Skip to main content
sharethis

'ปิยบุตร' เสนอ 2 ทางเลือกดันแก้รัฐธรรมนูญให้ทันปี’70 หลังกรรมาธิการวิสามัญของ สว. มีมติให้กลับไปใช้ ‘Double Majority’ และอาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องทอดยาวออกไป


26 ก.ย. 2567 เพจเฟซบุ๊ก ‘ปิยบุตร แสงกนกกุล’ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย โพสต์เฟซบุ๊กวันนี้ (26 ก.ย.) เสนอ 2 วิธีแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ทันปี 2570 หลังจากวานนี้ (25 ก.ย.) มีรายงานว่ากรรมาธิการวิสามัญวุฒิสภา มีมติให้กลับไปใช้ ‘Double Majority’ หรือระบบในเสียงข้างมาก 2 ชั้นในการทำประชามติ และอาจทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกยืดเวลาออกไป

เดิมทีรัฐบาลตั้งแต่สมัย เศรษฐา ทวีสิน เป็นต้นมา วางแผนทำประชามติรวม 3 ครั้ง ประกอบด้วย ครั้งที่ 1 ประชามติต้นปี 2568 เพื่อถามประชาชนว่าเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยไม่แก้หมวด 1 หมวด 2 หรือไม่

ครั้งที่ 2 ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเพิ่มบทบัญญัติหมวดใหม่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อร่างแก้ไขนี้ผ่านรัฐสภาแล้ว ก็ต้องไปออกเสียงประชามติ และครั้งที่ 3 มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ต้องนำร่างใหม่นั้นไปออกเสียงประชามติ

ที่เป็น 3 ครั้ง รัฐบาลเห็นว่าการออกเสียงประชามติในครั้งแรกจะเกิดได้ ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เสียก่อน เพื่อเปลี่ยนจากเกณฑ์ ‘ผู้มาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิลงเสียงประชามติ บวกกับผู้เห็นด้วยต้องเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติ’ หรือเรียกว่า ‘Double Majority’ ให้เหลือเพียง 'ผู้เห็นด้วยเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิลงเสียงประชามติ' Single Majority

ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข พ.ร.บ.ประชามตินี้ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว อยู่ในการพิจารณาของวุฒิสภา

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าเมื่อวานนี้ (25 ก.ย.) มีรายงานข่าวว่า คณะกรรมาธิการวิสามัญของวุฒิสภา มีมติให้กลับไปเป็น Double Majority ตามเดิม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ปิยบุตร ระบุว่า หากไปจนจบวาระ 3 ในชั้นวุฒิสภาแล้วยังเป็นเช่นนี้ ก็หมายความว่าวุฒิสภามีมติแก้ไขจากร่างที่ผ่านสภาผู้แทนราษฎร และหากสภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของวุฒิสภา ก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของ 2 สภา ซึ่งก็ต้องทอดเวลาออกไปอีก

จากนั้น หากสภาใดสภาหนึ่งยังไม่เห็นด้วยกับร่างที่คณะกรรมาธิการร่วม 2 สภาทำกันมา ร่างนั้นก็จะถูกยับยั้งไว้ 180 วัน สภาผู้แทนราษฎรจึงจะนำกลับมาลงมติยืนยันได้

ดังนั้น เมื่อดูตารางเวลาของกระบวนการนิติบัญญัติกรณีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติแล้ว จึงไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมีการออกเสียงประชามติรอบแรกในต้นปี 2568

อย่างน้อยๆ ต้องเสียเวลาเพิ่มอีก 8-10 เดือน กว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) แล้วประชามติ

เลือก สสร.มาทำร่างใหม่ แล้วประชามติ ก็ต้องบวกเวลาเพิ่มไปอีกอย่างน้อย 2 ปี

ดังนั้น โรดแมปที่แกนนำรัฐบาลพูดกันว่า เลือกตั้งปี’70 จะมีรัฐธรรมนูญใหม่ให้ใช้ จึงไม่มีทางเป็นไปได้แล้ว และด้วยสถานการณ์ที่มีคนพยายามใช้กลไกถ่วงเวลาการแก้รัฐธรรมนูญเช่นนี้ ปิยบุตร เห็นว่ารัฐบาลและรัฐสภามีทางเลือก 2 ทาง

ทางเลือกแรก

ปิยบุตร เสนอว่าให้ลดการออกเสียงประชามติเหลือเพียง 2 ครั้ง กล่าวคือเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่เข้ารัฐสภาเลย (ถ้ารีบเสนอวันนี้เลย ก็สามารถพิจารณาวาระแรกทันในสมัยประชุมนี้ ซึ่งจะสิ้นสุดสิ้นเดือน ต.ค. 2567) เมื่อผ่านรัฐสภา ก็ไปออกเสียงประชามติ

เมื่อผ่าน ก็มี สสร. เมื่อ สสร.ทำร่างใหม่เสร็จ ก็นำมาออกเสียงประชามติ

ทางเลือกนี้ ประหยัดเวลาไปอีก 8-10 เดือน และทำประชามติเพียง 2 ครั้ง ประหยัดงบประมาณไปได้มาก

ปิยบุตร ระบุว่า ประธานรัฐสภาไม่ต้องกังวล ต้องกล้าบรรจุเรื่องเข้ารัฐสภา เพราะคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ บอกว่าการทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้องทำประชามติ แต่ไม่ได้บอกว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง กรณีนี้ทำสองครั้ง (แก้ให้มี สสร. 1 ครั้ง และ ร่างใหม่ที่ สสร.ทำ อีก 1 ครั้ง)

ทางเลือกที่สอง

ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เสนออีกทางเลือก โดยแก้รัฐธรรมนูญ 2560 รายมาตรา ตั้งแต่หมวด 3 จนถึงหมวดสุดท้าย ตั้งแต่มาตรา 25 ถึงมาตรา 279

ในเมื่อการมี สสร.ในเมื่อการทำรัฐธรรมนูญใหม่ มีอุปสรรคมากมาย กังวลเรื่องนั้น กลัวเรื่องนี้ เถียงกันอยู่แค่ว่าต้องมีประชามติกี่ครั้ง ต้องแก้ไขกฎหมายประชามติก่อนหรือไม่ อย่างไร 
อย่ากระนั้นเลย ในเมื่อรัฐสภาเป็นผู้ทรงอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ก็สามารถดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ใน หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเสีย

ปัญหาหรือข้อกังวลต่างๆ ก็ตกไป

การแก้ไขตั้งแต่ มาตรา 25 ถึง มาตรา 279 ไม่ใช่การทำใหม่ทั้งฉบับอยู่แล้ว ย่อมไม่ติดกับดัก “ประชามติ” ที่ปรากฏอยู่ในคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อกังวลเรื่องจะมาแก้ไข หมวด 1 หมวด 2 หรือไม่ ก็ไม่มี เพราะนี่คือการเริ่มแก้ตั้งแต่หมวด 3 เป็นต้นไป

และกระบวนการนี้ทั้งหมดจบได้ด้วยประชามติครั้งเดียวตอนท้าย หลังจากรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว

ทางเลือกนี้แก้ทั้งกับดัก และยังช่วยประหยัดเวลา และงบประมาณ

มีแต่ทางเลือก 2 ทางนี้เท่านั้น ที่จะทำให้เรามีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้ทันในปี 2570

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net