Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ด้วยฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยยังคงโกหกใส่ร้ายป้ายสีการต่อสู้ของประชาชนผู้รักประชาธิปไตย (คนเสื้อแดง)ในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 มาจนปัจจุบัน

และยังคงจะโกหกใส่ร้ายป้ายสีอีกยาวนานต่อไปในอนาคต

ผมในฐานะที่มีบทบาทเป็นแกนนำคนหนึ่ง และอยู่ร่วมตั้งแต่วินาทีแรกจนวินาทีสุดท้าย จึงตั้งใจที่จะบันทึกเหตุการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด เพื่อเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์เอาไว้หักล้าง ตอบโต้ความเท็จทั้งหมดที่ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยสร้างขึ้น

สารบัญ
กล่าวนำ 
บทที่ 1.รากฐานของปัญหาและข้อเรียกร้อง   
บทที่ 2.การจัดเตรียมการเคลื่อนตัวและเวทีผ่านฟ้า   
บทที่ 3.การเคลื่อนตัวไปราบ11 การเจาะเลือดเทหน้าทำเนียบ หน้าพรรคประชาธิปัตย์และหน้าบ้านอภิสิทธิ์   
บทที่ 4.การแรลลี่รอบกทม.และปริมณฑล                  ฃ
บทที่ 5.การเชิญกองทหารออกจากวัด โรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัย และสนามม้านางเลิ้ง   
บทที่ 6.การเจรจากับรัฐบาลอภิสิทธิ์   
บทที่ 7.การตั้งเวทีที่ราชประสงค์ 
บทที่ 8.เหตุการณ์บุกรุกรัฐสภา   
บทที่ 9.การฆ่าคนเสื้อแดง 10 เมษา 2553 
บทที่ 10.กองกำลังติดอาวุธชายชุดดำ เรื่องจริง หรือเรื่องโกหกใส่ร้ายป้ายสีคนเสื้อแดง  
บทที่11.ทฤษฎีแก้วสามดวงของ เสธ.แดง ไม่ใช่ของ นปช. 
บทที่ 12.วาทกรรมลวงโลก “ขอคืนพื้นที่”   
บทที่ 13.ใช้กองทัพรถถังเพื่อกวาดล้างคนเสื้อแดงให้หมดจากเวทีผ่านฟ้าและอาณาบริเวณโดยรอบ 
บทที่ 14.โกหกคำโต เรื่อง “ผังล้มเจ้า”   
บทที่ 15.ทหารฆ่าทหาร “พลณรงค์ฤทธิ์ สาละ” “จ.ส.ต. พงศ์ชลิต พิทยานนทกาญจน์”   
บทที่16. เหตุการณ์บุกโรงพยาบาลจุฬาฯ   
บทที่17. การเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงความสูญเสียและการลาออกของคุณวีระ
การตายของเสธ.แดง (ถูกยิงด้วยสไนเปอร์เข้าที่กะโหลกศีรษะ) 
บทที่ 18.เขตกระสุนจริง ใบอนุญาตให้ฆ่า   
บทที่ 19. หกศพวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร “เขตอภัยทาน” 
บทที่ 20. ใครเผาเซนทรัลเวิลด์   
บทที่ 21. “บิ๊กคลินนิ่งเดย์”การทำลายหลักฐาน “อาชญกรรมทำลายล้างมนุษยชาติ”ครั้งมโหฬาร   
สรุปส่งท้ายและคำขอบคุณ   

กล่าวนำ

การต่อสู้ของคนเสื้อแดงเมื่อ เมษา-พฤษภา 53 เป็นส่วนหนึ่งของกระแสธารการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยที่อำนาจสูงสุดทางการเมืองนั้นเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง และเดินหนทางสันติวิธี 

ฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยย่อมขัดขวางทุกวิถีทางจึง ทำให้หนทางคดเคี้ยวยากลำบากยาวไกลและเต็มไปด้วยการเสียสละชีวิตเลือดเนื้อและอิสรภาพของประชาชน

การต่อสู้เมื่อ เมษา-พฤษภา 53 เริ่มต้นขึ้น เมื่อฝ่ายปฏิปักษ์ประชาธิปไตยพยายามตั้งรัฐบาลที่รับใช้เผด็จการทหารขึ้นมาในค่ายทหาร แทนที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

