รุนแรงขึ้น ซึ่งก่อนหน้านั้นมันมีสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมอยู่แล้ว" เธอกล่าว

นอกจากนี้ปรากฎการณ์ที่ผู้ชายที่หาเงินได้น้อยกว่าผู้หญิงแล้วมีพฤติกรรมรุนแรงต่อคู่ครองนั้น ฟอสเตอร์มองว่าทัศนคติของชุมชนที่มองว่าผู้ชายควรจะเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวนั้นเป็นปัญหา

"ทัศนคติเหล่านี้เราต้องช่วยกันแก้ไขโดยทั่วกัน" ฟอสเตอร์กล่าว

ด้านนาตาลี วอร์ด รัฐมนตรีกระทรวงความปลอดภัยและป้องกันความรุนแรงในครอบครัวแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ กล่าวว่ารัฐบาลได้ลงทุน 484.3 ล้านดอลลาร์ฯ เพื่อช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่หนีจากความรุนแรงในครอบครัว

"บริการด้านที่อยู่อาศัยและบริการสนับสนุนมีบทบาทสำคัญ ดังนั้นผู้ที่ถูกทารุณกรรมในครอบครัวสามารถเริ่มต้นชีวิตต่อไปด้วยความรู้สึกปลอดภัยและได้รับการสนับสนุน" เธอกล่าว 


ที่มา
Study of 10,000 women finds link between job losses in COVID-19 pandemic and domestic violence (Catherine Hanrahan and Kathleen Calderwood, ABC NEWS, 31 January 2022)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net