Skip to main content
sharethis

สำรวจชีวิตเจ้าหน้าที่กวาดถนนใน กทม. กับการทำงานบนถนนในเมืองหลวงของประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตบนท้องถนนติดอันดับต้นๆ ของโลก ส่องนโยบายความปลอดภัยและผลตอบแทนที่ได้รับจากการเสี่ยงอันตราย ในวันที่สังคมไทยตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยบนถนน และในเวลาที่เจ้าหน้าที่กวาดถนนยังเสียชีวิตทุกปี

การจราจรบนถนนราชดำเนิน (ที่มา: ชนากานต์ เหล่าสารคาม)

การเสียชีวิตของ พญ.วราลัคน์ สุภวัฒน์จริยากุล หรือหมอกระต่าย เมื่อ 21 ม.ค. 2565 สร้างแรงกระเพื่อมขนานใหญ่ถึงปัญหาเรื่องความปลอดภัยทางถนนในประเทศไทย การที่รถราเริ่มชะลอให้คนได้ข้ามถนนกันมากขึ้น และกระแสความไม่พอใจต่อผู้ใช้รถที่สะสมมายาวนานของคนเดินเท้ากลายเป็นกระแสสังคมที่นำไปสู่การทวงคืนพื้นที่การเดินข้ามถนนได้กลายเป็นรูปธรรมที่เด่นชัดของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการสูญเสียสมาชิกในสังคมไปหนึ่งคน

39 วันหลังจากเหตุการณ์หมอกระต่าย นารี ไชยเสนา ลูกจ้างประจำอายุ 59 ปี สังกัดฝ่ายรักษาความสะอาดฯ เขตบางขุนเทียน พนักงานดีเด่นที่เพิ่งได้รับการเสนอให้ขึ้นเงินเดือนสองขั้นในปี 2565 นี้ ปฏิบัติหน้าที่กวาดถนนอยู่ที่ทางคู่ขนานวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ฝั่งตะวันตก ถูกรถยนต์ชนเสียชีวิตในที่เกิดเหตุในเวลา 05.00 น. แม้ไม่เกิดกระแสสังคมอย่างกรณีแรก แต่ชื่อของเธอถูกระลึกถึงโดยกลุ่มประชาสังคมและเป็นไวรัลเล็กๆ ในโซเชียลมีเดีย

ความอันตรายบนท้องถนนที่ยกตัวอย่างขึ้นมาคือหนึ่งภาพแทนของความอันตรายบนท้องถนนของประเทศไทยที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่กังวลในระดับโลกว่าเป็นท้องถนนที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง สถิติข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนในปี 2561 โดยองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับที่เจ็ดของโลก โดยมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 32.7 คนต่อหนึ่งแสนประชากร (เก็บข้อมูลเมื่อปี 2559) เพิ่มขึ้นจาก 19.6 คนต่อหนึ่งแสนประชากร เมื่อประเมินจากชุดข้อมูลในปี 2550

ในชุดรายงานของ WHO ที่เผยแพร่ในปี 2561 ยังพบว่า หากนับเพียงการเสียชีวิตของผู้ใช้จักรยานยนต์ ไทยจะอยู่ในอันดับที่หนึ่งของโลกที่อัตราส่วน 24.3 คนต่อหนึ่งแสนประชากร และมีอัตราการเสียชีวิตของคนเดินเท้าอยู่ที่ 2.5 คนต่อหนึ่งแสนประชากร

เปิดปัจจัยเสี่ยง ตั้งแต่รถชน คนเมาเข้ามาทำร้าย ไปจนเจอระเบิดซุกในถังขยะ

อันตรายบนท้องถนนที่ไม่ได้จำกัดอยู่กับแค่ผู้ขับขี่ แต่ยังส่งต่อความเสี่ยงไปยังผู้สัญจรไปมาและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่บนพื้นถนนไม่ใช่สิ่งที่ภาครัฐไม่รู้ไม่เห็น ภาณุวัฒน์ อ่อนเทศ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการส่วนบริการจัดการมูลฝอย สำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของพนักงานกวาดถนนว่า สาเหตุหลักๆ เกิดจากการจราจรของจักรยานยนต์และรถยนต์ ซึ่งมักเกิดจากการเมาแล้วขับ ทั้งนี้ อันตรายที่พนักงานกวาดถนนเจอไม่ได้มาจากรถราเท่านั้น แต่ยังมีการถูกทำร้ายร่างกายจากคนเมา คนสติไม่ดี ถูกของมีคมบาด หกล้ม แมลง สัตว์กัดต่อย ถูกสิ่งแปลกปลอมกระเด็นใส่ ไปจนถึงเจอระเบิดในถังขยะ

สำหรับมาตรการความปลอดภัย ภาณุวัฒน์กล่าวว่าทางสำนักงานได้มีการพูดคุยและกำชับหัวหน้างานให้กวดขันเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงในช่วงเวลามืดค่ำ เปลี่ยนเครื่องแบบให้สะท้อนแสงเด่นชัดขึ้น มีหัวหน้างานตรวจตราพื้นที่ตามถนนต่างๆ  และมีการจ้างเหมารถกวาดถนนเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุ โดยจะใช้รถกวาดถนนในส่วนของถนนสายหลัก ผิวจราจร สะพาน อุโมงค์ทั้งหมด พนักงานกวาดถนนจะมีหน้าที่รับผิดชอบแค่ทางเท้าและเข้าไปกวาดในซอยที่รถเข้าไม่ถึงหรือจุดที่ท่อระบายน้ำอุดตัน

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานจัดการมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สำนักสิ่งแวดล้อมระบุจำนวนเจ้าหน้าที่เสียชีวิตขณะปฎิบัติหน้าที่ในช่วงปี 2557 - 2560 เฉลี่ยปีละ 4 ราย และในช่วงปี 2560 - 2565 มีจำนวนเฉลี่ยปีละ 1 ราย ส่วนพนักงานเก็บขยะมีจำนวนผู้เสียชีวิตในปี 2565 จำนวน 3 ราย

ข้อมูลจากสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ยังระบุด้วยว่า ปัจจุบัน กทม. มีจำนวนพนักงานกวาดถนนทั้งหมด 10,771 คน แบ่งเป็นลูกจ้างประจำ 7,142  คน ลูกจ้างชั่วคราว 3,629 โดยเพศหญิงจะมากกว่าเพศชายอยู่ที่ร้อยละ 90 โดยส่วนมากพนักงานเพศชายจะไปอยู่ที่ส่วนงานจัดเก็บขยะมูลฝอย

ในด้านพื้นที่รับผิดชอบ พนักงานกวาดถนนหนึ่งคนจะรับผิดชอบรักษาความสะอาดเฉลี่ยอยู่ในระยะ 500-1,000 เมตร นอกจากนั้นยังมีหน้าที่เดินตรวจตราบริเวณที่รับผิดชอบ และคอยแนะนำการทิ้งขยะให้ประชาชนที่มักมีปัญหาแอบทิ้งขยะในส่วนที่ห้ามทิ้ง โดยจะแบ่งรอบการทำงานเป็นสองรอบในช่วงเวลา5.00-12.00 น. และ 13.00-20.00 น.

พนักงานกวาดถนนคือลูกจ้างกรุงเทพมหานคร จะมีอยู่ 2 ส่วน ลูกจ้างประจำและลูกจ้างชั่วคราว   สำหรับลูกจ้างชั่วคราวจะได้รับการดูแลจากกองทุนประกันสังคม หากเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ จะได้รับการดูแลผ่านกองทุนประกันสังคมหรือโรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลให้แก่ครอบครัวได้ เช่น บุตร พ่อ แม่ สามี  เงินเดือนของลูกจ้างชั่วคราวขั้นต่ำ คือ 12,000 บาท กรณีเสียชีวิตขณะปฎิบัติหน้าที่ จะได้ค่าทำศพจากเงินเดือนสุดท้ายและไม่ได้ให้บำเหน็จ แต่จะได้เงินจากกองทุนทดแทน 

ในส่วนของลูกจ้างประจำจะมีสวัสดิการเหมือนข้าราชการ เงินเดือนของพนักงานประจำสูงสุดอยู่ที่ 21,000 บาท กรณีเสียชีวิตจะได้รับการเงินค่าทำศพ 3 เท่าของเงินเดือนสุดท้าย ทั้งด้วยอุบัติเหตุและไม่ใช่อุบัติเหตุ หากเกิดอุบัติเหตุแล้วเสียชีวิตจะได้รับเงินค่าบำเหน็จ 30 เท่าของเงินเดือน กรณีที่ลูกจ้างประจำเสียชีวิตขณะที่ไม่ได้ปฎิบัติหน้าที่ จะได้รับค่าทำศพ 3 เท่าของเงินเดือนสุดท้ายและได้เงินบำเหน็จ ส่วนสวัสดิการที่พนักงานประจำได้รับคือชุดปฏิบัติงานสะท้อนแสง 2 ชุดต่อปีและอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย เช่น เสื้อกั๊กสะท้อนแสง รองเท้าบูทและถุงมือยางปีละ 1 ชุด 

เสียงจากคนทำงาน ปลอดภัยขึ้น แต่ยังดีกว่านี้ได้

แม้มีแนวทางความปลอดภัยเพิ่มขึ้น แต่พื้นที่หน้างานยังคงเป็นพื้นที่ของความไม่แน่นอนเสมอ และถนนกรุงเทพฯ ก็ยังคงอันตราย เสียงของเจ้าหน้าที่กวาดถนนจำนวนหนึ่งยังคงสะท้อนถึงความไม่แน่นอนในชีวิต

“เราก็ไม่รู้จะบอกยังไง เรากวาด เราก็ต้องคอยดู คอยระวังเหมือนกัน ถ้ามีรถมาเราก็ต้องหลบขึ้นมาข้างบนทางเท้า” 

พร (นามสมมุติ) พนักงานกวาดถนนอายุงานมากกว่า 10 ปี เล่าว่าเพิ่งมีเสื้อกั๊กสะท้อนแสงเข้ามาใช้งานเมทื่อราว 1-2 ปีนี้เอง ในช่วงการทำงานทั้งกลางวันและกลางคืนนั้นต้องระวังตัวเองเหมือนกัน เพียงแต่ต้องระวังมากขึ้นในช่วงกลางคืน ส่วนกรวยจราจรที่จะนำมาตั้งเพื่อเพิ่มพื้นที่ทำงานที่ปลอดภัยขณะปฏิบัติงานนั้นไม่มี จะมีมาใช้งานในพื้นที่ที่ถนนชำรุดเท่านั้น แต่อุปกรณ์ทำความสะอาดสามารถเบิกได้ตลอดและมีครบ“เขาก็ดูแลดี เราโอเคกับรัฐสวัสดิการ ซึ่งครอบครัว พ่อแม่ ลูก เราก็เบิกได้ ถ้าเป็นลูกจ้างประจำ” พรกล่าว

ด้านปลา (นามสมมุติ) พนักงานกวาดถนนอีกรายเล่าว่าเธอไม่มั่นใจในความคุ้มค่าระหว่างความเสี่ยงกับสวัสดิการ เนื่องจากอาชีพคนกวาดถนนมีความเสี่ยงอยู่ตลอดเวลาจากการพบเจอรถที่ขับขี่เร็ว  จึงต้องระวังตัวเองด้วยระดับหนึ่ง ตั้งแต่ทำงานมา มีบางทีที่เธอถูกรถเฉี่ยว แม้จะไม่ร้ายแรงนักก็ตาม

“ไม่ได้มีใครอยากให้อุบัติเหตุเกิดขึ้น ทุกคนรักชีวิตของตัวเองหมด”

“อยากให้ทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้ามาช่วยเหลือเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน เรื่องรถ เราจะได้ทำงานเร็วขึ้น”  ปลากล่าว

กาญจนาภรณ์ ที่รัก และวีรภัทรา เสียงเย็น เป็นนักศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ สาขานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

หมายเหตุ: ประชาไทแก้ไขเนื้อความในส่วนของสถิติเจ้าหน้าที่กวาดถนนที่เสียชีวิตให้ตรงกับข้อมูลต้นทาง แก้ไขเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 เวลา 11.24 น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net