Skip to main content
sharethis

17 ก.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (17 ก.ค.) เวลา 14.00 น. ประชาชนอาสา เริ่มตั้งจุดลงประชามติไว้วางใจ ‘พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา’ นายกรัฐมนตรี โดยสภาประชาชน ที่หน้าร้านหนังสือ Book Moby ชั้น 3  ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร แยกปทุมวัน และบริเวณสยามสแควร์ ซอย 5  

‘ศีล’ อายุ 24 ปี หนึ่งในประชาชนอาสาจัดกิจกรรมดังกล่าวบริเวณสยามสแควร์ ซอย 5 กล่าวถึงที่มาที่ไปของการจัดงานครั้งนี้ว่า เนื่องด้วยวันที่ 22-23 ก.ค.นี้ สภาผู้แทนราษฎรจะมีอภิปรายไม่ไว้วางใจคณะรัฐบาล นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นักกิจกรรมจึงคิดแคมเปญตั้งสภาประชาชน เพื่อที่จะให้ประชาชนมีโอกาสส่งเสียงความเห็นของตัวเองว่า เขาไว้วางใจพลเอกประยุทธ์ หรือไม่ และผู้จัดงานจะนำเสียงที่ลงประชามติตรงนี้ไปยื่นถึงรัฐสภาว่า ประชาชนคิดเห็นแบบนี้ และรัฐสภาคิดเห็นเหมือนประชาชนไหม เพราะในทางหนึ่งรัฐสภาก็คือ โดยหลักการเขาควรเป็นตัวแทนประชาชน และสะท้อนความคิดเห็นของประชาชน 

“กิจกรรมของเราไม่ได้ต้องการมาหาแค่เฉพาะคนเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย เราแค่เชื่อว่าเสียงของประชาชนมีความหมายและควรได้รับการรับฟัง” ศีล กล่าว

ศีล ระบุต่อว่า แม้ว่าปีหน้ารัฐบาลจะหมดวาระ แต่การแสดงความคิดเห็นของประชาชนสามารถทำได้ตลอดเวลา และการจัดแคมเปญ มันเป็นวิธีการต่อสู้ เมื่อเราเห็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

ศีล กล่าวถึงความคาดหวังส่วนตัวว่า เขาอยากให้กิจกรรมนี้เป็นช่องทางให้เสียงของประชาชนได้รับการรับฟังบ้างเท่านั้น 

“ขอแค่วันนี้อาจจะหาได้เพียงไม่กี่ชื่อ (ผู้สื่อข่าว - ชื่อผู้มาลงประชามติ) หาชื่อได้มากกว่าที่คาดคิดไว้ แต่สิ่งที่ผมต้องการ ผมขอแค่ชื่อที่หาได้ เสียงเหล่านี้มันเข้าไปถึงรัฐสภา และมีคนรับฟังเสียงของพวกเขาบ้าง” ศีล กล่าว

ศีล กล่าวต่อว่า รัฐบาลควรรับฟังเสียงของประชาชน เมื่อรัฐบาลใช้วิธีที่ไม่เป็นธรรมต่อฝ่ายที่เห็นต่าง มันจะเป็นการทำลายตัวรัฐบาลเอง อาจตอบไม่ได้ว่า มันจะทำลายตัวเองในวันไหน แต่มันจะเสื่อมโทรมลงไปเรื่อยๆ 

“ขอเชิญชวนทุกคนว่า กิจกรรมในวันนี้เราไม่ได้มาเพื่อต้องการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายรับฟังความคิดเห็น เราต้องการความคิดเห็นของทุกคน เพราะเราเชื่อว่า ความคิดเห็นทุกรูปแบบไม่ว่าคุณจะรักใคร เกลียดใคร ไม่เห็นด้วยกับอะไรก็ตาม ความคิดเห็นของพวกคุณคือเสียงของประชาชน และเสียงของประชาชนมีความหมายเสมอ” ศีล ทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘ณิ’ อายุ 25 ปี วันนี้มาร่วมกิจกรรมโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลที่หอศิลป์ เนื่องจากเธออยากมาร่วมส่งเสียงว่ายังมีคนที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลประยุทธ์ แม้ว่าช่วงนี้กระแสต่อต้านซาลง แต่ก็อยากส่งเสียงว่ายังมีคนต่อต้านอยู่ 

ณิ มองถึงกิจกรรมนี้ว่า เป็นช่องทางที่ทำให้ได้แสดงจุดยืนอยู่ตลอดเวลาว่า ประชาชนอยากจะอยู่ในระบบการปกครองอย่างไรต่อไป หรือทุกครั้งที่มาลงเหมือนได้มาใช้สิทธิและส่งเสียงของตัวเองออกไป 

ด้าน ‘หมอน’ วัย 20 ปี ที่มาร่วมลงประชามติที่หอศิลป์ฯ ระบุว่า เขาอยากแสดงเจตจำนงบางอย่างถึงคนบางคน และมองว่าเรื่องการลงประชามติ เป็นก้าวหนึ่งของประชาธิปไตย และเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่ประชาชนได้ออกเสียง

พอช อายุ 21 ปี และเป็นผู้มาร่วมกิจกรรมประชามติที่สยาม สแควร์ ซอย 5 ระบุว่า เขาอยากมาร่วมกิจกรรมเพราะอยากให้ผู้นำเขาเห็นว่า คนส่วนใหญ่เริ่มไม่เห็นด้วยกับการบริหาร และควรเปลี่ยนนายกฯ

พอช มองต่อถึงการจับกุมผู้เห็นต่างทางการเมืองขณะนี้ด้วยว่า เป็นเรื่อง ‘ไม่สมควร’ และมองว่าเขาควรยอมรับความเห็นทุกฝ่าย และยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองเพื่อแก้ไข

“ถ้าเป็นผู้นำ เขาควรฟังเสียงประชาชนว่าคิดเห็นยังไงกับการบริหาร และจะส่งผลดี ผู้นำมีวิสัยทัศน์ฟังคนรอบข้างมากขึ้น ประเทศจะน่าอยู่ขึ้น” พอช ระบุ

สำหรับกิจกรรม ‘ลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา’ จัดโดยกลุ่มนักกิจกรรมจาก ‘ราษฎร’ และเครือข่าย มีจุดทำกิจกรรมรวม 140 จุดใน 34 จังหวัด รูปแบบกิจกรรมจะเชิญชวนประชาชนมาลงมติ ‘ไว้วางใจ’ หรือ ‘ไม่ไว้วางใจ’ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ เพื่อสะท้อนเสียงของประชาชนถึงทั้งรัฐบาล และสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งควรสะท้อนเสียงของประชาชน และในวันที่ 22 ก.ค.นี้ จะมีการนับคะแนน และส่งผลการนับคะแนนให้สภาผู้แทนราษฎรต่อไป

ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจร่วมทำกิจกรรมลงประชามติ สามารถเช็กสถานที่และเวลาได้ที่เว็บ https://ratsadon-people.gitbook.io/vote/

ทะลุฟ้าชี้ไม่มีการลงมติออนไลน์เพื่อป้องกันบัตรเขย่งและเพื่อความโปร่งใส

มติชนออนไลน์ รายงานที่จุดลงมติที่อนุสาวรีย์ชัยมีผู้ร่วมจัดกิจกรรมอาสาสมัครจำนวนหนึ่งมีการถือป้ายเขียนข้อความว่า "จุดลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์" และมี "บัตรออกเสียง" คือใบลงคะแนนความเห็นพร้อมกล่องลงมติ โดยมีรายละเอียดบนหน้ากล่องทั้งภาค จังหวัด และรหัสกล่อง และมีการพูดผ่านโทรโข่งเชิญชวนให้ร่วมลงมติ และมีผู้เข้าร่วมลงมติอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีการเซ็นชื่อและโหวตโดยการกากบาทหรือประทับลายนิ้วมือในช่องทำเครื่องหมาย 2 จุดคือ ฝั่งซ้ายไว้วางใจและฝั่งขวา ไม่ไว้วางใจ โดยรายชื่อทั้งหมดจะนำไปยื่นต่อรัฐสภาในภายหลัง

นายธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือปูน นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า กล่าวว่ากิจกรรมนี้ไม่มีการลงมติออนไลน์ แต่จะเปลี่ยนเป็นลายมือชื่อแทน เพื่อป้องกันบัตรเขย่งและเพื่อความโปร่งใส ตรวจสอบได้มากที่สุด

หลายจังหวัดร่วมจัดกิจกรรม

นอกจากนี้อีกหลายจังหวัด ยังได้มีการจัดจุดลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ ดังที่ประชาไทได้รายงานไปแล้วที่ เช่นที่ จ.นครราชสีมา และ จ.เชียงใหม่

เพจ Lanner ยังรายงานการจัดกิจกรรมในจังหวัดต่างๆ ของภาคเหนือไว้ดังนี้

น่าน - กลุ่มประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจังหวัดน่าน ตั้งโต๊ะลงมติประชาชนอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ ตั้งแต่เวลา 14.00 น.  ณ สวนสาธารณะศรีเมือง​ โดยมีประชาชนมาร่วมลงมติอย่างต่อเนื่อง ทางกลุ่มประชาชนผู้รักประชาธิปไตยจังหวัดน่าน บอกว่าวันนี้มีประชาชนมาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ด้วยตนเอง โดยประชาชนที่มาก็ติดตามผ่านเพจราษฎร โดยกิจกรรมลงมติจะเสร็จสิ้นในเวลา 19.00 น.

เชียงราย - กลุ่มราษฎรเชียงราย จังหวัดเชียงราย ตั้งโต๊ะลงมติประชาชนอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลประยุทธ์ ตั้งแต่เวลา 10.00 - 14.00 น. และ 16.00 - 19.00 น. ณ ร้านน้ำลุงตู่ และ ตลาดสดเทศบาล 1 (กาดหลวง)​ โดยมีประชาชนมาร่วมลงมติอย่างต่อเนื่อง กลุ่มราษฎรเชียงราย บอกว่าวันนี้มีประชาชนมาร่วมกันอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ด้วยตนเอง โดยประชาชนที่มาก็ติดตามผ่านเพจราษฎร โดยกิจกรรมลงมติจะเสร็จสิ้นในเวลา 19.00 น.

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net