ผู้รักประชาธิปไตยทั้งประเทศจึงต้องแสดงตัวออกมาต่อสู้เพื่อให้ประเทศกลับเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตยที่ถูกต้อง

บทที่ 1.รากฐานของปัญหาและข้อเรียกร้อง

ระบอบประชาธิปไตยไทยดูเหมือนจะเข้ารูปเข้ารอย ภายหลังการเลือกตั้ง ปี 2544 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 

แต่พลันที่รัฐบาลจากการเลือกตั้ง 2544 สามารถบริหารงานจนประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม และระบอบประชาธิปไตยทำท่าจะหยั่งรากอย่างมั่นคงแข็งแรง ฝ่ายเผด็จการขวาจัดอำนาจนิยม ก็ใช้กองทัพทำรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ยึดอำนาจโค่นล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง ตั้งรัฐบาลเผด็จการ และร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการขึ้นมาแทนทันที
เมื่อจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ประชาชนที่ตื่นตัวในระบอบประชาธิปไตย ก็ยังคงเลือกรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช ที่เขามีความมั่นใจว่าจะมาแก้ปัญหาของประชาชนและประเทศ เข้ามาบริหารประเทศ

พวกขวาจัดก็ยังคงไม่ยอมรับ ผลการเลือกตั้งดังกล่าว แล้วใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการปลดนายกรัฐมนตรี สมัคร สนุทรเวช ด้วยข้อหาที่เป็น “ตลกระดับโลก”คือ “ทำกับข้าวออกทีวี”

แต่ครรลองประชาธิปไตยยังสามารถแก้ไขปัญหาได้ จึงมีการโหวดเลือกนายกรัฐมนตรี สมชาย วงศ์สวัสดิ์ จากพรรคการเมืองเสียงข้างมากในสภา

พวกขวาจัดยังขัดใจอย่างรุนแรง เมื่อไม่ได้ดังประสงค์ จึงก่อการประท้วงอย่างใหญ่โตโดยการใส่ร้ายป้ายสีบิดเบือน แต่ก็ไม่อาจจะโค่นล้ม รัฐบาลสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ลงได้
พวกขวาจัด พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ( พธม.) จึงยกระดับการขับไล่รัฐบาลไปถึงขั้นยึดสนามบินนานาชาติเพื่อบังคับให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนลาออก

แต่ก็ล้มเหลว

ในตอนนั้นเวลาเป็นปัจจัยบีบคั้นฝ่าย พธม.อย่างรุนแรง

เพราะได้ยึดสนามบินนานาชาติมากว่าสองสัปดาห์แล้ว

มีกระแสข่าวมาอย่างชัดเจนว่า ต่างชาติจะส่งกองกำลังพิเศษเพื่อมานำเอาเครื่องบินของประเทศเขาคืนจากสนามบินนานาชาติต่างๆ ที่ พธม.ยึดเอาไว้ ซึ่งจะต้องเกิดการใช้กำลังแล้วในที่สุดทาง พธม.ต้องสูญเสียชีวิตเลือดเนื้อ 

เพราะสนามบินนานาชาติถือเป็นอธิปไตยของทุกชาติในโลก การส่งกองกำลังพิเศษเข้ามานำเครื่องบินของชาติเขาคืน ไม่ได้เป็นการรุกรานอธิปไตยไทยไม่ได้เป็นการประกาศสงครามกับประเทศไทย แต่เป็นการประกาศสงครามกับพวกก่อการร้าย ที่ยึดครองสนามบินนานชาติ ตามที่บัญญัติไว้ชัดเจนในกฎหมายระหว่างประเทศ

ในที่สุดก็พวกขวาจัดต้องใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาของพวกเขา

ศาลรัฐธรรมนูญจึงเร่งรัดในการวินิจฉัยยุบสามพรรคการเมือง ซึ่งเป้าหมายสำคัญอยู่พรรคพลังประชาชน ที่มีนายกฯ สมชาย ซึ่งขณะนั้นเป็นรักษาการหัวหน้าพรรค หากพรรคถูกยุบ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็จะหลุดจากนายกฯ ทันที และรัฐบาลก็จะพ้นไปฉับพลันเช่นกัน
ศาลไม่อนุญาตให้มีการทำคำแถลงการณ์ปิดคดีทั้งสามพรรค คือ พลังประชาชน ชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย 

นายบรรหาร ศิลปะอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทย และนางอนงค์วรรณ เทพสุทิน หัวหน้าพรรคมัชฌิมาธิปไตย ร้องขอต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เปิดโอกาสได้ทำคำแถลงการณ์ปิดคดีส่งศาล

พรรคพลังประชาชนมองทะลุว่า ศาลต้องการเร่งรีบปิดคดีเพื่อช่วยหาทางลงให้กับพวก พธม.จึงเป็นไปไม่ได้ที่ศาลจะอนุญาตให้เลื่อนออกไปอีกหนึ่งเดือน เพื่อทำคำแถลงการณ์ปิดคดี 

หลังจากที่ทั้งสองพรรคยื่นเรื่องไปศาลอนุญาตให้แถลงการณ์ปิดคดีด้วยวาจาต่อหน้าศาลได้

สนธิ ลิ้มทองกุล ราวกับจะรู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้จึงได้ประกาศบนเวที พธม.ที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ไม่มีโอกาสเข้าเฝ้าถวายพระพรในวันเฉลิมพระชนม์พรรษาในวันที่ 5 ธันวาคม 2551 อย่างแน่นอน

ปรากฏว่าในวันที่ 2 ธันวาคม 2551 ศาลรัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้นายบรรหารและนายสมศักดิ์แถลงปิดดคีด้วยวาจาได้ 

แต่ภายหลังการแถลงปิดคดีด้วยวาจาของพรรคการเมืองทั้งสอง ไม่ทันข้ามวันอันที่จริงเพียงไม่กี่ชั่วโมง 

ศาลรัฐธรรมนูญก็นัดอ่านคำวินิจฉัยทันที ซึ่งก็เป็นไปตามที่มีการคาดเดากันไว้ล่วงหน้า ก็คือ มีคำวินิจฉัยให้ ยุบทั้งสามพรรค พลังประชาชน ชาติไทย มัชฌิมาธิปไตย

พวก พธม.ที่ยึดสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ,ดอนเมือง,หาดใหญ่,สงขลา,เชียงใหม่,สุราษฎร์ฯ ต่างส่งเสียงไชโยโห่ร้องด้วยความดีใจ 

จำลอง ศรีเมือง กับพวก พธม.ทำพิธีส่งมอบสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิคืนให้กับทางการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

ภายหลังจากนั้น นายเนวิน ชิดชอบได้นำพากลุ่มก๊วนของตนเองภายในพรรคพลังประชาชนแยกตัวออกจากพรรคพลังประชาชนและตั้งพรรคภูมิใจไทย 

ประกาศตัวชัดเจนในการสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี มีการแสดงออกทางการเมืองอย่างเด่นชัด 

ต่อมาก็ได้มีการสมคบกับนายทหารที่กุมกำลังกองทัพในระยะนั้น เพื่อปรับขั้วจัดตั้งรัฐบาล ได้มีการนัดหมายกันที่ปั๊ม ปตท.ใหญ่ริมถนนวิภาวดี โดยมีรถตู้นำเลขาธิการและแกนนำสำคัญของพรรคต่างๆ เข้าพบนายทหารชั้นผู้ใหญ่ที่มูลนิธิป่ารอยต่อที่กรมทหารราบที่ 1 สามเหลี่ยมดินแดง

มีภาพข่าวออกทางโทรทัศน์สาธารณะและรายงานข่าวจากสื่อว่า มีการประชุมเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในกรมทหารราบที่หนึ่งดังกล่าว

ในเวลาต่อมาประมาณเดือน ธันวาคม 2551 ก็มีการเลือกรัฐบาลในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏร ให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีพรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยสนับสนุนเป็นพิธีกรรม ให้เป็นไปตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 

ซึ่งก็เป็นไปตามข่าวที่ปรากฏในสื่อว่าได้มีการเตรียมการตั้งรัฐบาลเสร็จเรียบร้อยแล้วในค่ายทหาร

ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยส่วนใหญ่รวมทั้งสื่อสารมวลชนจำนวนไม่น้อยแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อการเข้ามาแทรกแซงการเมืองของนายทหารชั้นผู้ใหญ่ในการจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้

นี่เป็นสาเหตุ เป็นรากเหง้าสำคัญของการชุมนุมทางการเมืองของคนเสื้อแดง หรือ นปช.ต่อมาในปี2551-2552และ2553

ก็คือ “การจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร”
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net