Skip to main content
sharethis

เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยแห่งเอเชียแปซิฟิก (APRRN) เรียกร้องให้รัฐไทยปล่อยตัวผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่เหลือ 54 คนที่ถูกขังมากว่า 8 ปี และให้ช่วยพวกเขาเข้าถึงกระบวนการช่วยเหลือของ UNHCR ทันที และชี้ว่าการไม่ส่งกลับจีนจะปลอดภัยกับพวกเขามากกว่า

2 ส.ค.2565 เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยแห่งเอเชียแปซิฟิก (APRRN) ออกแถลงการณ์ถึงรัฐบาลไทยในประเด็นผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ 54 คนที่ถูกขังโดยพลการมากว่า 8 ปีแล้วตั้งแต่ช่วง 2556-2557 ให้ได้รับการปล่อยตัวและเข้าถึง UNHCR ได้

โรม 'ก้าวไกล' รับหนังสือชาวอุยกูร์ 56 ราย ถูกขังลืมในห้องกักเกือบ 10 ปี ร้องรัฐไทยไม่ส่งกลับจีน

แถลงการณ์ให้ข้อมูลว่า ผู้ลี้ภัย 54 คนนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่ยังเหลืออยู่จากผู้ที่ลี้ภัยมาจากจีนจำนวนมากกว่า 350 คนที่เดินทางเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ในปี 2558 รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยส่งตัวชาวอุยกูร์ 109 คนกลับประเทศจีนที่เป็นต้นทางที่พวกเขาลี้ภัยมาแม้ว่าจะมีอีก 170 คนที่ถูกส่งต่อไปตุรเคียก็ตาม ซึ่งกรณีนี้ทำให้รัฐบาลทหารถูกประณามจากสํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการทรมานและมีการระบุว่าการบังคับส่งกลับจีนนั้นทำให้พวกเขาเสี่ยงต่อการถูกทรมาน

ชาวอุยกูร์จำนวน 109 คนที่ถูกส่งให้กับรัฐบาลจีน เจ้าหน้าที่ตำรวจจีนใช้ถุงดำคลุมหัวผู้ถูกส่งตัวกลับ ภาพจาก CCTV เมื่อ 11 ก.ค.2558

นอกจากนั้น ล่าสุดเกี่ยวกับการย้ายชาวอุยกูร์ 44 คนไปยังสถานที่กักตัวเพียงแห่งเดียวใกล้กับสนามบินในกรุงเทพฯ ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง กลุ่มนี้ทั้งหมดยกเว้นเพียงไม่กี่คนเท่านั้นถูกตัดสินว่าไม่มีความผิดทางอาญา และถูกควบคุมตัวเพียงเพราะสถานะของพวกเขาที่เป็นผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์

แถลงการณ์ของ APRRN ระบุข้อเรียกร้องว่า ให้รัฐบาลไทยไม่เนรเทศผู้ลี้ภัยชาวอุยกูร์ที่ถูกคุมขังโดยพลการ และการไม่กลับประเทศจีนนั้นปลอดภัยสําหรับชาวอุยกูร์ รวมถึงให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวผู้ลี้ภัยเหล่านี้ทันทีหรือให้ทางเลือกในการตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีอยู่ และอำนวยความสะดวกแก่พวกเขาในการเข้าถึง UNHCR

แถลงการณ์ระบุอีกว่า ประเทศไทยเป็นสมาชิกของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ และได้แสดงความเป็นผู้นําระดับโลกเกี่ยวกับทางเลือกอื่นในการกักตัวคนเข้าเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเวทีทบทวนการย้ายถิ่นระหว่างประเทศและข้อตกลงระดับโลกว่าด้วยผู้ลี้ภัย ในฐานะประเทศผู้ลงนามในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและเป็นภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมถึงภายใต้กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ประเทศไทยจึงถูกผูกมัดด้วยหลักการไม่ส่งกลับ

"ประเทศไทยมีประเพณีอันยาวนานและน่าภาคภูมิใจในการให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัย และไม่ให้ชาย หญิง และเด็กกลับไปยังสถานที่ที่พวกเขาตกอยู่ในอันตรายจากการถูกข่มเหงและทําร้าย เป็นเวลาหลายชั่วอายุคนแล้วที่คนไทยได้ต้อนรับคนจํานวนมากที่หนีจากความขัดแย้งและการกดขี่จากประเทศจีน เวียดนาม กัมพูชา เมียนมา และประเทศอื่น ๆ" แถลงการณ์ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net