เงินช่วยเหลือ 3,500 เบิกเงินสดไม่ได้ รับผ่านบัตรคนจนและแอพฯ "เป๋าตังค์" เท่านั้นหวังคุมการใช้

มติ ครม.ให้จ่ายเงินช่วยเหลือคนละ 3,500 บาทต่อเดือนรวมไม่เกิน 7,000 บาท จะแบ่งจ่ายสัปดาห์ละ 1,000 บาท ผ่านช่องทางบัตรสวัสดิการแห่งรัฐกับแอพฯ "เป๋าตังค์" เท่านั้น ไม่จ่ายเป็นเงินสดเกรงเอาไปใช้ซื้อเหล้าและเข้าร้านค้าขนาดใหญ่ และต้องใช้ให้หมดก่อน 31 พ.ค.64 ถ้าเลยวันใช้ต่อไม่ได้

19 ม.ค.2564 วันนี้หลังการประชุมของคณะรัฐมนตรี อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือเยียวยาโควิด-19โดย ครม.อนุมัติโครงการ "เราชนะ" ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังกรอบวงเงินไม่เกิน 210,200 ล้านบาท ซึ่งภาครัฐจะมีการให้เงินช่วยเหลือคนละไม่เกิน 3,500 บาทต่อเดือนหรือรวมทั้งหมด 7,000 บาท โดยในรายละเอียดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือมีดังนี้

  1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ

  2. ไม่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ตามกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม ทั้งที่มีคุณสมบัติครบและไม่ครบตามเงื่อนไขการได้รับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ

  3. ไม่เป็นข้าราชการ พนักงานราชการ พนักงาน ลูกจ้าง เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานอื่นใดในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐโดยตรง ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ

  4. ไม่เป็นข้าราชการการเมือง

  5. ไม่เป็นผู้รับบำนาญปกติหรือเบี้ยหวัดจากส่วนราชการ

  6. ไม่เป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินเกิน 300,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด

  7. ไม่มีเงินฝากรวมกันทุกบัญชีเกิน 500,000 บาท ตามฐานข้อมูลที่มีล่าสุด

ส่วนช่องทางในการรับเงินช่วยเหลือครั้งนี้จะเป็นการใส่เงินเข้าไปในระบบของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผ่านทางแอพพลิเคชั่น “เป๋าตังค์”

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะแบ่งเป็นสองกลุ่ม

  1. กลุ่มที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 800 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 675 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,700 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการฯ จำนวน 5,400 บาท

  2. กลุ่มที่มีรายได้เกิน 30,000 แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ได้รับอยู่แล้ว 700 บาท/เดือน จะได้วงเงินช่วยเหลือเพิ่มอีกคนละ 700 บาท/สัปดาห์ (หรือ 2,800 บาท/คน/เดือน) วงเงินต่อคนตลอดระยะโครงการฯ จำนวน 5,600 บาท

อีกช่องทางคือใช้จีวอลเลท(G-Wallet) ผ่านแอพฯ “เป๋าตังค์” สำหรับผู้ที่เคยลงทะเบียนแล้วและใช้แอพฯ อยู่ ได้แก่ ผู้ลงทะเบียนโครงการคนละครึ่ง และเราเที่ยวด้วยกันสําเร็จ จะได้รับการคัดกรองตามคุณสมบัติข้างต้น แต่จะต้องยินยอมให้ภาครัฐเข้าถึงข้อมูลและนำไปประมวลผลหรืเปิดเผยเพื่อดำเนินการตามมาตรการต่างๆ สำหรับกลุ่มนี้จะโอนเงินเป็นสัปดาห์เช่นกัน สัปดาห์ละ 1,000 บาท ไปจนครบ 7,000 บาท เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.นี้ ตรวจสอบข้อมูลสิทธิได้ผ่าน www.เราชนะ.com

สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนต้องลงทะเบียนใน www.เราชนะ.com ก่อน โดยจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่ 29 ม.ค.-12 ก.พ.2564

เงินที่จะได้จากโครงการนี้ยังมีรายละเอียดการใช้จ่ายเงินนี้ว่าจะสามารถใช้ได้กับธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลและลงทะเบียนไว้อย่างเช่น ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่งและร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการเราชนะ รวมถึงบริการถจักรยานยนต์รับจ้างและรถแท็กซี่ที่ลงทะเบียนโครงการ “เราชนะ” ไว้ก็จะสามารถโอนเงินเข้าแอพฯ เป๋าตังค์ได้ โดยจะให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 29 ม.ค.-31มี.ค. 2564

เงินที่อยู่ในระบบจะต้องใช้หมดภายใน 31 พ.ค.2564 เท่านั้นหากใช้ไม่หมดก็จะไม่ได้ใช้ต่อ และไม่สามารถเบิกเป็นเงินสดได้ อีกทั้งใช้ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ไม่ได้

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี อธิบายเหตุผลที่ไม่ให้เป็นเงินสดว่าเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อผ่านการสัมผัสเงิน และการให้เงินสดไม่สามารถกำกับการหมุนเวียนและอยากให้มีประสบการณ์กับสังคมไร้เงินสดและเสมือนหนึ่งใช้เป็นเงินสดได้แต่สามารถจำกัดสิทธิได้ เพราะถ้าให้เป็นเงินสดจะควบคุมการใช้ได้ยาก เช่นใช้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือร้านค้าขนาดใหญ่ที่เป็นนิติบุคคล หรือการพนัน แต่อยากให้เขาช่วยแม่ค้าแล้วแม่ค้าไปซื้อของกับเกษตรกร และลดค่าครองชีพ

สุพัฒนพงษ์กล่าวถึงการใช้ผ่านแอพฯ เป๋าตังค์ว่า มีการใช้คนละครึ่งอยู่ก่อนแล้วมีคนใช้กันเป็นจำนวนมากมีร้านค้าเข้าร่วมกว่า 1,000,000 ร้านค้า และมีการใช้เงินกว่า 1พันล้านบาทต่อวันอย่างต่อเนื่อง และพบว่าคนสูงอายุก็ใช้ได้

“เขาก็ต้องจัดหา เราจะอำนวยความสะดวกในการจัดหาโทรศัพท์ราคาไม่แพง เราจะคุยกับผู้ประกอบการโทรศัพท์ ราคาไม่แพง เดี๋ยวนี้ราคาก็ถูกลงไปเยอะแล้ว”สุพัฒนพงษ์ ตอบคำถามนักข่าวในประเด็นที่กรณีสำหรับคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟนจะทำอย่างไร

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลงต่อว่า ตอนนี้วงเงินเยียวยาตอนนี้มีอยู่ทั้งหมด 206,000 ล้านบาทส่วนเงินสำหรับแผนฟื้นฟู 260,000 ล้านบาทในครั้งนี้คณะกรรมการกลั่นกรองได้เสนอให้มีการโยกเงินจากแผนฟื้นฟูจำนวน 10,000 ล้านบาทมาใส่ด้านเยียวยา ทำให้วงเงินเยียวยาเพิ่มเป็นประมาณ 216,000 ล้านบาท ซึ่งจะเพียงพอตอ่การดำเนินการมาตรการนี้

ดนุชากล่าวว่าหากในอนาคตสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นแล้วต้องมีการเยียวยาเพิ่มเติมก็จะสามารถโยกวงเงินสำหรับการฟื้นฟูมาใช้ได้อีกตามความจำเป็น ที่ไม่โยกมาทีเดียวเพราะต้องดูตามความจำเป็นและเป็นไปตามกฎหมายกำหนด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท