Skip to main content
sharethis

ครม.มีมติให้ลดค่าไฟฟ้า น้ำและคงราคาแก๊ส LPG และขยายระยะเวลาลงทะเบียนขอสินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการระบาดโควิด-19 ในระลอกที่สองออกไปรวมถึงการให้ประชาชนยังพักชำระหนี้ธนาคารที่อยู่ภายใต้กำกับของรัฐออกไปอีกจนถึง 30 มิ.ย.64 "พิธา ก้าวไกล" เสนอเพิ่มการชดเชยให้กับผู้ประกอบการใน 28 จังหวัดและออกกฎหมายช่วยเหลือผู้เช่าไม่ให้ถูกให้ออก รวมถึงการพักชำระหนี้ Soft loan สูงสุด 2 ปี

ภาพจากการถ่ายทอดสดของทำเนียบรัฐบาล

12 ม.ค.2564 หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและทีมเศรษฐกิจแถลงผลการประชุม ครม. ได้มีมติให้ยืดระยะเวลาของมาตรการเยียวยาและปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจ SMEs ที่มีอยู่แล้วออกไปอีกเนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ที่กลับมาระบาดระลอก 2

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแถลงรายละเอียดมาตรการเกี่ยวกับแรงงานและการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคว่า ในส่วนของมาตรการด้านแรงงาน มีเรื่องของการลดหย่อนเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมโดยลูกจ้างเหลือร้อยละ 3 นายจ้างเหลือร้อยละ3ตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค. 2564

ดนุชา กล่าวว่ามีการเพิ่มสิทธิประโยชน์จากการว่างงานจากการถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 70 ของค่าจ้างไม่เกิน 200 วันจากเดิมที่ให้ร้อยละ 50 ไม่เกิน 180 วัน ส่วนเรื่องของการว่างงานจากการลาออกจะได้เงินชดเชยไม่ร้อยละ 45 ปีละไม่เกิน 90 จากเดิมอยู่ที่ร้อยละ 30 ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน ส่วนการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยซึ่งเกิดจากการประกาศของทางราชการมีการสั่งปิดพื้นที่หรือหยุดปฏิบัติงานในโรงงานต่างๆ ส่วนนี้จะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้างไม่เกิน 90 วัน ถ้าเป็นการหยุดกิจการบางส่วนหรือทั้งหมด นายจ้างจะต้องจ่ายเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 ของค่าจ้างก่อนหยุดการจ้างชั่วคราว

ดนุชากล่าวว่ากระทรวงแรงงานยังมีสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานและให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนสามารถเข้าไปตรวจได้ในกรณีที่ตัวเองสงสัยว่าจะติดเชื้อโควิดและการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่โรงงานต่างๆ ซึ่งกระทรงแรงงานก็ได้ให้ โรงพยาบาลในสังกัดทำการตรวจคัดกรองเชิงรุกร่วมกับสาธารณสุขด้วย

ดนุชา กล่าวต่อว่านอกจากนั้นยังมีมาตรการช่วยเหลือด้านแรงงานเพิ่มเติม คือนอกจากมาตรการจ้างบัณฑิตใหม่ที่มีการอนุมัติไปแล้ว ยังให้กระทรวงแรงงานปรับโครงการนี้มาใช้รักษาระดับการจ้างงานได้อย่างไร

ดนุชา อธิบายมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคว่ามีมาตรการในส่วนของค่าไฟ ค่าน้ำและพลังงานที่ ครม.มีมติเห็นชอบไปตั้งแต่เดือนธ.ค.63 แล้วและมีมาตรการที่เพิ่มขึ้นมา แบ่งมาตรการออกเป็น

  1. การคงราคาขาย LPG หน้าโรงกลั่นก็จะทำให้มีราคา 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งจะมีผลถึง 31 มี.ค.2564

  2. ค่าไฟฟ้ามีมาตรการดังนี้

    1. ขยายเวลามาตรการปรับลดค่าไฟฟ้าผันแปร (FT) ทำให้ราคาไฟฟ้าลดลง 2.89 สตางค์ต่อหน่วย แล้วจะมีผลถึง 30 เม.ย.2564

    2. ขยายเวลามาตรการยกเว้นการเก็บค่าไฟให้แก่ผู้ประกอบการขนาดกลาง ใหญ่ และกิจการเฉพาะอย่างออกไปจนถึง 31 มี.ค.2564

    3. ขยายเวลามาตรการบรรเทาค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 50 หน่วยติดต่อกัน 3 เดือน สามารถใช้ไฟฟรี ถ้าใช้เกิน 50 หน่วยต่อเดือนก็จะสิทธิได้ตามมาตราการในวงเงินไปเกิน 230 บาท/ครัวเรือน/เดือน แต่ถ้าใช้เกิน 230 บาทก็ต้องรับผิดชอบค่าไฟด้วย

    4. เพิ่มมาตรการแบ่งช่วงคิดราคาการใช้ไฟฟ้าโดยกลุ่มผู้ใช้ไฟน้อยกว่า 150 หน่วยจะได้ใช้ไฟฟรี 90 หน่วยแรกทุกราย แต่หากมีการใช้เกิน 150 หน่วยก็จะคิดตามช่วงราคา โดเริ่มตั้งแต่ 1-500 หน่วยจะคิดราคาต่อหน่วย 3.24 บาท 501-1000 หน่วยคิดราคาต่อหน่วย 4.22 บาท และตั้งแต่ 1001 หน่วยขึ้นไปคิดราคา 4.42 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ในส่วนของกิจการขนาดเล็กจะได้ใช้ไฟฟ้าฟรี 50 หน่วยแรกทุกราย ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้จะครอบครัวที่พักอาศัยและกิจการขนาดเล็ก

  3. ค่าน้ำประปามีมาตรการดังนี้

    1. ขยายเวลามาตรการค่าน้ำประปาใช้ได้ 100บาท/ครัวเรือน/เดือน

    2. ลดค่าน้ำลงร้อยละ 10 เป็นเวลา 2 เดือนสำหรับใบแจ้งหนี้ของเดือน ก.พ.-มี.ค.2564

ดนุชากล่าวถึงมาตรการป้องการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ว่าในที่ประชุมให้ได้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาจัดหาอุปกรณ์ป้องกันต่างๆ สำรองไว้สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ และบุคคลทั่วไป

ส่วนมาตรการช่วยเหลือสำหรับโรงงานที่ใช้พื้นที่โรงงานของตัวเองเป็นพื้นที่สำหรับกักตัวพนักงานของตนเองเพื่อป้องกันการติดเชื้อในกระบวนการผลิต ก็ได้มอบให้ทางกระทรวงแรงงานและมหาดไทยมอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดสีแดงเข้ม 5 จังหวัดได้แก่ สมุทรสาคร จันทบุรี ชลบุรี ตราดและระยอง เข้าไปสำรวจความต้องการของผู้ประกอบการโรงงานว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลืออะไรบ้าง

ส่วนมาตรการที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว อนุชาระบุว่ายังมีการปรับการใช้สิทธิโครงการเที่ยวด้วยกันโดยให้ผู้ใช้สิทธิที่จองที่พักในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ.ให้เลื่อนการใช้สิทธิออกไปได้จนถึงเม.ย.2564 และให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพิจารณาขยายระยะเวลาของโครงการออกไปอีกเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในช่วงหลังสถานการณ์เริ่มเข้าสู๋ภาวะปกติ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวต่อในส่วนของมาตรการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs รมต.คลังชี้แจงว่า กระทรวงการคลังมีมาตรการช่วยเหลือและกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศเพื่อเสริมสภาพคล่อง โดยมีทั้งหมด 4 โครงการ

  1. มาตรการคนละครึ่ง ทางนายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการเปิดรับลงทะเบียนใหม่อีก 1 ล้านสิทธิในเดือนมกราคม ทางกระทรวงการคลังก็มีการเตรียมการมาตลอด ซึ่งตอนนี้มีสิทธิที่เหลือมาจากรอบแรกราว 5 แสนสิทธิส่วนที่เปิดให้ลงทะเบียนรอบสองที่ผ่านมายังอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่ามีสิทธิคงเหลือเท่าไหร่ เนื่องจากที่ผ่านมามีประชาชนที่สมัครขอสิทธิเข้ามาแต่ไม่ผ่านในเรื่องของคุณสมบัติ และได้สิทธิแล้วภายใน 14 วันไม่มีการใช้สิทธิก็จะโดนตัดสิทธิไปซึ่งสิทธิที่เหลือจากรอบที่สองก็ประมาณ 5 แสนสิทธิเช่นเดียวกัน ก็จะทำให้มีสิทธิเหลืออยู่รวม 1 ล้านสิทธิก้จะมีการเสนอ ครม. เพื่อพิจารณาในสัปดาห์หน้า และเมื่อ ครม.เห็นชอบแล้วในวันที่ 19 ม.ค.แล้วก็จะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนได้เลยในวันที่ 20 ม.ค.และจะเริ่มใช้สิทธิได้ในวันที่ 25 ม.ค.

  2. มาตรการเยียวยา จะมีเงินเยียวยาให้กับประชาชนคนละ 3,500 บาท/คน/เดือน เป็นเวลา 2 เดือน โดยจะนำเข้า ครม.พิจารณาในสัปดาห์หน้าเช่นกัน และประชาชนที่ลงทะเบียนแล้วผ่านเกณฑ์ก็จะได้เงินเยียวยาในสิ้นเดือนมกราคมเป็นอย่างเร็ว หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์เป็นอย่างช้า โดยมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนจะเข้าถึงประชาชนทุกกลุ่มแต่ต้องลงทะเบียนผ่าน “เราชนะ”

  3. มาตรการเสริมสภาพคล่องหรือการพักชำระหนี้ หรือมาตรการเฉพาะของสถาบันการเงิน ทั้งหมด 7 แห่งที่อยู๋ภายใต้กำกับกระทรวงการคลัง โดยวันนี้กระทรวงการคลังได้ของอนุมัติจาก ครม. เพื่อผ่าน 3 โครงการ ได้แก่

    1. ขยายเวลาลงทะเบียนโครงการสินเชื่อเสริมพลังฐานรากของธนาคารออมสิน ออกไปอีกจนถึง 30 มิ.ย.2564 เนื่องจากมีวงเงินคงเหลืออยู่ 7,500 ล้านบาท ซึ่งโครงการนี้เป็นการสนับสนุนสินเชื่อให้กับประชาชนที่มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อยและบุคคลในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หรือภัยธรรมชาติหรือภัยทางเศรษฐกิจ โดยจะมีวงเงินให้ 50,000 บาทต่อรายโดยมีอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.35ต่อเดือน ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 3 ปี

    2. ขยายเวลาดำเนินโครงการสินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้มีอาชีพอิสระหรือเกษตรกรรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ออกไปอีกจนถึง30 มิ.ย.2564 จากการมีวงเงินเหลืออยู่ 11,400 ล้านบาท เป็นวงเงินของธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรหรือ ธ.ก.ส โดยคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 0.1ต่อเดือน ระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 2 ปี 6 เดือน ปลอดชำระดอกเบี้ยและเงินต้นเป็นระยะเวลา 6 เดือน

    3. ขยายเวลาสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตออกไปอีกจนถึง30 มิ.ย.2564 เป็นวงเงินคงเหลืออยู่ 2 พันล้านบาท โดยธนาคารเพื่อการส่งออกและการนำเข้าแห่งประเทศไทย ก็จะสนับสนุนสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจการส่งออกและที่เกี่ยวเนื่อง รวมถึงผู้นำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ โดยมีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 2 ต่อปีในปีที่ 1 และ 2

    4. ส่วนมาตรการพักชำระหนี้ Soft loan ของธนาคารแห่งประเทศไทยหลังจากหมดลงเมื่อ 22ต.ค.2563 ทางกระทรวงการคลังก็ให้ขยายเวลาออกไปอีกจนถึง 30 มิ.ย.2564 ในทันทีที่หมดลง และธนาคารภายใต้กำกับของกระทรวงการคลังทั้ง 7 แห่งก็ได้ขยายเวลามาตรการพักชำระหนี้อยู่อย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน

    5. มาตรการเสริมสภาพคล่องสำหรับผู้ประกอบการ ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารเอสเอ็มอี และบริษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมหรือ บสย. เมื่อเดือนธ.ค.2563 ก็ได้มีการเพิ่มวงเงินประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่กู้เงินผ่านธนาคารพาณิชย์หรือธนาคารของรัฐ ก็สามารถใช้ประกันสินเชื่อของ บสย. ได้ โดยมีวงเงินทั้งหมดอยู่ที่ 170,000 กว่าล้านบาท และยังมีวงเงินของ Soft loan ของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งกระทรวงการคลังก็จะหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป ในการผ่อนคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ เพื่อที่จะใช้วงเงินของ Soft loan นี้ได้

    6. ธนาคารออมสินและ ธกส.ก็มีโครงการ “มีที่มีเงิน” ให้สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่มีเงินจ่ายลูกจ้างหรือขาดสภาพคล่อง หากมีที่ดินก็สามารถเอามาแลกเป็นเงินกับธนาคารออมสินได้ แต่ทางธนาคารเองก็จะมีการประเมินอย่างรอบคอบอีกทีเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถรักษาการจ้างงานและธุรกิจของตนเอาไว้ได้

อาคมกล่าวอีกว่าขณะนี้ทั้ง 7 ธนาคารของรัฐยังมีวงเงินเหลืออยู่ 268,000 ล้านบาท และSoft loan ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยยังเหลืออยู่ที่ 370,000 ล้านบาท ทำให้มีวงเงินสภาพคล่องที่จะให้บริการได้เหลืออยู่ 638,000 บาท

ก้าวไกลเสนอชดเชยให้ผู้ประกอบการเพิ่ม ปล่อย Soft loan

วันเดียวกันนี้ก่อน ครม.แถลงมาตรการต่างๆ ทีมสื่อพรรค ก้าวไกลรายงานว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวถึงข้อข้อเสนอมาตรการเยียวยาที่พรรคก้าวไกลได้ศึกษาและจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมจากสัปดาห์ที่แล้วมาให้ โดยหวังว่ารัฐบาลจะเข้าใจและเห็นใจความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชน ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นมาตรการพร้อมใช้ที่รัฐบาลสามารถนำไปใช้ได้ทันที ดังนี้

1.ทบทวนมาตรการการควบคุมโรคของแต่ละจังหวัดโดยเร่งด่วน ต้องคำนึงถึงสถานการณ์ระดับการติดเชื้อ ศักยภาพในการรองรับผู้ป่วย รวมถึงต้องคำนึงถึงประเภทสถานประกอบการที่ถูกสั่งปิดในแต่ละจังหวัด ให้มีมาตรการเยียวยาที่สอดคล้องและสมเหตุสมผลกับแต่ละสถานที่

2.เร่งช่วยเหลือถ้วนหน้า 3,000 บาท/เดือน (สำหรับอายุ 18 ปี ขึ้นไป ยกเว้นข้าราชการ) เพื่อเป็นโครงข่ายรองรับทางสังคม ให้ประชาชนที่กำลังประสบปัญหา อย่างถ้วนหน้า และพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ชะลอตัวไปมากกว่านี้

3. เยียวยาเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากเป็นพิเศษจากโควิดและมาตรการของภาครัฐ

3.1 ต้องมีมาตรการช่วยเหลือค่าน้ำ-ค่าไฟ-ค่าเช่าให้ประชาชน ในจังหวัดที่ถูกควบคุมในระดับเข้มงวดสูงสุด

3.2 ชดเชยสถานประกอบการที่ถูกขอความร่วมมือให้หยุดกิจการราว 6,098 แห่ง ใน 28 จังหวัดที่ถูกสั่งปิด เพิ่มจาก 50% เป็น 75% ใช้งบเพิ่ม จาก 2,321 ล้านบาทเพิ่มเป็น 3481.5 ล้านบาท โดยสามารถตั้งต้นงบประมาณไว้ราว 4,000-5,000 ล้านบาท เพราะอาจมีสถานประกอบการที่มาลงทะเบียนเพิ่ม

3.3 ควรมีมาตรการพยุงการจ้างงานสำหรับธุรกิจที่รายได้ลดลงในช่วงโควิด โดยมุ่งเน้นจังหวัดที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก เช่น 5 จังหวัดแดงเข้มและกรุงเทพฯ เสนอให้ใช้เกณฑ์การพิจารณาให้โดยดูจากรายได้/การนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ลดลง ชดเชยที่ 50-75% โดยมีเพดานไม่เกิน 7,500 บาท/ราย

3.4 ต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้เช่าไม่ให้ถูกให้ออก โดยอาจมีกฎหมายพิเศษห้ามบังคับไล่ผู้เช่าออกในจังหวัดที่ได้รับผลกระทบมาก และให้รัฐบาลไปเยียวยาผู้ให้เช่า เช่น พิจารณาลดภาษีที่ดิน

4. สำหรับภาคธุรกิจ รัฐบาลควรต่อสายป่านของธุรกิจที่อาจขาดสภาพคล่องจากสถานการณ์ที่คลี่คลายช้าลง โดยต้องมีโครงการ Soft-loan และพักชำระหนี้ไปสูงสุด 2 ปี ซึ่งอาจใช้โมเดลแบบการฟื้นฟูช่วงที่เกิดสึนามิ ด้วยการปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารและธนาคารของรัฐ

พิธา กล่าวต่อว่า มาตราการเยียวยาทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นได้จริงและทำได้อย่างเร่งด่วน โดยจะหางบประมาณได้จากการ

1. โยกงบฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยังเหลืออยู่ ใช้สำหรับเยียวยา รวมแล้วจะมีงบยังไม่ได้ใช้จากเงินกู้ 1 ล้านล้านเหลืออยู่ราว 467,000 ล้านบาท งบกลางเหลืออยู่ราว 139,000 ล้านบาท

2. เกลี่ยก่อนที่จะกู้ เมื่อมีสถานการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นอีกรอบ ก็ควรรวบรวมทรัพยากรทั้งหมดที่มี รวมถึงการโยกงบปี 64 ในส่วนที่ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพื่อนำไปเป็นกระสุนสำหรับการฟื้นฟูในระยะถัดไป ก่อนที่จะคิดกู้เงินเพิ่ม ประสบการณ์จากการโยกงบปี 63 พบว่าหน่วยงานรัฐสามารถหั่นงบตัวเองได้เมื่อยามจำเป็นโดยไม่กระทบเป้าหมายเดิม สำหรับปี 64 ที่งบประมาณเพิ่งเริ่มใช้มาไม่ถึง 3 เดือน จะโยกงบได้ไม่ต่ำกว่า 200,000 ล้านบาท

“มาตรการเหล่านี้คิดมาโดยละเอียดรอบคอบ บนพื้นฐานที่เป็นไปได้ทางการคลังทั้งสิ้น หากท่านเป็นรัฐบาลของประชาชนก็ไม่ควรรั้งรอที่จะดำเนินการใดๆ เพราะเวลานี้หลายครอบครัวและหลายกิจการเหมือนมือกำลังเกาะขอบเหว ไม่รู้ว่าจะอดทนได้อีกแค่ไหน ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลของประเทศนี้จะต้องยื่นมือเข้าไปช่วยพวกเขาบ้าง” พิธา กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net