Skip to main content
sharethis

ประธานคณะก้าวหน้าวิจารณ์ กอ.รมน.ได้งบเพิ่มสูงขึ้นทุกปี แต่ไม่มีประสิทธิภาพ ตรวจสอบก็ไม่ได้ ยุบก็ไม่ได้ แต่หนังสือ “ในนามของความมั่นคงภายใน” ของพวงทองชี้ให้เห็นว่าความไร้นิติรัฐนิติธรรม แต่งตั้งกันอย่างไม่ดูความสามารถ การทุจริตที่แพร่หลายคือการรักษาให้ระบบแบบนี้ยังคงอยู่ได้

27 ก.ย.2567 คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในงานเสวนา “ความมั่นคงภายใน : อำนาจของทหารภารกิจของประชาชน” เปิดตัวหนังสือของพวงทอง ภวัครพันธุ์ ในชื่อ “ในนามของความมั่นคงภายใน การแทรกซึมสังคมของกองทัพไทย” ที่ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้กล่าวถึงการขยายบทบาทของกองทัพไทยในการเข้ามาแทรกซึมควบคุมสังคมผ่านกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน  หรือ กอ.รมน.

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า กล่าวถึงหนังสือโดยเริ่มจากประสบการณ์ของเขาในระหว่างการทำงานการเมืองทำให้เห็นว่าถ้าไม่ใช่ประชาชนที่อยู่ในสังคมเมืองและยังต้องอาศัยบริการต่างๆ จากรัฐ ประชาชนจำนวนมากยังอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวที่ตัวเองจะเข้าไม่ถึงสิทธิต่างๆ ทั้งที่สิทธิของประชาชนคือการเลือกได้ว่าจะใช้หรือไม่ใช้บริการนั้น เมื่อพวกเขาไม่มีสิทธิก็ทำให้เกิดความกลัวที่จะถูกคุกคามหรือไม่เข้าถึงสิทธิ อย่างเช่น ถ้าเป็นลูกหลานของชาวบ้านในต่างจังหวัดอำนาจการอนุมัติกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาก็คือผู้ใหญ่บ้าน

แม้กระทั่งเรื่องที่เขาเคยไปทำโครงการน้ำประปาดื่มได้ร่วมกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ก็ยังต้องเจอกับเหตุการณ์ที่มีหนังสือจากเทศมนตรีก็มีจดหมายและมี กอรมน จะเข้ามาตรวจสอบ เขาก็งงว่า กอรมนเข้ามาเกี่ยวอะไรกับเรื่องน้ำประปา ก็ทำให้กลัวว่ามันจะถูกคุกคามหรือเปล่าการเป็นอิสระจากความกลัวนี้ถ้ามันสร้างให้ไทยเป็นที่ปลอดภัยกับทุกความเห็นและสิทธิแสดงความเห็นอย่างปลอดภัยถ้าสร้างมามได้ก็ยากจะทำให้เกิดความเจริญได้

ส่วนเนื้อหาในหนังสือ ธนาธรเห็นว่าพวงทองได้ศึกษา กอ.รมน.และกองทัพอย่างเป็นระบบผ่านวิธีคิดเรื่องความมั่นคงตั้งแต่ 2500-2560 ทำให้ประชาชนรู้ทันกองทัพเห็นโครงการทางการเมืองของกองทัพว่ามีแนวคิดเบื้องหลังอย่างไร จากปรากฏการณ์ต่างๆ ทั้งการอบรมเศรษฐกิจพอเพียง เข้ามาจัดสรรที่ดินทำกิน การทิ้งของเสีย การหาแหล่งน้ำประปา จัดคิวรถตู้ จัดระเบียบชายหาด ที่เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่งานของกองทัพและควรเป็นของพลเรือน

นอกจากนั้นหนังสือยังทำให้เห็นว่ากองทัพใช้กลไกอะไรในการทำให้พวกเขาสามารถเข้ามาอยู่ในกิจการพลเรือนเหล่านี้ได้อย่างแยบยลและทำให้กลายเป็นเรื่องปกติได้ เช่น การจัดตั้ง กอ.รมน.ในระดับจังหวัดไปจนถึงการแทรกซึมลึกถึงระดับหมู่บ้าน จนถึงพูดถึงระดับโครงสร้างของหน่วยงานความมั่นคงในตอนนี้ที่มี นายกฯ นั่งเป็นหัวโต๊ะ มีผู้บัญชาการทหารบอกนั่งเป็นรอง กอ.รมน. รวมถึงออกแบบกฎหมายอย่างไรจนเกิดสภาวะแบบที่เกิดขึ้นในตอนนี้

ธนาธรยังเห็นถึงประเด็นในหนังสือที่ชี้ให้เห็นว่า กองทัพยังแย่งชิงทรัพยากรไปจากหน่วยงานของพลเรือนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะไป เขายกตัวอย่างถึงโครงการเขื่อนป้องกันตลิ่งที่ใช้เงินไป 500 กว่าล้านบาท ทั้งที่งานนี้เป็นเรื่องของพลเรือนไม่เกี่ยวความมั่นคงแล้วก็ไปซ้ำซ้อนกับงานของกรมโยธาธิการ แต่หนังสือได้ชี้ให้เห็นว่าทำไมความมั่นคงถึงกลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของสังคมนี้ เพราะการอ้างความมั่นคงทำให้ไม่สามารถแตะต้องได้ แม้กระทั่งกรมบัญชีกลางก็เข้าไปตรวจสอบไม่ได้เหมือนกับที่เข้าไปตรวจสอบหน่วยงานอื่นๆ และอำนาจที่ล้นเหลือของกองทัพไทยนี้ก็ไม่เคยถูกท้าทายจากประชาชนหรือแม้แต่รัฐบาลที่ผ่านมาก็ไม่เคยตั้งคำถามว่าภาษีถูกใช้ไปอย่างคุ้มค่าแล้วหรือไม่

ธนาธรกล่าวว่าแม้งบของ กอ.รมน.ในปีหลังๆ ดูเหมือนจะน้อยลงแต่ก็เป็นในส่วนของงบประมาณที่ใช้กับการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ แต่การเติบโตของงบประมาณของ กอ.รมน.ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมากลับไปอยู่ในส่วนของกำลังพลและดำเนินการแทนที่เติบโตขึ้นถึง 160% และ 176% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับ GDP ของประเทศแล้วก็ยังเติบโตไม่เท่างบดำเนินการของ กอ.รมน. ดังนั้นมันคือการเบียดเบียนทรัพยากรของประเทศ แทนที่จะใช้งบไปเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากกว่า

นอกจากนั้น งบประมาณที่ใช้ไปกับการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ในขณะนี้ก็ใช้ไปแล้วถึง 5.64 แสนล้านบาทโดยมีกองทัพและ กอ.รมน.เป็นตัวนำหลักในการดำเนินการ แต่ยังแก้ปัญหาไม่ได้ทั้งที่ใช้งบประมาณไปขนาดนี้แล้วกลับไม่มีใครกล้าตั้งคำถามเพราะเกรงจะถูกกล่าวหาว่าต้องการแบ่งแยกดินแดน ทั้งที่ถ้ากองทัพทำแล้วไม่สำเร็จกองทัพก็ควรรู้ว่าจะต้องถอยออกมาแล้วให้ฝ่ายพลเรือนเป็นคนนำในการแก้ไขปัญหา

นอกจากนั้นในหนังสือยังกล่าวถึงรัฐบาลเศรษฐาเองที่แม้ว่าจะเคยแสดงออกว่าจะเข้าไปปรับเปลี่ยนกองทัพแต่กลับไม่ปรากฏในการแถลงนโยบาย ไม่ว่าจะเรื่องเลิกเกณฑ์ทหารและการปฏิรูปกองทัพ ไปจนถึงการไม่แก้กฎหมายอย่างเช่น กฎอัยการศึก การเพิ่มสัดส่วนพลเรือนในสภากลาโหม ไปจนถึงปัดตกกฎหมายยกเลิก กอ.รมน.

ธนาธรทิ้งท้ายว่าสภาพที่ไร้นิติรัฐนิติธรรม การแต่งตั้งโยกย้ายด้วยระบบที่จะไปดูถึงผลงานไม่เกิดขึ้น และยังมีการทุจริตอย่างแพร่หลายที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในสังคมไทยนี้ หนังสือของพวงทองได้ชี้ให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้ไม่ใช่ความล้มเหลวของระบบแต่กลับเป็นสิ่งที่ทำให้ระบบนี้ยังคงอยู่ได้ “การสร้างเสถียรภาพให้เศรษฐกิจและการเมืองตามระดับชั้นตามจารีตอของไทย ถ้าไม่มีระบบแบบนี้ดำรงอยู๋ไม่ได้ ถ้าจะแก้เรื่องพวกนี้ในระบบแบบนี้ทำไมได้ดังนั้นต้องแก้ในเชิงระบบ การปฏิรูปกองทัพจึงสำคัญในการแก้ไขระบบนี้

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net