Skip to main content
sharethis

กกต.กทม.เผยมีผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.แล้ว 27 คน ส.ก. 359 คน - นักวิชาการแนะจับตา 6 แสนเสียงเจน X-Y ตัวแปรโหวต

3 เม.ย. 2565 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งกรุงเทพมหานคร (กกต.กทม.) เปิดรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร ( ส.ก.) วันนี้ (3 เม.ย.) เป็นวันที่ 4 โดยวานนี้มีผู้มาสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. เพิ่ม 2 คน ทำให้มีผู้สมัครรวม 27 คน ขณะที่มีผู้มาสมัครรับเลือกตั้ง ส.ก. เพิ่มอีก 3 เขต คือ เขตบางรัก 1 คน เขตบางเขน 1 คน และ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 1 คน รวมผู้สมัครทั้งสิ้น 359 คน

ทั้งนี้การเปิดรับสมัครจะมีไปจนถึงวันพรุ่งนี้ โดยไม่เว้นวันหยุดราชการ ตั้งแต่เวลา 08.30 น.-16.30 น. ที่ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 เขตดินแดง

นักวิชาการแนะจับตา 6 แสนเสียงเจน X-Y ตัวแปรโหวต

มติชนออนไลน์ รายงานว่ารศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่อยู่ในช่วงผู้สมัครหาเสียง และจะมีการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. 2565 นี้ว่าการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในครั้งนี้แต่ต่างจากการเลือกตั้งก่อนหน้านี้พอสมควร แต่การเลือกตั้งแต่ละครั้งมีคาแร็กเตอร์เฉพาะเจาะจง และการเลือกตั้งในอดีตก็สำคัญไม่ต่างกัน ความแตกต่างที่สำคัญคือ คนรอคอยให้จัดเลือกตั้งมาก เพราะเป็นการเลือกตั้งที่เว้นถ่างมากที่สุดในยุคของการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. นับจากการมีรัฐธรรมนูญ 2540 คือ ว่างเว้นจากการเลือกตั้งถึง 9 ปี เชื่อว่าความคาดหวังที่คนรอคอยจะทำให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเยอะ โดยปกติคน กทม.ไม่ได้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมาก

“ความชัดเจนที่แตกต่างที่สุดในครั้งนี้คือ 1.การมีแคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. ที่มีโอกาสที่จะได้รับเลือกสูงหลายคน ถ้าย้อนกลับไปในการเลือกตั้งปี 2556 จะมีผู้สมัครที่แข่งกันหลักๆ คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร กับ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 2.จุดยืนทางการเมืองจะเข้ามามีผลต่อการตัดสินใจ แบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งเป็นพันธมิตรกับทหาร และฝั่งที่ไม่สนับสนุนทหาร 3.การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. พร้อมกับ ส.ก.ทำให้มีป้ายหาเสียงจำนวนมาก และเบอร์ของผู้สมัคร ส.ก. แตกต่างจากผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. อาจจะทำให้เกิดความสับสนกับประชาชน และ 4.การมีผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. อย่างนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ที่เตรียมตัวมาอย่างยาวนานหลายปี ทำให้เห็นความพร้อมและนโยบายอย่างชัดเจน แต่ไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร”

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า ส่วนความสำคัญของสนามผู้ว่าฯกทม. ต่อการเมืองสนามใหญ่จะเป็นอย่างไร มองว่าเป็นความสำคัญอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยฐานเสียงของนายชัชชาติมาจากพรรค พท. ขณะที่ฐานเสียงของ พล.ต.อ.อัศวิน จะมาจากพรรค พปชร. จะสามารถวัดกันได้เลยว่าฐานเสียงของ 4 พรรคใหญ่ คือ พท. พปชร. ประชาธิปัตย์ (ปชป.) และก้าวไกล (ก.ก.) ในพื้นที่ กทม.จะเป็นแบบใด และการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ยังเกิดขึ้นก่อนการเลือกตั้งใหญ่ไม่นาน จะเป็นตัวบ่งชี้ความนิยมของพรรคการเมืองในอนาคตได้

ส่วนการตัดสินใจของคน กทม. ท่ามกลางสถานการณ์การเมือง และวิกฤตโรคระบาดในครั้งนี้จะเป็นอย่างไรนั้น สามารถประเมินได้ยาก เพราะครั้งสุดท้ายที่คน กทม.ใช้สิทธิเลือกตั้งคือเมื่อปี 2562 ทำให้คนจำนวนหนึ่งช็อกที่ ปชป.ไม่ได้ ส.ส.กทม.แม้แต่คนเดียว ทั้งที่ครองสนามการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.มาโดยตลอด ส่วนประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย หรือ ปชป.จะพ่ายแพ้หลุดรุ่ยหรือไม่ ยังเป็นเพียงข้อสังเกตหนึ่ง อย่าลืมว่าการเลือกตั้งสนามใหญ่ครั้งที่แล้ว ปชป.ไม่ได้ ส.ส.แต่มีคะแนนเสียงใน กทม. 4 แสนเสียง

“ดิฉันเห็นคน กทม.ที่เป็นฝ่ายอนุรักษนิยมจะแบ่งออกเป็น กลุ่มคนที่เลือก พล.ต.อ.อัศวิน และนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ แต่ครั้งนี้จะเกิดตัวแปรคนรุ่นใหม่ หรือคนที่ใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรกที่มีประมาณ 6 แสนเสียง หรือ 32% ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในครั้งนี้ มีแนวโน้มจะเลือกผู้สมัครที่ไม่เป็นพันธมิตรกับทหาร และตัดสินใจด้วยความรอบคอบ ไม่ติดตามอารมณ์ ดังนั้น คน กทม.ซึ่งเป็นฝ่ายอนุรักษนิยม หรือคนยุคเบบี้บูมเมอร์ จะถูกท้าทายด้วยกลุ่มคนเจนเอ็กซ์และเจนวาย ที่สามารถเปลี่ยนภูมิทัศน์การตัดสินใจได้” รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

ผู้สมัคร สก.ก้าวไกล แนะนายกฯเลิกจุ้นชี้นำเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.-ส.ก. เชื่อ ประชาชนตัดสินใจได้ไม่ยาก

ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า น.ส.ดวงพร สุขุมพันพงศ์ ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตมีนบุรี พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงพื้นที่คลองโอ่งอ่างในวันเดียวกับที่มีการรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการให้สัมภาษณ์ในเชิงชี้นำว่า กรุงเทพมหานคร เป็นรูปแบบการปกครองพิเศษที่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้ปกครองในระดับท้องถิ่นด้วยตนเอง ฉะนั้น การที่ประชาชนจะเลือกใครมาเป็นผู้แทนเพื่อเข้ามาบริหารงานจึงเป็นเจตจำนงเสรีที่ผู้มีอำนาจไม่มีสิทธิจะไปชี้นำหรือทำให้เชื่อว่าควรจะเลือกใครมาทำหน้าที่ดังกล่าว โดยเฉพาะผู้นำรัฐบาลควรตระหนักได้ด้วยสามัญสำนึกว่า หลังมีประกาศจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะข้าราชการการเมือง และผู้มีส่วนได้เสียทางการเมือง ควรวางตัวเป็นกลาง และไม่กระทำการใดๆที่อาจทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการชี้นำการตัดสินใจของประชาชน เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งนี้มีบุคคลที่เกี่ยวข้องกับพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอดีตผู้ว่าฯ ที่แต่งตั้งโดยคำสั่ง คสช.ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นหัวหน้า ลงสมัครรับเลือกตั้งด้วย

น.ส.ดวงพร กล่าวต่อว่า การลงพื้นที่คลองโอ่งอ่างในวันที่มีการเปิดรับสมัครผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.วันแรก ทั้งที่ก่อนหน้านี้แทบไม่เคยเห็น พล.อ.ประยุทธ์ ลงพื้นที่เลย และการให้สัมภาษณ์หลังถูกสังคมตั้งข้อสงสัยในประเด็นดังกล่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวระหว่างการตอบคำถามบางช่วงบางตอนว่า ‘…ไม่อยากให้กรุงเทพฯ กลับไปที่เดิม ไร้ระเบียบรกรุงรัง ซึ่งมันดีขึ้นมาตั้งเยอะแล้วไม่ใช่หรือ ก็ทำกันต่อไป ใครจะทำก็ทำเถอะ ทำให้ได้จริงก็แล้วกัน…’ ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า มีความพยายามในการชี้นำการตัดสินใจของประชาชนในการเลือกตั้งผู้ว่าฯ และ ส.ก. ซึ่งอาจเข้าข่ายผิดกฎหมายเลือกตั้งที่ห้ามไม่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองช่วยผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. หาเสียง หรือปฏิบัติตนไม่เป็นกลาง

"อันที่จริง ไม่ได้ใส่ใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะช่วยใครหรือไม่ช่วยใครหาเสียง เพราะถึงช่วยจริงก็คงไม่มีอะไรดีขึ้น เนื่องจากประชาชนตัดสินใจได้ว่าที่ผ่านมาประเทศเป็นอย่างไร กทม.ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมันดีขึ้นหรือไม่ แต่สิ่งที่จะสื่อคือ ทุกคนควรแข่งขันกันบนพื้นฐานกติกาที่เป็นธรรมและเท่าเทียม กติกาห้ามว่าข้าราชการต้องวางตัวเป็นกลาง ต้องไม่แสดงออกว่าสนับสนุนผู้สมัครคนใด หรือให้การช่วยเหลือผู้สมัครคนใดคนหนึ่ง ก็ควรต้องเป็นแบบนั้น ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการประจำ ข้าราชการท้องถิ่น พนักงานของรัฐ หรือแม้กระทั่งข้าราชการการเมืองอย่างนายกรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นหากมีสามัญสำนึกก็คงจะทราบดีว่าต้องปฏิบัติตัวเช่นไรในห้วงเวลาที่มีการเลือกตั้ง ผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก.ขณะนี้"น.ส.ดวงพร กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net