ศาลเลื่อนสืบพยานคดีฟ้องแพ่ง 'สำนักนายกฯ - ทบ.' คดีทำ IO โจมตีนักสิทธิ เหตุอัยการป่วย

ศาลเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ปากสุดท้ายคดีอังคณา- อัญชนา ยื่นฟ้องสำนักนายกฯ –กองทัพบกเป็นจำเลย กรณีสร้างไอโอโจมตีปประชาชนในชายแดนใต้ เหตุอัยการป่วย ขณะที่ “อังคณา” ชี้ผ่านมา 5 ปีผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ยังตกเป็นเหยื่อไอโอ หวังคดีจบโดยเร็ว

อังคณา นีละไพจิตร(สองจากขวา) สัญญา เอียดจงดี(กลาง) อัญชนา หีมมิหน๊ะ(สองจากซ้าย)

เมื่อวานนี้ (17 พ.ค.65) ที่ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก มีนัดสืบพยานคดีที่อังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนคณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ ร่วมกันยื่นฟ้องแพ่งต่อสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และกองทัพบก เป็นจำเลย ในความผิดละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 กรณีสนับสนุนปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร(ไอโอ) เผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายทั้งสองคนผ่านเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com

คดีนี้ศาลแพ่งรัชดาได้นัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกในวันที่ 10 -11 พ.ค.65 ที่ผ่านมาโดยมีอัญชนาและพยานหลายปากในคดีได้ขึ้นให้การในครั้งนั้น และในวันที่ 17 พ.ค. 65 นี้ อังคณาและพยานที่เป็นผู้เชี่ยวชาญประเด็นภาคใต้จะต้องขึ้นให้การต่อศาล แต่ศาลได้แจ้งเลื่อนการสืบพยานของอังคณาที่เป็นฝ่ายโจทก์ และพยานปากอื่นๆ รวมถึงการสืบพยานจำเลยในวันที่ 18-19 พ.ค. 65 ออกไปด้วยเช่นกัน เนื่องจากอัยการฝ่ายจำเลยป่วย โดยให้เลื่อการสืบพยานออกไปเป็นวันที่ 26 ส.ค.2565

อังคณา กล่าวถึงการเลื่อนสืบพยานครั้งนี้ว่า รู้สึกเสียดายที่ศาลเลื่อนนัดเพราะวันนี้ได้เตรียมตัวมาอย่างดี คิดว่าจะได้ให้การเพื่อให้คดีความแล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะเป็นคดีความต่อเนื่องมายาวนาน หากสืบพยานโจทก์เสร็จก็จะเป็นการสืบพยานฝั่งจำเลยต่อ และตั้งใจว่าน่าจะจบภายในสัปดาห์นี้ อย่างไรก็ตามตนไม่ได้มีความกังวลในเรื่องคดี เพราะสิ่งที่แสดงต่อศาลเป็นข้อเท็จจริงทั้งหมดไม่ได้เป็นการคาดเดา แต่ที่เป็นห่วงคือคดีนี้เลื่อนแล้วเลื่อนอีกมาหลายครั้ง ทั้งด้วยสถานการณ์โควิดและอื่นๆ

อังคณา กล่าวต่อว่า การที่ฟ้องร้องคดีไม่ใช่เพื่อตัวเองอย่างเดียว แต่คาดหวังว่าผลที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดความคุ้มครองกับผู้หญิงที่ทำงานปกป้องสิทธิทุกคน ที่จะต้องไม่ตกเป็นเหยื่อของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารหรือไอโอ และรัฐเองจะต้องหามาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก ซึ่งตั้งแต่ปี 2560 ที่ได้เข้าแจ้งความกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เป็นเวลากว่า 5 ปีมาแล้ว จึงอยากให้คดีแล้วเสร็จโดยเร็ว เพราะขบวนการไอโอก็ยังอยู่ไม่หายไปไหน ในส่วนของตนแม้ถูกปฏิบัติการไอโอน้อยลง แต่ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ก็ยังคงถูกโจมตีและตกเป็นเหยื่อของไอโออยู่ ซึ่งยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สัญญา เอียดจงดี ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เราได้เตรียมพยานไว้ 2 ปาก เป็นพยานปากสำคัญ คืออังคณาเองที่จะมาพูดเรื่องรายละเอียดความเสียหาย และปัญหาที่นักสิทธิฯ ผู้หญิงถูกคุกคามและปัญหาความยากลำบากในการทำงานในพื้นที่ภาคใต้ อีกทั้งกองทัพบกยังใช้เจ้าหน้าที่สวมหมวก กอ.รอน. ในการปฏิบัติการในพื้นที่ภาคใต้ ประเด็นนี้ฝ่ายจำเลยทั้ง 2 ยืนยันตลอดว่ากองทัพบกไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่เป็นเรื่องของ กอ.รมน. แต่ในภาพใหญ่ไม่ว่าจะเป็น กอ.รมน. หรือกองทัพบกเองต้องมีการร่วมกันปฏิบัติการไอโอในพื้นที่แน่นอน ไม่ว่าคุณจะสวมหมวกใบไหนถ้ามันเกิดความเสียหายกับประชาชนรัฐต้องรับผิดชอบ

สัญญา กล่าวต่อว่า พยานที่เหลือก็จะเป็นผู้เชี่ยวชาญที่คอยจับตาดูรายละเอียดในการเคลื่อนไหวของบล็อก เว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์ที่ค่อนข้างจะผิดปกติ เนื่องจากเป็นสื่อที่มีลักษณะในทางด้อยค่าโจมตีนักปกป้องสิทธิ นักเคลื่อนไหว และประชาชนที่ทำหน้าที่ในการปกป้องสิทธิในพื้นที่ และจะมาเปิดเผยโครงข่ายให้เห็นชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในพื้นที่ เรามีพยานหลักฐานที่ค่อนข้างจะสมบูรณ์เพียงพอเชื่อมโยงกับสิ่งที่วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายในสภาเมื่อต้นปี 2564 ว่าไอโอกระทำโดยรัฐจริง ทั้งนี้ศาลจะนัดไต่สวนอีกครั้งในวันที่ 26 ส.ค. นี้ ซึ่งพยานปากสำคัญของเราจะแฉเครือข่ายไอโอในพื้นที่ภาคใต้โดยกองทัพอย่างไร

ทนายความ กล่าวอีกว่า เรามีวัตถุพยานแค่คำอภิปรายของวิโรจน์ และเอกสารที่ กอ.รมน.ส่งมาให้กับ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเท่านั้น แต่หลังจากที่เราได้ไปดูข้อเท็จจริงและได้พูดคุยกับหลายๆ คนแล้ว ทำให้เห็นโครงสร้างอันใหญ่โตมากในพื้นที่ภาคใต้ งบประมาณปีละเป็นหมื่นล้านบาทที่ลงไปในพื้นที่ มากกว่าหลายกระทรวงรวมกัน ซึ่งงบส่วนนี้จำนวนมากน่าเชื่อว่าถูกนำไปใช้กับปฏิบัติการไอโอ

“ดังนั้นเราหวังว่าศาลจะเขียนคำพิพากษาออกมาในเรื่องการปกป้องผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และการปฏิบัติการไอโออย่างเป็นรูปธรรม ส่วนผลคดีจะแพ้หรือชนะผมไม่ได้กังวลมาก" สัญญากล่าวและหวังว่าเอกสารในคดีนี้จะเป็นเอกสารที่บันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นว่าสามารถนำคนของรัฐมาขึ้นศาลเพื่อให้รัฐรู้ว่าจะเอางบประมาณมาใช้ทำไอโอกับกับประชาชนในประเทศของตัวเองไม่ได้

สำหรับคดีดังกล่าวนี้สืบเนื่องมาจากการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลในรัฐสภา เมื่อปี 2563 โดย ส.ส.วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ได้มีการอภิปรายเกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสาร (IO) ต่อมาพบว่าการอภิปรายถึงขบวนการปฏิบัติการข่าวสาร (IO) กรณีจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯทางโลกออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com จึงทำให้ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ และจิตใจ จึงมาฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง เพื่อให้รับผิดต่อปฏิบัติการข่าวสารที่เกิดขึ้น

เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 63 ที่ผ่านมา 2 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คือ อังคณา นีละไพจิตร และอัญชนา หีมมิหน๊ะ พร้อมทั้งทนายความ ได้ยื่นฟ้องสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะที่หน่วยงานที่กำกับดูแลกอ.รมน.และกองทัพบก ในความผิดฐานละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 พร้อมทั้งเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงิน 3,000,000 บาท และ 2,000,000 บาท ตามลำดับ กรณีจัดทำและเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯทางโลกออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ Pulony.blogspot.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท