Skip to main content
sharethis

ศาลแพ่งสืบพยานโจทก์ครั้งสุดท้ายคดี 2 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ 'อังคณา นีละไพจิตร' และ 'อัญชนา หีมมิหน๊ะ' ฟ้อง 'สำนักนายก-กองทัพบก' จัดทำ IO โจมตีเพื่อด้อยค่า พร้อมเปิดหลักฐานความเชื่อมโยงปฏิบัติการข่าวสารของรัฐกับเว็บไซต์ IO ป้ายมลทินให้กับนักเคลื่อนไหวรณรงค์ในประเด็นชายแดนใต้ 


แฟ้มภาพจากการขึ้นสืบพยานโจทก์ครั้งแรก

27 ส.ค. 2565 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าวานนี้ (26 ส.ค.) ที่ศาลแพ่งรัชดา มีรายงานความคืบหน้ากรณีที่ 2 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน องค์การสหประชาชาติ และอัญชนา หีมมิหน๊ะ อดีตอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจังหวัดชายแดนใต้ ได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งกับสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแล กอ.รมน. และกองทัพบก เป็นจำเลย ในความผิดละเมิด ตาม พ.ร.บ.ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ 2539 กรณีสนับสนุนการทำไอโอเผยแพร่ข้อมูลบิดเบือนใส่ร้ายผู้หญิงนักปกป้องสิทธิทางโลกออนไลน์ผ่านทางเว็บไซด์ Pulony.blogspot.com  ซึ่งศาลแพ่งรัชดาได้สืบพยานโจทก์เป็นครั้งสุดท้าย โดยอังคณาได้ขึ้นเบิกความในฐานะที่เป็นโจทก์ฟ้องสำนักนายกและกองทับบก และมี รอมฎอน ปันจอร์ บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) ขึ้นให้การในฐานะพยานฝั่งโจทก์ด้วย 

“อังคณา” ระบุว่ามั่นใจว่าศาลจะให้ความเป็นธรรม และคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้ตนเองและครอบครัว 

อังคณาให้สัมภาษณ์หลังกระบวนการพิจารณาคดีเสร็จสิ้นแล้วว่า  การเบิกความวันนี้ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการเบิกความฝ่ายโจทก์ โดยนัดต่อไปก็จะเป็นการสืบพยานของฝ่ายจำเลย ซึ่งก็คือสำนักนายกรัฐมนตรีและกองทับบก ตนไม่มีความกังวลใจอะไร ส่วนตัวก็ได้ทำทุกอย่างอย่างดีที่สุดแล้ว เพราะที่ผ่านมาเวลาที่มีการนำภาพ หรือชื่อของตนมาอ้างชื่อที่จะด้อยค่าและทำให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรี ก็จะไปแจ้งความไว้ตลอดทุกครั้งเพื่อให้ตำรวจค้นหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี แต่หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลในสภาผู้แทนราษฎรทำให้ทราบว่ามีใครบ้างที่อยู่เบื้องหลังและเชื่อมั่นว่าศาลจะให้ความยุติธรรม ซึ่งหลังจากนี้คงต้องรอคำพิพากษาของศาล

สำหรับบรรยากาศในการขึ้นเบิกความวันนี้อังคณาให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า วันนี้อัยการเป็นทนายให้จำเลย คือสำนักนายกรัฐมนตรี และกองทับบก โดยอัยการได้ซักถามตนถึงจำนวนเงินที่เรียกร้องเป็นค่าเสียหายว่าใช้หลักเกณฑ์ใดมาพิจารณา และการได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารจนถึงขั้นต้องรับการรักษาตัวนั้นมีใบเสร็จค่ารักษาพยาบาลหรือไม่  เรื่องนี้ตนได้ชี้แจงต่อศาลว่า ความเสียหายทางจิตใจแม้ไม่ปรากฏบาดแผลให้เห็น แต่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อคุณภาพชีวิต และการดำเนินชีวิต เพราะการถูกด้อยค่า และถูกลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อีกทั้งมีการใช้เพศเป็นเครื่องมือในการคุกคาม ทำให้ส่งผลกระทบอย่างมากทางจิตใจ ที่ผ่านมาได้รับการบำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจโดยได้รับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง อย่างไรก็ดี ในส่วนที่อัยการถามถึงหลักฐานค่าใช้จ่ายนั้น เนื่องจากการนำคดีขึ้นสู่ศาลครั้งนี้ไม่ได้เป็นการฟ้องเพื่อขอค่ารักษาพยาบาล แต่เป็นการขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้สำนักนายกรัฐมนตรี และกองทัพบก ชดใช้เยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น และคืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์กรณีถูกด้อยค่า ถูกใส่ร้ายป้ายสี ดูถูกดูหมิ่นจากการกระทำ หรือการรู้เห็นเป็นใจของหน่วยงานในสังกัดของจำเลยทั้งสอง

“รัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชน หน่วยงานของรัฐจึงไม่ควรใช้งบประมาณ รวมถึงกระทำการใด ๆ อันเป็นการด้อยค่านักสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะการใช้สื่อออนไลน์ ที่ไม่ระบุชื่อ-นามสกุลจริงเพื่อปฏิเสธความรับผิดชอบ ส่วนตัวในฐานะนักปกป้องสิทธิมนุษยชนหญิง การถูกใช้เพศเป็นเครื่องมือในการเหยียดหยามและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ถือเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ซึ่งในทางสากลถือเป็นรูปแบบหนึ่งของ “การทรมานทางจิตใจ” ซึ่งรัฐต้องไม่ปล่อยให้เกิดขึ้น และในโอกาสที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องแสดงให้เห็นถึงความจริงใจในการเคารพสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต้องไม่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการใด ๆ ตามอำเภอใจในการคุกคามผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ไม่เช่นนั้นคงเป็นการยากที่จะได้รับกรยอมรับในระดับสากล” อังคณา นีละไพจิตร ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน สหประชาชาติ กล่าว

ทนายความย้ำพยานหลักฐานที่มีทำให้เห็นความเชื่อมโยงของปฏิบัติการไอโอชัดเจนจนยากที่จำเลยจะโต้แย้ง

สัญญา เอียดจงดี ทนายความกล่าวภายหลังกระบวนการพิจารณาสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้วว่า วันนี้เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้าโจทก์ที่1 คือคุณอังคณาไม่ได้มีการสืบพยานอะไรมากแค่เปิดประเด็นว่าเขาเป็นใครได้รับความเสียหายอย่างไรต่อภาพพจน์การทำงานทั้งในระดับประเทศ และในระดับสากล ตามหน้าที่ที่โจทก์ที่1 ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลานั้น ส่วนที่สำคัญ คือ การสืบพยานในช่วงบ่าย ซึ่งเป็นประเด็นที่ลึกไปกว่าสิ่งที่วิโรจน์ ลักขณาอดิศร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคก้าวไกลได้เปิดเผยไว้ในสภาในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ที่เป็นรายงาน Pulony ที่เขาทำมา แต่วันนี้พยานได้เบิกความไปถึงความเชื่อมโยงในการสื่อสารของเจ้าหน้าที่กับเว็บไซด์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Pulony.blogspot.com ทำให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารของฝ่ายประชาสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ กอ.รอมน.ภาค 4 ส่วนหน้ากับเวปไซด์ดังกล่าว ซึ่งทำให้เห็นรูปแบบของการทำปฏิบัติการ IO ในสามจังหวัดภาคใต้ผ่าน Pulony ได้อย่างชัดเจน หลังจากนี้ต้องดูว่าฝ่ายจำเลยจะใช้หลักฐานอะไรมาหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์บ้าง เพราะเท่าที่เห็นหลักฐานที่เสนอต่อศาล ยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรที่มาทำลายหลักฐานของโจทก์ได้ ซึ่งตนก็ดีใจที่สามารถสืบพยานได้ไกลเกินกว่าที่คิดตั้งแต่ตอนเริ่มที่จะฟ้องคดี  

บก. Deep South Watch ขึ้นเป็นพยานโจทก์ปากสุดท้ายพร้อมโชว์หลักฐานที่เชื่อว่าเป็นความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรของรัฐอย่าง กอ.รมน. และเว็บไซด์ที่เผยแพร่บทความ

บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวภายหลังจากขึ้นเบิกความในฐานะพยานฝ่ายโจทก์เสร็จสิ้นว่า เป็นครั้งแรกในชีวิตที่มาเป็นพยานในคดีแบบนี้ และคิดว่าเป็นประเด็นที่สำคัญเพราะตนได้ติดตามเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับปฎิบัติการข่าวสารและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ในเรื่องสิทธิมนุษยชนในชายแดนภาคใต้ และไม่คิดว่าข้อมูลที่เราเก็บมาหลายสิบปีจะได้นำมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ในคดีนี้ และทำให้เห็นว่าการด้อยค่าแพร่มลทินของปฏิบัติการข่าวสาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดของประชาชนมาหลายปีกระทำมีการกระทำอย่างเป็นระบบ ที่ผ่านมาได้พูดคุยกับหลายคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนหรือ ผู้ที่เคลื่อนเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มักถูกไอโอ

ในลักษณะแบบนี้ ซึ่งข้อมูลที่ตนได้นำเรียนต่อศาลในวันนี้ ถือว่ามีประโยชน์อย่างมากไม่ใช่แค่ในกระบวนการยุติธรรมเท่านั้น โดยก่อนหน้านี้ได้ทำเรื่องการวิเคราะห์งบประมาณ และวิเคราะห์แผนยุทธศาสตร์ของรัฐในส่วน จชต. และเมื่อ 2-3 ปีที่แล้วก็มีโอกาสเป็น อนุกรรมาธิการพิจารณางบประมาณที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ได้ขอข้อมูล และใช้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ ในการที่จะตรวจสอบกลั่นกรองถ่วงดุลฝ่ายบริหาร ก็ทำให้เราได้มาซึ่งข้อมูลที่สำคัญมาก ๆ ซึ่งในเวลาต่อมาได้ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในแง่ของเนื้อหาสาระของแผนบูรณาการ และนำมาสู่การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ซึ่งไม่คิดว่าข้อมูลที่เคยรวบรวมไว้จะได้ใช้ประโยชน์ในวันนี้ ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งคำถามต่อมาตรการที่เป็นปัญหามานานหลายปี อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ปฏิบัติการขอมูลข่าวสาร โดยการด้อยค่าและการแพร่มลทินต่อผู้ที่เห็นต่างจากรัฐ 

ซึ่งเอกสารที่ตนนำมาในแสดงต่อศาลในวันนี้ เป็นเอกสารหลักฐานชิ้นสำคัญที่เชื่อได้ว่าจะเชื่อมโยงร้อยเรียงประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับคดีนี้ด้วย ซึ่งทำให้เปิดเผยถึงความสัมพันธ์ระหว่างตัวองค์กรของรัฐอย่าง กอ.รมน. และเว็บไซด์ที่เผยแพร่บทความเชิงเนื้อหาที่มีการด้อยค่าแพร่มลทิน ที่เชื่อมโยงกัน เพราะมีข้อมูลต่าง ๆ ที่มาจากฐานข้อมูลของหน่วยงานราชการเอง สามารถยืนยันได้ว่าปฏิบัติการด้อยค่าแพร่มลทินเหล่านี้ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่

“นอกจาก 2 ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจะได้รับผลกระทบจากปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่ด้อยค่าและแพร่มลทินด้วยแล้ว ในเว็บไซด์ Pulony ยังมีอีก 2 บทความ ที่พบว่ามุ่งเน้นโจมตีการเคลื่อนไหวของผู้ที่ทำงานเรื่องสันติภาพในชายแดนใต้ เช่น บทความที่ชื่อว่า “นาย ชินทาโร่ ฮารา พฤติกรรมที่เป็นภัยต่อความมั่นคง” โดยเป็นบทความที่มุ่งโจมตีด้อยค่าและแพร่มลมินให้กับ อาจารย์ฮาร่า ชินทาโร่ (HARA SHINTARO) อดีตอาจารย์สอนวิชาภาษามลายู ในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี  และบทความที่ชื่อ “คดี ‘อันวาห์’ ฟ้อง UN ชักศึกเข้าบ้าน” ซึ่งเป็นบทคามที่มุ่งโจมตีด้อยค่า และแพร่มลมินให้กับ มูฮาหมัด อัณวัร (อันวาห์) ผู้ซึ่งทำงานด้านสันติภาพด้วย”   บรรณาธิการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) กล่าวภายหลังการให้การในศาล

“อัญชนา” กังวลหลังจากสิ้นสุดการพิจารณาคดีแล้วจะมีการตอบโต้กลับ

ด้านอัญชนาระบุว่า สิ่งที่ตนกังวลและคิดว่าสำคัญคือหลังจากสิ้นสุดการพิจารณาคดีแล้วมันจะมีการตอบโต้ล้างแค้นอย่างไรบ้าง เพราะปัจจุบันก็ยังโดนการโจมตีด้วยปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร ด้วยการโจมตีทางเฟซบุ๊กทางออนไลน์และทางคอมเมนต์อยู่และยังจะมีการตอบโต้กลับด้วยกฎหมายอย่างอื่นอีกหรือเปล่าเราควรจะจบลงที่การพิจารณาการตัดสินของศาลหรือเปล่า เพราะเราต้องให้รัฐตระหนักถึงสิ่งที่รัฐมีหน้าที่ที่จะต้องทำในเรื่องของการปกป้องหลักสิทธิมนุษยชน ปกป้องประชาชน สิ่งที่เราต้องการสื่อเราก็อยากจะให้รัฐเข้าใจว่าการดำเนินคดีกับรัฐเองในกรณีนี้เนื่องจากว่ารัฐใช้งบประมาณมาจากภาษีของประชาชน ทำร้ายประชาชนและเมื่อศาลตัดสินอย่างไรก็ตามเราก็ต้องเคารพในการตัดสินของศาล และจะต้องไม่มีการใช้วิธีการอื่นในการตอบโต้กลับนักสิทธิมนุษยชนต่อไป

สำหรับในคดีนี้ศาลแพ่งนัดสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว และจะนัดสืบพยานจำเลยต่อไปในวันที่ 20  ต.ค. 2565 และวันที่ 22 พ.ย. 2565 ที่จะถึงนี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net