คลังกู้เงิน JICA 5 หมื่นล้านเยน แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19

คลังกู้เงิน JICA 50,000 ล้านเยน (ประมาณ 13,175 ล้านบาท) ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ใช้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19 ขณะที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา ​นายกฯ ไทย-ญี่ปุ่น ร่วมเป็นสักขีพยานลงนามความตกลง 3 ฉบับ ร่วมมือทางการเงิน มอบยุทโธปกรณ์ และความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่นรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 

 

4 พ.ค.2565 วานนี้ (3 พ.ค.) เว็บไซต์กระทรวงการคลัง รายงานว่า อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ Morita Takahiro ผู้แทนจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency JICA) ได้ร่วมกันลงนามในสัญญาเงินกู้สำหรับ COVID-19 Crisis Response Emerqency Support Loan วงเงิน 50,000 ล้านเยน ณ ห้องประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

สำนักข่าวไทย รายงานเพิ่มเติมว่า วงเงิน 50,000 ล้านเยน หรือประมาณ 13,175 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 อายุเงินกู้ 15 ปี ช่วงปลอดเงินต้น (Grace Period) 4 ปี ตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นให้เงินกู้หลายประเทศ ใช้สำหรับแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 กู้เงินภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากโควิด-19

รายงานข่าวยังระบุว่า การกู้เงินครั้งนี้เพื่อใช้สนับสนุนด้านการแพทย์และสาธารณสุขในการป้องกันและรักษาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 การเยียวยาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน การรักษาระดับการจ้างงาน ผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อลดการแย่งสภาพคล่องภายในประเทศกับภาคเอกชน และถือว่าเป็นการเพิ่มแหล่งเงินทุนระยะยาว ต้นทุนต่ำ เพื่อช่วยประหยัดภาระดอกเบี้ย เพื่อใช้ฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ

ลงนามความตกลง 3 ฉบับ ร่วมมือทางการเงิน มอบยุทโธปกรณ์ และความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่นรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 

เมื่อวันที่ 2 พ.ค.ที่ผ่านมา เว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล รายงานว่า ที่ตึกสันติไมตรีหลังใน ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 3 ฉบับ พร้อมกล่าวถ้อยแถลงในการแถลงข่าวร่วมกับ คิชิดะ ฟูมิโอะ (H.E. Mr. KISHIDA Fumio) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าวร่วม

ธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปสาระสำคัญดังนี้
 
นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความตกลง 3 ฉบับ ได้แก่ 1. หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความร่วมมือทางการเงินระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่น 2. ความตกลงว่าด้วยการมอบยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีป้องกันประเทศระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย 3. หนังสือแลกเปลี่ยนว่าด้วยความช่วยเหลือแบบให้เปล่าของรัฐบาลญี่ปุ่นภายใต้โครงการสนับสนุนเร่งด่วนสำหรับการรับมือกับสถานการณ์โควิด-19 
 
ในส่วนของถ้อยแถลงนายกรัฐมนตรีกล่าวยินดีที่ได้ต้อนรับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีความหมายอย่างยิ่งสำหรับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เนื่องจากปีนี้เป็นการครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-ญี่ปุ่น และเป็นช่วงที่ไทยดำรงตำแหน่งประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์อาเซียน-ญี่ปุ่น ซึ่งจะครบรอบ 50 ปีแห่งมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่นในปีหน้า พร้อมทั้งเป็นปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปค ทั้งนี้ จากการหารือร่วมกันระหว่างนายกรัฐมนตรีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายได้หารือประเด็นสำคัญร่วมกัน 6 ประเด็น ดังนี้
 
1. การพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในโอกาสครบรอบ 135 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตและครบรอบ 10 ปี หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทย-ญี่ปุ่นในปีนี้ ทั้งสองฝ่ายจะยกระดับความสัมพันธ์ความสัมพันธ์จาก “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” เป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ต่อไป
 
2. การเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจสู่อนาคต ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยกับญี่ปุ่นให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนยุทธศาสตร์ร่วมด้านเศรษฐกิจในการพัฒนาความเป็นหุ้นส่วนระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในระยะ 5 ปี โดยหนึ่งในประเด็นที่ทั้งไทยและญี่ปุ่นให้ความสำคัญ คือการเพิ่มความเชื่อมโยงด้าน supply chain ให้ครอบคลุมสาขาต่าง ๆ มากขึ้นตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ เช่น เศรษฐกิจ BCG เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะ เทคโนโลยีการโทรคมนาคมสื่อสาร 5G ความร่วมมือในด้านปัญญาประดิษฐ์และหุ่นยนต์ การพัฒนายานยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดและชิ้นส่วนอุปกรณ์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือด้านวิจัยและค้นคว้ารวมถึงการตั้งศูนย์ฝึกอาชีพเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของประชาชนไทย
 
3. การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อฟื้นฟูประเทศจากสถานการณ์โควิด-19 นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นที่มอบความช่วยเหลือในรูปแบบต่าง ๆ แก่ไทย โดยทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องที่จะเสริมสร้างความร่วมมือด้านสาธารณสุขระหว่างกันให้มากขึ้นเพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมให้ผ่อนคลายมาตรการการเข้าประเทศเป็นลำดับตามสถานการณ์โควิด-19 เพื่อให้ประชาชนของทั้งสองฝ่ายได้เดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันได้มากขึ้น
 
4. การเสริมสร้างความร่วมมือด้านกลาโหม ความมั่นคง และการยุติธรรม ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ร่วมมือในด้านกลาโหมและความมั่นคงระหว่างไทยกับญี่ปุ่น ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศและการลงทุนจากญี่ปุ่นในอุตสาหกรรมดังกล่าว ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญของไทย
 
5. การเสริมสร้างความร่วมมือในการพัฒนาอนุภูมิภาคและภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายยินดีกับความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาระหว่างไทยกับญี่ปุ่น และมุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในด้านการพัฒนาระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในประเทศที่สาม พร้อมทั้งจะร่วมมือกันพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เพื่อส่งเสริมให้อนุภูมิภาคนี้เติบโตและก้าวไปข้างหน้าด้วยกันอย่างยั่งยืน ภายใต้กรอบความร่วมมือแม่โขง-ญี่ปุ่น และกรอบ ACMECS
 
ในส่วนของความร่วมมือภาคใต้กรอบอาเซียน ไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับญี่ปุ่น ยืนยันความพร้อมที่จะประสานความร่วมมือในทุกด้าน ซึ่งรวมถึงการเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาที่สำคัญภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (AOIP) และการเชื่อมโยงระหว่าง AOIP กับมุมมองอินโด-แปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างของญี่ปุ่น (FOIP) อีกทั้งนายกรัฐมนตรีได้ยืนยันความพร้อมของไทยในการเป็นที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ พร้อมกล่าวขอบคุณนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นสำหรับการสนับสนุนวาระการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในปีนี้ ภายใต้หัวข้อ “Open. Connect. And Balance.” ซึ่งนายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะต้อนรับการเยือนไทยของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอีกครั้งในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน นี้ เพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเปค
 
6. การเสริมสร้างความร่วมมือเพื่อรับมือกับสถานการณ์ภูมิภาคและระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ในภูมิภาคและระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น สถานการณ์ในยูเครน สำหรับสถานการณ์ในยูเครน ไทยและญี่ปุ่นย้ำถึงหลักการเคารพบูรณภาพแห่งดินแดน กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติ โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยุติการใช้ความรุนแรงและใช้ความยับยั้งชั่งใจอย่างถึงที่สุด โดยไทยได้เสนอแนวทางคล้ายคลึงกันนี้ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในเมียนมา โดยให้ความสำคัญกับการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนเมียนมาด้วย
 
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าผลการหารือในครั้งนี้สะท้อนถึงความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและญี่ปุ่นอย่างรอบด้านและครอบคลุม พร้อมเน้นย้ำว่ารัฐบาลไทยพร้อมทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลญี่ปุ่นเพื่อสานต่อผลลัพธ์ของการเยือนครั้งนี้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรม เพื่อประโยชน์แก่ประเทศและประชาชนไทย-ญี่ปุ่น รวมถึงภูมิภาคโดยรวมต่อไป
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท