Skip to main content
sharethis

กลุ่มนักเรียนนิรนามจังหวัดลำพูน แขวนป้ายผ้าในวันปัจฉิมนิเทศมีข้อความ "ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง", "เคารพและยอมรับในสิทธิ" และ "ที่ใดมีการกดขี่ ที่นั่นมีการต่อต้าน" ก่อนยื่นหนังสือถึงโรงเรียนให้แก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิของนักเรียนภายในโรงเรียน

1 เม.ย. 2565 เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กเพจ “ลำพูนปลดแอก” รายงานว่า มีกลุ่มนักเรียนนิรนามที่ต่อสู้เรื่องสิทธิในสถานศึกษา จังหวัดลำพูน ทำกิจกรรมวันปัจฉิมนิเทศแขวนป้ายผ้า มีข้อความยินดีกับนักเรียนที่จบการศึกษ พร้อมทั้งแขวนป้ายเรียกร้องสิทธิมีข้อความ ดังนี้

"ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง"

"เคารพและยอมรับในสิทธิ"

"ที่ใดมีการกดขี่ที่นั่นมีการต่อต้าน"

 

ก่อนที่นักเรียนกลุ่มดังกล่าวจะยื่นหนังสือถึงทางโรงเรียน เพื่อกดดันให้แก้ไขปัญหาเรื่องสิทธิของนักเรียนภายในโรงเรียน ดังนี้

1. จากปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 3 "ทุกคนมีสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพ และความมั่นคงแห่งบุคคล" รัฐธรรมนูญมาตรา 28 "บุคคลย่อมมีสิทธิ์และเสรีภาพในชีวิตและร่างกายการกระทำใดอันกระทบกระเทือนต่อสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิตหรือร่างกายจะกระทำมิได้เว้นแต่มีเหตุกฎหมายบัญญัติ" และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 28 (2) "ระเบียบวินัยภายในโรงเรียนต้องไม่ขัดต่อสิทธิของเด็กและปราศจากความรุนแรง"

กฎระเบียบของทางโรงเรียนที่ไร้มาตราฐานในการตรวจวัดนั้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างนักเรียน เกณฑ์การประเมินของครูแต่ละคนแตกต่างกัน และช่องว่างของกฎระเบียบบางข้อละเมิดสิทธิของผู้เรียน จึงเรียนให้โรงเรียนปรับกฎระเบียบใหม่ที่มีมาตราฐาน และต้องรองรับด้วยการไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

2. พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กปี พ.ศ. 2546 มาตรา 26 "ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก" และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้อ 19 "รัฐต้องให้ความคุ้มครองเด็กจากความรุนแรง การถูกละเมิด และการละเลย จากผู้ให้การดูแล" จึงเสนอให้โรงเรียนตรวจสอบและพิจารณาการกระทำไม่พึงประสงค์ของครูบางคนที่คุกคามทางเพศเด็กนักเรียน หรือละเมิดสิทธิทางด้านร่างกายและจิตใจ การใช้วาจาส่อเสียด ดูหมิ่น ลดทอนคุณค่าของความเป็นมนุษย์

3. “การบังคับขู่เข็ญ หรือใช้อำนาจที่เหนือกว่าบงการให้คล้อยตาม หรือทำให้หลงเชื่อให้กระทำการใดๆ กับร่างกายของเราโดยที่เราไม่ยอมหรือฝืนใจ ย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย” จึงให้ตรวจสอบและยุติระบบโซตัสและอำนาจนิยมจากทุกกลุ่มภายในโรงเรียน บางกลุ่มหรือชุมนุมครูเป็นส่วนหนึ่งของระบบโซตัสและระบอบอำนาจนิยม มีแนวคิดระบบชนชั้นวรรณะ ซึ่งเป็นการลดทอนค่าความเป็นมนุษย์ มองคนไม่เท่ากัน

4.จากรัฐธรรมนูญมาตรา 44 "บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้" ให้สอดส่องพร้อมรับฟังกล่องแดงที่นักเรียนเขียนเรียกร้องให้แก้ไขปรับปรุง เพื่อผลประโยชน์ของทางโรงเรียนเอง เนื่องจากผู้ที่รับทราบปัญหามากที่สุดคือผู้ที่อาศัยในสถานศึกษาแห่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net