'ปิยบุตร' รณรงค์ 'ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น' ชี้ 'โมเดลบ้านใหญ่' สัมพันธ์ปัญหารัฐราชการรวมศูนย์

'ปิยบุตร' รณรงค์แคมเปญ 'ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น' ที่ จ.บุรีรัมย์ ชี้ 'โมเดลบ้านใหญ่' สัมพันธ์ปัญหารัฐราชการรวมศูนย์

 

20 พ.ค.2565 ทีมสื่อคณะก้าวหน้า รายงานต่อสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า รณรงค์แคมเปญ “ขอคนละชื่อ ปลดล็อกท้องถิ่น” ที่พื้นที่อำเภอนางรอง และอำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ตอนหนึ่งได้ระบุว่า บ้านใหญ่เป็นคำเปรียบเปรยที่ใช้เรียกบ้านของนักการเมือง เครือข่ายตระกูลการเมืองประจำจังหวัด โดยบ้านใหญ่ของบางจังหวัดอาจใหญ่มากขยายเครือข่ายไปถึงระดับประเทศ บ้านใหญ่ของบางจังหวัดก็อาจจะอยู่แค่ในพื้นที่ของตัวเอง 

“การเกิดขึ้นของบ้านใหญ่บางที่อาจเริ่มมาจากการที่ใครคนหนึ่งอยากได้รับเลือกตั้ง ก็มีการไปช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ในด้านต่างๆ เนื่องจากโครงสร้างรัฐไทยไม่ได้ออกแบบมาเพื่อคนทุกคน เป็นโครงสร้างที่ออกแบบมาเอื้อคนไม่กี่คนให้ได้ประโยชน์ ประชาชนจำนวนมากเลยลำบาก กลายเป็นว่าต้องไปขอความช่วยเหลือ แล้วการไปขอความช่วยเหลือที่รวดเร็วที่สุดคือไปขอความช่วยเหลือจากนักการเมือง แต่ตำแหน่งอย่าง ส.ส. ไม่ได้มีงบประมาณเป็นของตัวเอง ไม่มีอำนาจบริหาร มีเพียงเงินเดือน 1 แสนกว่าบาท แต่เมื่อประชาชนเดือดร้อน มาขอความช่วยเหลือก็ต้องช่วย ไม่งั้นครั้งหน้าก็อาจจะสอบตก ไม่ได้ถูกรับเลือกให้ได้กลับมาเป็นอีก ดังนั้น ส.ส.เหล่านั้นก็ต้องมาคิดอ่านหาวิธี ว่าจะเอาเงิน เอาทรัพยากรจากไหนมาช่วยเหลือชาวบ้าน” ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตร ยังได้กล่าวต่อไปด้วยว่า วิธีการของ ส.ส. เหล่านี้คือการสร้างกลุ่มก้อน สร้างเป็นเครือข่าย ให้คนของตัวเองไปอยู่ในตำแหน่งแห่งที่ต่างๆ ที่มีอำนาจในการบริหาร มีอำนาจในการแก้ปัญหาบางอย่าง มีงบประมาณ แล้วคนที่ไว้ใจได้ที่สุดโดยมากก็หนีไม่พ้นสมาชิกคนในครอบครัว หรือบางทีมากเข้าๆ ก็ไปสมัครเอาพรรคพวกมาอยู่ในสังกัด เป็นหัวหน้ามุ้งผลักดันให้คนของตัวเองได้เป็น ส.ส. พอมีจำนวน ส.ส. จำนวนหนึ่งก็เอาจำนวน ส.ส.ที่รวมมาได้ไปแลกตำแหน่งรัฐมนตรี ไปร่วมตั้งรัฐบาล เพราะการมีอำนาจจากส่วนกลาง ที่มีอำนาจ มีงบประมาณ มีทรัพยากรอยู่ในกระทรวงต่างๆ จะส่งผลต่อการเอางบมาลงในพื้นที่ได้ด้วย เพราะลำพังเป็น ส.ส. อย่างเดียวทำแบบนั้นไม่ได้

“ส.ส.เหล่านี้ พอมีหัวหน้า มีเครือข่ายเป็นรัฐมนตรี แล้วพอในพื้นที่มีปัญหา อยากได้โครงการ อยากได้งบประมาณ ก็เข้าไปขอให้รัฐมนตรี โยกงบ จัดสรรโครงการมาลงในพื้นที่ของตัวเอง หรือให้นายกรัฐมนตรีจัดสรรงบกลางมาให้ เอาทรัพยากร เอาอำนาจ ไปลงให้กับเครือข่ายอุปถัมภ์ เมื่อเป็นเช่นนี้หลายๆ ที่ก็มีการไปทำบ้างเป็น“โมเดลบ้านใหญ่” ในจังหวัดต่างๆ หรือบางทีบ้านใหญ่บางพื้นที่ก็สามารถแผ่กิ่งก้านสาขาได้ใหญ่โตไปครอบคลุมในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ได้อีก หรือครอบคลุมในระดับประเทศ” ปิยบุตร กล่าว

ปิยบุตร ระบุว่า ปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหารัฐราชการรวมศูนย์ ปัญหาจากการไม่กระจายอย่างอำนาจเต็มที่ ปัญหาปากท้อง และเรื่องประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน เพราะถ้าโครงสร้างดี ปัญหาปากท้องก็จะถูกแก้ไขด้วย
.
“หากข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ หมวด 14 การปกครองส่วนท้องถิ่น ของคณะก้าวหน้า ที่ชื่อว่าแคมเปญปลดล็อกท้องถิ่นนี้สำเร็จ จะแบ่งกันชัดระหว่างอำนาจที่ทับซ้อนกันระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น โดยการจัดทำบริการสาธารณะระดับพื้นที่ ท้องถิ่นทำได้ทุกเรื่อง มีเงินงบประมาณ มีอำนาจ มีทรัพยากร โดยกำหนดให้เรื่องที่ท้องถิ่นทำไม่ได้แค่บางเรื่องคือ ท้องถิ่นทำเรื่องเงินตรา การต่างประเทศ กองทัพไม่ได้ และต่อไปหากเรื่องนี้สำเร็จนักการเมืองอย่าง ส.ส. ก็จะได้ไม่ต้องปวดหัววิ่งหาเงินงบประมาณ ส.ส. ไปทำเรื่องในทางนิติบัญญัติ ออกกฎหมาย ทำหน้าที่ตรวจสอบ เพราะหน้าที่ในการจัดการคุณภาพชีวิตประชาชน จัดการเรื่องน้ำไหล ไฟสว่าง จัดการเรื่องบริการสาธารณะ เรื่องความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นของท้องถิ่น แล้วพี่น้องประชาชนก็ไม่ต้องไปติดหนี้บุญคุณ ไม่ต้องไปอยู่ในวงจรอุปถัมภ์ เพราะการแก้ปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นได้จากเงินงบประมาณ ทรัพยากรที่ท้องถิ่นมีเพียงพอในการบริหารจัดการในพื้นที่” ปิยบุตร ระบุ

ปิยบุตร กล่าวว่า ต่อไปอาจจะไม่ได้มีใครอยากเป็นรัฐมนตรี ไม่ได้อยากไปเป็น ส.ส. แล้วก็ได้เพราะหากอยากพัฒนาท้องถิ่น ก็จะไปลงเป็นนายกท้องถิ่นกันเพราะมีงานมีงบประมาณมีทรัพยากรมีอำนาจอยู่ที่ท้องถิ่นทั้งหมด อำนาจไม่ได้อยู่ที่ส่วนกลางอีกแล้ว ทีนี้ก็จะสามารถพัฒนาท้องถิ่นได้อย่างเต็มที่ และตนเชื่อว่าการที่ท้องถิ่นมีจำนวนมาก มีหลายหน่วย และต่อไปก็อาจจะมีมากขึ้น จึงไม่เชื่อว่าบ้านใหญ่ต่างๆ จะยึดได้ทั้งหมด การเมืองเชิงเครือข่ายจะลดน้อยถอยลง สนามของท้องถิ่นจะไม่ใช่เป็นแขนขาให้กับบ้านใหญ่ในการสร้างเครือข่ายแสวงหาอำนาจอีกแล้ว แต่จะกลับกันท้องถิ่นจะเป็นสนามที่มีการแข่งขัน ทำให้คนหน้าใหม่ๆ เข้ามาอาสารับใช้ประชาชนได้มากขึ้น

เลขาธิการคณะก้าวหน้าระบุว่า ข้อเสนอครั้งนี้ที่เข้าไปแก้ปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจ หากสำเร็จจะปรับให้การเมืองท้องถิ่นรับใช้ประชาชนมากขึ้น เกิดการแข่งขันระหว่างพื้นที่เพื่อรับใช้ประชาชน ท้องถิ่นทุกแห่งจะเบ่งบาน จะมีการแข่งขันกันพัฒนา มีงบประมาณเพียงพอดูแลพื้นที่ มีโครงการต่างๆ  ที่ประชาชนได้ประโยชน์ตรงตามความต้องการ จะส่งผลให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น เกิดการจ้างงานในพื้นที่ ประชาชนในพื้นที่มีรายได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จะทำให้ความต้องการพื้นฐานของประชาชนได้รับการตอบสนองอย่างเต็มที่ เมื่อท้องถิ่นพัฒนาแต่ละพื้นที่ก็จะมีความเจริญขึ้น คุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนก็จะดีขึ้นด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท