Skip to main content
sharethis
  • จากดงมะไฟ สู่ดอยเชียงดาว : เรียนรู้การต่อสู้การจัดการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน
  • ดูงานแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ ผลิตสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 
  • ร่วมกันถอดบทเรียนการเรียนรู้ เพื่อความยั่งยืนไปพร้อมกับการต่อสู้ในอนาคต
  • ย้ำขับเคลื่อนและพัฒนาดงมะไฟให้ก้าวต่อไป ทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการเมือง

 

หลังจากเมื่อวันที่ 13-14 สิงหาคม 2564 ที่หมู่บ้านผาฮวกพัฒนา หน้าเหมืองหินดงมะไฟ จังหวัดหนองบัวลำภู นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้จัดงานเฉลิมฉลอง 1 ปีชัยชนะในการยึดเหมืองหินดงมะไฟ และก้าวต่อไปของการฟื้นฟูป่าชุมชน เพื่อระลึกถึง 365 วันในการก่อตั้ง

โดยกิจกรรมดังกล่าว  ได้มีการทำบุญตักบาตร ครบรอบ 1 ปีสู่การปิดเหมืองหินดงมะไฟ บวงสรวงศาลปู่ย่าภูผาฮวก เรียกขวัญกลับคืนสู่ภูผาป่าไม้ และร่วมกันถอดบทเรียน 27 ปี ดงมะไฟ สู่ชัยชนะของการต่อสู้คัดค้านโรงโม่หินในถิ่นเกิด มีการจัดกิจกรรม ‘เปิดกล่องความทรงจำ ย้อนเส้นทางการต่อสู้’ ที่รวบรวมวิดีโอการต่อสู้ของชาวบ้านตลอด 365 วันที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ยังมีกิจกรรมสำหรับนักอนุรักษ์น้อย ‘จากผืนดินสู่ความฝัน ป่าของฉันในวันใหม่’ และการเปิดตลาดของดีของเด็ดดงมะไฟ

ต่อมา องค์กร Protection International (PI), โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ได้ร่วมกันจัดเวทีเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ ‘Exploring the Eight Wonders of Thailand (Dongmafai) 365 วันกับสิ่งมหัศจรรย์ของการต่อสู้ที่ดงมะไฟ’ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการถอดบทเรียนการต่อสู้ที่ผ่านมาของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได โดยเครือข่ายประชาชนเจ้าของแร่ ได้ยกกรณีดงมะไฟชาวบ้านเอาชนะความกลัวต่อสู้อำนาจรัฐ-ทุน จ่อลุยฟ้องยกเลิกประกาศแหล่งหินเพื่ออุตสาหกรรมทวงคืนเขาหินทั่วประเทศ

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ร่วมสะท้อนบทเรียนการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดในครั้งนี้ว่า ตนคิดว่าความมหัศจรรย์ของที่นี่คือการยืนระยะยาวของการต่อสู้ที่เป็นเรื่องสำคัญมาก มันครบ 1 ปี และเป็นการต่อสู้ที่ยืนระยะยาวได้ขนาดนี้

เลิศศักดิ์ กล่าวว่า ตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญมากของการที่พี่น้องประชาชนจะลุกขึ้นสู้กับอำนาจรัฐ อำนาจทุนก็คือเรื่องของความกลัว ตราบใดที่ยังไม่กล้าพูดในประเด็นของตัวเองแสดงว่านั่นยังกลัวอยู่ แต่ที่นี่เราเห็นพัฒนาการของพี่น้องไม่ใช่แค่ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาที่มีความกล้าและพลังใจมหาศาลในการลุกขึ้นมาพูดในที่สาธารณะ เพราะพื้นที่นี้ถูกกดทับมาอย่างยาวนาน ดังนั้นความกลัวที่มีจึงมหาศาล แต่การลุกขึ้นสู้ด้วยความคับแค้นใจไม่ได้หายไปไหน มีการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ที่สำคัญคือพัฒนาการของผู้หญิงที่นี่ที่เป็นคนลุกขึ้นมาพูดและปราศรัยให้สังคมได้รับรู้ถึงปัญหาในพื้นที่ ซึ่งตนคิดว่าเป็นเรื่องมหัศจรรย์มาก

