Skip to main content
sharethis

ศาลปกครองพิจารณาคดีภาคประชาชนร่วมกันฟ้องเพิกถอนประกาศกระทรวงทรัพยากรฯที่ให้ยกเว้นโรงไฟฟ้าขยะไม่ต้องทำ EIA ภาคประชาชนสะท้อนโรงไฟฟ้าขยะเสี่ยงสร้างผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากแต่กลับลดมาตรการป้องกัน ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นว่าประกาศของกระทรวงชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ประชาชนจากหมู่ 4 ต.หนองไข่น้ำ จ.สระบุรียื่นฟ้องศาลปกครองเพิกถอนข้อบัญญัติท้องถิ่น ที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายละเอียดที่เป็นสาระสำคัญให้สามารถสร้างโรงไฟฟ้าฯ ในพื้นที่ชุมชน เมื่อ 17 ก.พ.2564 (แฟ้มภาพ)

8 มี.ค.2565 ศาลปกครองกลาง ถนนแจ้งวัฒนะ มีนัดพิจารณาคดีที่มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และเครือข่ายประชาชนศึกษาและติดตามปัญหาขยะ 7 จังหวัด(ปทุมธานี ชลบุรี นครนายก ปราจีนบุรี สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา สระบุรี) เป็นโจทก์ฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นจำเลยที่ 1 และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเป็นจำเลยที่ 2 เพื่อขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ยกเว้นให้โรงไฟฟ้าขยะมูลฝอยที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปไม่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือ EIA ซึ่งในปัจจุบันกฎหมายกำหนดให้ดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

การพิจารณาในวันนี้เป็นการให้ฝั่งโจทก์แถลงปิดคดีด้วยวาจาต่อศาลและให้ตุลาการผู้แถลงคดีแถลงความเห็นประกอบคำแถลงการณ์ที่ส่งต่อศาลไปก่อนหน้านี้แล้ว อย่างไรก็ตามในส่วนความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีไม่ได้มีส่วนผูกมัดต่อคำพิพากษาที่องค์คณะพิจารณาพิพากษาจะมีออกมาในภายหลัง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาคดีครั้งนี้เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ขึ้นแถลงด้วยวาจาต่อศาลในฐานะเป็นตัวแทนฝั่งโจทก์ เพ็ญโฉมแถลงว่าหลายประเทศทั่วโลกที่เจริญแล้วและมีมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดีมองว่าขยะถือเป็นทรัพยากรอย่างหนึ่งที่มีมูลค่าจึงมีการส่งเสริมการคัดแยกขยะแทนการกำจัดทิ้งและการคัดแยกยังเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนมากกว่าการเผาทิ้งหรือฝังกลบ จึงมีการรณรงค์ให้เกิดการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง

นอกจากนั้นยังทำให้รัฐบาลบรรลุเป้าหมายและแผนแม่บทในการบริหารจัดการขยะมูลฝอยที่มีเป้าหมายจะลดปริมาณขยะลงโดยการคัดแยกและนำกลับไปใช้ประโยชน์ใหม่ แต่การตัดสินใจที่รวดเร็วแล้วมอบอำนาจให้กระทรวงทรัพยากรฯ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม ออกคำสั่งยกเลิกการทำ EIA สำหรับโรงไฟฟ้าที่ใช้ขยะเป็นเชื้อเพลิงที่มีกำลังการผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปจึงเป้นการออกนโยบายของรัฐบาลที่ขาดความรอบคอบ ขาดข้อมูลที่รอบด้านและวิสัยทัศน์ และขาดความรับผิดชอบที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังทำลายเศรษฐกิจฐานลากของผู้ประกอบอาชีพซาเล้งและคัดแยกขยะ

ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าขยะเกิดขึ้นแล้วจำนวน 44 แห่ง และยังมีแผนที่จะอนุมัติเพิ่มอีกหลายสิบแห่ง นอกจากนั้นยังมีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากการออกมาคัดค้านการตั้งโรงไฟฟ้าขยะเหล่านี้ในหลายพื้นที่เนื่องจากประชาชนกลัวผลกระทบจากมลพิษที่จะออกมาจากโรงไฟฟ้าและกลัวจะกระทบต่อเศรษฐกิจในท้องที่ด้วย รวมไปถึงประชาชนในพื้นที่โครงการก็มองว่าไม่ได้มีขยะมากถึงขนาดที่จะต้องก่อตั้งโรงไฟฟ้าแต่กลับมีการผลักดันให้สร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม อีกทั้งยังมีรายงานที่ชี้ให้เห็นปัญหาของโรงไฟฟ้าขยะที่ดำเนินการอยู่ในเวลานี้ไม่สามารถแก้ปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากขี้เถ้าได้จริงและยังส่งกลิ่นเหม็นรุนแรง

เพ็ญโฉมกล่าวถึงกรมอนามัยเองก็ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจนต้องออกหนังสือวิชาการที่ใช้เป็นคู่มือให้แก่ประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อเฝ้าระวังป้องกันตนเองจากมลพิษในพื้นที่ที่มีการตั้งโรงไฟฟ้าขยะด้วย นอกจากนั้นคู่มือดังกล่าวยังระบุไว้ด้วยว่าการใช้โรงไฟฟ้าขยะมากำจัดขยะมีผลกระทบที่รุนแรงสร้างมลพิษทางอากาศและการปนเปื้อนบนพื้นดิน จึงยืนยัว่าโรงไฟฟ้าขยะมีปัญหาและจะต้องทำ EIA จึงขอให้ศาลพิพากษาเพื่อสร้างบรรทัดฐานในการใช้อำนาจและดุลพินิจของหน่วยงานรัฐให้เป็นไปในทางคุ้มครองผู้ฟ้องคดี ชุมชนและประโยชน์สาธารณะ

หลังการแถลงของฝ่ายโจทก์ ตุลาการผู้แถลงคดีขึ้นชี้แจงต่อว่า คดีนี้มีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 2 ประเด็นคือ มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมที่ให้ความเห็นชอบประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP) นี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ประเด็นที่สองคือประกาศของกระทรวงทรัพยการฯ ที่ให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะเข้าข่ายยกเว้นไม่ต้องทำรายงาน EIA ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ประเด็นแรก ตุลาการฯ เห็นว่ามติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เห็นชอบประมวลหลักการปฏิบัติดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย โดยให้เหตุผลประกอบว่าประมวลหลักการปฏิบัติได้นำขั้นตอนรับฟังความเห็นประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย และได้เปิดรับฟังความเห็นในหลายช่องทางที่ครอบคลุมรัศมีอย่างน้อย 5 กิโลเมตรจากพื้นที่โครงการโดยแจ้งกำหนดให้แจ้งวันรับฟังความเห็นล่วงหน้า 15 วัน มีระยะเวลารับฟังความเห็น 15 วัน และต้องติดประกาศผลสรุปความเห็นอย่างน้อย 15 วัน ให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ดังนั้นกระบวนการรับฟังความเห็นประชาชนย่อมมีส่วนร่วมในการจัดทำประมวลหลักการปฏิบัติแล้ว

นอกจากนั้นประมวลหลักการปฏิบัติโครงการโรงไฟฟ้าขยะดังกล่าวนี้ยังได้กำหนดไว้ว่าห้ามตั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดและห้ามตั้งในพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่กระทรวงทรัพยากรฯ กำหนด ห้ามตั้งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ พื้นที่ชุ่มน้ำที่สัมพันธ์กับต่างประเทศ และพื้นที่ที่มีความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศสูงเกินกว่าร้อยละ 80 ของมาตรฐานควบคุมอากาศเพื่อความปลอดภัย

ตุลาการผู้แถลงคดีชี้แจงอีกว่า พื้นที่ห้ามตั้งโรงไฟฟ้าขยะทั้ง 5 ลักษณะดังกล่าว ไม่ได้กำหนดห้ามไว้ในประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ เรื่องกำหนดประเภทและขนาดของโครงการลงวันที่ 4 เม.ย.2555 ในประกาศนี้มีเพียงห้ามตั้งในพื้นที่ลุ่มน้ำหลัก 25 แห่งและแม่น้ำสายหลัก 23 สาย

นอกจากนั้นในประมวลหลักปฏิบัติในโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่มีกำลังผลิตตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปนี้มีมาตรฐานในการพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ ไม่ต่ำกว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้เชื้อเพลิงอื่นๆ ประมวลหลักการปฏิบัติดังกล่าวจึงไม่ขัดกับพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535 ดังนั้นที่จำเลยที่สองให้ความเห็นชอบประมวลหลักการปฏิบัติสำหรับโครงการที่เข้าข่ายได้รับการยกเว้นจัดทำรายงาน EIA จึงเป็นการปฏิบัติตามนโยบายของ คสช. ตามนัยยะมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

มติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ยังเป็นการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่กำหนดไว้แล้วให้เหมาะสมกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และความเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและสังคม ตามมาตรา 13(11) ประกอบมาตรา 34 ในพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดังนั้นมติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ ที่เห็นชอบประมวลหลักการปฏิบัติจึงชอบด้วยกฎหมาย

ประเด็นที่สอง ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า ประกาศของกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ให้โครงการโรงไฟฟ้าขยะที่มีกำลังผลิตเกิน 10 เมกะวัตต์ไม่ต้องทำรายงาน EIA ชอบด้วยกฎหมายเนื่องจากเห็นว่าเป็นการกำหนดขึ้นตามประมวลหลักการปฏิบัติสำหรับโครงการที่เข้าข่ายได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงาน EIA ตามที่ได้วินิจฉัยแล้วในประเด็นที่หนึ่ง ดังนั้นประกาศของกระทรวงทรัพยากรฯ ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมฯ แล้ว รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ จึงมีอำนาจในการออกประกาศตามมาตรา 48 วรรคหนึ่งในพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม 2535

ภายหลังการแถลงของฝ่ายโจทก์และตุลาการผู้แถลงคดีเสร็จสิ้น ศาลได้แจ้งว่าหลังจากนี้ตุลาการหัวหน้าคณะจะประชุมปรึกษากับผู้พิพากษาคดีนี้ต่อไป

สุรชัย ตรงงาม ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมให้สัมภาษณ์หลังการพิจารณคดีเสร็จสิ้นว่า รูปแบบการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม EIA ทำขึ้นด้วยรูปแบบของคณะกรรมการที่มาจากผู้ชำนาญการจากหลากหลายวิชาชีพมาพิจารณารายงานที่ทางฝ่ายเอกชนที่ต้องการดำเนินการโครงการ แต่การดำเนินการตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice: CoP) เป็นการพิจารณาของหน่วยงานผู้อนุมัติโครงการเองหรือก็คือพิจารณาเองอนุมัติเอง ในขณะที่ EIA จะเป็นคณะกรรมการของอีกหน่วยงานหนึ่งถ้าคณะกรรมการไม่เห็นด้วยก็จะออกใบอนุญาตไม่ได้

ทนายความกล่าวต่อว่า นอกจากนั้นมาตรการแบบ CoP ก็ยังเป็นมาตรการแบบเหมารวมใช้ไปกับทุกพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างจะถูกใช้เกณฑ์เดียวกันหมด แต่ EIA จะเป็นการประเมินผลกระทบเฉพาะพื้นที่ซึ่งมีลักษณะแตกต่างหลากหลายไม่เหมือนกัน เช่นพื้นที่ดังกล่าวมีชุมชนอยู่ในบริเวณรอบโครงการมากน้อยแค่ไหน การพิจารณาจึงต้องดูไปตามรายละเอียดของพื้นที่นั้นๆ ด้วย นอกจากนั้นผลกระทบจากประกาศยกเว้นการทำ EIA ดังกล่าวก็ไม่สามารถดูแค่ช่วงที่เพิ่งถูกประกาศใช้แค่ช่วงปี 2557-2558 ได้ เพราะว่ากระบวนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวด ล้อมเองก็มีการพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้นด้วยเหมือนกัน

ผู้สื่อข่าวได้ถามความเห็นถึงตุลาการที่มีความเห็นเปรียบเทียบระหว่างม สุรชัยมีความในประเด็นนี้ว่าเนื่องจากขยะที่จะนำมาเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ในโรงไฟฟ้าไม่ได้มีการแยกแยะอย่างเป็นระบบทำให้เมื่อใช้ขยะที่กองอยู่รวมกันก็มีการปนเปื้อนและทำให้เกิดมลพิษได้ง่าย ทำให้การจัดการขยะบ้านเราด้วยวิธีเผาส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูง แม้ว่าฝั่งรัฐบาลจะเชื่อว่านโยบายที่ออกมาจะเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมก็ตาม ซึ่งก็เป็นผลพวงจากนโยบายที่ออกมาตั้งแต่ยุค คสช. ที่ผ่านมาแล้ว 8 ปี ตนก็เห็นว่ามันมีความเปลี่ยนแปลงไปมากแล้วก็ควรจะต้องทบทวนนโยบายที่ออกมาด้วย

ส่วนประเด็นที่ตุลาการแถลงความเห็นว่าประกาศและมติที่ออกมานั้นชอบด้วยกฎหมายแล้วโดยอ้างกลับไปถึงนโยบายของ คสช.หรือมาตรา 44 ซึ่งเขาเห็นว่าการจะใช้มาตรา 44 จะต้องออกมาเป็นคำสั่งชัดเจน แต่อันนี้ไม่ได้มีคำสั่งชัดเจน แต่ประกาศยกเว้นทำรายงาน EIA นี้กลับออกมาตามที่พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ก็เลยคิดว่าอาจจะเป็นความเห็นที่ยังไม่ตรงกันเสียทีเดียว

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวต่อว่าปัจจุบันโรงไฟฟ้าขยะที่มีกำลังผลิตเกิน 10 เมกะวัตต์ไม่ต้องทำ EIA แต่โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนอื่นๆ อย่างโรงไฟฟ้าขยะชีวมวลที่มีกำลังผลิตเกิน 10 เมกะวัตต์ขึ้นไปต้องทำ EIA ซึ่งประกาศยกเว้นการทำ EIA นี้กลับออกมาโดยใช้หลักเกณฑ์ทางกฎหมายที่ให้คำนึงมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่แค่ออกมาเพื่อตอบสนองนโยบายในเวลานั้นแล้วนโยบายที่ออกมาก็ต้องคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมและสขุภาพของประชาชน

มาตราการในการจัดการขยะควรจะเป็นเรื่องคัดแยกขยะแต่รัฐบาลก็ออกนโยบายมาเป็นการตั้งโรงไฟฟ้าที่มีความเสี่ยงแล้วยังลดทอนมาตรการเชิงป้องกันลงด้วยการยกเว้นการทำรายงาน EIA สะท้อนให้เห็นว่าตัวนโยบายเองที่มีปัญหาแล้วเมื่อออกนโยบายมาผู้ปฏิบัติงานที่มีหน้าที่ออกกฎระเบียบข้อบังคับก็มีปัญหาตามมาด้วยโดยเฉพาะในด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่ไม่ถูกคำนึงถึงในการใช้อำนาจของรัฐบาล คสช.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net