Skip to main content
sharethis
  • รัฐสภาล่ม ถกกฎหมายลูกมาตราเดียว พบ ส.ส. พท.- พปชร. หายเกือบยกพรรค ขณะในขั้นการขานชื่อแสดงตน มี ส.ส.-ส.ว. แสดงตนครบ แต่กลับไม่ร่วมลงมติ
  • iLaw คาดมีแนวโน้มพลิกกลับไปสูตรหาร 100
  • 'ประยุทธ์' ระบุจะสูตรไหนก็รับได้หมด ท้าเอาชื่อมาดู หลังสะพัดดีลลับ 'เพื่อไทย-พปชร.' บอก รอปีหน้า ลงเลือกตั้งเองหรือไม่
  • 'โฆษกเพื่อไทย' ชี้เสียงส่วนใหญ่ในสภาเป็นของรัฐบาลและวุฒิสภา อย่าโยนความผิดฝ่ายค้าน ยัน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์หารเท่าไหร่พร้อมสู้ทุกสูตร 
  • 'ก้าวไกล' ย้ำไม่รับมาตราเกี่ยวข้องสูตรหาร 500

10 ส.ค.2565 การประชุมร่วมรัฐสภา ครั้งที่ 13 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เพื่อพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ในวาระสอง ต่อในมาตรา 24/1 ซึ่งกรรมาธิการเพิ่มขึ้นมาใหม่ เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อในสูตรหาร 500 ซึ่งมีการอภิปรายถึงความเหมาะสมของหลักเกณฑ์ดังกล่าวนั้น สำนักข่าวไทยรายงานว่า ออน กาจกระโทก สมาชิกวุฒิสภา เสนอแนะให้ประธาน ตรวจสอบองค์ประชุมด้วยการขานชื่อแทนเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบว่าใครอยู่ร่วมประชุมบ้าง จากนั้นระบบเสียบบัตรตรวจสอบองค์ประชุม แจ้งว่ามีสมาชิกแสดงตน 366 คน เกินครึ่งมาเพียง 2 คน จากจำนวนสมาชิกรัฐสภาทั้งหมด 727 คน โดย ส.ส.ส่วนใหญ่ที่หายไปเป็น ส.ส.พรรคเพื่อไทย แสดงตนเพียง 8 คน จาก ส.ส. ทั้งหมด 132 คน, ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ แสดงตน เพียง 7 คน จาก ส.ส. ทั้งหมด 97 คน ส่วน สมาชิกวุฒิสภา 249 คน แสดงตน 154 คน ไม่แสดงตน 95 คน

อย่างไรก็ตาม หลังผลการตรวจสอบองค์ประชุมปรากฏแล้ว แต่ จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย ได้เสนอญัตติให้ตรวจสอบองค์ประชุมด้วยวิธีขานชื่อรายคนเพื่อป้องกันการเสียบบัตรแทนกัน มีผู้รับรองถูกต้อง ทำให้ ประธานต้องดำเนินการ ตรวจสอบองค์ประชุม ด้วยการขานรายชื่อ ซึ่งที่ประชุมใช้เวลาขานชื่อ เกือบ 2 ชั่วโมง มีผู้ขานชื่อแสดงตน เพิ่มเป็น 403 คน

จากนั้น พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานในที่ประชุมได้เปิดให้สมาชิกได้ลงมติ ร่างกฎหมายมาตรา 24/1 แต่ปรากฏว่าใช้เวลาลงมติอยู่นานถึง 25 นาที ซึ่งอ้างว่าสมาชิกที่มาแสดงตน ได้ออกไปรับประทานอาหารจำเป็นต้องรอเวลา จนกระทั่งเวลา 16.15 น. มีสมาชิกร่วมลงมติเพียง 342 คน ไม่ถึงครึ่งขององค์ประชุม พรเพชร จึงสั่งปิดประชุมทันที 

iLaw ชี้มีแนวโน้มพลิกกลับไปสูตรหาร 100

iLaw รายงานด้วยว่า ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560 และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา กำหนดให้รัฐสภาต้องพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ให้เสร็จภายใน 180 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 15 ส.ค. 2565 ถ้าหากว่า รัฐสภาพิจารณาไม่ทัน จะถือว่า รัฐสภาให้ความเห็นชอบกับร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ที่เป็นร่างหลักในการพิจารณาวาระที่สอง กล่าวคือ จะถือว่า ร่างกฎหมายที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอจะผ่านความเห็นชอบจากสภา

หาก ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับ ครม. ผ่านความเห็นชอบจากสภา จะทำให้สูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. กลับไปเป็นสูตร “หาร 100” ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ในปี 2564 ที่ต้องการใช้ระบบเลือกตั้งแบบ “คู่ขนาน” กล่าวคือ แยกการคำนวณที่นั่ง ส.ส.แบบแบ่งเขต และ แบบบัญชีรายชื่อออกจากกันตามบัตรเลือกตั้ง คล้ายกับระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ ปี 2540 แต่ทว่า ผลกระทบอื่นๆ ได้แก่ เนื้อหาที่มีการปรับแก้ในชั้นกรรมาธิการก็จะหายไปด้วย อาทิ เรื่องการอำนวยความสะดวกของประชาชนในการเลือกตั้ง และการบังคับให้คณะกรรมการการเลือกตั้งต้องเปิดเผยข้อมูลผลการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

iLaw ระบุต่อว่า ที่ผ่านมา รัฐสภาใช้เวลาในการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส. ในวาระสอง เป็นเวลาเกือบหนึ่งเดือน เนื่องจาก ในวันที่ 6 ก.ค. 2565 มติเสียงข้างมากของรัฐสภา ที่ประกอบไปด้วย ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้หักมติ กมธ.เสียงข้างมาก ด้วยการให้ความเห็นชอบกับ กมธ.เสียงข้างน้อย ของ ระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่ ที่เสนอให้เปลี่ยนวิธีการคำนวณที่นั่ง ส.ส. จากสูตรหาร 100 เป็นสูตรหาร 500 และทำให้ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนาน กลายเป็น ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วน ที่เอาคะแนนของพรรคมาเป็นตัวตั้งในการกำหนดจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรค เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขอกับรัฐมนตรีที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลให้แก้สูตรคำนวณการเลือกตั้งใหม่ เนื่องจาก หากใช้ระบบเลือกตั้งแบบคู่ขนานตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 จะทำให้พรรคเพื่อไทย กลับมาครองเสียงข้างมากอีกครั้ง เหมือนสมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ประกอบกับมีกระแสข่าวด้วยว่า การแก้กลับมาเป็นสูตรหาร 500 คือ การตอบแทนพรรคการเมืองขนาดเล็กก่อนจะมีการลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจในวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา

แต่ความวุ่นวายในการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้มีแค่นั้น เพราะเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2565 ประธานสภาต้องสั่งปิดการประชุมเนื่องจากมีสมาชิกมาแสดงตนเป็นองค์ประชุมไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ฝ่ายรัฐบาลต้องการพลิกกลับมาใช้สูตรหาร 100 อีกครั้ง สอดคล้องกับการให้ข่าวของพรรคการเมืองขนาดเล็กว่า อาจถูกหลอกให้ลงมติไว้วางใจรัฐบาล จนกระทั่งเกิดเหตุมีจำนวนสมาชิกมาลงมติน้อยกว่าองค์ประชุมขั้นต่ำ ทำให้ พรเพชร สั่งปิดการประชุมสภา และเลื่อนการพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ออกไป

"หากรัฐสภาพิจารณา ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ไม่แล้วเสร็จใน 180 วัน หรือ ภายใน 15 ส.ค.นี้ จะถือว่า รัฐสภาให้ความเห็นชอบกับ ร่าง พ.ร.ป.การเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับ ครม. และเปลี่ยนสูตรคำนวณที่นั่ง ส.ส. กลับไปเป็นสูตร “หาร 100” อีกครั้ง" iLaw ระบุ

'ประยุทธ์' ระบุจะสูตรไหนก็รับได้หมด ท้าเอาชื่อมาดู หลังสะพัดดีลลับ 'เพื่อไทย-พปชร.' บอก รอปีหน้า ลงเลือกตั้งเองหรือไม่

สำนักข่าวไทย รายงาน ความเห็นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ถึงกรณีการประชุมร่วมรัฐสภาล่ม ว่า ตนไม่ได้ติดตามบรรยากาศการประชุมสภา เพราะประชุม สมช. อยู่ พร้อมย้อนถามว่า แล้วสภาเขาว่าอย่างไร เมื่อผู้สื่อข่าว ระบุว่า ขณะนี้การประชุมสภา ล่มไปแล้ว นายกระฐมนตรี ย้อนถามว่า “อ้าว เป็นอะไรล่ม” ผู้สื่อข่าวจึงระบุว่า องค์ประชุมไม่ครบ เพื่อกลับมาใช้สูตรหาร 100 พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็ไม่รู้เหมือนกัน ผมก็ไม่รู้สิ กฎหมายว่าอย่างไร ก็ว่าอย่างนั้น ผมไม่ได้ติดตามหรอก เป็นเรื่องของสภา”

ส่วนกระแสข่าวการจับมือกันระหว่างพรรคพลังประชารัฐและพรรคเพื่อไทย เพื่อเล่นเกมการเมืองกลับไปใช้สูตรหาร 100 นายกรัฐมนตรี กล่าว ย้อนถามว่า “ใครจับ ให้เอาชื่อมาดู มีคนอื่นไม่อยู่ด้วยหรือไม่ พรรคอื่นมีไม่อยู่หรือไม่ มีหลายพรรค ก็ถือว่าหลายพรรค ไม่เช่นนั้นก็จับมือกันหมดสิ ก็แล้วแต่”

เมื่อถามย้ำว่า นายกรัฐมนตรี มีความเห็นอย่างไรหากย้อนกลับไปใช้สูตรหาร100 นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไม่มีปัญหาอะไรทั้งสิ้น จะหาร 100 หรือ 500 ตนก็ไม่มีปัญหา เมื่อถามว่า ได้พูดคุยกับ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐหรือไม่ ว่าเกิดอะไรขึ้น ถึงมีความเคลื่อนไหวดังกล่าว นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ขึ้นอยู่กับสื่อมวลชน อย่าไปเขียนกันเองมากนัก ส่วนที่นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิถต์ อ้างชื่อ น้องชาย พลเอกประวิตร อักษรย่อ พ. เดินเรื่องดีลลับนั้น นายกฯ กล่าวว่า ไปเอ่ยชื่อ ให้ระวังนะ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่นายกรัฐมนตรี บอกว่าหารอะไรก็ได้ไม่มีปัญหา หมายความว่ารอบหน้าจะลงเลือกตั้งเองใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ย้อนถามว่า “เลือกเมื่อไหร่ล่ะ” เมื่อผู้สื่อข่าวระบุว่า ปีหน้า นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็รอปีหน้า

'โฆษกเพื่อไทย' ชี้เสียงส่วนใหญ่ในสภาเป็นของรัฐบาลและวุฒิสภา อย่าโยนความผิดฝ่ายค้าน ยัน ส.ส. ปาร์ตี้ลิสต์หารเท่าไหร่พร้อมสู้ทุกสูตร 

ขณะที่ท่าทีพรรคเพื่อไทยก่อนประชุมสภานั้น ทีมสื่อพรรคเพื่อไทยรายงานต่อสื่อมวลชนว่า ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าพรรคเพื่อไทยจะทำให้ดีที่สุด และขอยืนยันว่า 1. พรรคเพื่อไทยมีข้อสรุปร่วมกันว่า ในวันนี้จะเข้าร่วมประชุมในการประชุมร่วมรัฐสภาดังที่ดำเนินการมาโดยตลอด โดยจะเป็นองค์ประชุมในร่างพระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมให้แล้วเสร็จ

2. พรรคเพื่อไทยทำงานอย่างสร้างสรรค์ ไม่ปฏิบัติตนอยู่เหนือกฎหมายรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นขั้นตอนการดำเนินงานจะคำนึงถึงบทบัญญัติตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ 3. พรรคเพื่อไทยยืนยันว่ามีความพร้อมสู้ศึกการเลือกตั้งในทุกกติกา  โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้ง ซึ่งพรรคยังคงยืนยันในเจตนารมณ์และจุดมุ่งหมายแรกที่ได้นำเสนอมาตั้งแต่ต้นและเป็นไปตามบทบัญญัติในธรรมนูญ 

ธีรรัตน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยถูกโยนความผิด กล่าวหาว่าทำลายการประชุมสภา  ทั้งที่องค์ประชุมเสียงส่วนใหญ่เป็นฝ่ายรัฐบาลและวุฒิสภา ซึ่งเป็นนั่งร้านของรัฐบาล  ควรจะเข้าร่วมการประชุมในทุกการประชุม พรรคเพื่อไทยยังคงยืนยันในหลักการและยึดมั่นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  ซึ่งหากย้อนไปจะพบว่าร่างแก้ไขฯ ที่พรรคได้นำเสนอไปโดยให้ใช้สูตรหาร 100 ก็เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ครั้งที่ 1) พุทธศักราช 2564 มาตรา 91 ว่า “ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมืองต้องเป็นสัดส่วนสัมพันธ์กันโดยตรงกับจำนวนคะแนนรวม” และที่สำคัญไปกว่านั้นคือ เราทำตามเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่ต้องมีที่มาเดียวกันเท่านั้น  

“เพื่อไทยถูกผลักให้เป็นฝ่ายรับผิดชอบทั้งที่เรายืนยันหารที่ 100 มาตลอด และเมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า 500 เราก็ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมาย  เพราะเคารพเสียงส่วนใหญ่ตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่กลุ่มคนที่กลับไปกลับมา ไม่มั่นใจ กลัวจะทำผิดรัฐธรรมนูญ หรือต้องการยื้อเวลาเพื่ออยู่ต่อ  กลับลอยตัวเหนือปัญหา เราไม่เล่นนอกกติกา และยังคงยึดมั่นในหลักการมาโดยตลอด  ยืนยันว่าจะไม่วนกลับไปที่เดิมอีก เพราะตอบสังคมไม่ได้ว่าเหตุใดเรายังกลับไปถกเถียงกันที่หาร 500 ทั้งที่ขัดรัฐธรรมนูญ” ธีรรัตน์ กล่าว

'ก้าวไกล' ย้ำไม่รับมาตราเกี่ยวข้องสูตรหาร 500

ขณะที่ท่าทีพรรคฝ่ายค้านอีกพรรคอย่างพรรคก้าวไกล ก่อนประชุมสภานั้น ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานต่อสื่อมวลชนว่า พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและรองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า พรรคก้าวไกลเราจะทำหน้าที่ของเรา โดยการเข้าประชุมและจะแสดงจุดยืนว่า เราไม่สามารถที่จะเห็นด้วยกับมาตราที่เกี่ยวข้องกับที่มีการแก้ไข มาตรา 23 เป็นแบบหาร 500 โดยจะร่วมลงมติไม่เห็นด้วยกับใน 2 มาตราที่เกี่ยวเนื่องดังกล่าว และจะอยู่ร่วมพิจารณาต่อเนื่องในมาตราอื่นๆ ต่อไป ทั้งนี้เราเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ผ่านมานั้น ไม่ได้เปิดโอกาสให้คำนวนแบบหาร 500 ได้ ดังนั้น มาตราที่เกี่ยวข้องเราก็คงไม่เห็นด้วย ส่วนบางมาตราก็จะเป็นการงดออกเสียงไป

"กรณีเรื่องสูตรการคำนวนนั้น สังคมให้ความสนใจกันมากและตั้งคำถามเยอะมาก ซึ่งผมอยากชวนคิดว่า ทั้งหมดของปัญหานี้ก็เกิดมาจาก 2 ลุง คือ ลุงตู่ ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และลุงป้อม ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ตอนแรกจะเอาหาร 100 แล้วก็มาเปลี่่ยนใจกลับในสิ่งซึ่งเป็นร่างที่คณะรัฐมนตรีเสนอเสียเอง มาเป็นหาร 500 แล้วพอถึงวันนี้ ก็จะกลับไปเอาหาร100 อีกแล้ว ทั้งหมดเป็นสมการทางการเมืองที่ต้องคำถามว่าประชาชนอยู่ตรงไหน แทนที่เราจะแก้ไขระบบเลือกตั้งเพื่อให้เป็นการแก้โจทย์การเมืองของประเทศ หรือเพื่อแก้ไขระบบเลือกตั้งเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.ในสภาที่สะท้อนเสียงของผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุด กลับไม่เป็นแบบนั้น กลับเป็นการแก้เพื่อให้ตนเองได้อยู่ในอำนาจ เพื่อให้มั่นใจว่าตนเองจะได้เปรียบทางการเมือง

พิจารณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า พรรคก้าวไกลเราคิดว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือจะต้องมีกฎหมายสำหรับการเลือกตั้ง จะเป็นกฎกติกาไหน ระบบไหนก็เอาเถอะ ตอนนี้พี่น้องประชาชนรู้สึกเบื่อหน่าย เวลามองเข้ามาที่รัฐสภาแล้วก็เกิดคำถามว่าพวกเรากำลังทำอะไรกันอยู่ มีประชาชนอยู่ในสมการนี้อยู่หรือเปล่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net