Skip to main content
sharethis

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ผู้เชิญชวนให้พลเมืองลุกขึ้นมาโต้กลับรัฐเผด็จการและกระบวนการยุติธรรมบิดเบี้ยวด้วยการ “ยืนหยุดขัง” หลังนักกิจกรรมและประชาชนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยหลายคนต้องกลายเป็นผู้ต้องขังในคดีการเมืองโดยปราศจากสิทธิประกันตัว การต่อสู้ด้วยขาทั้ง 2 ข้างเป็นเวลา 193 วันทำให้เขาเห็นอะไรบ้าง ร่วมสำรวจความคิดของพันธ์ศักดิ์ไปด้วยกัน

“ลานอากง” หน้าศาลฎีกากลายเป็นสถานที่ทำกิจกรรมยืนหยุดขังเป็นเวลา 112 นาที หลังเฟซบุ๊กเพจ “พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen” เชิญชวนให้ประชาชนออกมาร่วมกันยืนเพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้แก่นักกิจกรรมและประชาชนที่ถูกจับกุมคุมขังจากการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย หลายคนถูกขังระหว่างการพิจารณาคดีโดยไม่มีโอกาสสู้คดี

กิจกรรมยืนหยุดขังที่ลานอากงหน้าศาลฎีกาดำเนินมาต่อเนื่องถึง 193 วัน หรือกว่าครึ่งปี ก่อนจะสิ้นสุดลงหลังผู้ต้องขังในคดีการเมืองรายสุดท้ายได้รับการประกันตัวออกมาเมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ผ่านมา กลุ่มพลเมืองโต้กลับจึงได้ประกาศยุติการยืนหยุดขังอันยาวนานในครั้งนี้ ก่อนหน้าที่กิจกรรมจะเลิกลากันไปไม่กี่วันประชาไทสัมภาษณ์พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ จากพลเมืองโต้กลับถึงความพยายามของเขาและทางกลุ่มในการรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงสิทธิประกันตัว เหตุใดพันธ์ศักดิ์ถึงเลือกใช้วิธีการยืนเฉยๆ มาเป็นอาวุธในการต่อสู้ของประชาชนครั้งนี้ เขามีมุมมองต่อกิจกรรมของตัวเองอย่างไร และผลลัพธ์ที่ออกมาเป็นไปตามเป้าหมายที่เขาตั้งใจไว้หรือไม่

พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ ขณะทำยืนหยุดขังที่ลานอากงหน้าศาลฎีกา ภาพจาก เฟซบุ๊กเพจ “พลเมืองโต้กลับ Resistant Citizen”

สัมภาษณ์ผู้ร่วม "ยืนหยุดขัง" ในที่อื่น

ไอเดียของกิจกรรมนี้มีที่มาอย่างไร ?

พันธ์ศักดิ์ : ไอเดียมันย้อนไปไกลมากตั้งแต่ พ 2558 พวกผมพลเมืองโต้กลับ 4คน ผม, อานนท์ นำภา, นิว สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ และกึ๋ย โดนจับขึ้นศาลทหาร วันนั้น สน.ปทุมวัน มาส่งขึ้นศาลทหารแล้วทนายก็ขอยื่นประกันตัว ขณะที่เราก็ปฏิเสธอำนาจศาลทหารด้วย แล้วมีน้องกลุ่ม LLTD (ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย) ที่เป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่นำโดยรังสิมันต์ โรม และเพื่อนๆ จัดเดินขบวนจากธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ไปที่ศาลทหาร มาตะโกนอยู่ข้างล่าง “ปล่อยเพื่อนเรา ปล่อยเพื่อนเรา” คือผมอยู่ชั้นสามนี่เสียงดังมาก  

เวลานั้นการที่คุณเดินเข้าพื้นที่กระทรวงกลาโหม เขตศาลทหาร นี่แม่งโคตรเสี่ยงเลยนะ เขาตะโกนอยู่จนสุดท้ายไม่รู้ยังไงศาลทหารก็ให้ประกันตัวไปในวันนั้น

นี่เป็นข้อความแรกที่ได้ยินส่วนของพลเมืองโต้กลับตอนนั้นใช้ว่า “พลเมืองไม่ควรขึ้นศาลทหาร” แต่หลังจากนั้นก็มีคนโดนจับอีกที่ไม่ใช่พวกผม อานนท์ก็ถามว่าเราต้องทำอะไรแบบที่พวกน้องทำให้เราหรือเปล่า ผมก็ว่าทำได้นะ แต่ถ้าผมทำก็คงเป็นยืนเฉยๆ อานนท์เก็ตแล้วบอกว่าไปยืนเฉยๆ กัน ช่วงนั้นไปยืนให้คนนั้นคนนี้ ส่วนใหญ่เราจะยืนกันบนสกายวอล์คที่ปทุมวันหรือช่องนนทรี เราไปบ่อยมาก  

ตอนนั้นส่วนใหญ่คนที่โดนเล่นงานเป็นนิว (สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์) ก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงเป็นนิวที่โดนจับ ไปกันเยอะแต่นิวโดนคนเดียว โดนจับปรับเรื่องกีดขวางจราจรบ้าง ตอนนั้นเจ้าหน้าที่ยังไม่เล่นเรื่องฝ่าฝืนคำสั่ง คล้ายๆ เราไปยืนกันเฉยๆ กันตำรวจจะฟ้องเป็นคดีชุมนุมดีไหม หลังจากนั้นเราเห็นว่าทำกิจกรรมแบบนี้มันปลอดภัย แล้วคนที่มาเข้าร่วมเขายังกลัวอำนาจทหารเขาจะรู้สึกว่าเขาปลอดภัย ก็เลยได้ทำมาเรื่อยๆ โดนจับบ้าง แต่ไม่เคยโดนตั้งข้อหาเมื่อคดีไปถึงศาล หนักหน่อยก็คือนิวอยู่หน้าข่าวบ่อยๆ ถึงขั้นโดนทำร้ายร่างกาย โดนตีหัว โดนอุ้ม ซึ่งก็แปลกที่พวกผมไม่โดนมีแค่นิวโดนคนเดียว คือผมก็โดนอุ้มแล้วก็ไป สน.ชนะสงคราม

เราใช้กิจกรรมนี้มาตลอดจนกระทั่งพอหลังน้องๆ คณะราษฎรแล้วอานนท์ก็โดนด้วย ก็คุยกันกับเพื่อนๆ เรามองว่าน่าจะมาทำกิจกรรม ตอนนั้นชื่อก็ยังไม่แน่นอน เรามองไปที่สิทธิประกันตัวก่อน เราก็เอาข้อความอย่าง “ยืนหยุดขัง” มา แล้วก็ “คืนสิทธิประกันตัว” เป็นเรื่องหลัก “ปล่อยเพื่อนเรา” ที่เป็นคำเก่าที่เราอยากเก็บไว้ จริงๆ “ปล่อยเพื่อนเรา” เราก็ไม่ค่อยอยากจะใช้เพราะว่ามันมีเรื่องความสัมพันธ์ มันไม่เหมือนกับการที่คนทั่วไปเขาจะออกมาต่อสู้เรื่องสิทธิประกันตัว แต่ว่ามันเป็นคำดั้งเดิมที่เราอยากใช้ตั้งแต่พวกโรมมาต่อสู้ให้พวกผม  

ตอนคุยกันก่อนจะมายืนหยุดขัง คือยาวแน่ ก็ถามแต่ละคนว่าไหวมั้ย เพราะเรามองว่าหลังม็อบพีคใหม่ๆ ไม่ได้มองว่าคนจะมาสัก 200 -300 คน กะว่ามาแค่ 20 – 30 คน แต่เพื่อนเราอยู่ในคุกนานเท่าไหร่ เราก็ยืนไปเรื่อยๆ คู่ขนานกันไป มันน่าจะเวิร์คกว่าแล้วก็ส่งเสียงให้เพื่อนได้ยิน ทนายความเขาก็ถามอยู่ตลอดแล้วก็เอาไปเล่าตอนเข้าไปเยี่ยมคนที่ถูกขังอยู่ ว่ายังมีคนสู้อยู่ข้างนอกนะ คนข้างในอย่างอานนท์หรือเพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) ก็จะส่งเสียงออกมาโต้ตอบมีบทสนทนากันว่า เฮ้ยที่ยังสู้อยู่เพราะว่ายังมีคนยืนหยุดขัง มันเป็นพลังให้กัน เพราะฉะนั้นแม้การยืนมันจะเสียเวลาชีวิตแต่ละคน ทุกคนก็มีภาระรับผิดชอบ แต่เรารู้สึกว่าถ้าเทียบกับคนที่อยู่ข้างในแล้วเราสบายกว่าเยอะ ถึงอยู่มาได้กันนานขนาดนี้

ที่บอกว่าสมัย คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) เลือกทำกิจกรรมลักษณะนี้เพราะรู้สึกว่าทำแล้วปลอดภัยกับคนที่มาร่วม ณ วันนี้ที่กลับมาใช้กิจกรรมนี้อีกครั้งเท่าที่ได้คุยกับตำรวจจาก สน.ชนะสงคราม ที่เป็นตำรวจท้องที่ก็ยินดี แต่จะมีบ้างที่เป็นภารกิจเฉพาะเวลามีขบวนเสด็จ ซึ่งมันมีเรื่องยุทธวิธีของเขาด้วย กรณีแบบนี้เราจะไปยืนตรงฝั่งเลียบคลองข้างศาลฎีกา แต่ว่าในวันที่มีพระบรมวงศานุวงศ์มาเยอะตรงนั้นก็จะเป็นเส้นทางสำรอง ตำรวจ สน.ชนะสงคราม จะมาขอให้งดเลยได้ไหม เพราะเขาจะดูแลเรื่องความปลอดภัยไม่ได้ แล้วตรงนั้นเป็นพื้นที่ สน.สำราญราษฎร์ด้วย วันที่มีงานใหญ่จริงๆ เราก็จะงดไปเลยอย่างวันเฉลิมพระชนมพรรษารัชกาลก่อนหรือวันมาฆบูชาที่จะมีพระบรมวงศานุวงศ์มากันหลายทาง เราก็หลบให้ ซึ่งเขา (ตำรวจ) ก็รู้สึกดี หรือเวลามีกลุ่มอื่นที่เป็นพวกรักสถาบันมา เราก็เฉยๆ นิ่งๆ ตำรวจท้องที่เขาก็รู้สึกว่ากลุ่มนี้มาแล้วเขาสบายใจ ไม่ป่วนอะไรแน่ๆ

ถ้ามองย้อนกลับไปตั้งแต่รัฐประหาร ผมกับอานนท์คืนที่มีรัฐประหารเรานั่งกินลาบด้วยกันสุดท้ายแล้วเราก็ทำไงดีวะ ก็เลยชวนกันมากินลาบที่สกายวอล์คเลย ที่นี้ประชาชนทั่วไปเขาไม่ได้ชิวๆ มากินลาบอย่างเรา เราซื้อลาบกันมาเลยนะ คนเต็มเลยมาไล่ทหารแบบพร้อมจะลุยจับปืนเราก็ตกใจมาก เพราะว่าเราไม่ได้เป็นสายบู๊แต่เราเป็นแบบพร้อมที่จะนั่งตรงสี่แยกได้ทั้งวันทั้งคืนโดยไม่ต้องทำอะไร ตอนนั้นตกใจอยู่เหมือนกันจน บก. ฟ้าเดียวกันโดนจับ แล้วผมโดนโทรตามเพราะว่าไปคุยกับทหารไว้แล้วเหมือนผู้ประสานการชุมนุม บก. ฟ้าเดียวกันไปโดนจับเราก็เฮ้ย เราจะโดนจับด้วยไหม ก็เลยต้องหลบออกไปต่างจังหวัดพาอานนท์ไปด้วย หลังจากนั้นพอสถานการณ์เริ่มสงบ กลับมาก็เริ่มชวนแม่น้องเกด (พะเยา อัคฮาด) ทำกิจกรรมแบบนี้ที่ไม่ได้พูดเรื่องมาตรา 116 อย่างชัดเจน เราต่อสู้ในศาลได้ ตอนที่ผมตัดสินใจเดินคนเดียว ก็เป็นวิธีนี้คือเราบอกก่อนเลยว่าเดินคนเดียวนะเว้ย ใครจะมาให้ดอกไม้ก็มาให้แล้วก็ออกไป จะได้ไม่ครบองค์ประกอบความผิด แต่ก็ยังได้สื่อสารเรื่องที่อยากพูด แล้วก็ทำตลอด เพราะตอนนั้นอำนาจทหารมันพีคมาก แค่ออกมาเดินคนเดียวก็สะเทือนแล้ว

รอบนี้จัดแล้วก็ถือได้ว่าคนเยอะผิดคาด ?

พันธ์ศักดิ์ : ใช่ๆ เพราะบางทีจะมีอารมณ์ร่วมกันอะไรแบบนี้ อย่างพอมีการยื่นประกันแล้วศาลไม่ให้ประกัน วันรุ่งขึ้นคนมาเยอะเลย หรือถ้ามีคนได้ประกันแล้วอีกวันเป็นเสาร์-อาทิตย์ คนก็จะมากัน บางทีแม่ๆ ที่ลูกเขาได้ประกันก็มีน้ำใจมายืนด้วย เราก็รู้สึกว่าพลังมันส่งต่อถึงกันได้

คุณคิดว่ากิจกรรมลักษณะนี้สามารถส่งข้อความถึงสังคมได้ถึงจุดที่ตั้งใจไว้มั้ย ?

พันธ์ศักดิ์ : ไม่รู้เหมือนกัน ตอนแรกผมไม่พูดเรื่องยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 เลยนะ จนหลายครั้งคนที่โดนคดีม.112 แล้วไม่ได้ประกันตัวด้วยเหตุที่ศาลบอกว่าเป็นการกระทำความผิดรุนแรง เราถึงหยิบประเด็นนี้มาใช้ แต่สิ่งที่เราพยายามจะโฟกัสอยู่ตลอดคือเรื่องสิทธิการประกันตัว ซึ่งมันเป็นเรื่องสามัญสำนึกทั่วไปคนโดนแจ้งข้อหา คุณจะไม่ให้สิทธิเขาประกันตัวเลยเหรอ มันจะเป็นจะตายอะไรกันนักหนา

จากที่ยืนหยุดขังกันมาเกินครึ่งปี คุณคิดว่าอะไรเป็นอุปสรรคของการทำกิจกรรมลักษณะนี้ ?

พันธ์ศักดิ์ : ความต่อเนื่อง เราจะต้องมีแต่ทีนี้ต่อเนื่องได้มันต้องมีคนที่มาทำให้กิจกรรมดำเนินต่อไปได้ ขณะที่คนทั่วไปเขามาๆ ไปๆ ก็ปกติเราไม่ได้บังคับหรือเข้มงวดกับใคร ผมพูดเสมอว่าใครสะดวกก็มา มันเหมือนเป็นกิจกรรมอาสาสมัครมากกว่าเป็นม็อบนะ คือใครว่างก็มาช่วยกันแสดงออก คำภาษาอังกฤษมันชัดเจนว่านะ อย่างเวลาใช้ Stand หรือ Speak out ค่อนข้างชัดกับกิจกรรมแบบนี้ ขณะที่คนไทยจะงงๆ ว่ายืนเฉยๆ แล้วยังไง

ก็นี่ไงมันคือแอคชั่นแล้ว

เหมือนการรณรงค์ในต่างประเทศที่ใช้คำเช่น Stand with หรือ Stand against เพื่อแสดงจุดยืนว่าจะเห็นด้วยหรือต่อต้าน ?

พันธ์ศักดิ์ : ใช่ บางทีนักท่องเที่ยวต่างชาติผ่านมาอธิบายกันเขาเข้าใจเลยนะ เขาบอกว่ามาเที่ยวไม่นึกว่ามีเรื่องคนโดนกล่าวหาแล้วไม่ได้ประกันตัวด้วย

แล้วคนที่ผ่านไปผ่านมาทั้งคนไทยทั้งต่างชาติให้ความสนใจอย่างไรบ้างกับกิจกรรม ?

พันธ์ศักดิ์ : ถ้าเป็นคนไทยบางทีจะมาจอดรถตะโกนด่าบ้างก็มีแบบว่า พวกมึงออกไปนอกประเทศเลย ก็เข้าใจว่าจุดยืนทางการเมืองคนละเรื่องกับเรา หรือคนที่เดินมาตรงนี้แล้วมาถามก็มี หรือเดินมาแล้วหลบไปด้วยความกลัวก็มี แบบคนมายืนกันอยู่เฉยๆ บรรยากาศมันมาคุ (น่าอึดอัด) อยู่เหมือนกันสำหรับคนที่เดินผ่านมา ก็เข้าใจ

แต่ถ้าใครมาถามก็จะชี้แจงว่าเป็นเรื่องอะไร หลายคนก็เข้าใจ ด้วยปริมาณมันไม่มากหรอก แต่คนที่สนใจจริงๆ เขาจะยินดีรับฟัง ส่วนคนที่มีจุดยืนต่างกันทางการเมืองเขาก็ไม่สนใจอะไรมาถึงก็ตะโกนด่าเลย แต่มันแสดงว่าเขาก็ต้องได้รับข่าวสารด้วยถึงมาด่าถูก

มีกังวลเรื่องมาโดนทำร้ายบ้างมั้ย ?

พันธ์ศักดิ์ : เราระวังอยู่ เพราะก่อนหน้านี้เคยมีพวกปกป้องสถาบันเขาใส่เสื้อ ศปปส. (ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน) ชัดเจน เขามาตะคอกคนที่ยืนอยู่ว่า มาทำไม ตรงนี้มันหน้าสถานที่ราชการ ผมก็เลยเดินเข้าไปกันแล้วก็อธิบายให้เขาฟังว่า พี่ไม่รู้เหรอว่าเรามายืนตรงนี้ 130 กว่าวันแล้ว เคยอ่านข่าวบ้างไหม เขาก็ถอยๆ ไปแล้วก็ตะโกนด่า เราไม่ได้ว่าอะไร ตำรวจก็มาเชิญพวกนั้นออกไป ตอนหลังเลยต้องมายืนระวังเหตุอยู่แบบนี้

ตอนนี้ผู้ต้องขังในคดีการเมืองหลายคนก็ทยอยออกมาเรื่อยๆ เหลืออยู่อีก 5 คน แล้วคุณมีเป้าหมายอย่างไรต่อ ?

พันธ์ศักดิ์ : ถ้าผู้ต้องขังในคดีการเมืองชุดนี้ได้ประกันตัวหมด ต้องคุยกันว่าถ้ามีคนอื่นโดนจับอีก หรือมีการถอนประกันจะทำอย่างไง เพราะว่าทำกิจกรรมเหมือนเดิมอีกก็อาจจะไม่ส่งผลอะไรมาก แต่ว่าเราก็น้อมรับอยู่อย่างหนึ่งว่าที่อานนท์ได้ประกันไม่ใช่เพราะว่าเรามายืน 180 กว่าวันหรอก แต่มันมีกระแสสังคมที่กดดันทางอ้อมอยู่ด้วย อย่างตอนที่มีการอภิปรายแล้วรัฐบาลเพลี่ยงพล้ำอยู่ดีๆ ก็ปล่อยนักโทษการเมืองออกมาเฉย แล้วก็ไม่ได้มีสัญญาณหรืออะไรเลย ทนายก็งง

สุดท้ายเราจะเห็นว่ามีปัจจัยอย่างอื่นเยอะหลายเรื่องที่พ้นไปจากแค่เรื่องสิทธิประกันตัวแล้ว มันทำให้เห็นว่าไม่ได้มีข้อเท็จจริงทางกฎหมายเหมือนกัน คือคุณน่ะมีเบื้องหลังแอบแฝง ทำให้เราเรียกร้องรณรงค์ได้

 

 

หมายเหตุ

บทสัมภาษณ์นี้เป็นการพูดคุยกันก่อนที่กิจกรรมยืนหยุดขังที่ลานอากงหน้าศาลฎีกาจะสิ้นสุดลง ขณะนั้นยังมีผู้ต้องขังในคดีการเมืองอีก 5 คน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net