Skip to main content
sharethis

ศาลลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจำเลย 2 คนผู้ก่อเหตุปาระเบิดศาลอาญาเมื่อ 7 มี.ค.58 แต่สารภาพเหลือ 34 ปี 4 เดือน แต่จำเลยอีก 12 คนศาลยกฟ้องเหตุฝ่ายโจทก์มีแต่ "วิจารณ์ จดแตง" อดีตฝ่ายกฎหมาย คสช.กับคำซัดทอดกันเองไม่มีหลักฐานอื่นไม่น่าเชื่อถือ แต่ "สุภาพร" โดนคดีที่สามเหตุถูกค้นเจอระเบิดที่บ้านหลังโดนจับไปแล้วแต่ผ่านมา 7 ปีไม่มีการดำเนินการ

17 มิ.ย.2565 ที่ศาลอาญา รัชดาภิเษก มีนัดฟังคำพิพากษาคดีระเบิดศาลอาญาเมื่อปี 2558 ที่อัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในคดีทั้ง 14 คน ข้อหาใช้ระเบิดพยายามฆ่า ร่วมกันก่อการร้าย และข้อหาอื่นๆ ซึ่งเดิมเคยเป็นคดีในศาลทหารก่อนจะย้ายมาศาลยุติธรรมหลัง คสช.จะมีคำสั่งยกเลิกการใช้ศาลทหารพิจารณาคดีพลเรือนในช่วงก่อนเลือกตั้งปี 2562

จำเลยในคดีนี้ทั้ง 14 คน ได้แก่มหาหิน ขุนทอง ,ยุทธนา เย็นภิญโญ, ณัฏฐพัชร์ อ่อนมิ่ง, ธัชพรรณ ปกครอง, วิชัย อยู่สุข, นรภัทร เหลือผล, สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน, ชาญวิทย์ จริยานุกูล, สุภาพร มิตรอารักษ์, วาสนา บุษดี, ณเรศ อินทรโสภา, วสุ เอี่ยมละออ, เจษฎาพงษ์ วัฒนพรชัยสิริ และสมชัย อภินันท์ถาวร

เวลาประมาณ 15.00 น. ผู้พิพากษาเริ่มอ่านคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่าตามที่อัยการฟ้องจำเลยทั้ง 14 คน ในหลายข้อหาได้แก่ อั้งยี่, ร่วมกันก่อการร้าย, ร่วมกันมียุทธภัณฑ์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต, ร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของผู้อื่น, ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์, ร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต, ร่วมกันมีเครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนกฎหมาย, และใช้เครื่องกระสุนปืนที่นายทะเบียน ไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ในการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น, ร่วมกันพาอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนติดตัวไปในทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและโดยไม่มีเหตุสมควร, ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่, พยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ และ ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง

ส่วนเหตุแห่งคดีนี้มาจากช่วงกลางคืนเมื่อวันที่ 7 มี.ค.2558 มีผู้ก่อเหตุปาระเบิดเข้าไปในพื้นที่ลานจอดรถด้านหน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ทหารสามารถจับกุมผู้ก่อเหตุได้ 2 คน คือ มหาหิน และยุทธนา จำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับจากนั้นมีการติดตามจับกุมจำเลยที่เหลือเพิ่มอีก 12 คน ทั้งนี้มีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าจำเลยทั้งหมดได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

ศาลระบุว่า สำหรับมหาหินและยุทธนาที่รับสารภาพว่าได้ก่อเหตุปาระเบิดที่ศาลอาญาแล้วแต่ปฏิเสธว่าไม่ได้พยายามฆ่าและขณะก่อเหตุไม่พบว่ามีคนอยู่ในบริเวณที่พวกตนปาระเบิด ทั้งนี้ฝ่ายโจทก์มีพยานเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเบิกความว่าปฏิบัติหน้าที่บริเวณใกล้ที่เกิดเหตุแม้ไม่ได้รับบาดเจ็บแต่เมื่อเกิดเหตุแล้วได้เห็นว่าบริเวณป้อมยามและแท่งปูนเกิดความเสียหาย และยังมีพยานพ.ต.อ.กำธร อุ่ยเจริญ ผู้กำกับการกลุ่มงานเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิดที่เบิกความว่าจากการตรวจสอบพบว่าระเบิดที่ใช้เป็นชนิด RGD-5 มีรัศมีระเบิดหวังผลที่ 15 เมตร ซึ่งเล็งเห็นผลได้ว่าจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตและทำให้ทรัพย์สินเสียหายได้ ศาลจึงเห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ทำความผิดจริง

ส่วนข้อหาร่วมกันก่อการร้าย ศาลเห็นว่าจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้แม้ว่าจะเป็นการปาระเบิดใส่ศาลอาญาและเกิดจากความไม่พอใจรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ แต่จากเหตุดังกล่าวไม่ได้มีผู้เสียชีวิตศาลยกฟ้อง

อย่างไรก็ตามสำหรับข้อหาที่มหาหินและยุทธนาถูกกล่าวหาว่าใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ทหารที่กำลังปฏิบัติหน้าที่นั้น ฝ่ายโจทก์มีเจ้าหน้าที่ทหารชุดจับกุม 2 นาย คือปรเมศว์ และเชารัตน์ โดยปรเมศว์ทั้งสองคนเบิกความว่าได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่าจะมีผู้มาก่อเหตุระเบิดที่ศาลอาญาและให้มาเฝ้าระวังในที่เกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุทั้งสองคนได้ยินเสียงระเบิดจึงได้ขับรถติดตามผู้ก่อเหตุและบอกให้หยุด ปรเมศว์เบิกความขณะพยายามจับกุมฝ่ายผู้ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงตอบโต้พวกเขาจึงยิงใส่ผู้ก่อเหตุไปคนละสองนัดทำให้ยุทธนาได้รับบาดเจ็บที่ขา ส่วนมหาหินวิ่งหนีไปทางสำนักงานอัยการสูงสุดระหว่างนี้พวกตนบอกให้หยุดและมีการยิงปืนขึ้นฟ้าหลายนัดระหว่างวิ่งตามจับกุม จนกระทั่งจับมหาหินได้

ทั้งนี้ศาลเห็นว่าฝ่ายโจทก์มีเพียงปรเมศว์ที่เป็นพยานเบิกความว่าจำเลยยิงตอบโต้ แต่เชาวรัตน์เบิกความเพียงว่าขณะที่ตัวเองหลบอยู่ที่รถได้ยินแต่เสียงปืนแต่ไม่ทราบว่ามาจากทิศทางใด อีกทั้งพยานคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของสำนักงานอัยการสูงสุดและพยานประชาชนที่อยู่ใกล้กับบริเวณที่เกิดเหตุก็ไม่มีคนใดที่เห็นเหตุการณ์ที่จำเลยทั้งสองมีการยิงต่อสู้ อีกทั้งอาวุธปืนที่พยานทหารทั้งสองคนส่งตรวจก็เป็นปืนของตัวเองโดยไม่มีปืนที่อ้างว่าจำเลยใช้ยิงตอบโต้ เมื่อฝ่ายโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าจำเลยทั้งสองคนได้กระทำตามที่ถูกกล่าวหาจึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ยกฟ้อง

ส่วนจำเลยที่เหลือที่ถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันก่อเหตุระเบิด ศาลเห็นว่าตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83 ผู้ร่วมกระทำความผิดจะต้องให้ความช่วยเหลือเพื่อให้เกิดความสะดวกในการก่อเหตุหรือช่วยเหลือในการหลบหนี ทั้งนี้ฝ่ายโจทก์ไม่ได้มีพยานหลักฐานยืนยันว่าจำเลยที่เหลืออยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุให้ความช่วยเหลือมหาหินและยุทธนาในการก่อเหตุ

ทั้งนี้อัยการได้ฟ้องจำเลยที่เหลืออีก 12 คนว่าเป็นตัวการให้มหาหินและยุทธนาไปก่อเหตุนั้น ฝ่ายโจทก์มี พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ฝ่ายกฎหมายของ คสช.เป็นผู้กล่าวหาในคดีนี้มาเบิกความว่าได้ซักถามจำเลยทั้งหมดได้ความว่ามีการรับเงินว่าจ้างมาจากมนูญ ชัยชนะ หรือเอนก ซานฟราน องค์กรภาคีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนสั่งการ และมีการประชุมวางแผนกันที่ขอนแก่น และยังมีการติดต่อกันผ่านทางไลน์เกี่ยวกับแผนการก่อเหตุระเบิด 100 จุดในกรุงเทพ อีกทั้งยังมีหลักฐานการโอนเงินระหว่างกันของจำเลย อีกทั้งยังมีพล.ต.ต.สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ที่ในขณะนั้นมีตำแหน่งเป็นรองผู้บังคับการสอบสวน กองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ร่วมกันสอบสวนจำเลย

สำหรับสุภาพร, วาสนา, วสุ และสมชัย ถูกฟ้องในคดีหมายแดง โดยพวกเขาถูกกล่าวหาว่าร่วมกันจ้างวานให้จำเลยในคดีนี้ไปก่อเหตุปาระเบิด แต่คดีดังกล่าวศาลอื่นได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คนแล้วแม้ว่าจะยังอยู่ระหว่างรอการอุทธรณ์คดีก็ตาม แต่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ที่คุ้มครองสิทธิไม่ให้เกิดการฟ้องซ้ำจากเหตุการกระทำความผิดเดียวกัน ศาลจึงเห็นว่าคดีนี้เป็นการฟ้องซ้ำจากเหตุแห่งการกระทำเดียวกัน ศาลจึงยกฟ้องจำเลยทั้ง 4

อย่างไรก็ตามฝ่ายโจทก์มีเพียงคำให้การของพล.ต.วิจารณ์ จดแตง และ อีกทั้งหลักฐานการโอนเงินระหว่างกันของจำเลยก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเงินที่มีการโอนหากันนั้นถูกนำไปใช้เพื่อก่อเหตุระเบิดจริง ส่วนคำให้การในคดีก็เป็นเพียงการให้การซัดทอดกันระหว่างจำเลย ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 277/1 กำหนดให้ต้องรับฟังพยานหลักฐานอย่างระมัดระวัง และการพิพากษาลงโทษจะต้องแน่ใจว่าจำเลยได้กระทำความผิดจริง ศาลจึงให้ยกฟ้องจำเลยที่เหลือทั้งหมด

ศาลจึงพิพากษาว่ามหาหินและยุทธนาได้กระทำความผิดหลายกรรมผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษบทที่หนักที่สุดคือก่อเหตุระเบิดซึ่งอาจอันตรายแก่ชีวิตและทรัพย์สินให้จำคุกตลอดชีวิต และครอบครองยุทธภัณฑ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุกคนละ 2ปี ทั้งนี้จำเลยให้การเป็นประโยชน์ให้จำคุกข้อหาก่อระเบิด 33 ปี 4 เดือน ส่วนข้อหาครอบครองยุทธภัณฑ์เหลือ 1 ปี รวมเป็นโทษจำคุก 34 ปี 4 เดือน ข้อหาอื่นยกฟ้อง และจำเลยที่เหลือให้ยกฟ้อง

คดีจบแต่ยังมีเพิ่ม

ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาแล้ว ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแจ้งว่าสำหรับสุภาพรยังมีคดีระเบิดในครอบครองหนึ่งลูกที่ทางพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเตรียมอายัดตัวหลังปล่อยตัวในวันนี้ ซึ่งคาดว่าทางเจ้าหน้าที่จะนำตัวมาขออำนาจศาลฝากขังในวันพรุ่งนี้

20.50 น. ทางศูนย์ทนายความฯ แจ้งว่าทางกองปราบฯ ได้อายัดตัวสุภาพรไปที่กองปราบฯ แล้ว ทางทนายความจะยื่นขอประกันตัวที่ศาลในวันพรุ่งนี้

ทั้งนี้คดีครอบครองวัตถุระเบิดที่สุภาพรเพิ่งถูกอายัดตัวนี้ ทางเจ้าหน้าที่ทำการตรวจค้นบ้านพักของเธอภายหลังจากเธอถูกจับกุมไปแล้วตั้งแต่เมื่อ 7 ปีก่อน ทำให้ ณ ปัจจุบัน สุภาพรถูกดำเนินคดีรวมแล้วทั้งหมด 3 คดีจากเหตุสืบเนื่องต่อกัน

22.00 น. ภาวิณี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าขณะนี้ทางตำรวจกำลังตรวจสอบว่าคดีนี้เป็นคดีเดียวกับที่ศาลมีคำพิพากษาวันนี้หรือไม่

ซ้อมในค่ายทหาร

คดีนี้สืบเนื่องจากเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2558 มีเหตุการณ์ปาระเบิดที่บริเวณลานจอดรถศาลอาญา เจ้าหน้าที่ทหารจับกุมจำเลยในที่เกิดเหตุจำนวน 2 คน ได้แก่ มหาหิน ขุนทอง และ ยุทธนา เย็นภิญโญ ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้จับกุมและดำเนินคดีผู้ต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องอีก 14 คน ณัฏฐพัชร์ อ่อนมิ่ง, ธัชพรรณ ปกครอง, วิชัย อยู่สุข, นรภัทร เหลือผล, สรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน, ชาญวิทย์ จริยานุกูล, สุภาพร มิตรอารักษ์, วาสนา บุษดี, ณเรศ อินทรโสภา, วสุ เอี่ยมละออ, เจษฎาพงษ์ วัฒนพรชัยสิริ, และสมชัย อภินันท์ถาวร และมีการขยายผลจับกุมณัฐฏธิดา มีวังปลาและสุรพล เอี่ยมสุวรรณ์ เพิ่มตามมาอีกในภายหลัง

ทั้งนี้จำเลยในคดีนี้มีการร้องเรียนและเบิกความในศาลพวกตนถูกบังคับสารภาพให้สารภาพด้วยวิธีการต่างๆ เช่นข่มขู่ทำร้ายคนในครอบครัว ขู่เอาชีวิตด้วยการเอาปืนจ่อ หรือการใช้กำลังซ้อมทรมานระหว่างกระบวนการซักถามของเจ้าหน้าที่ในค่ายทหาร ซึ่งในกรณีของสรรเสริญยังปรากฏหลักฐานเป็นรอยบาดแผลที่ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามไปพบตัวที่ศาลทหารกรุงเทพได้ถ่ายภาพรอยบาดแผลเอาไว้ได้ ซึ่งสรรเสริญระบุว่ามีการใช้เครื่องช็อตไฟฟ้าด้วย 

ภาพรอยฟกช้ำบนร่างกายของสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน

คดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ถูกแยกเป็น 2 คดี คดีแรกคือคดีที่ศาลมีคำพิพากษาในวันนี้เป็นคดีก่อเหตุปาระเบิดศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อ 7 มี.ค.2558 มีผู้ต้องหา 14 คน มหาหิน ขุนทอง และ ยุทธนา เย็นภิญโญ ที่ถูกกุมจับได้ทันทีจากที่เกิดเหตุ และส่วนที่เหลืออีก 12 คนถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด คือณัฏฐพัชร์, ธัชพรรณ, วิชัย, นรภัทร, สรรเสริญ, ชาญวิทย์, สุภาพร, วาสนา, ณเรศ, วสุ, เจษฎาพงษ์ และสมชัย

ศาลยกฟ้องคดีจ้างวานปาระเบิดศาลอาญา รัชดาฯ เมื่อปี 58 คดีไม่มีประจักษ์พยาน

ทั้งนี้มี 4 คนจากคดีแรกได้แก่ สุภาพร, วาสนา, วสุ และสมชัย ถูกแยกฟ้องแตกมาอีกคดีโดยมีอีกสองคนคือ ณัฐฏธิดา มีวังปลาและสุรพล เอี่ยมสุวรรณถูกฟ้องร่วมเข้ามาด้วยโดยพวกเขาทั้ง 6 คนถูกกล่าวหาว่าร่วมกันวางแผนตระเตรียมก่อการร้ายโดยจ้างวานวิเชียร ชะลอยรัมย์ให้ไปปาระเบิดสถานที่ต่างๆ ในกรุงเทพ 5 แห่งซึ่งเป็นคดีที่ศาลยกฟ้องไปเมื่อ 24 มี.ค.2565

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net