ศาลยกฟ้องคดีจ้างวานปาระเบิดศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อปี 58 คดีไม่มีประจักษ์พยาน

ศาลยกฟ้อง 6 จำเลยคดีจ้างวานปาระเบิดศาลอาญาเมื่อ 7 มี.ค.58 เหตุอัยการที่เป็นโจทก์ฟ้องมีแค่ฝ่ายกฎหมาย คสช.และฝ่ายสอบสวน บช.น. เป็นพยานบอกเล่าและหลักฐานพิสูจน์ไม่ได้ว่าเงินที่มีการโอนนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีคนไปก่อเหตุระเบิดหรือไม่ แต่ฝ่ายจำเลยต่างยืนยันว่าถูกทำร้ายบังคับระหว่างสอบสวนในค่ายทหารให้สารภาพ

24 มี.ค.2565 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มีนัดฟังคำพิพากษาคดีที่จำเลย 6 คนถูกกล่าวหาว่าร่วมกันว่าได้ร่วมกันวางแผนจ้างวานคนไปขว้างปาระเบิดใส่สถานที่ 5 แห่ง โดยคดีนี้เป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับเหตุปาระเบิดที่ศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2558 และยังเป็นคดีโอนย้ายจากศาลทหารมาพิจารณาพิพากษาต่อในศาลอาญาหลังจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งยกเลิกใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จำเลยทั้ง6 คนในคดีนี้ได้แก่ สุภาพร มิตรอารักษ์, วาสนา บุษดี, ณัฎฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน, สุรพล เอี่ยมสุวรรณ, วสุ เอี่ยมละออ และสมชัย อภินันท์ถาวร โดยพวกเขาถูกฟ้องในข้อหาในข้อหาเป็นอั้งยี่ ร่วมกันตระเตรียมการก่อการร้าย ร่วมกันมียุทธภัณฑ์ในครอบครอง ร่วมกันมีเครื่องกระสุนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ และร่วมกันเป็นผู้ใช้ให้ผู้อื่นกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยใช้เครื่อง กระสุนที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้

คดีนี้จำเลยเกือบทั้งหมดได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี 4 คน ยกเว้นสุภาพร และสุรพล ที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาแล้ว 7 ปี และระหว่างการพิจารณาคดีสุรพลรับสารภาพเฉพาะในข้อหาอั้งยี่

ส่วนของคำพิพากษาโดยสรุป ฝ่ายโจทก์บรรยายพฤติการณ์การกระทำของทั้ง 6 คนโดยสรุปได้ว่าในช่วงระหว่างวันที่ 1 ก.พ.2558 ถึง 5 ก.พ.2558 ทั้ง 6 คนมีการร่วมกันวางแผนและจัดเตรียมระเบิดสังหารชนิด RGD-5 ก่อเหตุขว้างปาระเบิดใส่สถานที่ 5 แห่งได้แก่กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์, สวนลุมพินี, สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จตุจักร, ศาลอาญา และลานจอดรถของโรมแรมเคมปินสกี้ โดยมุ่งหมายให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน โดยจ้างวานให้วิเชียร ชะลอยรัมย์ไปก่อเหตุที่สวนลุมพินี, รถไฟฟ้าใต้ดินจตุจักรหรือศาลอาญาแห่งใดแห่งหนึ่ง ซึ่งเมื่อเกิดการระเบิดจะทำให้ประชาชนในบริเวณที่เกิดเหตุได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตแต่วิเชียรไม่ได้ไปก่อเหตุตามที่ตกลงกันไว้

คำพิพากษาระบุถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 มี.ค.2558 มีผู้ก่อเหตุระเบิดโดยการขว้างปาระเบิดชนิด RGD-5 ไปที่บริเวณลานจอดรถของศาลอาญา รัชดาฯ ทางเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจสามารถติดตามจับกุมผู้ก่อเหตุได้ทันทีในบริเวณที่เกิดเหตุโดยผู้ก่อเหตุทั้งสองคนคือ มหาหิน ขุนทอง และยุทธนา เย็นภิญโญ จากนั้นได้มีการสอบสวนเพื่อขยายผล และเกิดการติดตามจับกุมบุคคลเพิ่มเติมเป็นจำเลยในคดีนี้

ทั้งนี้พยานฝ่ายโจทก์พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ฝ่ายกฎหมายของ คสช. ในเวลานั้นและพล.ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ที่ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาล ที่ร่วมกันสอบสวนจำเลยได้ความว่ามีการสื่อการกันผ่านช่องทางห้องแชทกลุ่มในแอพพลิเคชั่น Line โดยมี มนูญ ชัยชนะ หรือ “เอนก ซานฟราน” องค์กรภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนสั่งการ

นอกจากนั้นยังมีหลักฐานการโอนเงินระหว่างจำเลยด้วยกัน อีกทั้งภายหลังจากการจับกุมสุภาพร จำเลยที่ 1 ทางเจ้าหน้าที่ยังตรวจค้นบ้านพักพบระเบิดชนิด RGD-5 1 ลูกด้วย

อย่างไรก็ตาม จำเลยทั้ง 6 คนต่างเบิกความว่าพวกเขาถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทหารแล้วนำตัวไปควบคุมไว้ในค่ายทหารถูกซักถามทำบันทึกคำให้การระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอยู่ โดยบางรายยืนยันว่าตนถูกทำร้ายร่างกาย บางรายเซนชื่อรับรองบันทึกซักถามโดยไม่ได้อ่าน เช่น ในกรณีของสุภาพรให้การว่าเธอถูกทำร้ายร่างกายจนสลบไปและเมื่อตื่นขึ้นมาเจ้าหน้าที่ก็ได้เปิดเทปบันทึกเสียงและบังคับให้เธอพูดตามเสียงในเทปเพื่อให้การตามเสียงนอกจากนั้นในเทปดังกล่าวผู้พูดเรีกยตัวเองว่าเดียร์ ทั้งที่ตัวเธอเองมีชื่อเล่นว่าน้อย

ส่วนกรณีของณัฎฐธิดาเบิกความว่าตนถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับกุมตัวไปค่ายทหาร โดยระหว่างการสอบสวนเจ้าหน้าที่มีการบอกว่าต้องการให้เธอออกจากการเป็นพยานในคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม(ในเหตุการณ์ทหารเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช.เมื่อ 19 พ.ค.2553) ในกรณีของวสุก็เบิกความว่าตนถูกทำร้ายร่างกายและถูกบอกว่าจะมีการดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ตามมา

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่าฝ่ายโจทก์มีเพียงพยานบอกเล่าคือพล.ต.วิจารณ์ และพล.ต.ต.สุรศักดิ์ ที่ร่วมกันสอบสวนจำเลย รวมถึงบันทึกคำให้การของจำเลยที่ซัดทอดกันเองระหว่างที่อยู่ในการควบคุมตัวของทหาร อีกทั้งยังไม่มีหลักฐานว่าการโอนเงินระหว่างกันของจำเลยที่เกิดขึ้นจริงนั้นไปเกี่ยวข้องกับการจ้างวานก่อเหตุระเบิดอย่างไรตามที่พวกเขาถูกกล่าวหา

นอกจากนั้นฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้นำพยานที่เกี่ยวข้องกับการตรวจยึดลูกระเบิด RGD5 ของกลางในคดีมาแสดงตัวที่ศาลเพื่อให้ฝ่ายจำเลยได้ซักค้านอีกด้วย ด้วยเหตุดังกล่าวจึงต้องรับฟังพยานหลักฐานของโจทก์อย่างระมัดระวัง

ศาลเห็นว่าหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยแก่จำเลยพิพากษายกฟ้อง ยกเว้นที่สุรพลรับสารภาพในส่วนข้อหาอั้งยี่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี รับสารภาพให้ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี ทั้งนี้สุรพลซึ่งถูกคุมขังมาแล้ว 7 ปี จึงจะได้รับการปล่อยตัวเช่นเดียวกับสุภาพร

ณัฎฐธิดาให้สัมภาษณ์หลังการพิพากษาว่า เธออาจจะอุทธรณ์คดีต่อเนื่องจากเห็นว่าศาล ทำให้ไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากการที่เธอต้องถูกคุมขังในเรือนจำอยู่เป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน ก่อนที่จะได้ประกันตัวออกมาและสุดท้ายคดีที่ใช้หลักฐานจากการสอบสวนในค่ายทหารทั้งสองคดีของเธออย่างในคดีนี้และคดีม.112 ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้องทั้งสองคดีไปแล้ว แต่ศาลพิพากษายกฟ้องทั้งสองคดีด้วยมาตรา 272 วรรค2 คือการยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นแก่จำเลยทำให้ไม่สามารถเรียกร้องค่าชดเชยจากการถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีไม่ได้

ณัฎฐธิดายังกล่าวต่ออีกว่าสำหรับในส่วนของคดีนี้ ตัวเธอยืนยันว่าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีแล้วก็ให้การปฏิเสธมาตลอดตั้งแต่ตอนที่ทหารจับกุม ส่วนการโอนเงินมาเข้าบัญชีของเธอนั้นเป็นเงินที่ยืมจากสุรพลแล้วภรรยาของเขาก็เป็นคนมาให้เพื่อจ่ายค่าเช่าบ้านพอเขาโอนมาให้ก็ไปกดเงินจากตู้ที่คอนโดไปจ่ายที่อีกตึก แล้วการสอบสวนก็เกิดขึ้นในค่ายทหารที่ฝ่ายทหารก็ตั้งคำถามชี้นำถ้าไม่ตอบตามที่เขาต้องการก็ถูกทำร้ายทำอนาจาร ระหว่างสอบสวนก็มีการปิดตาเอาไว้ตลอดทำให้ได้ยินแต่เสียงของเจ้าหน้าที่ จนวันท้ายๆ ของการควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ก็มาบอกให้เธอถอนตัวออกจากการเป็นพยาน 6 ศพวัดปทุมฯ

อย่างไรก็ตาม คงต้องรอคัดถ่ายคำพิพากษาฉบับเต็มมาเพื่อดูรายละเอียดของคำพิพากษาทั้งหมดก่อนเพื่อดูว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อไปอย่างไร

วิญญัติ ชาติมนตรี หนึ่งในทีมทนายความจำเลยในคดีนี้ให้สัมภาษณ์ว่าคดีนี้เป็นคดีภาคต่อของคดีที่มีจำเลย 14 คนถูกฟ้องว่าร่วมกันปาระเบิดที่ศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อ 7 มี.ค.2558 ที่ฟ้องไปก่อนหน้าคดีนี้แต่ยังอยู่ระหว่างการสืบพยานในศาล

ทนายความกล่าวต่อว่าส่วนคดีนี้ในทางนำสืบคดีนี้ฝ่ายจำเลยก็ยืนยันว่าพวกเขาถูกทำร้ายร่างกายระหว่างสอบสวนในค่ายทหาร แต่ศาลก็มองว่าฝ่ายโจทก์เองมีพยานบอกเล่าคือพล.อ.วิจารณ์ กับพล.ต.ต.สุรศักดิ์เท่านั้นโดยไม่มีประจักษ์พยานแล้วมีใช้คำให้การจากการซักถามจำเลยที่ซัดทอดถึงกันเท่านั้นแล้วเงินที่มีการโอนกันก็ไม่หลักฐานชัดเจนถึงวัตถุประสงค์ในการโอนเงินว่ามีการนำมาใช้กระทำความผิดจริงศาลจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยทั้งหมดในข้อหาก่อการร้ายและมีอาวุธยุทธภัณฑ์

วิญญัติกล่าวถึงกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาสุรพลที่เป็นจำเลยที่ 4 ในคดีว่าที่เขารับสารภาพในข้อหาอั้งยี่เพราะสุรพล เห็นว่าเขาถูกจำคุกมาหลายปีแล้วตามอัตราโทษของข้อหาอั้งยี่พอสมควรเขาจึงเลือกรับสารภาพ ทำให้ศาลพิพากษาตามคำรับสารภาพ

ส่วนกรณีของระเบิด RGD-5 ที่เจ้าหน้าที่ยึดได้จากบ้านของสุภาพรนั้น วิญญัติระบุว่าหลักฐานในทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ได้ทราบจากการสืบพยานก็พบว่าระเบิดลูกดังกล่าวไม่มีสภาพที่จะระเบิดได้แล้วเพราะไม่มีชนวนระเบิด แล้วพยานที่เกี่ยวข้องกับการเข้าตรวจนึดระเบิดก็ไม่มาเบิกความเลยแล้วพล.ต.วิจารณ์และพล.ต.ต.สุรศักดิ์ก็ไม่ได้เป็นประจักษ์พยานที่เข้าร่วมการตรวจยึดด้วย

วิญญัติแสดงความเห็นถึงประเด็นที่มีการใช้พยานหลักฐานและคำให้การของจำเลยที่เกิดขึ้นระหว่างการสอบสวนในค่ายทหารว่าในฐานะที่เป็นทนายจำเลย เรื่องนี้เป็นเรื่องไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมจากเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องในคดีนี้หรือคดีอื่นก็ตามที่มีลักษณะทำนองนี้ และคดีนี้ยังถูกแยกฟ้องมาจากอีกคดีทำให้จำเลยต้องยื่นขอประกันตัวใน 2 คดีแล้วถ้ามีคดีหนึ่งที่ศาลไม่ให้ประกันตัวก็ต้องติดคุก

“การทำแบบนี้อาจจะเกิดปัญหาในข้อกฎหมายไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำในอนาคต” วิญญัติกล่าว

ทนายความยังแสดงความเห็นต่อไปว่าอีกเรื่องที่เห็นว่าไม่เป็นธรรมก็คือ เจ้าหน้ารัฐใช้อำนาจหน้าที่ของตนแบบนี้แล้วไม่มีการกลั่นกรองจากอัยการของรัฐไม่ว่าจะเป็นอัยการทหารหรืออัยการรัฐ

“ผมถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น จะมองว่าเป็นการสมรู้ร่วมคิดกัน หรือจะเป็นการละเลยปล่อยปละต่อหน้าที่หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่อง ผมเห็นว่ารัฐไม่ควรจะทำแบบนี้ โดยเฉพาะในคดีที่อ้างว่าเป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงหรือกระทำความผิดต่อผู้นำ การจะใช้มาตรา 116 หรือ 112 ข้อหาอะไรก็ดีที่เป็นความผิดเกี่ยวกับรัฐ รัฐมักจะใช้วิธีการแบบนี้ พยานหลักฐานที่อ้างมาในช่วงหลายปีที่ผ่านมาตั้งแต่มี คสช.เข้ามามักจะใช้กระบวนการซักถามหรือที่ชาวบ้านเรียกว่ารีดข้อมูลในค่ายทหาร กระบวนการเช่นนี้เรามักจะเห็นว่าเกิดจากความไม่สมัครใจของผู้ต้องหาแล้วกระบวนการได้มาของหลักฐานที่ดูแล้วก็ไม่เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น”

สุดท้ายเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจากที่ศาลในคดีนี้มีคำพิพากษายกฟ้องในคดีนี้จะกระทบต่อการพิจารณาอีกคดีที่เป็นคดีเหตุปาระเบิดที่มีจำเลย 14 คนด้วยหรือไม่ วิญญัติตอบว่าอาจจะมีผลในส่วนของการรับฟังพยานหลักฐานและข้อเท็จจริงที่ค่อนข้างชัดเพราะคดีเหตุปาระเบิดก็ไม่ต่างจากคดีนี้ แต่คดีนั้นมีสองคนที่ยืนยันว่าเป็นคนก่อเหตุก็รับสารภาพไป แต่คนอื่นๆ ที่เจ้าหน้าที่จับกุมมาแล้วกล่าวหาว่าเป็นผู้ร่วมขบวนการเขาก็ไม่ได้รู้จักกันมาก่อนแล้วพยานหลักฐานที่ได้สืบกันในศาลไปบ้างแล้ว ก็เชื่อว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม

คดีตั้งแต่ยุค คสช.

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2558 มีเหตุการณ์ปาระเบิดที่บริเวณลานจอดรถศาลอาญา เจ้าหน้าที่ทหารจับกุมจำเลยในที่เกิดเหตุจำนวน 2 คน ได้แก่ มหาหิน ขุนทอง และ ยุทธนา เย็นภิญโญ ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้จับกุมและดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอีก 14 คน ณัฏฐพัชร์ อ่อนมิ่ง, ธัชพรรณ ปกครอง, วิชัย อยู่สุข, นรภัทร เหลือผล, สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน, ชาญวิทย์ จริยานุกูล, สุภาพร มิตรอารักษ์, วาสนา บุษดี, ณเรศ อินทรโสภา, วสุ เอี่ยมละออ, เจษฎาพงษ์ วัฒนพรชัยสิริ, และสมชัย อภินันท์ถาวร และมีการขยายผลจับกุมณัฐฏธิดา มีวังปลาและสุรพล เอี่ยมสุวรรณ์ เพิ่มตามมาอีกในภายหลัง

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในขณะที่ประเทศยังอยู่ภายใต้การปกครองโดยคณะรัฐประหาร คสช.และมีการใช้กฎอัยการศึกทำให้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถทำการสอบสวนบุคคลที่ถูกสงสัยในค่ายทหารเป็นเวลา 7 วันและจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ทำให้คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงถูกนำไปพิจารณาพิพากษาในศาลทหาร

จากเหตุการณ์ปาระเบิดศาลอาญา รัชดาฯ นอกจากจำเลยที่ศาลมีคำพิพากษาในวันนี้แล้วยังมี กรณีของสรรเสริญเป็นกรณีที่ปรากฏร่องรอยบาดแผลเป็นหลักฐานโดยในวันที่ 16 มี.ค.2558 ซึ่งครบกำหนด 7 วันที่ทหารจะสามารถคุมตัวเขาในค่ายทหารได้ เจ้าหน้าที่นำตัวสรรเสริญที่ถูกคุมตัวในกรมสารวัตรทหารไปขออำนาจศาลฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพ สรรเสริญได้เปิดภาพรอยฟกช้ำตามตัวให้ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนถ่ายภาพไว้ได้

ภาพรอยฟกช้ำบนร่างกายของสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน

คดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ถูกแยกเป็น 2 คดี คดีแรกคือคดีก่อเหตุปาระเบิดศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อ 7 มี.ค.2558 มีผู้ต้องหา 14 คน มหาหิน ขุนทอง และ ยุทธนา เย็นภิญโญ ที่ถูกกุมจับได้ทันทีจากที่เกิดเหตุ และส่วนที่เหลืออีก 12 คนถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด คือณัฏฐพัชร์, ธัชพรรณ, วิชัย, นรภัทร, สรรเสริญ, ชาญวิทย์, สุภาพร, วาสนา, ณเรศ, วสุ, เจษฎาพงษ์ และสมชัย

ทั้งนี้มี 4 คนจากคดีแรกได้แก่ สุภาพร, วาสนา, วสุ และสมชัย ถูกแยกฟ้องแตกมาอีกคดีโดยมีอีกสองคนคือ ณัฐฏธิดาและสุรพล ถูกฟ้องร่วมเข้ามาด้วยโดยพวกเขาทั้ง 6 คนถูกกล่าวหาว่าร่วมกันวางแผนตระเตรียมก่อการร้ายโดยจ้างวานวิเชียร ชะลอยรัมย์ให้ไปปาระเบิดสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพ 5 แห่งซึ่งเป็นคดีที่ศาลยกฟ้องในคดีนี้

ศาลยกฟ้อง "แหวน พยาบาลอาสา" คดีม.112 จากแชทไลน์ เหตุพยานหลักฐานไม่มีน้ำหนัก

แต่นอกจากคดีที่เกี่ยวกับเหตุระเบิดนี้แล้วณัฐฏธิดายังถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการใช้พยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนในค่ายทหาร แต่ศาลก็ยกฟ้องเช่นกัน

ณัฏฐธิดาให้สัมภาษณ์หลังศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาคดีม.112 ของเธอว่า ศาลให้เหตุผลว่าพยานหลักฐานในคดีมีน้ำหนักไม่เพียงพอเนื่องจากมีเพียงภาพข้อความจากแอพพลิเคชั่นไลน์เพียง 1 แผ่นเท่านั้นจากการตรวจพิสูจน์หลักฐานไม่สามารถยืนยันที่มาของหลักฐานว่าได้มาอย่างไร ไม่มีมูลเหตุของหลักฐานอยู่ในโทรศัพท์มือถือ อีกทั้งหลักฐานที่ทหารเอามากล่าวหาว่าเธอเป็นคนแชทในกลุ่มไลน์ก็ไม่มีหลักฐาน และพยานบุคคลที่มาให้การในฐานะที่เป็นคู่คดีด้วยก็ให้การว่าไม่ได้รู้จักกับเธอและไม่ได้เป็นคนพิมพ์ข้อความด้วย

ทำให้จากเหตุการณ์ระเบิดที่ศาลอาญา รัชดาฯ ครั้งนั้นมีคดีที่แตกออกมาจากการการควบคุมตัวคนเข้าค่ายทหารครั้งนั้นมีคดีที่ต่อเนื่องออกมาถึง 3 คดี และศาลได้ยกฟ้องแล้ว 2 คดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท