เสวนา: รถแห่ วัฒนธรรมมวลชน สะท้อนตัวตนคนอีสาน

งานเสวนา “รถแห่: วัฒนธรรม (ประชาชน) บันเทิงของคนชนชั้นกลางใหม่” ชวนมองรถแห่ในมุมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมมวลชนที่บ่งบอกตัวตนทางดนตรีของอีสาน จากดนตรีในงานพิธีกรรมท้องถิ่นขยายไปสู่ความบันเทิงของคนทั้งในและนอกอีสาน

 

1 ก.ย. 2565 เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2565 ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้จัดงานเสวนาในหัวข้อ “รถแห่: วัฒนธรรม(ประชาชน)บันเทิงของคนชนชั้นกลางใหม่” โดยมี จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์ นักศึกษาปริญญาโท คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับรถแห่ในอีสานที่แสดงถึงความเป็นวัฒนธรรมบันเทิงของอีสานใหม่ เรื่อง “รถแห่อีสาน: มหรสพสัญจรข้ามพรมแดนวัฒนธรรม” มาเป็นผู้บรรยาย

จารุวรรณ ด้วงคำจันทร์

รถแห่ในมุมประวัติศาสตร์สังคม

จารุวรรณ กล่าวว่า ในช่วง 5 – 10 ปีนี้ คนรถแห่ที่มีความเป็นชนชั้นกลางใหม่จำนวนไม่น้อยสามารถเติบโตกลายเป็นผู้มีทุนทรัพย์ในการพัฒนาฐานเศรษฐกิจของตัวเอง มีทุนทางสังคม มีอัตลักษณ์ และมีจุดขาย กระทั่งกลายเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ในสังคมได้ในช่วงเวลาอันรวดเร็ว ในแง่ประวัติศาสตร์รถแห่กลายเป็นส่วนหนึ่งในฐานะประวัติศาสตร์สังคมอีสานและในภูมิภาคในห้วยเวลานี้ เนื่องจากวัฒนธรรมรถแห่มีการแพร่กระจายไปในหลายพื้นที่นอกเหนือจากอีสาน

ความสำคัญของรถแห่คือการบันทึกข้อมูลมโหรสพ ความบันเทิง ดนตรี ของผู้คนในช่วงเวลาหนึ่งที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมดนตรีอีสานในอดีต ที่มีเบื้องหลังสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมและเศรษฐกิจในบริบทของท้องถิ่นที่สัมพันธ์กับโลกภายนอก

โดยจารุวรรณได้ทำการศึกษาโดยการเก็บข้อมูลและสัมภาษณ์รถแห่จากจังหวัดมหาสารคามและจังหวัดชัยภูมิเป็นหลัก และยังทำการศึกษาโดยสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วมในงานบุญต่างๆ ทั้งในและนอกพื้นที่อีสาน รวมถึงการสังเกตการณ์ในพื้นที่สื่อออนไลน์ โดยใช้แนวคิดในการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับดนตรีวัฒนธรรมอีสาน มานุษยวิทยาดนตรี วัตถุทางวัฒนธรรม และมานุษยวิทยาดิจิทัล เข้ามาจับในการมองรถแห่

ตัวอย่างความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในอีสาน

 

อีสานกับความหลากหลายด้านชาติพันธุ์

คนจำนวนไม่น้อยเข้าใจว่าอีสานมีแต่กลุ่มที่เป็นวัฒนธรรมลาว แต่ในความเป็นจริงอีสานยังเรื่องชาติพันธ์และความหลากหลายอยู่ไม่น้อย

บันทึกของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อครั้งตรวจราชการที่อีสานปี 2449 เป็นหลักฐานแรกที่แสดงให้เห็นว่า ในอีสานมีกลุ่มชาติพันธุ์ 8 กลุ่ม จารุวรรณไปค้นที่สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติพบว่ามีเอกสารคำร้องทุกข์จากกลุ่มชาวปาทานจำนวน 20 ครัวเรือนในจังหวัดร้อยเอ็ด เป็นหลักฐานยืนยันการตั้งถิ่นฐานของชาวปาทานที่เดินทางมาค้าขายวัวในอีสานที่มีอยู่อย่างยาวนานได้ รวมไปถึงยังมีพ่อค้ากลุ่มชาวซิกข์ที่ย้ายเข้ามาอยู่อีสานในหลายระลอกตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมาเปิดร้านขายเสื้อผ้าในหัวเมืองใหญ่ๆ เช่น โคราช อุบล หรือขอนแก่น แล้วค่อยกระจายไปจนทั่วภาคอีสาน

กลุ่มคนจีนแต้จิ๋วเป็นกลุ่มคนที่มีความสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ คนจีนแต้จิ๋วมีความสำคัญในอีสานหลังการเกิดขึ้นของรถไฟสายอีสาน ทำให้อีสานมีอาชีพใหม่ๆ ก่อเกิดขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่น ห้องแถว ร้านค้า การเลี้ยงสัตว์ต่างๆ เป็นต้น

จารุวรรณ กล่าว่า ในระยะกว่าร้อยปีที่ผ่านมา อีสานได้สร้างอัตลักษณ์ความเป็นตัวตนของตนเองที่ไม่เป็นทั้งลาวและไทย สิ่งต่างๆ ถูกส่งผ่านและแสดงออกทางศิลปะและดนตรีที่ตกทอดมาจนถึงคนอีสานในยุคปัจจุบัน

เสียงดนตรีของรถแห่

เสียงดนตรีอีสานที่สื่อถึงตัวตนของคนอีสาน

เสียงดนตรีของรถแห่ที่ปรากฏอยู่ถือเป็นส่วนหนึ่งในผลผลิตทางวัฒนธรรมที่มีการผสมผสานระหว่างรากวัฒนธรรมลาวพื้นถิ่น และความทันสมัยในแบบวัฒนธรรมร่วมสมัยต่างๆ หรือที่เรียกว่า วัฒนธรรมสมัยใหม่ ที่ประกอบสร้างโดยคนอีสานปัจจุบันที่มีรสนิยมทางเสียง และประสบการณ์ที่ฝังลึกเข้าสู่ประสาทสัมผัสของผู้คนอีสาน โดยประกอบไปด้วย คำร้อง ภาษา จังหวะ สำเนียง ที่ผูกพันกับชีวิตวัฒนธรรมของชาวบ้านที่สะสมมาแล้วก็ได้รับการถ่ายทอดส่งต่อกันมาอย่างยาวนาน ฉะนั้นบริบททางเสียงดนตรีอีสานจึงหยั่งรากลึกเข้าถึงมโนสำนึกของคนอีสาน นักดนตรีอีสานไม่ว่ากี่ยุคสมัยจึงยังคงรักษาอัตลักษณ์ของตัวเอง

เสียงดนตรีอีสานเป็นเสียงที่เรียบง่ายไม่มีโน้ตอะไรมาก เครื่องดนตรีทำมาจากวัสดุทางธรรมชาติที่หาได้ในท้องถิ่น

“มีนักวิชาการได้ศึกษาและสะท้อนว่าเสียงแคนนั้นสะท้อนความเป็นตัวตนของคนอีสานที่เกิดจากภูมิปัญญาแล้วก็เป็นเครื่องดนตรีพิเศษที่ใช้สื่อสารกับโลกแห่งจิตวิญญาณในเรื่องพิธีกรรม และแคนก็ยังผูกพันธ์กับแรงงานพลัดถิ่นที่เมื่อใดได้ยินเสียงก็รู้สึกเหมือนได้กลับบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง” จารุวรรณ กล่าว

 

พัฒนาการและการสร้างตัวตนของรถแห่

ดนตรีกับความสำคัญในด้านชาติพันธุ์

หากมองในด้านของรถแห่ทาง “อีสานใต้” จะมีการร้องเล่นแบบ “กันตรึม” มีการใช้ซอที่ได้รับอิทธิพลมาจากทางเขมร ขณะที่ “อีสานกลาง” โดยเฉพาะชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคราม จะเป็นการร้องเล่นเพลง “หมอลำ” เป็นหลัก ชาติพันธุ์ต่างๆ เหล่านี้เป็นพื้นฐานการแสดงออกทางดนตรีที่ทำให้รถแห่แต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน แต่หากมองในภาพรวมก็ยังคงเป็นวัฒนธรรมรถแห่ของอีสานอยู่ดี

รถแห่เป็นภาพแทนของคนอีสานที่มีพัฒนาการและการสร้างตัวตนจากการต่อยอดวัฒนธรรมเดิมเข้ากับดนตรีสมัยใหม่ รถแห่สามารถสร้างวัฒนธรรมที่เป็นยอมรับได้ทั้งคนในและนอกอีสาน

จากการศึกษาจารุวรรณมองว่า รถแห่ซึ่งเป็นปรากฏในปัจจุบัน ผ่านการผสมผสานระหว่างดนตรีพื้นบ้านที่มีในอีสานมาแล้วก่อนหน้านี้ ในสองทางคือ ดนตรีแห่กลองยาวและดนตรีหมอลำซิ่ง จากช่วงทศวรรษ 2550 จนมาถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการรถแห่ได้ใช้ประสบการณ์ทางสังคมและวัฒนธรรมของตัวเองผนวกเข้ากับดนตรีสมัยใหม่ที่เข้ามาจนเกิดมาเป็นรถแห่ในปัจจุบัน

รถแห่จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

 

สมาชิกและรายได้ของรถแห่

จารุวรรณ กล่าวว่า บนรถแห่มีสมาชิกราวๆ 8-12 คน ประกอบไปด้วย เจ้าของรถส่วนใหญ่มักจะเป็นเจ้าของวง และจะมีนักร้อง นักดนตรี รวมไปถึงตากล้องที่คอยบันทึกภาพและวิดีโอ เมื่อทำงานเสร็จแล้วก็สามารถเคลื่อนรถออกไปได้โดยไม่ต้องเสียเวลาเก็บของ จารุวรรณมองว่า เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจการรถแห่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เพราะว่าในหนึ่งวันรถแห่สามารถรับงานได้หลายที่

นอกจากการรับงานแห่ รายได้เสริมอีกอย่างหนึ่งของคนรถแห่คือการทำยูทูป หรือใช้เฟซบุ๊ก Live ในการหาเงิน และรายได้ที่สำคัญอีกรูปแบบมาจากลวดลายที่อยู่บนรถแห่ ซึ่งมีหน้าที่หลายอย่าง อย่างแรกคือการบ่งบอกถึงชื่อวง สอง บ่งบอกคุณภาพของเครื่องเสียงจากแหล่งที่รถแห่แต่ละคันไปทำ ซึ่งมีอยู่ไม่กี่เจ้าในประเทศไทย สาม บอกช่องทางการติดต่อ สี่ บอกผู้สนับสนุน และอย่างสุดท้าย บอกถึงลิขสิทธิ์เพลง โดยรถแห่เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เพลงของค่ายเพลงได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น

ลวดลายที่อยู่บนรถแห่

ในช่วงโควิด-19 รถแห่มีการปรับตัวไปตามสถานการณ์ โดยสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญมากของวงการรถแห่ที่ผู้ประกอบการต้องปรับเปลี่ยนการแสดง ใน 4 แนวทาง ด้วยกัน

1.การปรับตัวทางด้านสาธารณะสุข

2.การปรับตัวทางด้านธุรกิจ

3.การปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยี

4.การปรับตัวโดยการเคลื่อนไหวทางการเมือง

 

รถแห่กับความเป็นวัฒนธรรมมวลชน

จารุวรรณ กล่าวว่า รถแห่เป็นดนตรีแบบอีสานใหม่ที่ชี้ให้เห็นถึงการข้ามพรมแดนทางกายภาพไปสู่พื้นที่ออนไลน์ที่ปรากฏอยู่ในสายตาผู้ชมทั้งภายในและนอกอีสาน

ปรากฎการณ์เหล่านี้ได้เห็นถึงความสัมพันธ์ของรถแห่ที่ถูกนำไปใช้ในแต่ละพื้นที่ อาทิ งานแห่บั้งไฟ งานแต่งงาน ฯลฯ ซึ่งการเล่นดนตรีเพื่อตอบสนองพิธีกรรมในท้องถิ่นถูกขยายไปสู่ความบันเทิงภายนอก และกลายเป็นวัฒนธรรมมวลชน ซึ่งมีทั้งค่ายดังและศิลปินใหญ่ๆ สนใจในเรื่องของรถแห่ ทำให้เห็นว่ารถแห่สามารถสร้างวัฒนธรรมของตนเอง และสามารถทำให้กลุ่มทุนหันมาสนใจที่จะทำรถแห่ได้

“การศึกษารถแห่ในมิติประวัติศาสตร์สังคมของชาวบ้านตัวเล็กตัวน้อย จึงได้เห็นพลวัตที่มีความเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขปัจจัยต่างๆ ซึ่งเราไม่อาจเพิกเฉยในประเด็นเล็กน้อยต่างๆ เหล่านี้ในสังคมได้ โดยเฉพาะวัฒนธรรมบันเทิงที่คิดว่าเป็นเรื่องของความสนุกสนานเท่านั้น แต่เบื้องหลังสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันมีรายละเอียดของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรมแทรกซ้อนอยู่ทุกการเปลี่ยนแปลง ทุกกิจกรรม” จารุวรรณ กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท