Skip to main content
sharethis

อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ ศิลปินที่มีบทเพลงเป็นเครื่องมือในการต่อสู้กับเผด็จการ เขาพาตัวเองมา "ยืนหยุดขัง" ร้องเพลงเล่นดนตรีอยู่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพและเรือนจำกลางคลองเปรมสลับกันไปมาทุกเย็นเป็นเวลานานกว่า 4 เดือน 15 วัน ตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้วหลังแกนนำและแนวร่วมประชาธิปไตยหลายคนถูกคุมขังในเรือนจำด้วยคดีการเมือง

อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ และเพื่อนขณะทำกิจกรรมหน้าเรือนจำกลางคลองเปรม

อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎรต่อสู้ทางการเมืองมาแล้ว 14 ปี เขาเห็นว่าการต่อสู้โดยใช้เนื้อหาของเพลงที่พูดถึงเผด็จการนั้นเป็นการต่อสู้ที่สันติและนุ่มนวลที่สุดในบรรดาวิธีการต่อต้าน การเต้นแร้งเต้นกาเพื่อเย้ยยันเผด็จการและเข้าไปในเรือนจำเพื่อบอกว่าเพื่อนเราหรือคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมยังอยู่ในกรงขังนั้น

หลายคนอาจใช้วิธีการยืนหยุดขังแต่อาเล็กและเพื่อนศิลปินกลับใช้การร้องเพลงและไลฟ์สด เพื่อให้ชาวโลกรู้ว่า ณ ตรงนี้เพื่อนของเขาและเพื่อนเรายังถูกคุมขังอยู่ตรงนี้ เพลงของเขาคือเพลงเพื่อราษฎร สำหรับเขาไม่มีอาวุธอะไรเจะหมาะสมเท่ากับดนตรี ต่อให้บางวันหน้าเรือนจำจะมีคนมารวมกันเพียง 5 – 6 คน แต่ในเฟซบุ๊กไลฟ์มีผู้ชมดูการกระทำอันเย้ยยันของเขาอยู่ 300 – 400 คน ก็นับว่าวันนั้นเขาต่อสู้สำเร็จไปอีกวัน เขาเริ่มมายืนเล่นดนตรีร้องเพลงอยู่หน้าเรือนจำตั้งแต่ตุลาคมปีที่แล้ว วันที่เราไปขอพูดคุยกับเขานับเป็นเวลา 4 เดือน 15 วันแล้วที่เขาพาตัวเองมาอยู่หน้าเรือนจำทุกเย็น

บางวันเขาเองก็อ่อนล้าเหนื่อยใจกับกระบวนการยุติธรรมที่มันบิดจนเบี้ยวไม่มีชิ้นดี คนนอกเรือนจำอย่างเขาสิ้นหวังเหมือนกัน แต่พยายามท่องไว้ว่าหยุดไม่ได้ ถ้าเราหยุดก็เท่ากับเราแพ้ เราจะมาทุกวัน ทุกวัน ทุกวัน สักวันหนึ่งมันก็ต้องปล่อย

“ผมว่าทุกส่วนมีความสำคัญในการกดดันหรือชี้ประจานเผด็จการ เพราะว่าลำพังผมก็คงมีส่วนเล็กๆ น้อยๆ แต่ผมก็เป็นส่วนหนึ่งในองค์ประกอบนั้น จะบอกว่าเพราะพวกเรามาเต้นกันหน้าเรือนจำเขาจึงปล่อยคงไม่ได้หรอก คงเป็นองค์ประกอบเล็กๆ แต่ว่าเขาจะปล่อยหรือเปล่านั้น มันเป็นเรื่องของอำนาจของเขา ถ้าคนที่ถูกขังได้รับการปล่อยตัวออกมาแล้ว เราจะหยุดมาที่หน้าเรือนจำ แต่ว่าเรายังคงต่อสู้ทางการเมืองแบบอื่น ถ้ายังมีกิจกรรมของกลุ่มคณะราษฎรเราก็ไปร่วมกับเขา

แต่คิดว่าคงไม่หนักหนาเท่าครั้งนี้ ที่มันหนักหนาเพราะเรามาเรือนจำทุกวันเลย กิจกรรมในการชุมนุมมันใช้เวลา 3 วันไปที 5 วันไปที มันจะเหนื่อยน้อยกว่านี้” อาเล็กกล่าว

สัมภาษณ์ผู้ร่วม "ยืนหยุดขัง" ในที่อื่น

คิดว่าวิธีการมาชุมนุมร้องเพลงเล่นดนตรีเช่นนี้ต่างจากการทำกิจกรรมรูปแบบอื่นๆ อย่างไง

อาเล็ก : ถ้าไปยื่นหนังสือมันก็โชว์แค่แอ็กชั่นเป็นข่าว แต่ของผมเนื้อหาสาระของบทเพลงมันลึกทะลุเดานทุกเพลง เพลงที่เอามาร้องกันนี้ไม่มีเพลงทั่วไปเลย เป็นเพลงการต่อสู้แบบเข้มข้นทั้งสิ้น เราใช้บทเพลงซึมซับ เพลงด่าเผด็จการบางเพลงมันซึมเข้าไปในสายเลือดเลย บางคนก็ร้องเองได้แล้ว แล้วก็เพื่อหลีกเลี่ยงความจำเจ อีกอย่างเราเป็นกลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎคือตัวตนของเรามีการรวมตัวกันชัดเจน คนเห็นโลโก้ก็รู้แล้วว่าเพลงไม่เอาเจ้าอะไรประมาณนี้

เห็นบอกว่าออกมาต่อสู้ทางการเมืองมาแล้ว 14 ปี คุณเห็นพัฒนาการที่ต่างออกไปจากเมื่อก่อนอย่างไรบ้าง

อาเล็ก : เหมือนกับการนับเลขเลย สมัย นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) เหมือนกับการนับหนึ่งแล้วก็พัฒนามาเรื่อยๆ เร็วบ้าง ช้าบ้าง ระยะวันเวลามันทำให้เห็นผลลัพธ์ชัดเจนมากขึ้น แล้วมาตอนนี้ก็มีความสุขมากๆ ที่ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เมื่อก่อนในโรงหนังใครไม่ยืนไม่ได้นะ แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีใครยืนแล้ว นี่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นถึงความสำเร็จของเราครับ ตอนนี้ยังห่างไกลจากประชาธิปไตยมาก แต่การลุกขึ้นมาของเด็กรุ่นใหม่มีพลังมากกว่าคนแก่อย่างผม เด็กๆ แสดงอะไรออกมามันบริสุทธิ์ เป็นความจริงใจ และเต็มไปด้วยพลังทางกายทางใจ เพราะฉะนั้นคนแก่ที่สู้มาก่อนก็ให้เป็นคนที่ส่งเสียงอยู่ด้านหลัง ไม่ต้องมานำ เพราะว่ามีคนรุ่นใหม่มานำเราแล้ว

เรื่องคดีเป็นอย่างไรบ้าง

อาเล็ก : ผมโดนมาแล้ว 37 คดีแล้ว เป็นคดีเล็กๆ น้อยๆ คดีจราจร ใช้เครื่องเสียง ตั้งแต่เริ่มมาร่วมต่อสู้ในนามของคณะราษฎรโดนหมดแล้ว ทุกที่ที่มีการชุมนุมในช่วง 2 - 3 ปี ตั้งคดีแบบซ้ำซากให้แล้วก็ให้อีก ที่มาตรงนี้ (หน้าเรือนจำ) ก็โดนคดีไปแล้วของ สน.ประชาชื่น แล้วก็โดนที่ สน.ทุ่งสองห้องปรับอีก คดีที่ปรับไปแล้วก็จบไป แล้วก็มีคดีใหม่มาอีก ยังมีคดีที่อยู่ในศาลอีก 2 คดี เรื่องคดีผมให้ทนายเขาดูแลหมด ผมไม่จำอะไรเลย จริงๆ มันเยอะเกิน ตำรวจที่นี่เขาก็รู้จักเรากันหมดว่าเราไม่ได้มีความรุนแรง เรามาด้วยสันติ เขาชินกับเราแล้ว

ลำพังตัวอาเล็กเองตอนนี้เขาเหลือ 17 คดีเป็นของตัวเอง มีเพียงคดีเดียวที่ไปถึงชั้นศาล โดยแทบทั้งหมดเป็นคดีที่มาจากพรก. ฉุกเฉินฯ ซึ่งติดมากับการไปร่วมชุมนุมแต่ละครั้งของเขา

อาเล็กกล่าวทิ้งท้ายถึงสิ่งที่หล่อเลี้ยงให้เขายังออกมาเคลื่อนไหวและทำกิจกรรมอยู่ตรงนี้ว่า “ความคิดและความฝันของเราเท่านั้นที่เป็นพลังการขับเคลื่อนภายใน บางวันฝ่อบ้าง บางวันฟูบ้าง แต่ว่าพลังภายในคือหัวจิตหัวใจที่หวังว่า มึงต้องร่วงสักวันหนึ่งไอ้ประยุทธ์ หรือเผด็จการมึงต้องร่วงสักวันหนึ่ง การเติมพลังใจให้ตัวเองบ่อยๆ เติมพลังใจให้คนรอบข้างบ่อยๆ จะเป็นฐานของการต่อสู้ในระยะยาวที่ดีมาก”

 

บทสัมภาษณ์นี้เป็นหนึ่งในซีรี่ย์บทสัมภาษณ์นักกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ในพื้นที่กรุงเทพ เชียงใหม่ และอุบลราชธานี ประชาไทได้ทำการพูดคุยกับอาเล็ก โชคร่มพฤกษ์ ก่อนที่อานนท์ นำพา จะได้รับการปล่อยตัว

โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ประกันตัวอานนท์ นำพา เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 1 มี.ค. ได้มีคำสั่งให้ประกันตัว 3 จำเลยคดีทะลุแก๊ซ ได้แก่ พรพจน์ แจ้งกระจ่าง, ไพฑูรย์(สงวนนามสกุล) และสุขสันต์(สงวนนามสกุล) อย่างไรก็ตามในเวลา 21.00 น. ของวันปล่อยตัวเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง ได้ทำการอายัดตัว "ไพฑูรย์-สุขสันต์"

ไพฑูรย์ถูกอายัดตัวไป สภ.บางบัวทอง โดยทางศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังไม่ทราบสาเหตุว่ามาจากคดีใด ส่วนสุขสันต์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง อายัดตัวเช่นเดียวกัน แต่ต้องกักตัวอยู่ที่อาคารกักโควิด-19 ของเรือนจำอีก 2 วัน จากเหตุที่เขากำลังติดโควิด-19 อยู่

ขณะนี้เหลือผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองที่รอการยื่นประกันตัวอยู่จำนวน 2 คน คือ อาทิตย์ ทะลุฟ้า และ จิตรกร

อาทิตย์ ทะลุฟ้า หรือ ทวี เที่ยงวิเศษ ถูกดำเนินคดีจากกรณีสาดสี สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 และคดี #ม็อบ3กันยา64 เขาถูกกล่าวหาว่าทำร้ายเจ้าพนักงานและหลบหนีการจับกุม โดยอาทิตย์ถูกคุมขังมาแล้วเป็นเวลา 169 วัน ส่วนจิตรกร (สงวนนามสกุล) ถูกตั้งข้อหาครอบครองวัตถุคล้ายระเบิดจากเหตุเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 จิตรกรถูกขังมาแล้ว 145 วัน

 

 

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net