Skip to main content
sharethis

สว.ให้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับเสียงข้างมากชั้นเดียวผ่าน และให้ตั้ง กมธ. 25 คนพิจารณาเพื่อความรอบคอบให้เสร็จภายใน 60 วัน

27 ส.ค.2567 ในการประชุมของวุฒิสมาชิกวันนี้มีวาระพิจารณาลงมติร่างแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่สภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบแล้วก่อนหน้านี้เมื่อ 21 ส.ค.ที่ผ่านมา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

นิกร จำนง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวถึงสาระสำคัญของกฎหมายคือการทำให้การออกเสียงประชามติใช้เสียงข้างมากชั้นเดียวคือให้ใช้เสียงข้างมากจากจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งหมดเท่านั้น จากเดิมที่ต้องมีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด และต้องได้เสียงของผู้มาใช้สิทธิเกินครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิทั้งหมด และยังเพิ่มเรื่องกำหนดให้วันที่ให้ประชาชนออกเสียงประชามติสามารถทำได้ในวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง สส. และสภาท้องถิ่น เพื่อประหยัดงบประมาณ

ก่อนที่สมาชิกวุฒิสภาจะลงมติให้กับร่างกฎหมายฉบับนี้ พล.อ.เกรียงไกร ศรีรักษ์ รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็น

พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์ กล่าวอภิปรายเรื่องที่ สส.ผ่านร่างกฎหมายที่ต้องการปลดล็อกเสียงข้างมากสองชั้น นั้นเขาเห็นด้วยกับการปลดล็อกชั้นแรกคือให้ตัดส่วนที่กำหนดให้ผู้มาใช้สิทธิต้องมีเกินครึ่งของผู้มีสิทธิทั้งหมดเนื่องจากสามารถเข้าใจได้ว่าการเดินทางไปกลับของประชาชนเพื่อมาใช้สิทธินั้นเป็นภาระ

พิสิษฐ์ กล่าวถึงประเด็นที่เขาไม่เห็นด้วย คือการตัดเงื่อนไขในล็อกชั้นที่สอง ที่ไปตัดประเด็นคะแนนเสียงของผู้มาใช้สิทธิจะต้องมากกว่าการงดออกเสียง และอื่นๆ ออกไปเป็นเรื่องที่เขาไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าไม่เป็นธรรม เพราะเขาเห็นว่าถ้ามีการลงมติในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วมีจำนวนผู้มาใช้สิทธิ 10 ล้านคนแล้วถ้ามีผู้มีลงคะแนนเห็นชอบแค่ 5 ล้านกับอีก 1 คนซึ่งถือเป็นแค่ 10 % ของผู้มีสิทธิทั้งหมด 52 ล้านคน(จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเมื่อปี 2566) ก็ถือว่าทำประชามติผ่านแล้ว ซึ่งเขามีคำถามว่าจำนวนเท่านี้ถือว่าเป็นประชามติของประชาชนที่แท้จริงหรือไม่แล้วคนอีก 42 ล้านคนไม่ได้มาลงประชามติเท่ากับถูกบังคับให้ทุกคนเห็นชอบกับผลนี้ไปด้วยหรือไม่ และเขาเสนอให้ใช้เป็นจำนวนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงแทน

อังคณา นีละไพจิตร กล่าวว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาหลายด้านจึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขได้ยากแต่การจะเริ่มแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องเริ่มจากการแก้ไข พ.ร.บ.ประมาติเพื่อลดความซับซ้อนให้หมดไปซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยร่างแก้ไขกฎหมายที่ผ่านมาจาก สส. เป็นการแก้ไขในส่วนของระบบเสียงข้างมาก 2 ชั้นให้เหลือใช้เสียงข้างมากชั้นเดียว เธอเห็นว่าจะทำให้การทำประชามติไม่ซับซ้อน

อังคณากล่าวว่า แม้สมาชิกบางคนอาจจะมีความกังวลว่าการทำให้รูปแบบประชามติเป็นแบบนี้จะเป็นการบังคับให้คนต้องไปออกเสียงหรือเปล่า เธอเห็นว่าตามรัฐธรรมนูญ 2560 มีการบัญญัติว่าเป็นหน้าที่ของปวงชนชาวไทยต้องออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติ เมื่อไม่ไปใช้สิทธิก็จะถูกลดถอนสิทธิ การที่ประชาชนจะออกไปใช้สิทธิจึงเป็นการเปลี่ยนประชาชนให้เป็นพลเมืองคือมีทั้งสิทธิและหน้าที่

นอกจากนั้นอังคณาเห็นว่าข้อดีของการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามตินี้ยังมีอีกข้อดีคือให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อให้ประชาชนเข้าไปแสดงความเห็นโดยอิสระและมีความรอบด้าน มีส่วนร่วมตามสมควร นอกจากนั้นการทำประชามติพร้อมการเลือกตั้งก็ยังเป็นประโยชน์ในการประหยัดงบประมาณและทำให้ประชาชนออกไปใช้สิทธิเพียงครั้งเดียวได้ใช้สิทธิเลือกตั้งและออกเสียงประชามติด้วย อีกทั้งยังเปิดให้การออกเสียงสามารถทำทางออนไลน์หรือการส่งไปรษณีย์ไปด้วย ทำให้การแก้ไขพ.ร.บ.ประชามตินี้สอดคล้องไปกับรัฐธรรมนูญด้วย

วุฒิสมาชิกลงมติรับหลักการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ 179 เสียง

เทวฤทธิ์ มณีฉาย วุฒิสมาชิก ชี้ปัญหาล็อคเสียงข้างมาก 2 ชั้น

จากนั้นภายหลังจากสมาชิกอภิปรายเสร็จสิ้นแล้วที่ประชุมมีการลงมติมี สว.แสดงตัว 185 คน มีผู้ออกเสียงให้รับหลักการ 179 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง

หลังลงมติ ฤชุ แก้วลาย สว.จากบุรีรัมย์ เสนอญัตติให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญจำนวน 25 คน เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายนี้

ทั้งนี้ เทวฤทธิ์ มณีฉาย สว.สมุทรสงคราม เสนอญัตติให้ใช้ กมธ.แบบเต็มสภา โดยเขาให้เหตุผลว่าก่อนหน้านี้ร่างพ.ร.บ.ที่เข้ามาสู่การพิจารณาของ สว.ก็มีการตั้ง กมธ.แบบเต็มสภาไปแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติครั้งนี้ก็ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมากและก็ศึกษากันมาตั้งแต่ในชั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จึงเสนอให้ใช้การพิจารณาแบบเต็มสภาด้วยเช่นกันเพื่อให้เสร็จทันในช่วงการเลือกตั้งท้องถิ่นในช่วงต้น ก.พ.2568 และประชาชนได้ร้กฎกติกาก่อน เพราะหากตั้ง กมธ.ฯ แล้วพิจารณาไม่เสร็จทันสมัยประชุมที่จะหมดลงเดือนต.ค. อาจทำให้การทำประชามติครั้งแรกไม่ทันเดือนก.พ. 6

อย่างไรก็ตามประธานสภาได้เปิดให้สมาชิกลงมติชี้ขาด สว.มีมติข้างมาก 146  เสียงให้ตั้ง กมธ.พิจารณาในกรอบเวลา 60 วัน ไม่เห็นด้วย 34 เสียง และงดออกเสียง 6 เสียง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net