Skip to main content
sharethis

“มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ” ผุดแอพพลิเคชั่น “Smart Domestic Workers” ช่องทางช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติหญิงที่ประสบความรุนแรง เน้นเข้าถึงรวดเร็ว สื่อสารได้โดยตรง แจ้งข้อมูลสำคัญตั้งแต่การแก้ปัญหาเบื้องต้นจนถึงเรื่องร้องเรียน ย้ำกฎหมาย คุ้มครองทุกคนเท่าเทียมกัน ไม่เว้นแม้แต่แรงงานข้ามชาติ ช่วงสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งพบปัญหาความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ส่วนใหญ่มาจากความเครียด เผยกว่าร้อยละ 80 ลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นหญิงข้ามชาติ เคยถูกลวนลาม และละเมิดทางเพศ แต่น้อยคนที่กล้าแจ้งความ

8 ส.ค.2565 ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเดอะแกรนด์ พาลาสโซ รัชดา กรุงเทพฯ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ โดยการสนับสนุนจากโครงการ Safe and Fair ภายใต้ความร่วมมือ ของ UN Women และ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดงานเปิดตัว Mobile Phone Application “Smart Domestic Workers” พร้อมเสวนาหัวข้อ “การเพิ่มพลังแรงงานหญิงข้ามชาติ ด้วยเทคโนโลยี”

เมลิสสา อัลวาราโด ผู้จัดการโครงการยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงในระดับภูมิภาค UN Women ประจำสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก กล่าวระหว่างเป็นประธานการเปิดงานว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงก่อให้เกิดอันตรายชั่วชีวิตในทุกประเทศทั่วโลก ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 1ใน 3ของผู้หญิงที่เคยประสบความรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศมาก่อน ถูกกระทำโดยคู่สมรสหรือบุคคลอื่น แต่ที่ร้ายแรงมากสำหรับผู้หญิงไทย ผลการวิจัยพบว่าร้อยละ24 เคยประสบกับความรุนแรงทางร่างกายหรือทางเพศจากคู่รัก และที่น่าตกใจคือ ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงเกิดความรู้สึกกลัวและอับอายไม่กล้าขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมาย

เมลิสสลา กล่าวด้วยว่า แรงงานหญิงข้ามชาติมีความเสี่ยงกับปัญหาความรุนแรงมาก เมื่อเทียบกับผู้หญิงทั้งหมด โดยผลวิจัยการศึกษาประสบการณ์ของแรงงานหญิงข้ามชาติในไทยปัจจุบัน พบว่า ร้อยละ80ประสบกับความรุนแรงอย่างน้อยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ซึ่งอุปสรรคของการให้ความช่วยเหลือคือ ความกลัวถูกจับ ถูกส่งกลับ หรือตกงาน ดังนั้นการมีแอพพลิเคชั่น “Smart Domestic Workers” จะมีข้อมูลเกี่ยวกับความปลอดภัยให้กับแรงงานหญิงข้ามชาติที่มีความเสี่ยงประสบปัญหาความรุนแรง จึงหวังว่าจะเป็นประโยชน์และตอบสนองความต้องการความช่วยเหลือได้ดียิ่งขึ้น 

บุญสม น้ำสมบูรณ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) รายงานว่า หญิงไทยถูกละเมิดทางเพศ-กระทำความรุนแรง มากกว่า 7 คน/วัน เข้ารับการบำบัดรักษา-แจ้งความร้องทุกข์30,000 คน/ปี สูงติดอันดับโลก และสถิติข้อมูลจากการจัดอบรมของมูลนิธิฯ พบว่าร้อยละ 80 ของลูกจ้างทำงานบ้านที่เป็นหญิงข้ามชาติ เคยถูกลวนลาม และละเมิดทางเพศ แต่มีน้อยคนที่กล้าแจ้งความ 

“แอพพลิเคชั่น Smart Domestic Workers นี้ จะช่วยสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน แต่เดิมผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงอาจไม่รู้ว่าจะไปพึ่งใครได้ เพราะมาต่างบ้านต่างเมือง หรือ กลัวและอายที่จะต้องเปิดเผยเรื่องที่ถูกกระทำ ดังนั้นในแอพนี้จะบอกข้อมูลตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะป้องกันความรุนแรงได้อย่างไร จะสังเกตสถานการณ์และเอาตัวรอดได้อย่างไรเมื่อเจอกับเหตุรุนแรง ซึ่งจุดเด่นของแอพนี้ คือเรื่องการให้ความช่วยเหลือในภาวะเร่งด่วน มีภาษาต่างๆ ให้เลือก ถึง 4ภาษา คือ ไทย อังกฤษ พม่า และกัมพูชา และที่สำคัญยังสามารถค้นหาสถานพยาบาล สถานีตำรวจและหน่วยงานที่อยู่ใกล้เคียงเพื่อขอความช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังมีสายด่วนให้บริการอีกด้วย”  ดร.บุญสม กล่าว  

ดาราราย  รักษาศิริพงษ์ ผู้แทนจาก Migrant Women Project แม่สอด กล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อแรงงานหญิงข้ามชาติในจังหวัดแม่สอด ถ้าเปรียบเทียบระหว่างก่อนโควิด-19 และหลังโควิด-19 จะเห็นว่าเพิ่มมากขึ้น มาจากปัจจัยหลายอย่าง อาทิ การล็อกดาวน์ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน ทำให้เกิดความเครียดในครอบครัว เนื่องจากไม่สามารถทำงานได้ ที่เห็นได้ชัดจะมีกรณีสามีเมาแล้วทำร้ายภรรยาและลูก แรงงานหญิงเหล่านี้เมื่อเดือดร้อน ไม่รู้ว่าจะขอความช่วยเหลือใคร ยิ่งไม่ได้ออกข้างนอกพื้นที่ ยิ่งตัดขาดจากการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร 

“ปัจจุบันเทคโนโลยี มีส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยเหลือการทำงาน เช่น การกระจายข่าวทางโซเชียล ด้วยการเขียนเป็นภาษาที่แรงงานเข้าใจได้ จะให้ข้อมูลว่าหากถูกทำร้ายให้ไปติดต่อใครที่ไหนเพื่อรับความช่วยเหลือ หรือแม้กระทั้งแจ้งสถานพยาบาลที่ใกล้เคียง และร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการใช้เทคโนโลยีนั้น แม้จะสามารถกระจายไปในกลุ่มคนจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็วและประหยัดงบประมาณ แต่ต้องยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติบางคนเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ดังนั้นการเดินเข้าไปหา  หรือให้เครือข่ายเข้าพื้นที่ยังเป็นสิ่งที่จำเป็น” ดาราราย กล่าว 

พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีกล่าวว่า สถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิงในรูปแบบออนไลน์ มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นมีมากอยู่แล้ว เพียงแต่ไม่เปิดเผย แต่ปัจจุบันมีการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารในที่สาธารณะมากขึ้น ทำให้เห็นภาพความรุนแรงเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งถือว่าการสื่อสารในโลกโซเชียล เป็นการใช้เทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่ทำให้เจ้าหน้าที่รับทราบข้อมูล เพื่อติดตามป้องกันเหตุที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ขอให้มั่นใจได้ว่าปัจจุบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีกฎหมายรองรับ เมื่อร้องขอความช่วยเหลือเข้ามาสามารถดำเนินการได้ เช่น กรณีคนขับแท็กซี่อ้างกับแรงงานข้ามชาติว่าเป็นคนจัดหางาน สุดท้ายก่อเหตุข่มขืน เมื่อเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้ก็นำตัวมาลงโทษตามกฎหมายไม่ได้มีละเว้นแต่อย่างใด 

ทั้งนี้ สำหรับช่องทางการดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น โดยกลุ่มแรงงานข้ามชาติหญิง สามารถดาวน์โหลด ผ่านมือถือ เพียงค้นหาคำว่า “Smart Domestic Workers” 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net