​​​​​​​รู้จัก ‘ตะวัน ตัวตุลานนท์’ จากผู้ทำโพลล์ #ขบวนเสด็จ สู่ผู้ต้องหา ม.112

รายงานสัมภาษณ์ ‘ตะวัน’ นักกิจกรรมอิสระ ผู้ร่วมจัดกิจกรรมทำโพลล์ #ขบวนเสด็จ ใจกลางสยาม ที่ตัดสินใจทิ้งชีวิตการเรียนในสิงคโปร์กลับมาเปิดหน้าสู้กับความอยุติธรรมในสังคมไทย พร้อมอัปเดตชีวิตติด EM และการถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ตั้งแต่ประตูบ้านถึงทางด่วน รวมถึงเรื่องราวมุมอื่นๆ ของชีวิตที่เป็นเพียง ‘วัยรุ่นวัย 20 ผู้แสวงหาความสุขง่ายๆ แบบคนทั่วไป’

ช่วงบ่ายแก่ๆ วันหนึ่งช่วงปลายเดือน มี.ค. 2565 เป็นวันที่อากาศใน กรุงเทพฯ ไม่ได้แจ่มใสนัก ฟ้าครึ้มเหมือนฝนจะตก อากาศร้อนอบอ้าว ดูแล้วบรรยากาศค่อนข้างน่าอึดอัดเหมือนสถานการณ์การเมืองไทยที่เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว เดี๋ยวฝนเดี๋ยวแล้ง ถึงอากาศในวันนั้นจะดูเอาแน่เอานอนไม่ได้แต่ก็ยังพอมีสายลมเย็นๆ พัดโชยมาช่วยให้คลายความน่าอึดอัดนั้นลงได้ ในวันนั้นเอง ประชาไทได้นัดหมายกับ 'ทานตะวัน ตัวตุลานนท์' หรือ ‘ตะวัน’ อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวังที่ตอนนี้ผันตัวมาเป็นนักเคลื่อนไหวอิสระ เพื่อพูดคุยถึงเรื่องราวชีวิต ความเป็นมา ความฝัน การเคลื่อนไหวทำกิจกรรม คดีความ ม.112 ไปจนถึงงานอดิเรก และศิลปินคนโปรด พร้อมให้ ‘ตะวัน’ พาเดินเที่ยวรอบรั้ววังและสนามหลวง

“สวัสดีค่ะ ชื่อตะวัน อายุ 20 ปี เป็นนักเคลื่อนไหวอิสระ ไม่ได้สังกัดกลุ่มไหน”

 

ตะวันกล่าวแนะนำตัวสั้นๆ เธอมาด้วยกางเกงขาสั้นและเสื้อยืดสีขาวสกรีนลายด้านหลังเป็นคำว่า ‘Death to Tyrants’ หรือแปลตรงตัวว่า ‘สิ้นสุดทรราช’ หรือจะแปลว่า ‘เผด็จการจงพินาศ’ ตามคำกล่าวของครอง จันดาวงศ์ ก็อาจจะมีความหมายทำนองเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ‘Death to Tyrants’ เป็นชื่อเพลงของวง SICK OF IT ALL วงดนตรีพังก์ร็อกสัญชาติอเมริกัน และวลีนี้มีที่มาจากภาษาละตินว่า ‘Sic semper tyrannis’ ซึ่งชาวตะวันนับตั้งแต่ยุคโรมันใช้เพื่อต่อสู้กับอำนาจที่กดขี่ประชาชน

 

ทำไมถึงทิ้งชีวิตการเรียนที่สิงคโปร์

ตะวันเล่าว่าช่วงเรียน ม.5 ที่ไทย เธอสอบผ่าน GED (General Educational Development) หรือการสอบเทียบวุฒิ ม.ปลาย (ม.6) ในระบบอเมริกัน และใช้ผลสอบดังกล่าวยื่นเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยในประเทศสิงคโปร์ ทำให้เธอย้ายไปศึกษาต่อและใช้ชีวิตที่นั่นระยะหนึ่ง หลังจากนั้น มหาวิทยาลัยปิดเพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้เธอต้องกลับไทยมาเรียนออนไลน์แทน แต่ปัจจุบัน ตะวันลาออกจากมหาวิทยาลัยที่สิงคโปร์ และกำลังรอสมัครเข้าเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

“ตอนแรกเรียนอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ สาขาการตลาด ช่วงที่กลับมาที่ไทยช่วงปิดเทอม ช่วงนั้นโควิดระบาดพอดี เขาเลยให้เรียนออนไลน์ แล้วช่วงที่เรียนออนไลน์ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีม็อบบ่อยมากๆ เราก็ไปร่วมม็อบตลอด แล้วก็ยังเรียนออนไลน์ไปด้วย จนเราออกมาเคลื่อนไหวหนักๆ เป็นนักกิจกรรม ตอนนั้น (ม็อบ) มันค่อนข้างหนักเหมือนกัน ก็เลยตัดสินใจที่จะออกมา ตอนนี้รอเข้านิติ รามฯ อยู่ค่ะ อยู่ในช่วงกำลังจะสมัครเข้าเรียน”

จากการตลาดสู่วิชากฎหมาย

“ตอนแรกที่เลือกเรียนการตลาดเพราะที่บ้านทำธุรกิจ เราก็ตั้งใจว่าเผื่อจะเอามาใช้กับธุรกิจของที่บ้านได้ แต่ว่าพอเราได้มาม็อบ ได้ศึกษาการเมือง เราเริ่มรู้สึกว่าเราไม่อยากนิ่งเฉย เราเลยตัดสินใจที่จะออกมาตรงนี้ ช่วยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะช่วยได้ เพื่อเปลี่ยนแปลง คิดว่านิติน่าจะเป็นหนึ่งในสาขาที่ช่วยในด้านนี้ได้มากที่สุด ก็เลยเลือกเรียนนิติศาสตร์ค่ะ”

หลักนิติธรรมในกฎหมายไทย ณ ปัจจุบัน

“ค่อนช้างชัดเจนว่ามันไม่มีความชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้น แค่คุณมีอำนาจ คุณจะทำอะไรก็ได้ ช่วงแรกๆ ที่เราได้รับรู้มา เราได้รับรู้แต่ยังไม่ได้โดนกับตัว แต่พอยิ่งมาโดนกับตัว มันยิ่งรู้สึกว่าประเทศมันแย่จริงๆ แล้วระบบยุติธรรมมันพังไปหมดแล้ว พังไปแบบไม่มีชิ้นดี เรารู้สึกโกรธมากๆ แล้วก็รู้สึกว่าสุดท้ายแล้วเราทุกคนจะต้องเปลี่ยนตรงนี้ให้ได้ ให้มันยุติธรรมจริงๆ ในประเทศไทย”

จากผู้ชุมนุม สู่การ์ดวีโว่ และการเปิดหน้าสู้ในฐานะนักเคลื่อนไหว

ตะวันบอกว่าหลังจากกลับมาอยู่ไทยและติดตามข่าวการเคลื่อนไหวชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา เธอได้เข้าร่วมการชุมนุมหลายครั้ง และตัดสินใจมาสมัครเป็นการ์ดอาสาของกลุ่มมวลชนอาสา หรือ We Volunteer ที่เรียกสั้นๆ กว่ากลุ่มวีโว่ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตะวันได้รู้จักเครือข่ายนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรม และเธอยังบอกอีกว่า เธอไม่ได้รู้สึกกลัวที่จะมาเป็นการ์ดวีโว่ ซึ่งเป็นกลุ่มที่คอยช่วยเหลือและดูแลความปลอดภัยให้ผู้ชุมนุม

“ไม่กลัวค่ะ เราตัดสินใจแล้วที่จะไปตั้งแต่แรก ถ้ากลัวเราก็คงไม่สมัครแต่แรก ตอนแรกที่เราสมัคร เรารู้สึกว่าเราอยากจะทำอะไรสักอย่างขอแค่ช่วยให้ได้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เพราะว่าก่อนหน้านั้นเราเป็นมวลชน แล้วเราก็ไปร่วมม็อบ แต่เรารู้สึกว่าครั้งแรกที่ฉีดน้ำตอน 16 ตุลา (#ม็อบ16ตุลา ที่แยกปทุมวัน) เราทำได้แค่ส่งน้ำ ส่งอะไรไปข้างหน้า คอยช่วยเขา เรารู้สึกว่าเราอยากทำอะไรได้มากกว่านี้”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“หลังจากนั้นก็มีอีกเหตุการณ์หนึ่ง ตอนที่เพนกวิน (พริษฐ์ ชิวารักษ์) กับพี่ไมค์ (ภาณุพงศ์ จาดนอก) ถูกปล่อยตัวออกมาแล้วก็จะโดนอายัดตัวต่อ แล้วก็มีความรุนแรงเกิดขึ้น เราทำได้แค่ดูไลฟ์อยู่บ้าน แล้วมันโกรธมากที่เราทำอะไรมากกว่านี้ไม่ได้ ก็เลยไปหาดูว่ามีการ์ดไหนที่รับสมัครบ้าง แล้วก็ไปเจอ[กลุ่มวีโว่] หลังจากนั้นก็ตัดสินใจเป็นการ์ด มันไม่มีความกลัวอยู่ในนั้นเลยนะเพราะรู้สึกว่าอารมณ์เหมือนแบบเราต้องสู้อย่างเดียว ต่อให้ต้องกลัวอะไร เราไม่กลัว เหมือนแบบชนไปเลย”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“ยกตัวอย่างกรณีวันที่ 17 พ.ย. 2563 ตรงหน้า บริษัทบุญรอดฯ (#ม็อบ17พฤศจิกา ที่หน้ารัฐสภา) เราก็พยายามเอาพวกน้ำเปล่า ช่วยดับแก๊สให้ ช่วยล้างหน้าล้างตาให้กับคนที่เขาโดนแก๊สให้ได้มากที่สุด คืออยู่บริเวณช่วงแนวหน้าด้วย และช่วงกลางๆ ด้วย พยายามช่วยคนที่ได้รับอุบัติเหตุจากแก๊สหรือจากอะไรให้ได้มากที่สุด วันนั้นก็อ่วมอยู่เหมือนกัน เพิ่งเข้าใจว่าความตายมันเป็นยังไงจากการโดนแก๊สครั้งแรก เพราะมันจะตายจริงๆ มันหายไปใจไม่ออก ทุรนทุรายมากๆ แต่พอโดนไปเรื่อยๆ ร่างกายเหมือนคงค่อยๆ ชินมั้ง อันนั้นก็คือหนึ่งในเหตุการณ์ตอนที่เราเป็นการ์ดแล้ว แล้วหลังจากนั้นก็คือช่วยเรื่องจราจรบ้าง มีไปอยู่ด้านหลังบ้าง แนวหน้าบ้าง แล้วแต่ว่าภารกิจนั้นๆ จะทำอะไร”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ตะวันเล่าว่าหลังจากที่เธอมาเป็นการ์ดของกลุ่มวีโว่และร่วมกิจกรรมทางการเมืองมากขึ้น ได้มีนักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำมาชวนไปทำกิจกรรมอย่างจริงจัง และกิจกรรมแรกที่ทำคือการยื่นหนังสือที่ทำหน้ารัฐบาลเนื่องในวันครบรอบ 1 ปีการอุ้มหาย ‘วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์’ นักเคลื่อนไหวและผู้ลี้ภัยการเมืองชาวไทยที่ถูกลักพาตัวขึ้นรถตู้บริเวณหน้าที่พักในกรุงพนมเปญ เมืองหลวงของกัมพูชา และหายสาบสูญมาเป็นเวลาเกือบ 1 ปีครึ่ง

 

“หลังจากนั้นก็เริ่มทำกิจกรรมมากขึ้น ได้มีส่วนร่วมมากขึ้น มีการร่วมกิจกรรมช่วยหลายอย่าง มีการปราศรัยบ้างอะไรบ้าง พอหลังๆ ก็เริ่มมีการคิดกิจกรรมเองกับกลุ่มเพื่อนแล้วก็ทำกันเอง”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

ทำไมต้องทำโพลล์ติดสติกเกอร์

ตะวันบอกว่าก่อนหน้านี้เธอทำกิจกรรมในนามกลุ่มทะลุวัง และกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของทางกลุ่มที่ทำให้คนจดจำได้คือการทำโพลล์ติดสติกเกอร์ ตั้งคำถามเกี่ยวกับขบวนเสด็จที่ลายน้ำพุ หน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน ตะวันเล่าว่าสาเหตุที่ทำให้เธอและกลุ่มเพื่อนลุกขึ้นมาทำกิจกรรมดังกล่าวเพราะก่อนที่หน้านั้นมีนักกิจกรรมที่ จ.นครสวรรค์ ถูกตำรวจคุกคาม และตำรวจอ้างเหตุผลว่าในวันนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จไป จ.นครสวรรค์ จึงต้องเฝ้าระวังนักกิจกรรมเป็นพิเศษ ประกอบกับจากการทำกิจกรรมที่ผ่านๆ มา มีคนบอกว่าการทำโพลล์สอบถามความคิดเห็นน่าจะสะท้อนสังคมได้ดี ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของกิจกรรม ทำโพลล์สอบถาม ‘คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่’

“ลงพื้นที่ไปเลย ให้เห็นไปเลยว่าคนในพื้นที่ที่เดินผ่านไปผ่านมาตรงนั้นเขาคิดเห็นอย่างไร แล้วเขามาติดจริงๆ เราไม่ได้มานั่งติดกันเอง แล้วมันก็ค่อนข้างสะท้อนเสียงของสังคมได้ดีจริงๆ ว่านี่คือเสียงของประชาชน แล้วเขาเดือดร้อนจริงๆ”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

บางคนมองว่าเรียกร้อง ‘ขบวนเสด็จ’ เป็นการลดเพดานปฏิรูปสถาบันฯ

ตะวันบอกว่าส่วนตัวแล้ว เธอคิดว่าการเคลื่อนไหวโดยใช้เรื่องขบวนเสด็จมาเป็นประเด็นหลักไม่ได้ทำให้แก่นสารของข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เปลี่ยนไป และไม่ใช่การลดเพดานข้อเรียกร้อง แต่เป็นการนำประเด็นย่อยที่เห็นได้ค่อนข้างเป็นรูปธรรมมาพูดคุยและนำไปสู่ประเด็นใหญ่ เพื่อให้คนที่ยังไม่เข้าใจหรือไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องนี้ได้มีโอกาสรับรู้อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่าสถาบันกษัตริย์เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนอย่างไร 

“เรามองว่ามันไม่ได้ลดนะ เรามองว่าเหมือนเป็นการต่อสู้ด้านวัฒนธรรมและด้านความคิด เพราะเรารู้สึกว่าสถาบันกษัตริย์อยู่กับเราทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องซุ้มก็ตาม หรือว่าขบวนเสด็จก็ตาม หลายๆ อย่างอะ เรารู้สึกเหมือนว่ามันเป็นการค่อยๆ ตีประเด็นไปทีละเรื่องเกี่ยวกับสถาบันฯ มากกว่า”

ประเด็นอื่นๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่อยากนำเสนอต่อสังคม

“จริงๆ เรื่องงบประมาณสถาบันกษัตริย์นี่ก็น่าสนใจนะคะ 3 หมื่นกว่าล้านบาทต่อปี จริงๆ เราสนใจเรื่องเบี้ยคนชราด้วย ถ้าสมมติว่าเราสามารถแบ่งงบประมาณสถาบันกษัตริย์มาได้ เบี้ยคนชรา 600 บาทต่อเดือนอาจจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 3,000 บาทต่อเดือนก็ได้ เพราะว่า 600 บาทต่อเดือน เขาไม่สามารถอยู่ได้อยู่แล้ว แล้วสมมติถ้าทำให้คนเข้าใจเรื่องงบสถาบันกษัตริย์ได้ว่ามันมากเกินความจำเป็น เราควรจะลดแล้วกระจาย[งบประมาณ]ต่อไปยังไง ทำให้คนเข้าใจถึงตรงนี้ คิดว่ามันน่าจะมีประโยชน์ในอนาคตมากๆ ถ้าวันหนึ่งเราสามารถลดงบสถาบันกษัตริย์ได้”

 

การโดนกีดกันไม่ให้รับเสด็จฯ

“มันเป็นเรื่องที่คาดเดาได้อยู่แล้ว ถ้าเราทำกิจกรรม มันจะมีการปิดขั้นเกิดขึ้น แต่ว่าไม่ว่าเขาจะมาในรูปแบบไหนก็ตาม เราจะมีการประเมินความปลอดภัย ประเมินทุกสิ่งอย่างก่อน ถ้าสมมติมันไม่เป็นไปอย่างที่คิดก็ประเมินหน้างานเลยว่าจะปรับเปลี่ยนสถานการณ์อย่างไร”

รู้ว่าโดนกีดกันแต่ขอยืนยันว่าต้องการเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ

ตะวันบอกว่าในฐานะที่เป็นประชาชนผู้จ่ายภาษีให้กับรัฐ และรัฐได้นำภาษีที่เก็บได้ไปจัดสรรเป็นงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งหนึ่งในงบประมาณแผ่นดินมีงบของสถาบันกษัตริย์รวมอยู่ด้วย สถาบันกษัตริย์จึงมีส่วนได้ส่วนเสียกับการเมือง เธอมองว่าด้วยเหตุนี้ ประชาชนผู้จ่ายภาษีทุกคนจึงควรจะมีสิทธิที่จะเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ ไม่ใช่เพียงแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

“ตัวอย่างเช่น ตอนกิจกรรมแจกโบว์แดงกับโบว์น้ำเงิน เราก็ยืนยันว่ามีแค่โบว์ 2 สี จะไปทำอันตรายกับใครได้ เพราะฉะนั้น การเข้าเฝ้ารับเสด็จฯ หรือการสื่อสารโดยตรงต่อกษัตริย์หรือต่อสมาชิกราชวงศ์คนใดก็แล้วแต่ เราไม่มีอาวุธใดๆ เข้าไปในพื้นที่ตรงนั้น เราไม่มีทางก่อเหตุอันตรายใดๆ ได้ และเราไม่คิดที่จะก่อเหตุอันตราย อย่างมากที่เราจะทำก็คือการสื่อสารโดยตรง ไม่ว่าเราจะใช้ป้ายหรือทำกิจกรรมสื่อสารใดๆ เราไม่อยากให้มันมีความรุนแรงหรืออะไรเกิดขึ้นอยู่แล้ว เรารู้สึกว่าในฐานะประชาชนคนหนึ่งที่จ่ายเงิน จ่ายภาษี และเงินนั้นไปลงในงบสถาบันกษัตริย์ เราควรจะมีสิทธิ์ได้เข้าเฝ้าหรือรับเสด็จฯ เพื่อที่จะสื่อสารต่อเขาว่ามันมีปัญหาเกิดขึ้นในประเทศนี้”

หากต้องเผชิญหน้ากับกลุ่มรอยัลลิสต์ที่มารอรับเสด็จ

“จริงๆ รู้สึกว่ามันไม่จำเป็นต้องเตรียมแผนรับมือขนาดนั้น เพราะเรารู้สึกว่าถ้าเขาจะเข้ามาหาเราจริงๆ ถ้าเขามาในมุมที่ว่าอยากแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตรงนี้เราเปิดใจมากๆ เราเปิดรับทุกคนเข้ามา และยินดีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เข้ามาเลย เราพร้อมคุย แต่ถ้ามาในรูปแบบความรุนแรง จะใช้กำลังกับเรา เราก็รู้สึกว่าเรามีสิทธิที่จะป้องกันตัวเองเหมือนกัน”

“ถ้าเขาจะทำอะไรด้วยความรุนแรง อย่างที่เราเคยได้ยิน คนเขาพูดกันว่ากลุ่มคนรักสถาบันฯ เหมือนเขาสวมหัวของตัวเองไว้ว่าเขาคือคนที่ปกป้องสถาบันฯ และไม่ว่าการกระทำใดๆ ก็ตามที่เขาทำ มันจะส่งผลไปถึงสถาบันฯ ด้วย ทีนี้ ถ้าเขาใช้ความรุนแรงกับเรา มันก็สามารถตอบกลับไปได้ชัดเจนว่าคนที่เรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มปกป้องสถาบันฯ เขาทำแบบนี้ เขาใช้ความรุนแรงแบบนี้เหรอ”

[คลิป] ตะวัน ถูกหญิงสวมเสื้อเหลืองแสดงความไม่พอใจที่มีสติกเกอร์ 'กูKult' | 6 เม.ย. 65

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เมื่อฉันเป็นผู้ต้องหา ม.112

“ครั้งแรกที่โดน ม.112 ตอนแรก เรางงก่อน เอ้า จะแจ้ง ม.112 ได้อย่างไร ไม่เข้าเงื่อนไขด้วยซ้ำ” ตะวันเล่าถึงเหตุการณ์ช่วงเย็นวันที่ 5 มี.ค. 2565 ที่เธอถูกควบคุมตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) หลังทำกิจกรรมที่หน้าสำนักงานองค์การสหประชาชาติ (UN)

“พอได้สำนวนหรือบันทึกจับกุมจากตำรวจ เราก็นั่งอ่าน อ่านปุ๊บ แล้วเราก็นั่งขำ คุณเอาเรื่องพวกนี้มา ‘ตีความ’ ว่ามันเข้าเงื่อนไข ม.112 ได้อย่างไร คือเขาเอาคำพูดจากในไลฟ์มาตีความว่ามันเป็นการดูหมิ่น การด้อยค่าสถาบันกษัตริย์ พอเรานั่งอ่าน เราก็ขำ”

ตะวันเล่าต่อไปว่าหลังจากอ่านบันทึกจับกุมเสร็จ ตำรวจบอกกับเธอว่า ‘อ่านเองแล้วเนาะ งั้นไม่ต้องอ่านให้แล้ว’ ทั้งที่จริงๆ แล้ว กฎหมายระบุไว้ว่าพนักงานสอบสวนผู้ทำบันทึกจับกุมจะต้องเป็นผู้อ่านบันทึกจับกุมนั้นให้ผู้ต้องหาฟัง เธอจึงบอกตำรวจไปว่า ‘ไม่ค่ะ อยากฟัง อยากฟังตำรวจอ่านบันทึกจับกุม’ และคิดในใจว่าเผื่อตำรวจจะคิดได้บ้างว่าเขาจับเด็กคนหนึ่งเพราะเหตุผลอย่างนี้ พร้อมบอกว่าเธอยิ่งรู้สึก ‘งง’ มากกว่าเดิมเมื่อตำรวจที่ บช.ปส. บอกว่าตำรวจ สน.ปทุมวันจะมาแจ้งข้อหา ม.112 และ ม.116 เพิ่ม จากการที่เธอจัดกิจกรรมโพลล์ขบวนเสด็จที่บริเวณลานน้ำพุหน้าศูนย์การค้าสยามพารากอนเมื่อวันที่ 8 ก.พ. ที่ผ่านมา (อ่านบันทึกการจับกุมทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คลิกที่นี่)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

“เราก็เลยงงว่ามันยิ่งไม่เข้าใหญ่เลย เพราะว่าเรามีกระดาษแผ่นหนึ่งที่เขียนว่าเดือดร้อนกับไม่เดือดร้อน กับเรื่องขบวนเสด็จ เราไม่ได้บังคับให้ใครมาติด เรามี 2 ฝั่ง และเราพูดตลอดว่าพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่ว่าคุณจะมีความคิดเห็นอย่างไร คุณสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นได้ ไม่ว่าคุณจะคิดอย่างไรก็ตาม ไม่ว่าคุณจะคิดว่ามันไม่เดือดร้อน คุณก็เข้ามาติดสติกเกอร์ตรงนี้ได้เหมือนกัน แต่มันกลายเป็นว่าเราโดน ม.112 ไปหมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ สมเด็จพระราชินี องค์รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทน แล้วก็ ม.116 ที่ว่าเป็นการยุยงปลุกปั่น ซึ่งเราก็ไม่เข้าใจว่ามันเป็นการยุยงปลุกปั่นยังไง ในเมื่อตรงนั้นมันเป็นเสียงของประชาชนที่เขามาเลือก มาแปะเองว่าเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน มันเลยกลายเป็นความรู้สึกที่ว่าหนึ่ง งงมากกว่า และสองก็คือมันตลก คุณมายัด (ข้อหา) ได้อย่างไร มันไม่เข้าอะไรเลย”

ภาพของ ‘ตะวัน’ หลังถูกปล่อยตัวจาก บช.ปส. เมื่อช่วงเย็นวันที่ 7 มี.ค. 2565
โดยเธอถูกจับกุมและคุมขังตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 5 มี.ค. 2565 (ภาพโดยแมวส้ม)
 

“ยิ่งคุณยัดกฎหมายมาตรานี้ให้กับประชาชนให้กับคนที่เขาออกมาพูดถึงเรื่องกฎหมายมาตรานี้หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม ยิ่งคุณยัดเข้าไป มันจะยิ่งเห็นว่ามันมีกฎหมายที่จะคุ้มครองคนๆ หนึ่ง มันมีกฎหมายที่ทำให้เขาอยู่เหนือกว่าประชาชนทั่วไป มันเป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม มันเป็นกฎหมายที่อัตราโทษสูง มันเป็นกฎหมายที่ไม่ควรมีใครโดนกฎหมายนี้ มันไม่สมควรเลยที่จะต้องเกิดขึ้นมาแต่แรกด้วยซ้ำ”

การถูกคุกคามจากรัฐ: ตำรวจเฝ้าบ้าน

“จริงๆ มีมาเฝ้าหน้าบ้านบ่อยมากๆ มีทั้งขับรถตาม แต่ว่ารอบแรกๆ ที่มา เราไม่มั่นใจว่าใช่[เจ้าหน้าที่]ไหม กลัวว่าคิดไปเอง ก็เลยบอกเพื่อนที่เขาขับรถว่างั้นขับช้าๆ แล้วกัน เราจะรอดูว่าใช่ไหม ชัวร์หรือเปล่า เพื่อความชัวร์ ทีนี้ก็เลยลองขับช้าๆ ดู สรุปว่าเขาก็ตาม เพื่อความชัวร์กว่านี้อีก ก็ขับแล้ววนกลับมา[ถนน]เส้นเดิมอีกรอบ เขาก็วนกลับมาอีก ก็ ‘โอเค ใช่ละ’ หลังจากนั้นก็มีวนมาอีก แต่ว่าก็ยังไม่มั่นใจเหมือนกันว่าเขาจะตามเราจริงๆ เหรอ แต่ว่าพอหลังๆ เราเริ่มรู้สึกว่าใช่แหละ ไม่ต้องเช็กแล้ว”

“แล้วก็ครั้งหนึ่ง มีมาบ้านเป็นสิบคนเลย มาพร้อมกับผลไม้ ส้มหนึ่งถุง แล้วก็ยื่นให้แม่ บอกว่าอยากคุยด้วย อยากคุยกับคุณพ่อ อยากคุณกับคุณแม่ อยากคุยกับน้อง (ตะวัน) เราก็ไปคุยนะ เขาก็ถามเราว่าอยากรู้ว่า ทำไมถึงออกมา มีความคิดเห็นอย่างไร เหมือนเขาก็อยากรู้ว่ามีใครอยู่เบื้องหลังเราหรือเปล่า เพราะเขาก็ถามว่า ‘มีพรรคการเมืองไหนเป็นไอดอลไหม’ เราก็บอกว่า ‘ไม่มีค่ะ’ เพราะว่าเราก็ไม่มีจริงๆ เราไม่ได้รู้สึกว่าเราบูชาใครหรือว่าเราบูชาพรรคไหนเป็นพิเศษ เพราะเรารู้สึกว่าต่างคนต่างความคิดเห็น คนๆ หนึ่งมันก็มีทั้งแบบที่เราเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย”

 

“วันนั้นก็นั่งคุยกับเขา (ตำรวจ) ไป ก็ได้แค่นั้น เราก็แค่บอกว่าเขาว่าเราออกมาเพราะมันเห็นว่ามีปัญหาจริงๆ เขาก็บอกประมาณว่า ‘แต่สิ่งที่น้องทำมันกระทบกับพี่นะ ถึงน้องจะแค่โพสต์ลงเฟซบุ๊กเฉยๆ ก็ตาม’ เราก็เลยบอกว่า ‘ถ้าพี่มัวแต่กลัวแล้วเมื่อไรสังคมมันจะเปลี่ยนแปลง’ เราก็นั่งคุยกับเขาไป หลังจากนั้นก็มีขับตามบ้างเรื่อยๆ มาจอดหน้าบ้าน มานั่งเฝ้า อย่างล่าสุด พีคสุดก็ของประชาไทนี่แหละที่ขับขึ้นทางด่วนด้วยมอเตอร์ไซค์ ตอนแรกก็ไม่คิดว่าเขาจะกล้าขับขึ้น (ทางด่วน) แต่เขาก็ขับตามจริงๆ เราก็ค่อนข้างให้คะแนนในความพยายาม แต่เรารู้สึกว่าเขาควรเอาความพยายามตรงนี้ไปใช้กับเรื่องที่มันเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ให้คุ้มกับภาษีที่เขาได้รับมากกว่า”

[คลิป] ‘ตะวัน’ ถูกตำรวจติดตาม ขณะเดินทางทำกิจกรรม | 18 มี.ค. 65

ชีวิตหลังทำกิจกรรมเปลี่ยนไปยังไงบ้าง

“มันเหมือนเราก้าวขาข้างหนึ่งเข้าคุกไปแล้ว ถ้าเราหยุดตอนนี้มันทันนะ แต่ว่ามันก็ไม่ได้มีเหตุจำเป็นอะไรที่เราจะต้องหยุด เพราะเหมื่อไรที่เราหยุด เรารู้สึกว่าเหมือนเรายอมแพ้ไปแล้ว คือโอกาสชนะมันอาจจะยากก็จริง แต่ก้ใช้ว่ามันจะเป็นไปไม่ได้ เราก็เลยรู้สึกว่าเราเลือกที่จะสู้ต่อไป และอาจจะสู้หนักกว่าเดิมด้วยเพราะเขายัดคดีให้เราแบบนี้ แต่ว่ามันก็มีจังหวะที่คิดนะว่าถ้าสมมติเราไม่ได้ออกมาอย่างนี้ เราก็อาจจะเป็นเด็กคนหนึ่งที่ตอนนี้อาจจะจบมหาวิทยาลัยแล้วก็ได้ ตอนนี้อาจจะกำลังทำงานที่บ้านหรือหางานอื่นทำ ใช้ชีวิตสนุกไปวันๆ แต่ว่าเราก็นั่งคิดในอีกมุมนึงว่าถ้าต้องให้ทนนิ่งเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองก็คงทำไม่ได้ เพราะว่ามันมีปัญหาหนักๆ ที่เกิดขึ้นจริงๆ แล้วประเทศมันแย่มากๆ แล้ว จะนิ่งเฉยกันอยู่ทำไม”

"ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์"

“เรารู้สึกว่ามันค่อนข้างกว้างอยู่เหมือนกัน”

ตะวันตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามถึงเงื่อนไขการประกันตัวทั้ง 4 ข้อ โดยเฉพาะข้อแรกที่ศาลระบุว่า “ห้ามทำกิจกรรมหรือการกระทำใดที่อาจเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์”

ตะวันบอกว่าเธอไม่คิดว่าการทำกิจกรรมของเธอที่ผ่านมาจะเป็นการทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย ไม่ว่าจะเป็นการทำโพลล์เรื่องขบวนเสด็จ หรือการผูกโบว์รณรงค์ยกเลิก ม.112 เพราะทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นการสอบถามความเห็นมหาชน และเธอยืนยันว่าเธอไม่ได้บังคับให้ผู้ที่มาร่วมติดสติกเกอร์หรือผูกโบว์ในข้อ ‘เดือดร้อน’ หรือ ‘ยกเลิก’ สิ่งที่สะท้อนจากการทำกิจกรรมนั้นเป็นความคิดเห็นของประชาชนที่แท้จริง นอกจากนี้ ตะวันยังบอกว่าการยกเลิกกฎหมาย ม.112 จะเป็นการเปิดทางไปสู่การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งจะทำให้สถาบันฯ คงอยู่ได้อย่างสง่างาม พร้อมบอกว่าการปฏิรูปสถาบันฯ ให้เป็นไปตามแนวทางของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ จะทำให้ไม่มีใครพูดจาเชิงเสียหายหรือสร้างความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ ในอนาคต

“เรารู้สึกว่าสิ่งที่เราทำมา กิจกรรมหรืออะไรก็แล้วแต่ มันไม่ใช่สิ่งที่ทำให้สถาบันฯ เสื่อมเสียเลยด้วยซ้ำ แล้วจะมาห้ามแบบนี้ก็ดู…ค่อนข้างแปลกๆ อยู่เหมือนกัน”

ชีวิตติด EM

“เราเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวหนึ่งว่ากำไล EM มันสามารถติดตาม GPS ได้ จากตอนแรกที่ตำรวจติดตามเรา ตอนนี้มันเหมือนกับว่าตำรวจไปอยู่ที่ข้อเท้าเราแล้ว เรารู้สึกแบบนั้นจริงๆ เพราะเขาสามารถรู้ว่าเราอยู่ที่ไหน”

“มันก็มีรู้สึกรำคาญบ้าง เจ็บบ้างเวลาเดิน มันไปโดนกับตรงกระดูก แล้วก็มีบางที่ตื่นมาแล้วลืมชาร์จไฟ ต้องเช็กว่าแบตจะหมดหรือยัง ถ้าไฟขึ้นสีส้ม เราต้องรีบตื่นมากลางดึกแล้วชาร์จ มันก็ค่อนข้างจุกจิกและยุ่งยากนิดหน่อย แต่ว่าก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าติดทำไม มันไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไร (ผู้สื่อข่าว - อาบน้ำต้องถอดไหม) ถอดไม่ได้ค่ะ อันนี้มันถอดไม่ได้เลย (ผู้สื่อข่าว - แสดงว่ากันน้ำได้) ใช่ค่ะ อันนี้กันน้ำได้”

 

ตะวันอธิบายการใช้งานกำไล EM ให้ผู้สื่อข่าวฟัง โดยบอกว่าตอนเจ้าหน้าที่ติดกำไล EM ที่ข้อเท้าให้ เธอได้รับพาวเวอร์แบงก์และอุปกรณ์ต่อพ่วงอื่นๆ มาด้วย เพราะเจ้าหน้าที่บอกว่ากำไล EM ควรชาร์จกับพาวเวอร์แบงก์จะปลอดภัยสุด เพราะไฟบ้านมีแรงดันสูง อาจทำให้อุปกรณ์เสียหายได้ เธอบอกว่าเคยลองชาร์จไฟบ้านบางครั้งแต่ไม่บ่อย ส่วนกรณีปล่อยให้แบตเตอรี่หมดนั้น เธอยังไม่เคยทำ และไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่เท่าที่รู้มาคือไฟจะขึ้นสีแดง และเจ้าหน้าที่จะโทรศัพท์มาบอกให้ชาร์จแบตเตอรี่ ในกรณีที่อุปกรณ์ชำรุดหรือได้รับความเสียหาย สามารถแจ้งเปลี่ยนกับทางศาลได้ แต่เธอไม่มั่นใจว่ามีค่าธรรมเนียมหรือไม่ ส่วนกรณีที่ศาลอนุญาตให้ถอดกำไล EM เธอต้องส่งมอบอุปกรณ์ทั้งหมดคืนต่อศาล หากในวันส่งมอบ อุปกรณ์สูญหาย เธอได้ยินมาว่าจะต้องจ่ายเงินชดเชยให้ศาลเป็นหลักหมื่นหรือหลักแสน

ข้อเรียกร้องของ ‘ตะวัน’

“3 ข้อที่พูดกัน คือ ประยุทธ์ออกไป ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันฯ แต่ถ้าเป็นข้อเรียกร้องตอนนี้ ส่วนตัวเลย อยากจะยกเลิก ม.112 ให้ได้ เพราะมันเป็นเหมือนก้าวแรก ถ้าเรายกเลิกตรงนี้ได้ เราจะมีพื้นที่ที่สามารถพูดถึงสถาบันกษัตริย์ได้มากขึ้น พูดถึงปัญหาว่าเราได้รับความเดือดร้อนอย่างไร มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น หลังจากนั้น เราถึงจะสามารถทำให้คนที่เขาไม่เข้าใจเราอยู่ตอนนี้ ทำให้เขาเข้าใจมากขึ้น และได้ทำให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ต่อไป”

กำลังใจในการต่อสู้ กำลังใจในการมีชีวิตอยู่

“เราแค่รู้สึกว่าว่าเรา…ความรู้สึกเราคือยอมแพ้ไม่ได้ แค่นั้นเลย ถ้าเรายอมตอนนี้ เราจะแพ้ แต่ถ้าเราสู้ต่อ โอกาสไม่ว่าจะน้อยแค่ไหน แต่มันก็ยังมีโอกาส เพราะฉะนั้นเราก็รู้สึกว่าแค่ว่าหยุดสู้ แค่นั้น คำว่า ‘อย่าหยุดสู้’ มันก็เป็นกำลังใจไปในตัวว่าเราต้องยิ่งเดินหน้าต่อไปเรื่อยๆ”

ว่างๆ ก็ดูการ์ตูน เล่นแคนดี้ครัช

ตะวันเล่าถึงกิจกรรมยามว่างหรืองานอดิเรกทั่วไปของเธอ ซึ่งแทบไม่ต่างอะไรกับคนอื่นๆ ในวัยเดียวกัน (หรือวัยต่างกัน) นั่นคือ การอ่านการ์ตูน ดูการ์ตูน และเล่นเกมในโทรศัพท์มือถือ

“ถ้าช่วงแรกๆ จะเป็นนั่งคิดอย่างเดียวว่าจะทำกิจกรรมอะไร ทำอย่างไรดี แต่ช่วงหลังๆ เริ่มมีการผ่อนคลายโดยการอ่านการ์ตูน ดูการ์ตูน แล้วก็เล่นเกมบ้างนิดๆ หน่อยๆ เวลาคิดกิจกรรมไม่ออก เดี๋ยวมันก็คิดออกเอง (ผู้สื่อข่าว - การ์ตูนเรื่องอะไร) ดูโดเรม่อนบ้าง ชินจังบ้าง อะไรอย่างนี้ค่ะ (หัวเราะ) ส่วมเกมก็แคนดี้ครัช (Candy Crush)”

ของวิเศษของโดเรม่อนที่อยากได้

“ประตูไปไหนก็ได้ ก็ดีนะ”

ตะวัน บอกว่าอยากได้ประตูวิเศษที่สามารถไปถึงขบวนเสด็จได้โดยไม่ต้องถูกตำรวจตำรวจไล่ล่า หรือสามารถเขาถึงและพูดคุยได้โดยตรง

 

สามัญชน ไฟเย็น และสแตมป์ อภิวัชร์

ตะวันเล่าต่อไปว่านอกจากงานอดิเรกที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว เธอก็ชอบฟังเพลงป๊อปตามกระแสนิยม ไม่ต่างอะไรกับวัยรุ่นคนอื่นๆ และมีนักร้องที่ชอบคือ ‘สแตมป์ อภิวัชร์’ แต่พอเริ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองมากขึ้น เธอก็เปลี่ยนแนวเพลงที่ชอบ และตอนนี้ก็ชอบเพลงของวงสามัญชนและวงไฟเย็น

“จริงๆ เราก็ชอบเพลงป๊อปแหละ แต่พอมาเคลื่อนไหวมันกลายเป็นเรานั่งฟังวงสามัญชน ไฟเย็น แบบนี้ เพลงแนวม็อบ เรานั่งฟังแบบนี้จนบางทีเราเปิดในรถจนพี่ที่นั่งมาด้วยแบบว่า ‘มึงฟังเพลงอื่นเถอะว่ะ กูรู้สึกเหมือนกูมาม็อบเลย’ เราก็โอเค พยายามเปิดเพลงอื่นบ้าง (ขำ)”

(ผู้สื่อข่าว - แล้วถ้าเป็นเพลงป๊อปทั่วไป มีศิลปินที่ชอบไหม) อู้ย… ‘แสตมป์ อภิวัชร์’ จริงๆ เป็นคนที่ชอบสแตปม์ อภิวัชร์ มาก (ยิ้ม) แต่ว่าก็ไม่ค่อยได้ฟังแล้ว ตั้งแต่ออกมา[ทำกิจกรรม] ก็กลายเป็นพี่ชูเวช (วงสามัญชน) แทน ชื่นชมพี่ชูเวช (หัวเราะ) วงไฟเย็นก็พี่จอมงี้”

(ผู้สื่อข่าว - ชอบเพลงอะไรบ้างของ 2 วงนี้) ตอนนี้ชอบเพลง ‘รุ้ง’ ของสามัญชน เพลง ‘คนที่คุณก็รู้ว่าใคร’ ก็เปิดบ่อย แต่ช่วงนี้จะเปิดเพลง ‘รุ้ง’ บ่อยมาก ไฟเย็นก็เพลง ‘สหาย’ อะไรอย่างนี้”

คลังข้อมูล 101 สำหรับคนอยาก ‘ตื่นรู้’ การเมืองไทย

“จริงๆ อ่าน ‘ฟ้าเดียวกัน’ เลย อ่านฟ้าเดียวกันแล้วคุณจะตาสว่างกับทุกอย่าง แนะนำเลย”

 

สังคมไทยที่ ‘ตะวัน’ อยากเห็น

“อยากเห็นทุกคนเท่ากันแบบเท่ากันจริงๆ ไม่มีใครอยู่เหนือใครทั้งในด้านกฎหมาย คือไม่มีใครกดขี่ใคร ทุกคนมีโอกาสได้รับความเท่าเทียมเท่ากัน โอกาสที่จะเข้าถึงการศึกษา การคมนาคม การรักษาพยาบาล หรืออะไรก็แล้วแต่ ไม่มีใครอยู่เหนือกว่าใครในเรื่องการใช้อำนาจหรือการใช้กฎหมายใดๆ ทั้งปวง”

ทำนายอนาคตตัวเองและสังคมไทยจากจุดที่เป็น

“ถ้าตัวเอง เรายังมองว่าเป็นหนึ่งในนักเคลื่อนไหวคนหนึ่งจากหลายๆ คน หลายๆ กลุ่มที่ยังคงออกมาเรื่อยๆ ตอนนี้สังคมมันยังดูยากที่จะเปลี่ยนอยู่ รวมถึงตัวเราเองด้วย เพราะว่าไม่ว่าเราจะทำอะไรก็ตาม พวกผู้มีอำนาจหรือใครที่เขาถือกฎหมาย เขาจะทำอะไรก็ได้หมดเลย ไม่ว่าจะเป็นอย่างที่เราเจอมา การยัดคดีทั้งๆ ที่มันไม่เข้าข่ายก็ตาม มันยังดูยากอยู่ แต่เรารู้สึกว่าในอนาคต ทุกคนที่ออกมาเคลื่อนไหนจะสามารถเชื่อมกันได้อย่างเหนียวแน่นมากขึ้น และจะพัฒนาสังคมได้อย่างเหนียวแน่นมากขึ้น”

ถ้าสังคมดี อนาคตของ ‘ตะวัน’ จะเป็นอย่างไร

“วันนั้นเราก็คงหาความสุขให้ตัวเองในการไปเที่ยวบ้าง เพราะว่าตอนช่วงนี้ที่เคลื่อนไหวก็ไม่มีเวลา แล้วก็ไม่ค่อย enjoy (สนุก) กับการเที่ยวแล้วด้วย เพราะเรารู้สึกว่าเราทุ่มไปกับการทำกิจกรรมหรือการคิดกิจกรรมอะไรอย่างเดียว เพราะฉะนั้นถ้าสังคมมันดีแล้ว เราคงหาความสุขให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเที่ยวเล่น การไปกินอาหารอร่อยๆ กับเพื่อน การเล่นกับแมว อะไรก็ได้ แค่หาความสุขให้กับชีวิตตัวเองแบบที่มนุษย์คนหนึ่งจะใช้ชีวิตให้เต็มที่ได้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท