15 วัน การอดอาหารทวงสิทธิประกันตัวของ 'ตะวัน' ศาลยังคงอนุญาตฝากขังต่ออีก 12 วัน

ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ในคดีมาตรา 112 ต่อไปอีก 12 วัน ถึงวันที่ 17 พ.ค. 65 แม้ทนายความจะได้มีการยื่นคัดค้านการฝากขังต่อในผลัดนี้ ขณะนี้ตะวันอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวในเรือนจำแล้วกว่า 15 วัน

5 พ.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อเวลา 14.30 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง “ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ในคดีมาตรา 112 ต่อไปอีก 12 วัน ถึงวันที่ 17 พ.ค. 65 แม้ทนายความจะได้มีการยื่นคัดค้านการฝากขังต่อในผลัดที่ 6 นี้

โดยศาลให้เหตุผลว่าพนักงานสอบสวนยังมีความจำเป็นในการสอบพยานอีก 2 ปาก โดยให้เร่งรัดการสอบสวนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

“ตะวัน” ทานตะวัน ตัวตุลานนท์

ตะวันเป็นนักกิจกรรมอิสระวัย 20 ปี ที่ถูกศาลอาญาเพิกถอนประกันในคดี ม. 112 เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2565 และถูกคุมตัวไปขังในทัณฑสถานหญิงกลางเรือนจำกลางพิเศษกรุงเทพมหานครในวันเดียวกัน โดยตะวันได้อดอาหารมาตั้งแต่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ รวมแล้วเป็นเวลากว่า 15 วัน ตะวันถูกกล่าวในคดี 112 จากการไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จบริเวณตรงข้ามองค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินเมื่อ 5 มี.ค. 65 ระบุว่า การเข้าร่วมขบวนเสด็จเมื่อ 17 มี.ค.ที่ผ่านมา มีจุดประสงค์สร้างความวุ่นวายแก่บ้านเมือง และการโพสต์เฟซบุ๊กซ้ำเป็นการกระทำในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ จึงถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานเพิ่มเติมว่า ในวันนี้ (5 พ.ค. 2565) ศาลไม่ได้เบิกตัวตะวันมาเข้าร่วมการไต่สวนแต่อย่างใด โดยให้เหตุผลว่าเป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดต่อ รวมถึงเห็นว่าผู้ต้องหาได้แต่งตั้งทนายความในคดีนี้แล้ว ซึ่งสามารถทำการเบิกความคัดค้านแทนได้ โดยไม่จำเป็นต้องเบิกตัวผู้ต้องหาจากทัณฑสถานหญิงกลาง

พ.ต.ท.สำเนียง โสธร ผู้ยื่นคำร้องเบิกความว่า เช้าวันนี้ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังตะวันต่อไปอีก 12 วัน เนื่องจากจำเป็นจะสอบปากคำพยานอีก 2 ปาก ได้แก่ แพทย์นิติเวชผู้ตรวจร่างกายผู้ต้องหาและเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนที่ได้รับบาดเจ็บหลังเข้าทำการจับกุมผู้ต้องหา และพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อขอความเห็นประกอบสำนวนคดี

พยานอีก 2 ปากที่เหลือนั้น เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งคู่ ด้านพยานแพทย์นิติเวชพยานได้ทำการตรวจร่างกายผู้ต้องหาและตำรวจแล้วเสร็จ เหลือเพียงการสอบปากคำเท่านั้น

ส่วนพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมาย พนักสอบสวนบอกว่ายังไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นผู้ใด โดยจะแจ้งให้ทราบในภายหลังเมื่อหาพยานปากดังกล่าวได้แล้ว การสอบปากคำพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายนั้นมีจุดประสงค์เพื่อขอความเห็นไปประกอบสำนวนคดีว่า ผู้ต้องหากระทำผิดตามมาตรา 112 จริงและอย่างไรบ้าง เพื่อให้ศาลเข้าใจว่าการกระทำของผู้ต้องหามีความผิดจริง

ทนายความผู้ต้องหาคัดค้านการขอฝากขัง โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาเป็นเพียงนักศึกษา ไม่มีอิทธิพลต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานทั้ง 2 ปากได้ แม้จะไม่ขังผู้ต้องขังไว้ ผู้ต้องหาก็ไม่อาจทำให้การสอบสวนของตำรวจเสียหายได้ และพนักงานสอบสวนยังดำเนินการสอบปากคำพยานได้ตามปกติ

พ.ต.ท.สำเนียง เบิกความว่า เห็นด้วยว่าผู้ต้องหาไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานทั้ง 2 ปากที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐได้ และเป็นบุคคลที่ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าเป็นใครได้ โดยรับด้วยว่าผู้ต้องหาไม่มีทีท่าจะหลบหนี และเมื่อมีหมายเรียกก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี

ทนายเบิกความว่า ตะวันถูกขอฝากขังมานาน 16 วันแล้ว ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ไม่เคยหลบหนี ตามมานัดหมายของศาลตลอด ศาลเรียกตัวมาไต่สวน ในวันที่อาจจะมีการถอนประกันก็ไป ไม่เคยบ่ายเบี่ยงหรือผิดนัดแม้แต่ครั้งเดียว ส่วนผู้ปกครองก็มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งเช่นกัน และยังมีสถานที่ทำงานให้สามารถติดตามตัวได้อีกด้วย

พ.ต.ท.สำเนียง บอกว่า “แต่คดีนี้ศาลเคยปล่อยตัวชั่วคราวไปแล้ว แต่ถูกเพิกถอนประกันไปเองเพราะทำผิดเงื่อนไข” ซึ่งในส่วนดังกล่าว ทนายความก็ได้ทำการย้ำอยู่หลายต่อหลายครั้งว่า การมาขอฝากขังของพนักงานสอบสวน กับการที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่าผิดเงื่อนไขประกันเป็นคนละเรื่องกัน

ทนายถามย้ำพนักงานสอบสวนอีกว่า “ผู้ต้องหามีที่อยู่เป็นหลักแหล่งใช่ไหม” พ.ต.ท.สำเนียง ตอบว่า “ใช่”

ทนายถามอีกว่า “ผู้ต้องหาเป็นนักศึกษาไม่มีอิทธิพลจะไปยุ่งเหยิงกับพยานทั้ง 2 ปากที่เป็นข้าราชการใช่หรือไหม” พ.ต.ท.สำเนียง ตอบว่า “ใช่” และทนายถามอีกว่า “ผู้ปกครองของผู้ต้องหามีก็ที่อยู่อาศัยและสถานที่ทำงานเป็นหลักแหล่งใช่หรือไม่” พ.ต.ท.สำเนียง ก็ตอบอีกว่า “ใช่”

ทนายสอบถามว่า เหตุที่ขอฝากขังต่ออีก 12 วัน เพราะตำรวจมีเหตุผลอย่างเดียว คือ ‘กลัวผู้ต้องหาหลบหนีใช่หรือไม่’ ซึ่งทาง พ.ต.ท. สำเนียงกลับไม่สามารถตอบได้ชัดเจนตลอดการไต่สวน และเลี่ยงที่จะไม่ตอบตรงๆหากแต่กล่าวเพียงว่าตำรวจ จะต้องมาขอให้ขังทุกครั้งไป เพราะยังทำการสอบสวนไม่เสร็จ โดยทนายความก็ได้อธิบายต่อหน้าผู้พิพากษาและตำรวจผู้ร้องเพิ่มเติมว่า การทำงานของตำรวจนั้นล่าช้ามากและเป็นการขังผู้ต้องขังไว้อย่างไม่มีความจำเป็น ผิดเจตนารมณ์ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และการมาขอฝากขังของตำรวจนั้น ที่จริงเป็นคนละเรื่องกับการถอนประกันจากเหตุที่เด็กผิดเงื่อนไขการประกันตัวของศาล การฝากขังผู้ต้องหา ที่ยังไม่ใช้จำเลย อัยการยังไม่ได้สั่งฟ้องแต่อย่างใดนั้น จะต้องทำไม่เกินแก่ความจำเป็น ก่อนหน้านี้ตำรวจก็ได้ขอฝากขังต่อศาลไปแล้วเป็นเวลา 12 วันจนครบผัด โดยอ้างว่าต้องสอบปากคำพยานจำนวน 4 ปาก แต่ 12 วันผ่านไปตำรวจสอบปากคำพยานเสร็จแค่ 2 ปาก ยิ่งนับว่าช้ามาก

ทนายกล่าวต่อว่า “กฏหมายมอบอำนาจให้ทนายความพิทักษ์ผลประโยชน์ของผู้ต้องหา ไม่ให้ผู้ต้องหาสูญเสียสิทธิและเสรีภาพ และย้ำว่าการขังผู้ต้องหาต่อไป ไม่ได้มีความจำเป็นและมีประโยชน์ใดๆ”

ทนายถามย้ำพนักงานสอบสวนอีกครั้งเพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในการคัดค้านขอฝากขังว่า “ไม่เคยเห็นผู้ต้องหามีพฤติการณ์ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานมาก่อนใช่หรือไม่” พ.ต.ท.สำเนียง ตอบว่า “ใช่” ทนายถามอีกว่า “ผู้ต้องหาไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนีใช่หรือไม่” ซึ่งในครั้งนี้ พ.ต.ท.สำเนียง ตอบว่า “ไม่ทราบ”

จากนั้นทนายผู้ต้องหาได้สรุปเหตุผลในการขอคัดค้านการฝากขังว่า ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 ระบุไว้ชัดเจนว่า "ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้ เกินกว่าความจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี" และประกอบกับเหตุผลดังต่อไปนี้

1. ผู้ต้องหาไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้

2. พนักงานสอบสวนไม่มีความจำเป็นที่จะต้องผู้ต้องหาไว้ต่อไป

3. ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

4. พยาน 2 ปาก ที่พนักงานสอบสวนจะต้องสอบปากคำนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและไม่มีความเกี่ยวข้องกับผู้ต้องหาไม่ว่าทางใด

5. พนักงานสอบสวนผู้ยื่นคำร้องขอฝากขังให้การยืนยันด้วยตนเองว่า ‘ไม่กลัวว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี’

จากนั้นศาลกล่าวว่า “การสอบปากคำพยานผู้เชี่ยวชาญด้านกฏหมายเพื่อขอความเห็นมาประกอบสำนวนคดีนี้นั้นไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด อีกทั้งผู้ต้องหาถูกคุมขังมาเป็นเวลานานแล้ว ตำรวจควรรีบดำเนินการสอบปากคำพยานให้แล้วเสร็จโดยเร็ว พยานปากไหนที่ไม่สำคัญก็ให้ตัดออกไปได้”

ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตะวันตามคำร้องของพนักงานสอบสวนต่อไปอีก 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 6 - 12 พ.ค. 2565 เนื่องจากเห็นว่าพนักงานสอบสวนมีความจำเป็นที่จะต้องสอบปากคำพยานอีก 2 ปาก โดยระบุในคำสั่งเพิ่มเติมว่า หากพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาอีกในครั้งหน้าศาลจะพิจารณาโดยเคร่งครัด

หลังอ่านคำสั่ง ศาลได้บอกว่า “อนุญาตให้ฝากขังต่ออีก 12 วัน แต่บอกไม่ได้ว่าจะเป็นการอนุญาตให้ฝากขังครั้งสุดท้ายหรือไม่” และได้กำชับพนักงานสอบสวนครั้งสุดท้ายว่า “ขอให้เร่งรัดการสอบสวนขึ้นอีกนิดหนึ่ง”

 

อ่านข่าวต้นฉบับที่ : https://tlhr2014.com/archives/43335 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท