Skip to main content
sharethis

สธ.แจงการกระจายวัคซีนโควิด 19 ถึงระดับ รพ.สต. ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการมากขึ้น รับวัคซีนได้ใกล้บ้านที่สุด บางแห่งยังจัดบริการเชิงรุกถึงบ้าน ไม่ได้เป็นการระบายวัคซีนไปทิ้ง ย้ำเข็มกระตุ้นสำคัญ ช่วยลดความรุนแรงและเสียชีวิต ก้าวสู่โรคประจำถิ่นได้อย่างปลอดภัย - ชมรมแพทย์ชนบทแนะ สธ. แก้ปัญหาวัคซีนล้นคลัง หากหมดอายุ บริจาคไม่ออก ควรรวบรวมไปทำลาย ไม่ต้องส่งมาให้หมดอายุที่ รพ.สต.


ที่มาภาพ: ชมรมแพทย์ชนบท

4 มิ.ย. 2565 จากกรณีที่ชมรมแพทย์ชนบท ได้ตั้งข้อสังเกตกรณีหนังสือมติที่ประชุม ศบค.ให้กระจายวัคซีนโควิด-19 ทั้งซิโนแวค แอสตราเซเนกา และไฟเซอร์รวม 16 ล้านโดส ไปเก็บไว้ที่ รพ.สต.ทั่วประเทศ และตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแผนการกำจัดวัคซีนของ ศบค.หรือไม่ เนื่องจาก รพ.สต.จะเอาตู้เย็นที่ไหนเก็บ วัคซีนล็อตแรกที่ส่งมาก็ยังเหลือเต็มอยู่เลย คนสนใจฉีดมีน้อยมาก รับมาแล้วจะฉีดใคร เสียดายวัคซีนเอามาทิ้งให้หมดอายุ และเงินภาษี

รวมทั้งการบริหารจัดการวัคซีนของประเทศที่จะมีวัคซีนเต็มแขน พบปัญหาที่กลับตาลปัตรคือ สั่งวัคซีนมามากเกินไป เกินความประสงค์ฉีดของประชาชน ยิ่งในสถานการณ์โควิดที่ลดลง แม้วัคซีนเข็ม 3 จะมีความคลุมราว 40.8% ของเป้าหมาย แต่การจะชี้ชวนมาฉีดแทบจะไม่มีใครมาฉีดแล้ว เป็นสิทธิที่เขาจะเลือก จะบังคับก็ไม่ได้ วัคซีนจึงเหลือเต็มคลังของ สธ.ไม่รู้จะเอาไปไหน เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมานั้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ชมรมแพทย์ชนบทห่วงเก็บวัคซีนไว้ที่ รพ.สต. อาจหมดอายุไม่ทันใช้ สิ้นเปลืองงบ

ต่อมา เว็บไซต์ สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รายงานเมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2565 ว่านพ.สุเทพ เพชรมาก หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีมีการข้อสงสัยเรื่องการกระจายวัคซีนโควิด 19 ไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เป็นแผนการระบายวัคซีนไปทิ้งให้หมดอายุ ว่า การส่งวัคซีนโควิด 19 ไปไว้ที่ รพ.สต.เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการวัคซีนได้ใกล้บ้านที่สุด ทำให้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นมติของ ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์และสาธารณสุข (EOC) มาประมาณเกือบเดือนแล้ว เนื่องจากพบว่า ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชาชนไม่มารับวัคซีน คือ เดินทางไม่สะดวก หรือไม่มีคนพาไป

“กระทรวงสาธารณสุข จึงส่งวัคซีนโควิด 19 ทั้งซิโนแวค แอสตร้าเซนเนก้า และไฟเซอร์ ไปยัง รพ.สต. ซึ่งเป็นหน่วยบริการที่ใกล้บ้านที่สุด เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ห่างไกลสามารถพาผู้สูงอายุและผู้ที่มีภาวะพึ่งพิงไปฉีดวัคซีนกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน นอกจากนี้ รพ.สต.หลายแห่งยังร่วมกับท้องถิ่นออกสำรวจประชาชนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนและจัดวัคซีนไปบริการเชิงรุกถึงบ้าน โดยกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนอุปกรณ์การฉีดวัคซีน และ สปสช.สนับสนุนค่าฉีดวัคซีนให้กับ รพ.สต. ในอัตรา 40 บาท/เข็ม ไม่ใช่การระบายวัคซีนไปทิ้งแต่อย่างใด เพราะทุกวันนี้ รพ.สต.ก็มีให้บริการวัคซีนอื่นๆ อยู่แล้ว เช่น วัคซีนคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก เป็นต้น” นพ.สุเทพกล่าว

นพ.สุเทพกล่าวต่อว่า จากความทุ่มเทของหน่วยบริการทุกระดับ รพ.สต. รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ และ อสม. ในการจัดบริการวัคซีน ทำให้ประชาชนเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ทุกวัน ทั้งเข็มปกติและเข็มกระตุ้น และเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราควบคุมสถานการณ์โควิด 19 และผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในขณะนี้ยังมีความสำคัญมาก เนื่องจากผู้เสียชีวิตในแต่ละวันเกือบทั้งหมดเป็นกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัว และได้รับวัคซีนไม่ครบ ทั้งนี้ การได้รับวัคซีนโควิดเพียง 2 เข็ม ป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนได้น้อยมาก ป้องกันการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ปานกลาง แต่การฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 จะป้องกันการติดเชื้อได้มากขึ้น ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตได้ 93% และหากฉีดเข็มที่ 4 จะป้องกันติดเชื้อเพิ่มเป็น 76% ป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตสูงถึง 99%

นพ.สุเทพ กล่าวอีกว่ากระทรวงสาธารณสุขจึงตั้งเป้าหมายฉีดเข็มกระตุ้นให้ครอบคลุมมากกว่า 60% เพื่อให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นเพียงพอ รองรับการเปิดประเทศและใช้ชีวิตได้เป็นปกติและมีความปลอดภัยมากขึ้น สอดคล้องกับมาตรการเตรียมพร้อมโควิดสู่โรคประจำถิ่นในมาตรการ 2U คือ Universal prevention และ Universal Vaccination โดยภาพรวมขณะนี้มีประชาชนฉีดวัคซีนไปแล้วประมาณ 138 ล้านโดส ความครอบคลุมเข็มแรก 81.6% เข็มที่ 2 ได้ 75.7% ส่วนกระตุ้นเข็มที่ 3 ได้เพียง 40.7%  จึงขอให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดทุกจังหวัด เร่งประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์และความจำเป็นให้ประชาชนมารับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อให้ประเทศสามารถผ่านสถานการณ์โควิด 19 และเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นได้ต่อไป

ชมรมแพทย์ชนบทแนะ สธ. แก้ปัญหาวัคซีนล้นคลัง 

วันนี้ (4 มิ.ย.) เพจชมรมแพทย์ชนบท รายงานว่าจากกระแสการรับรู้ของสังคมตลอด 2 วันที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการที่ สธ.มีจดหมายแจ้งจัดสรรวัคซีน 16.8 ล้านโดส ลง รพ.สต.ทั่วประเทศ เปรียบเสมือนการเอาวัคซีนไปทิ้งที่ปลายทาง เพื่อแก้ปัญหาวัคซีนล้นคลังส่วนกลาง

วัคซีนซิโนแวค 1.17 ล้านโดสนั้น ไม่มีใครจะฉีดแล้ว เปลืองค่าส่ง เปลืองตู้เย็น ที่มีอยู่ในพื้นที่เองรวมๆกันก็เชื่อว่ามีอีกนับล้านโดสที่รอวันหมดอายุ แรงงานต่างด้าวเขาก็ไม่เอาซิโนแวค และจะนำมาเป็นเข็มกระตุ้นก็ไม่ได้

วัคซีนแอสตร้า 9.76 ล้านโดส ยังมีเต็มคลังในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น รพ.สต. รพช. และระดับจังหวัด เนื่องจากเพิ่งได้รับจัดสรรมาเมื่อเดือนเมษายน 65 ซึ่งก็รอวันหมดอายุเช่นกัน และคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันเลือกที่จะฉีดไฟเซอร์มากกว่า

วัคซีนไฟเซอร์ 5.86 ล้านโดส เป็นวัคซีนที่ยังมีความนิยมสูงสุด แต่ความต้องการการฉีดในปัจจุบันก็ลดลงไปมาก จำนวนที่ได้รับจัดสรรมาแล้วก็ยังเต็มตู้เย็นรอวันหมดอายุเช่นกัน และอีกประเด็นคือ ต้องเก็บในคลังวัคซีนที่มีอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส หากเอาออกจากคลัง –70 องศาแล้ว ไฟเซอร์ฝาม่วงจะมีอายุเพียง 1 เดือน ไฟเซอร์ฝาเทาจะมีอายุ 2.5 เดือน ซึ่งก็ถือว่าสั้นมาก และระดับจังหวัดก็ไม่มีตู้เย็นชนิดนี้ การนำวัคซีนส่งออกจาก สธ. ก็คือ เริ่มนับวันหมดอายุทันที จึงควรเก็บวัคซีนไว้ในคลังวัคซีน -70 องศาที่ส่วนกลางเหมือนเดิม แล้วค่อยให้พื้นที่ทยอยเบิกตามจำนวนที่ต้องการ ซึ่งในปัจจุบันก็มีการเบิกอยู่ทุกสัปดาห์ไม่มีขาด การส่งวัคซีนออกมารอบนี้จึงเป็นการส่งมาเพื่อให้พื้นที่ช่วยทำลายวัคซีนให้กระทรวงนั่นเอง

ข้อเสนอที่ทาง สธ.ควรจะเปิดอกรับพิจารณามี 2 ประการคือ

1. ขอให้รัฐบาล ศบค.และ สธ.ยอมรับความจริงว่า สั่งวัคซีนมาเกินกว่าความต้องการ พื้นที่ก็ขยันฉีดและทำกันเต็มที่แล้ว วัคซีนยังมีอยู่เต็มตู้เย็น ดังนั้นหากจะแก้ปัญหาวัคซีนล้นคลัง สธ.ก็ให้แก้ด้วยการยอมรับสภาพแบบแมนๆ หากหมดอายุ บริจาคไม่ออก ก็รวบรวมไปทำลาย ไม่ต้องส่งมาให้หมดอายุที่ รพ.สต.

2. ระบบการเบิกและจัดการคลังวัคซีนในปัจจุบันที่พื้นที่ตั้งเบิกตามจำนวนที่ต้องการเป็นรายสัปดาห์ ก็เป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว ไม่ได้มีปัญหาขาดแคลนวัคซีนในพื้นที่ จึงควรให้มีการจัดสรรแบบเดิมต่อไป

ชมรมแพทย์ชนบท เสนอแนะเรื่องดังกล่าวเพราะเราอยู่หน้างาน เสนอแนะด้วยความจริงใจ ไม่ได้หวังสร้างความเสียหายแก่ใคร แค่หวังจะเห็นการแก้ปัญหาให้ถูกต้องเหมาะสม หนังสือราชการออกมาแล้วไม่ลงตัวก็แก้ไขปรับเปลี่ยนได้ ขอให้ผู้หลักผู้ใหญ่รับฟังเสียงสะท้อนจากพื้นที่ในครั้งนี้ และหวังว่าวันจันทร์จะได้รับข่าวดี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net