Skip to main content
sharethis

ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวปาฐกถาวันครบรอบ 122 ปี ปรีดี พนมยงค์ การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมาย 17 ข้อของยูเอ็นที่รัฐบาลไทยไปรับมาจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยมีจุดยืนที่ชัดเจนในสงครามรัสเซีย-ยูเครนให้เกิดการหยุดยิงและมีการเจรจาสันติภาพและให้การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

11 พ.ค.2565 สถาบันปรีดี พนมยงค์เผยแพร่ปาฐกถาเปิดงานเสวนา “มุมมอง SDGs: เพื่อการพัฒนาสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์” ของ อนุสรณ์ ธรรมใจ ประธานกรรมการบริหารสถาบันปรีดี พนมยงค์ ในวาระครบรอบชาตกาล 122 ปี รัฐบุรุษอาวุโสปรีดี พนมยงค์

อนุสรณ์กล่าวว่า แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์นั้นเป็นสิ่งที่อาจารย์ปรีดีได้พยายามพลักดันให้เกิดขึ้นใน “สยาม” ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเรียกเป็นประเทศไทย แนวคิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ประกอบไปด้วย ประชาธิปไตยทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม สิทธิมนุษยชน และ สันติธรรม ส่วนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาตินั้นมี 17 ข้อ ครอบคลุมประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม ความยุติธรรม และสังคมที่สงบสุข

ประชาธิปไตยสมบูรณ์ เกิดขึ้นไม่ได้ หากเราไม่สามารถบรรลุเป้าหมายบางประการของการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals ส่วนการบรรลุเป้าหมายบางข้อใน 17 ข้อก็อาจเกิดขึ้นได้ไม่ดีนัก หรือ ไม่เกิดขึ้นหากสังคมไม่เคลื่อนตัวสู่ภาวะประชาธิปไตยสมบูรณ์มากขึ้น ประชาธิปไตยสมบูรณ์จึงเป็นเงื่อนไขจำเป็นและเป็นพื้นฐานของการนำไปสู่การบรรลุ 17 ข้อของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่รัฐบาลได้ตกลงจะพัฒนาประเทศตามแนวทางนี้ของสหประชาชาติ

เช่น การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี เป้าหมายข้อสาม การศึกษาที่เท่าเทียม อันเป้นเป้าหมายข้อสี่ การจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ เป้าหมายข้อแปด ลดความเหลื่อมล้ำ เป้าหมายข้อสิบ สังคมสงบ ยุติธรรม ไม่แบ่งแยก อันเป็นเป้าหมายของ 16 และ เป้าหมาย ข้อ 17 ของ SDGs นั้น มีความสำคัญและยังคงมีปัญหาในประเทศไทยมาก เพราะพูดถึง การมีส่วนร่วมของประชาชน สันติภาพ ยุติธรรม และ สถาบันที่เข้มแข็ง เรายังอ่อนแอทางด้านสันติธรรม และ สถาบันประชาธิปไตยและระบบนิติรัฐยังไม่เข้มแข็ง

ข้อ 16 และ 17 ไม่อาจเกิดขึ้นได้หากเราไม่มีประชาธิปไตย ไม่เปิดให้เกิดการมีส่วนร่วม และ ไม่มีบรรยากาศของการปรึกษาหารือด้วยเหตุผลตามวิถีทางประชาธิปไตย

อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า หากกล่าวถึง ผลงานของ “ดร. ปรีดี พนมยงค์” ประกอบไปด้วย ผลงานแรก การอภิวัฒน์ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็น ระบอบประชาธิปไตยแบบมีกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ หรือเรียกในช่วงเวลานั้นว่า ระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และ ปัจจุบัน เรียกว่า ระบอบประชาธิปไตยอันมี พระมหากษัตริย์ เป็นประมุข

ผลงานที่สอง เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ

ผลงานที่สาม การเสนอเค้าโครงเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อสร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ความเป็นธรรมและรัฐสวัสดิการ

ผลงานที่สี่ จัดตั้งเทศบาลทั่วประเทศ ผลงานที่ห้า ก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง

ผลงานที่หก เจรจาแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เสมอภาค ทำให้ไทยได้รับเอกราชอธิปไตยสมบูรณ์

ผลงานที่เจ็ด ปรับปรุงภาษี และ สถานปนาประมวลรัษฎากรขึ้นเป็นครั้งแรก

ผลงานที่แปด ก่อตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย

ผลงานที่เก้า จัดตั้ง ขบวนการเสรีไทยทำให้ไทยรอดพ้นจากการเป็นผู้แพ้สงคราม

ผลงานที่สิบ รัฐธรรมนูญประชาธิปไตยสมบูรณ์ ฉบับ 2489

แม้จะมีผลงานมากมายเพื่อสังคมไทย แต่เป็นเรื่องที่น่าแปลกของประเทศไทย ที่ในบางช่วงเวลาของประวัติศาสตร์ไทย ชื่อ “ปรีดี พนมยงค์” เป็นชื่อต้องห้าม ไม่ค่อยมีใครเอ่ยถึงชื่อนี้ เป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมร่วม 30 ปี หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคมประชาธิปไตย ชื่อนี้จึงได้รับการกล่าวขาน และ มีการศึกษาแนวคิดและผลงานอย่างแพร่หลายในหมู่ปัญญาชนและคนรุ่นใหม่ จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ตามด้วยการรัฐประหาร

หลังจากเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 ได้มี ขบวนการด้อยค่าเกียรติคุณ ผลงาน แนวคิด และ คุณความดีของ “ปรีดี พนมยงค์” ที่มีต่อชาติ ราษฎรและประชาธิปไตย ของ ขบวนการอนุรักษ์นิยมย้อนยุคขวาจัด การดำเนินการด้อยค่าดังกล่าว เพราะแวดระแวงกลัวว่าอาจารย์จะกลับมามีบทบาททางการเมืองอีกในวัยเกือบ 80 หวั่นเกรงว่าแนวคิดและผลงานของ ปรีดี พนมยงค์ จะสั่นคลอน อำนาจ และ ผลประโยชน์ของพวกเขา ทั้งที่ แนวคิดเป็นความปรารถนาในการสถาปนา ประชาธิปไตย อัน

สำหรับคนบางกลุ่มแล้ว ชื่อนี้กลายเป็นชื่อต้องห้ามและเป็นคำแสลงสำหรับผู้มีอำนาจบางคนที่ไม่รักความเป็นธรรม ปฏิเสธความจริงและความถูกต้อง และ มีซากทัศนะเผด็จการหรือจิตสำนึกแบบศักดินาอยู่

แม้ชื่อของ “ปรีดี พนมยงค์” ผลงานและเกียรติคุณของอาจารย์ปรีดี ได้รับการกล่าวขาน ศึกษาและเผยแพร่มากขึ้นหลังจากประเทศไทยคลี่คลายมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นในช่วงหลังของทศวรรษ 2520 อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเศร้าใจสำหรับผู้รักความเป็นธรรมและรักประชาธิปไตย ที่ ผู้เป็นกำลังสำคัญในการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอันมี “กษัตริย์” อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เสียสละและทำงานหนักเพื่อประเทศและราษฎรต้องถึงแก่อสัญกรรม ณ. บ้านพักชานกรุงปารีส 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2526 โดยไม่สามารถกลับมาละสังขารหรือเสียชีวิตในประเทศที่ท่านได้มีส่วนร่วมอย่างสำคัญกับสมาชิกคณะราษฎรคนอื่นๆในการสร้างประชาธิปไตย สร้างเศรษฐกิจและสังคมในยุคใหม่

อนุสรณ์กล่าวอีกว่า ยังดีที่ก่อนที่ปรีดีจะเสียชีวิต วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์, อดุลย์ โฆษะกิจจาเลิศ และ นักกิจกรรมชาวธรรมศาสตร์หลายท่าน ได้ทำให้ชื่อของอาจารย์ปรีดี สู่พื้นที่สาธารณะผ่านการแปรอักษร ใน งานฟุตบอลประเพณีจุฬาธรรมศาสตร์ วันที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2526 นับเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 30 ปีที่ชื่อของปรีดี ได้พูดถึงอย่างชัดเจนในที่สาธารณะและมีการเผยแพร่ข่าวออกไปสู่สาธารณชน โดยมีข้อความว่า

“พ่อนำชาติด้วยสมองและสองแขน

พ่อสร้างแคว้นธรรมศาสตร์ประกาศศรี

พ่อของข้านามระบือชื่อ “ปรีดี”

แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ” (คำกลอนโดย เทียน ศิษย์เก่าคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์)

อนุสรณ์ได้อ้างถึงข้อเขียนของท่านทูตสุโข สุวรรณศิริ อดีตเอกอัครราชทูต ได้เขียนบทความกล่าวถึง อาจารย์ปรีดี ในฐานะศิษย์เตรียม มธก ว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ เป็นบุคคลที่น่าศรัทธาและเคารพบูชา ท่านได้ให้ข้อคิดแก่บัณฑิตธรรมศาสตร์ รุ่นที่ 1 ไว้เมื่อพ.ศ. 2479 ว่า “ขอให้ใช้สติประกอบปัญญา นำความรู้ที่เป็นสัจจะนี้ไปใช้ประโยชน์ เพื่อพัฒนาประเทศชาติและราษฎรให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น” ข้อความที่ท่านให้เป็นการสอนให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน อีกทั้งท่านยังเป็นผู้มีวิสัยทัศน์กว้างไกลครอบคลุมด้านประชาธิปไตย ด้านสิทธิพลเมือง ด้านเศรษฐกิจ ด้านการต่างประเทศ ด้านธรรมะ และด้านการศึกษา

ด้านการสร้างประชาธิปไตย และคุ้มครองสิทธิพลเมือง ท่านได้วางพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กับราษฎรโดยจัดให้มีเทศบาลตำบลทุกแห่งทั่วประเทศ ให้มีการเลือกตั้งสภาตำบล มีคณะมนตรีตำบล เพื่อให้ราษฎรเข้าใจการปกครองและการรักษาผลประโยชน์ของตนเอง นอกจากนี้ในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ท่านได้ตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเป็นที่มาของการจัดตั้งศาลปกครองในเวลาต่อมา และยังได้คิดกฎหมายประกันสังคมแต่คณะรัฐมนตรีขณะนั้นไม่เห็นความสำคัญ

ด้านเศรษฐกิจ ปรีดีได้สร้างประมวลรัษฎากรเพื่อความเป็นธรรมแก่ราษฎรและจัดตั้งธนาคารแห่งชาติเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการคลัง และออกพระราชบัญญัติงบประมาณ เพื่อให้มีการควบคุมการใช้ภาษีอากรอย่างรัดกุมและสมประโยชน์ นอกจากนี้ท่านยังได้ซื้อทองเพื่อนำเก็บไว้ในคลังชาติ

ด้านการต่างประเทศ ปรีดีได้แก้ไขยกเลิกสิทธิสภาพนอกอาณาเขตและสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับประเทศต่างๆ และยังได้ก่อตั้งขบวนการเสรีไทยเพื่อต่อต้านญี่ปุ่น ซึ่งทำให้ไทยไม่ตกเป็นฝ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย นอกจากนี้ท่านยังเห็นความสำคัญของการรวมตัวกันของประเทศเล็กๆ และจัดตั้งเป็นสันนิบาตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดประชาคมอาเซียนในปัจจุบัน

ด้านธรรมะและการศาสนา ได้ผ่านพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2484 โดยให้มีสังฆสภา สังฆมนตรี และพระวินัยธรเป็นตุลาการ ใช้ได้เพียงไม่นานก็ถูกยกเลิกไป วิสัยทัศน์ด้านการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษาท่านได้จัดให้มีโรงเรียนเทศบาลและประชาบาลทั่วประเทศ และในระดับอุดมศึกษาได้จัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองขึ้นเมื่อพ.ศ. 2477

อย่างไรก็ตาม แม้ชื่อของปรีดี พนมยงค์ ไม่กลายเป็นสิ่งต้องห้ามหลังปี พ.ศ. 2526 แต่เมื่อครอบครัวของปรีดีจะนำอัฐิของท่านกลับสู่เมืองไทยในปี พ.ศ. 2529 กลับไม่ได้รับการต้อนรับหรือไม่ได้เกียรติยศใดๆจากรัฐบาลในขณะนั้นเฉกเช่นรัฐบุรุษของชาติเช่นประเทศอื่นๆ ไม่ให้เกียรติทั้งในฐานะอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อดีตนายกรัฐมนตรี อดีตหัวหน้าขบวนการเสรีไทย และ ทำคุณประโยชน์มากมายมาตลอดชีวิต อย่างที่ควรจะเป็น แต่ ท่านทั้งหลายไม่ต้องแปลกใจ เพราะ ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ยังคงแวดระแวง หวั่นวิตก จาก อุดมการณ์เพื่อประชาธิปไตย เพื่อชาติและราษฎร ที่อาจจะสั่นคลอนผลประโยชน์ ท้าทายการโกหกบิดเบือน และ เขย่าอำนาจผูกขาดทางการเมืองเศรษฐกิจ สู่ ประชาธิปไตยสมบูรณ์

รัฐบาลในระยะหลังได้ตระหนักถึงคุณความดีของท่านมากขึ้น โดยเฉพาะรัฐบาล พล.อ. ชวลิต ได้เสนอชื่อท่านให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกของยูเนสโก ภายใต้การรณรงค์ของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองหลายท่านซึ่งไม่สามารถเอยชื่อได้ทั้งหมด เช่น ดร. วิเชียร วัฒนคุณ อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นต้น

ประธานกรรมการสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวอีกว่า “ในภาวะที่โลกเกิดสงคราม สถาบันปรีดีขอสนับสนุนการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วยแนวทางสันติวิธีและไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามรุกรานประเทศอื่นอันเป็นอุดมการณ์สำคัญของท่านรัฐบุรุษอาวุโส ดร. ปรีดี พนมยงค์ ท่านอาจารย์ปรีดีเคยกล่าวไว้ว่า “แม้ว่าสาตราวุธ ซึ่งมนุษย์ใช้ประหัตประหารกันในการทำสงครามนั้น จะมีอานุภาพร้ายแรงมากยิ่งๆขึ้นเพียงใด แต่สาตราวุธนั้นจะทำลายมนุษย์ได้ก็เพราะ “พวกกระหายสงคราม (Warmongers) ได้ก่อให้เกิดสงครามขึ้น ดังนั้นผู้รักชาติรักประชาธิปไตยของหลายประเทศจึงเห็นว่าภยันตรายสำคัญอันดับแรกของมนุษยชาตินั้นมาจากพวกกระหายสงครามซึ่งเป็นผู้ก่อสงครามขึ้น การกระทำของพวกกระหายสงครามจึงเป็น “อาชญากรรม” (War Crime) และ บุคคลที่ก่อให้เกิดสงครามเป็น “อาชญากรสงคราม” (War Criminal)”

อนุสรณ์ ประธานกรรมการบริหาร สถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวทิ้งท้าย ว่า จึงขอเรียกร้องให้ “รัฐบาลไทย” ได้พิจารณาช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่อผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสงครามเท่าที่ทำได้ และ เป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลกในการป้องกันไม่ให้สงครามขยายวงกว้างไปมากกว่านี้ รวมทั้ง ขอให้ “รัฐบาลไทย” แสดงจุดยืนให้ทั้งรัสเซียและยูเครนมีการเจรจาสันติภาพโดยด่วนและหยุดยิงในทันที

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net