Skip to main content
sharethis

ศาลสั่งกองทัพบกชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทผู้เสียชีวิต กว่า 17 ล้านบาท จากคดีประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ร้อยตรีสนาน ทองดีนอก เสียชีวิตระหว่างการฝึกอบรมหลักสูตร ทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ เมื่อ 6 มิ.ย. 2558 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมชวนจับตาลงโทษอาญาครูฝึก  

 

2 ส.ค 2565 มูลนิธิผสานวัฒนธรรม รายงานต่อสื่อวันนี้ (2 ส.ค.) เมื่อเวลา 9.00 น. ณ ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก จ.กรุงเทพฯ ศาลแพ่งอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้กองทัพบก (จำเลย) ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่นางหวาน ทองดีนอก (มารดา) โจทก์ที่ 1 และนางสาวธัญญารัตน์ วรรณสถิต (ภรรยา) โจทก์ที่ 2 รวมแล้วเป็นเงินต้นจำนวนเงิน 11.8 ล้านบาท หากคิดรวมดอกเบี้ยตลอดระยะเวลา 7 ปี เป็นเงิน 6 ล้านบาท รวมแล้วจะต้องได้รับค่าสินไหมทดแทนจำนวนเงินทั้งสิ้นกว่า 17 ล้านบาท ในคดีหมายเลขดำที่ พ.2580/2559 หรือคดีที่ร้อยตรีสนาน ทองดีนอก เสียชีวิตระหว่างการฝึกอบรมหลักสูตรทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ (UKBT) รุ่นที่  11 เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2558 หรือเมื่อ 7 ปีที่แล้ว

(ซ้าย) ร.ต.สนาน ทองดีนอก, (ขวา) สระว่ายน้ำที่ฝึก

สืบเนื่องจากศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินคดีนี้แล้วตั้งแต่ปี 2563 ต่อมาจำเลยได้ฎีกา ในวันนี้ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีความเห็นดังต่อไปนี้

เจ้าหน้าที่ทหารหัวหน้าครูฝึกสังกัดหน่วยงานกองทัพบกกระทำการโดยประมาทเลินเล่อต่อผู้ตายหรือไม่ 

ศาลเห็นว่าการที่ครูฝึกยศพันตรีกระทำการในลักษณะเชิงบังคับให้ผู้ตายว่ายน้ำ ทั้งที่ผู้ตายแสดงอาการให้เห็นอย่างชัดแจ้งแล้วว่า ผู้ตายว่ายน้ำต่อไปไม่ไหวอันเป็นการกระทำที่ขาดความระมัดระวังซึ่งเป็นเหตุที่อาจป้องกันได้ จึงไม่ใช่เหตุสุดวิสัยที่จำเลยในฐานะหน่วยงานต้นสังกัดจะนำมาอ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดได้ การกระทำของเจ้าหน้าที่ในสังกัดของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่อเป็นผลโดยตรงให้ผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นการกระทำต่อผู้ตายในขณะปฏิบัติหน้าที่  กองทัพบกจึงต้องรับผิด พ.ร.บ. ความผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง

สำหรับค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ นั้น เห็นว่าแม้โจทก์ทั้งสองไม่มีพยานเอกสารเป็นใบเสร็จรับเงินเกี่ยวกับค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพมาแสดง แต่ตามรายการค่าดำเนินการเกี่ยวกับการปลงศพผู้ตาย เช่น ค่าดอกไม้ ค่าอาหาร ค่าเครื่องดื่ม ค่าฝากศพ ค่ารถขนศพ เป็นต้น เป็นสิ่งจำเป็นในการปลงศพและจัดงานศพประกอบกับโจทก์ทั้งสองจัดงานศพถึง 2 ครั้ง เพราะมีการเรียกร้องขอให้ชันสูตรศพผู้ตาย 2 ครั้ง จึงมีค่าใช้จ่ายในการปลงศพมากขึ้น ดังนั้น ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นๆ ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดจึงเหมาะสมแล้ว

ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยฎีกา ศาลเห็นว่าการที่โจทก์ทั้งสองต่อสู้ว่าผู้ตายอาจจะมีอายุยืนถึง 85 ปี แม้เป็นการคาดการณ์ในอนาคต แต่ก็เป็นการคาดการณณ์ที่เป็นไปได้ และเห็นว่าเรื่องอายุเฉลี่ยของคนไทย เพศชาย ที่จำเลยฎีกาเพื่ออ้างว่าค่าขาดไร้อุปการะที่จำเลยต้องชดใช้สูงเกินไปนั้น เป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ไม่มีน้ำหนัก ดังนั้น การกำหนดให้โจทก์ได้รับค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะนับแต่วันเกิดเหตุจนโจทก์ทั้งสองอายุ 85 ปี เป็นค่าขาดอุปการะที่เหมาะสมแล้ว

ค่าขาดแรงงานครัวเรือนของโจทก์ที่ 2 ที่จำเลยฎีกา ศาลเห็นว่า โจทก์ที่ 2 ประกอบกิจการเลี้ยงสุนัขเพื่อจำหน่ายโดยมีการทำเป็นกิจจะลักษณะเพื่อแสวงหากำไร ผู้ตายมีความผูกพันทางกฎหมายในฐานะสามีที่ต้องช่วยเหลือกิจการ เมื่อผู้ตายถูกกระทำการละเมิดจนถึงแก่ความตาย โจทก์ที่ 2 ต้องขาดแรงงานในครัวเรือน จึงมีสิทธิได้รับค่าสินไหมดแทนเป็นค่าขาดแรงงานถูกต้องแล้ว

หลังจากนี้ กองทัพบก (จำเลย) ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลฎีกาภายใน 30 มิฉะนั้น อาจถูกบังคับคดีได้ตามกฎหมาย

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า “คดีนี้ แม้ศาลแพ่งจะให้ความเป็นธรรม แต่พบว่าในการฝึกทหารมักเกิดเหตุความรุนแรงจนมีการร้องเรียนและเป็นข่าวเสมอมาว่า กองทัพต้องพิจารณาทบทวนการฝึกทหารที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อร่างกาย จิตใจ บางรายถึงขั้นเสียชีวิตและต้องมีมาตรการรับรองว่าจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก การชดเชยเยียวยาด้วยตัวเงินนี้ต้องมีการไล่เบี้ยกับผู้กระทำความผิดชดใช้คืนแก่กองทัพ  รวมทั้งการลงโทษทางวินัยก็ต้องให้สมควรแก่ความร้ายแรงและต้องดำเนินการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษทางอาญาก็ไม่ควรละเว้น กฎหมายไทยยังมีปัญหาเรื่องการดำเนินคดีอาญากับทหารที่กระทำความผิด เพราะระบบศาลทหารในคดีอาญาเช่นนี้ต้องดำเนินคดีในศาลทหารย่อมเป็นการยากที่ประชาชนจะดำเนินการเองได้ เนื่องจาก พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนเป็นโจทก์หรือโจทก์ร่วมในการดำเนินคดีอาญาในศาลทหาร”

คดีนี้ครอบครัวของผู้ตายได้ใช้ระยะเวลาต่อสู้ในชั้นศาลมามากกว่า 7 ปีนับแต่วันที่ร้อยตรีสนาน เสียชีวิต  แม้ในวันนี้ครอบครัวจะได้รับเงินเยียวยา แต่ครอบครัวของเหยื่อก็ไม่สามารถได้บุตรชาย สามี หรือสมาขิกในครอบครัวอันเป็นที่รักกลับคืนมาได้ เพราะความประมาทเลินเล่อของผู้บังคับบัญชา เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ควรเกิดขึ้นกับใครอีกและผู้กระทำความผิดควรได้รับการลงโทษจากหน่วยงานต้นสังกัดต้องมีมาตรการเชิงลงโทษและป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ได้อีกต่อไป มูลนิธิผสานวัฒนธรรม จึงขอเชิญชวนให้สื่อมวลชนและประชาชนที่สนใจ ติดตามว่าครูฝึกที่กระทำการประมาทเลินเล่อนี้จะมีการลงโทษในคดีอาญาหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net