ขณะที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ได้กล่าวชื่นชมชาวบ้านดงมะไฟว่า นี่เป็นชัยชนะของประชาชน และได้ปลุกชาวบ้านทวงคืนความยุติธรรม นักต่อสู้ต้องไม่ตายฟรี แนะยึดพื้นที่การเมืองท้องถิ่นสานต่อภารกิจชุมชน ตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อของคนในชุมชน คือ หยุดการสร้าง หยุดการต่อประทานบัตรเหมืองฟื้นฟูธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สร้างดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชน

ทั้งนี้ ธนาธร ได้หยิบยกประเด็นที่น่าสนใจ หลังจากนี้ก็คือ การฟื้นฟูดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยกล่าวว่า เรื่องเศรษฐกิจ การฟื้นฟูดงมะไฟให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ก็อยากเข้ามาช่วย เพราะจากที่มีโอกาสได้มาเยือนพื้นที่นี้ก็พบว่าเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ เป็นภูเขาหินปูนที่สวยงาม มีภาพเขียนสีที่ผนังถ้ำเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ถ้าเราพัฒนาดีๆ เชื่อว่าจะเป็นแหล่งเศรษฐกิจ สร้างรายได้นอกจากภาคการเกษตรซึ่งทำอยู่ในพื้นที่ ถ้าพื้นที่เปิด สถานการณ์โควิดคลี่คลาย เราพร้อมมาให้ความช่วยเหลือ

สอดคล้องกับ มนีนุด อุทัยเรือง ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้กล่าวถึงความประทับใจว่า นักต่อสู้ทุกคนมีความมุ่งมั่นและอดทน ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมาเราไม่เคยปิดหมู่บ้านแม้แต่วันเดียว เพื่อส่งต่อเจตนารมณ์จุดมุ่งหมายเหมือนกัน คือความตั้งใจที่จะปกปักษ์ หวงแหนและฟื้นฟูเหมืองหิน จากรุ่นสู่รุ่น จากตามาสู่แม่ จากแม่มาสู่ตน และต่อไปที่เด็กรุ่นหลังต่อไปอีก

“ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการฟื้นฟูอดีตเหมือง เพื่อทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยมีความคืบหน้าไปมากแล้ว ที่ผ่านมาได้ช่วยกันปลูกต้นไม้จำนวนมาก...พวกเราจะไม่ยุติการเคลื่อนไหวเพียงเท่านี้ และยืนยันว่าจะมีการเคลื่อนไหวต่อไปอย่างแน่นอน อย่างน้อยเราวางแผนกันไว้อย่างต่ำ 3 ปี ที่จะปักหลักเพื่อพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชนได้ ชาวบ้านก็จะหลุดพ้นจากความยากจน ซึ่งจะเป็นการชดเชยจากที่เหมืองหินได้มาทำลาย”

จากดงมะไฟ สู่ดอยเชียงดาว : เรียนรู้การต่อสู้การจัดการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน

10-12 มกราคม 2565 ที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้ลงพื้นที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมศึกษาเรียนรู้เรื่องการต่อสู้การจัดการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชน ภายหลังจากที่ดอยเชียงดาว ได้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของโลกโดยยูเนสโก

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได บอกเล่าว่า หลังจากก่อนหน้านั้น ชาวบ้านดงมะไฟ ได้ไปเจรจากับทางจังหวัด และการเจรจาล้มเหลวเหมือนที่ผ่านๆ มา เพราะทุกคนประเมินดูแล้ว ว่าเมื่อรัฐไม่ได้เป็นที่พึ่งและทางออกให้กับชาวบ้านได้ จึงตัดสินใจพากันปิดทางเข้าเหมือง ตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2563 เป็นต้นมาจนถึงตอนนี้ ซึ่งกระบวนการทำเหมือง ตรงนี้ มีหลายรูปแบบ มีใบอนุญาตหลายแบบ ได้แก่ ใบอนุญาตประทานบัตร การทำเหมืองแร่, ใบอนุญาตการแต่งแร่ บดแร่ บดย่อยหิน ที่เขาเรียกกันว่าใบอนุญาตโรงโม่ ซึ่งทำในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ บริเวณภูผาฮวก ซึ่งแถวนี้จุดเด่นก็คือมีภูหลายภู โด่นเด่นสวยงาม นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งโบราณคดี มีภาพเขียนประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ มีเครื่องปั้นดินเผา กลองมโหระทึกโบราณ ก็ถือว่าเป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญและเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของอำเภอสุวรรณคูหา หนองบัวลำภู

“ที่ผ่านมา กระบวนการเคลื่อนไหวของพี่น้อง ได้สรุปบทเรียน ถอดบทเรียน ร่วมกัน ดังนี้ 1.ขอให้ปิดเหมือง โรงโม่หิน 2.ต้องฟื้นฟูภูผาป่าไม้ 3.ต้องพัฒนาดงมะไฟ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและโบราณคดี

ชาวบ้านดงมะไฟ ก็จะยึดถือเอาข้อเรียกร้องนี้เป็นสัญญาประชาคมร่วมกัน เวลาไปทำกิจกรรมกันที่ไหน ก็ชูมือสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์เพื่อจะสื่อถึงพันธะสัญญาสามข้อนี้ร่วมกัน โดยข้อเรียกร้องทั้งสามข้อนี้ก็เพื่อต้องการให้มีการยุติการทำเหมือง โรงโม่หินออกไปจากพื้นที่ดงมะไฟอย่างถอนรากถอนโคนเสีย”

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได

เลิศศักดิ์ บอกว่า การที่เรามาเชียงดาวครั้งนี้ ก็เพื่อต้องการมาหาความรู้ มาหาประสบการณ์ ต้องการมาหาชุดความคิด  ต้องการมาหาพื้นที่ตัวอย่าง ที่จะช่วยจุดประกายความคิด สร้างแรงบันดาลใจ เพื่อให้นำไปสู่ข้อเรียกร้องที่สาม นั่นคือ การพัฒนาพื้นที่ดงมะไฟ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางนิเวศวัฒนธรรมและโบราณคดี ซึ่งพื้นที่เชียงดาว เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่น่าสนใจ และมีความโดดเด่นในด้านการท่องเที่ยว และมีกระบวนการต่อสู้ปกป้องรักษาดอยหลวงเชียงดาว รวมไปถึงการถูกประกาศให้เป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ของยูเนสโก อันนี้ถือว่าน่าสนใจ จึงได้พาพี่น้องดงมะไฟ มาลงพื้นที่เรียนรู้กัน

“เพราะที่ผ่านมา พี่น้องดงมะไฟ พวกเขามีความมุ่งมั่นในการต่อสู้ปกป้องสิทธิ ก็จะโฟกัสไปที่กระบวนการต่อสู้กันมาก มีแต่งานร้อน เป็นงานต่อสู้มาโดยตลอด ไม่ค่อยมีงานเย็น ไม่ได้ออกไปดูข้างนอกกัน ซึ่งทำให้บางทีทำให้เรามองดูตัวเองไม่ออก เพราะอยู่แต่ข้างใน ดังนั้น เราจึงอยากให้เราออกมาข้างนอก อยู่ข้างนอก แล้วมองกลับไปข้างใน จึงได้พาพี่น้องชาวบ้านออกมาข้างนอก เพื่อจะมองกลับไปข้างใน มาหาแรงบันดาลใจ หาประสบการณ์ไปปรับใช้กับชุมชนของตนเอง”

ทั้งนี้ การลงพื้นที่เชียงดาวของชาวดงมะไฟในครั้งนี้  ได้มีการเข้าไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับหลายกลุ่ม หลายองค์กรชุมชนที่ทำงานขับเคลื่อนในเชียงดาว เช่น กลุ่มถิ่นนิยม เชียงดาว, สวนบัวชมพู ณ จอมคีรี, มูลนิธิสื่อชาวบ้าน(มะขามป้อม),ทุ่งน้ำนูนีนอย เป็นต้น

โดยในวันแรก กลุ่มถิ่นนิยม นำโดย จิราวรรณ คำซาว เกษตรกรสาว นักวิจัย, ผู้นำแก๊ง"ถิ่นนิยม", ผู้ก่อตั้งศูนย์เรียนรู้การทำเกษตรอินทรีย์ครบวงจร "ทุ่งกับดอย" ได้พาชาวบ้านดงมะไฟ ลงพื้นที่บริเวณตีนดอยหลวงเชียงดาว ไปเรียนรู้ภาพรวมพื้นที่ ได้บอกเล่าถึงความคิด ความเชื่อ วิถีชุมชนบ้านหัวทุ่งกับการรักษาดอยหลวงเชียงดาว หลังจากนั้น ได้พาไปเที่ยวชม ป่าชุมชน ป่าสมุนไพร น้ำออกรู ป่าไผ่ และนาข้าว ซึ่งได้สร้างความตื่นเต้นและประทับใจให้กับพี่น้องชาวดงมะไฟเป็นอย่างมาก

หลังจากนั้น พี่น้องชาวดงมะไฟ ได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยมชมถ้ำหลวงเชียงดาว แล้วได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้กับชาวบ้านบ้านถ้ำ ที่เป็นไกด์ชุมชน คนนำทางพานักท่องเที่ยวเข้าไปเที่ยวชมความอลังการภายในถ้ำหลวงแห่งนี้ แน่นอน ทำชาวบ้านดงมะไฟทุกคนรู้สึกทึ่งในการบริหารจัดการท่องเที่ยวภายในถ้ำหลวงเชียงดาวมาก และทำให้หลายคนนึกไปถึงถ้ำที่ดงมะไฟ บ้านเกิดของตนเองขึ้นมาทันที

พอเข้าวันที่สอง ชาวบ้านดงมะไฟ มีโอกาสได้ไปเรียนรู้เรื่องการต่อสู้การจัดการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจชุมชนของเชียงดาว โดย ศรัณยา กิตติคุณไพศาล ตัวแทนภาคีคนรักดอยหลวงเชียงดาว และเจ้าของสวนบัวชมพู ณ จอมคีรี ซึ่งเป็นหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเชียงดาว ได้พูดถึงเรื่องดอยหลวงเชียงดาวว่า กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เราต้องต่อสู้เผชิญกับปัญหามาต่างๆ นานา มีช่วงหนึ่งเราขับเคลื่อนต่อสู้กันในนาม ภาคีคนรักดอยหลวงเชียงดาว และร่วมกันคัดค้านโครงการสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว จนถูกระงับโครงการนั้นไป

“จนกระทั่ง ล่าสุด ทางยูเนสโกมีการประกาศให้ดอยเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลแห่งใหม่ สิ่งที่ชุมชนจะได้รับ ก็คือ เรามีการเปลี่ยนแปลงการจัดการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ คือ เรามีการจัดอบรมนักท่องเที่ยวก่อน 3 ชั่วโมง ก่อนจะเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาว ซึ่งจะทำให้เราได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ มีความรู้ความเข้าใจว่าพื้นที่สงวนชีวมณฑลนั้นคืออะไร มีความเปราะบางของพื้นที่ภูเขาหินปูน ซึ่งจะทำให้นักท่องเที่ยวมีความระมัดระวัง เราจะได้นักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่กลุ่มที่ต้องการไปเพื่อพิชิตยอดเขา  แต่จะได้นักท่องเที่ยวที่ต้องการไปเรียนรู้ศึกษาธรรมชาติบนดอยหลวงเชียงดาวแทน อีกทั้งมีความเข้าใจในเรื่องของจิตวิญญาณแห่งล้านนา ก็คือ ชุมชนทั้งล้านนาของเรา นั้นจะมีความเคารพศรัทธาเจ้าหลวงคำแดง

ศรัณยา กิตติคุณไพศาล ตัวแทนภาคีคนรักดอยหลวงเชียงดาว และเจ้าของสวนบัวชมพู ณ จอมคีรี ผู้ขับเคลื่อนเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในเชียงดาว

“คือเราอยากจะเสนอแต่มุมบวก พอทางยูเนสโกประกาศให้ดอยหลวงเชียงดาวเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล จึงถือเป็นโอกาสอันดี ที่เราจะมาจัดกระบวนการกันใหม่ โดยมีการอบรมให้ความรู้ และตั้งกฎกติกาให้มันชัดเจนมากยิ่งขึ้น สิ่งที่คนเชียงดาวจะได้รับหลังจากนี้  คือ จากเดิม นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่จะเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาว  เขาจะพักค้างคืนกันในตัวเมืองเชียงใหม่ พอรุ่งเช้าก็มุ่งขึ้นดอยหลวงกันเลย แต่พอมีกฎกติกากันใหม่ คือมีการอบรมนักท่องเที่ยว 3 ชั่วโมง อย่างน้อยก็จะทำให้นักท่องเที่ยวหาที่พักในพื้นที่อำเภอเชียงดาว ซึ่งประโยชน์ที่จะได้รับอีกก็คือ นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ระหว่างที่รอจะขึ้นดอยวันพรุ่งนี้ ก็จะไปเดินจับจ่ายใช้สอยตามตลาด ร้านค้า ไปทานอาหารตาม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ในเชียงดาวได้อีกทางหนึ่งด้วย  ซึ่งจะช่วยทำให้เศรษฐกิจในชุมชนคึกคัก มีรายได้ จะทำให้ชุมชนเกิดผู้ประกอบการใหม่ๆ ขึ้นมาอีก”

เธอบอกอีกว่า อย่างเช่น ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลแม่นะ ซึ่งทางผู้บริหารของเทศบาลตำบลแม่นะ ได้ให้ความสำคัญและสนใจในเรื่องนี้  ได้สนับสนุนและเปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านได้เข้ามาร่วมกัน มีการสร้างลานกางเต็นท์บ้านจอมคีรี บ้านแม่ยะ บ้านแม่นะ ซึ่งเป็นของชุมชน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งบางทีเขาไม่ได้อยากไปนอนตามรีสอร์ท โรงแรม อะไรหรูๆ ก็สามารถมาเลือกที่จะกางเต็นท์ในชุมชนนี้ได้ นอกจากนั้น นโยบายของเทศบาลตำบลแม่นะ ซึ่งมีทั้งหมด 13 หมู่บ้าน ต้องมีเส้นทางเดินป่า เป็นเส้นทางท่องเที่ยวของแต่ละชุมชน ก็จะสร้างรายได้ให้กับชุมชน นอกจากนั้น ยังมีการจัดอบรมให้กับกลุ่มขับรถนำเที่ยวภายในชุมชน ซึ่งจะเห็นว่านี่ เป็นการสร้างโอกาสให้กับคนในชุมชนได้อีกเป็นจำนวนมากเลย ดังนั้น เราจึงอยากจะชวนชาวบ้านได้ลุกขึ้น ช่วยกันปลุกให้มีการจัดการเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนกัน

ดูงานแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ ผลิตสินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นอกจากนั้น ชาวบ้านดงมะไฟ ยังได้ไปดูงานแปรรูปสินค้าเกษตรอินทรีย์ ที่โรงงานแปรรูป สวนบัวชมพู ณ จอมคีรี โดยเน้นผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสอดคล้องกับการประทับตราแบรนด์พื้นที่สงวนชีวมณฑลได้อีกทางหนึ่งด้วย

ศรัณยา บอกว่า เชียงดาว เริ่มโดดเด่นเมื่อดอยหลวงกลายเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑล และมันสามารถต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าภายในชุมชนของเราได้อีกทางหนึ่งด้วย

“ยกตัวอย่าง ในสวนบัวชมพู ณ จอมคีรี ตอนนี้ เรามีชากุหลาบ ชาเก๊กฮวยอินทรีย์ ที่ระบุคุณค่าความหมายของคำว่า พื้นที่สงวนชีวมณฑลดอยเชียงดาวเอาไว้แล้ว นอกจากนั้น เราได้ขับเคลื่อนกับหลายๆ ฝ่าย หลายหน่วยงานเข้าไปส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มกัน เช่น กลุ่มเกษตรอินทรีย์ บ้านแม่คองซ้าย เปลี่ยนจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ข้าวโพด มาเป็นพื้นที่ปลูกไม้ผล อะโวคาโด เป็นพื้นที่นำร่อง เพื่อจะนำไปสู่ชุมชนเกษตรอินทรีย์ต่อไป นอกจากนั้น ยังมีการสร้างกลุ่มแปรรูปกล้วย ตำบลเมืองคอง รวมไปถึงการขับเคลื่อนเรื่องกองทุนหมู่บ้าน บ้านนาเลาใหม่ เป็นต้น ที่สำคัญก็คือ ก่อนที่เราจะขับเคลื่อนไปถึงจุดนี้ เราจะต้องเร่งให้ความรู้กับชาวบ้านก่อน ล่าสุด เรามีมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เข้ามาจัดกระบวนการอบรมให้กับแกนนำระดับตำบล โดยเริ่มจากตำบลแม่นะ เชียงดาว เมืองงาย เมืองคอง ต่อไปเราจะขยายไปยังตำบลเมืองนะ ตำบลปิงโค้งกันต่อไป”                

ในวันสุดท้าย ชาวบ้านดงมะไฟ ยังได้ไปเยือนทุ่งน้ำนูนีนอย ของ ‘สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์’ เจ้าของพื้นที่ทุ่งน้ำนูนีนอย และกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิโลกสีเขียว ที่พลิกผืนนากว่า 30 ไร่ กลางแอ่งที่ราบเชียงดาว ถูกออกแบบและฟื้นฟูให้กลายเป็นพื้นที่ทุ่งน้ำผสมผสานพื้นที่เกษตรกรรมดั้งเดิมอายุกว่า 200 ปี เพื่อให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชและสัตว์ เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าวและถั่วเหลืองอินทรีย์

ร่วมกันถอดบทเรียนการเรียนรู้ เพื่อความยั่งยืนไปพร้อมกับการต่อสู้ในอนาคต

จากนั้น ชาวบ้านดงมะไฟ ได้ร่วมกันถอดบทเรียนการเรียนรู้ครั้งนี้ เพื่อจะวางแผนการขับเคลื่อนงานเพื่อความยั่งยืนไปพร้อมกับการต่อสู้ในอนาคต ภายในโรงละครมะขามป้อม เชียงดาว

ลำดวน วงศ์คำจันทร์ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ตอนแรกที่มา ก็ไม่ได้คาดหวังอะไร แต่พอมาแล้วเราได้อะไรมากมายเลย สิ่งที่มันสาบสูญหายไปจากหมู่บ้านเกิดของแม่ อย่างเช่น ป่าไผ่ใหญ่ ป่าไผ่หนาม ก็ได้มาเห็นที่เชียงดาวนี้ ก็ได้ความรู้หลายๆ เรื่อง เรื่ององค์ความรู้ การจัดการเหมือง การบำรุงเหมือง จากชาวบ้านที่นี่ ก็อยากจะกลับไปฟื้นฟูและพัฒนาให้หมู่บ้านของเราต่อไป

ณัฐพร อาจหาญ ทีมงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ กล่าวว่า ทุกคนที่มาเที่ยว นอกพื้นที่ในครั้งนี้ ได้เห็นสีหน้าแววตาของแม่ ที่มีความสุข มีแรงบันดาลใจอะไรใหม่ๆ เห็นแม่ดูงานตรงนั้นตรงนี้แล้วบอกว่า เดี๋ยวจะเอาไปทำแบบนี้บ้าง ก็รู้สึกดีใจที่ทุกคนมีความสุข ก็ขอขอบคุณพี่น้องชาวเชียงดาวทุกคนที่มาให้ความรู้ แล้วเราจะนำไปปรับใช้กันต่อไปในอนาคต

เช่นเดียวกับ พรพรรณ อนุเวช บอกเล่าให้ฟังว่า ก่อนมา ลูกๆ เคยแนะนำให้ทำเกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ เปิดยูทูปดูก็ได้ ลูกเคยชวน แต่เราก็ไม่ได้สนใจ ไม่รู้จะเริ่มต้นยังไงดี แต่หลังจากที่ได้มาเยือนเชียงดาว มาเห็นชาวบ้านที่นี่เขาทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติ ทำให้เกิดแรงบันดาลใจมาก หลังจากกลับไปบ้านครั้งนี้ จะฮึด ลงมือทำ จะเปิดยูทูปศึกษาดูว่า จะเริ่มต้นทำยังไงก่อนดี ถ้าไม่เข้าใจก็จะขอโทรมาปรึกษากับคุณมล ถิ่นนิยม กับคุณแหม่ม สวนบัวชมพู เราสามารถลงมือทำได้เลย เพราะมันไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีอะไรเลย มาทำนาปุ๋ยอินทรีย์เอา

มณีนุด อุทัยเรือง กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได และเป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่ได้ร่วมกันต่อสู้เพื่อบ้านเกิด บอกว่า ก่อนหน้านั้น เราอยู่แค่บ้าน ไม่ได้ออกไปข้างนอก พอพูดว่า เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือ มันจับต้องไม่ได้ เป็นเพียงภาพเพ้อฝัน พอเราอยู่แต่ในพื้นที่ มันทำให้เราดูยากจัง มันทำไม่ได้หรอก  แต่พอเราได้มาเรียนรู้ที่เชียงดาว มันทำให้เราจับต้องได้ และมีความเชื่อมั่นว่าเราก็ทำได้ เราสามารถลงมือทำ และสามารถสร้างรายได้ให้เราได้จริง สามารถเลี้ยงชีพ เลี้ยงครอบครัวได้จริง

“การจะพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนดงมะไฟ นั้นแน่นอน เราจำเป็นต้องมองทั้งระบบ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำได้ ก็คือแต่ละครอบครัวต้องมีความวาดฝันเอาไว้ว่าทำอย่างไรถึงจะให้มีคนมาเที่ยวบ้านเรา อย่างครอบครัวของเราก็เคยวางแผนเอาไว้เหมือนกันว่า อยากมีร้านกาแฟ ทำสวนดอกไม้ หรือแม่ก็ฝันอยากขุดสระให้มีคนมาเล่นน้ำกัน หรือทำโฮมสเตย์ให้คนมาพัก แล้วเราจะพาเขาไปเที่ยวรอบๆ ชุมชนเรา”

แน่นอน ชาวบ้านดงมะไฟหลายคน ต่างพูดกันเป็นเสียงเดียวเลยว่า การมาเยือนเชียงดาวครั้งนี้ ทำให้เราได้เห็นอะไรมากมาย ทำให้เราได้หันกลับไปมองตัวเอง ทำให้เรารู้ว่าท้องถิ่นบ้านเรานั้นก็มีของดีมีคุณค่าเยอะแยะเลย ไม่ว่าจะเป็นถ้ำซึ่งมีมากมาย มีภาพเขียนประวัติศาสตร์อันเก่าแก่ มีเครื่องปั้นดินเผา แหล่งโบราณคดีที่สำคัญ ซึ่งขึ้นอยู่กับบริหารจัดการของเราต่อไปว่าจะทำอย่างไรจึงจะพัฒนาให้เป็นคนรู้จักเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ให้ได้

ย้ำขับเคลื่อนและพัฒนาดงมะไฟให้ก้าวต่อไป ทั้งเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการเมือง

เช่นเดียวกับ เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้บอกเล่าในตอนท้ายว่า การมาเยือนเชียงดาวในครั้งนี้ ทำให้พี่น้องดงมะไฟ ได้มาเห็นการจัดการบริหารท่องเที่ยวในถ้ำหลวงเชียงดาว ไปเรียนรู้เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ และการแปรรูป การสร้างแบรนด์ ผลิตภัณฑ์จากสินค้าการเกษตร ซึ่งประเด็นเรื่องการท่องเที่ยว เราคิดว่า เราจะมุ่งแต่เรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียวไม่ได้ แต่สิ่งที่เราต้องการจากการท่องเที่ยว นั่นคือการจิตสำนึกในเรื่องของการท่องเที่ยว ที่มากไปกว่าปริมาณของนักท่องเที่ยว แต่จะมุ่งเน้นการสร้างคุณภาพของการท่องเที่ยว และสร้างผลิตภัณฑ์สินค้าท้องถิ่นที่มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของชุมชนด้วย คือทำอย่างไรให้เรามีการสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านชุมชนที่ออกมาปกป้องภูเขาบ้านเกิด ปกป้องดงมะไฟ เพราะตนคิดว่าเราจะต้องมีสองขาที่ขาดไม่ได้ คือ คนที่จะออกมาปกป้องดูแลภูเขาบ้านเกิดได้ ก็จะต้องมีรายได้ให้มีชีวิตอยู่ได้ โดยการคิดค้นสินค้าที่เป็นเรามีต้นทุนในชุมชนอยู่แล้ว อย่างเช่น การปลูกข้าว พืชผักการเกษตรที่เรามีอยู่แล้ว ทำอย่างไรถึงจะเอามาเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ โดยให้สอดคล้องกับภูมินิเวศของชุมชนดงมะไฟ

“เป้าหมายของเรา คือ เราต้องการเปลี่ยนกระบวนการคิด กระบวนทัศน์ของพี่น้องดงมะไฟกันเสียใหม่ จากเดิมที่หลายคนมองว่า ภูเขาที่เราอาศัยอยู่นี้ มันเป็นแค่ภูเขาหินปูนที่จะต้องระเบิดและเอาไปขาย ซึ่งจริงๆ แล้ว ภูเขาหินปูนนั้นมีมากกว่าคำว่าทรัพยากรที่มีประโยชน์เพียงแค่ระเบิดมันออกไปขาย ซึ่งถ้าทำแบบนั้น ผ่านไป 10-20 ปี ภูเขาลูกนี้ก็สูญหายไป แต่ถ้าเรามองให้มันมีคุณค่าความหมายมากกว่านั้น นั่นคือทรัพยากรและธรรมชาติ แล้วเรารักษาภูเขาลูกนี้เอาไว้ เรายังสามารถขายคุณค่าความงามของภูเขานี้ไว้ได้  จึงเกิดข้อเรียกร้องข้อที่สาม โดยชุมชนจะออกมาผลักดันให้เกิดการพัฒนาดงมะไฟ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและโบราณคดี ให้เกิดขึ้นเอง ไม่ใช่โดยภาครัฐ เพราะเรารู้ปัญหาข้อจำกัดของรัฐ ว่าที่ผ่านมา มักไม่ค่อยยืนอยู่ข้างชาวบ้านกันสักเท่าไหร่ แต่ชอบยืนอยู่ข้างนายทุนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เราจึงต้องกระตุ้นจิตสำนึกของเราก่อน ปฏิบัติการของเราก่อน นี่คือสิ่งที่เราต้องการขับเคลื่อนและพัฒนาดงมะไฟให้ก้าวต่อไปในอนาคต ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การท่องเที่ยวและการเมือง”ที่ปรึกษาเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได บอกย้ำอย่างหนักแน่นและจริงจัง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net