กสม.ชี้ คฝ.ละเลยให้ความช่วยเหลือ ‘มานะ หงษ์ทอง’ ผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส จากเหตุสลายการชุมนุมแยกดินแดง

กสม. ชี้ คฝ.ละเลยให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ ‘มานะ หงษ์ทอง’ ผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ศีรษะ ถูกลูกหลงการสลายการชุมนุมที่แยกดินแดง เมื่อ 15 ส.ค. 64 จนป่วยทุพพลภาพและเสียชีวิตในเวลาต่อมา พร้อมเสนอ สตช. กำชับ จนท.ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันดับแรก พร้อมเร่งหาตัวคนผิดให้เร็วที่สุด

 

8 ก.ย. 2565 ทีมสื่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รายงานต่อสื่อวันนี้ (8 ก.ย.) วสันต์ ภัยหลีกลี้ และสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แถลงข่าวเด่นประจำสัปดาห์ครั้งที่ 32/2565 โดยมีวาระสำคัญดังนี้

วสันต์ ภัยหลีกลี้ และสุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.)

กสม. ชี้ เจ้าหน้าที่ คฝ. ละเลยให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ กรณี มานะ หงษ์ทอง ได้รับบาดเจ็บสาหัสในการสลายการชุมนุม-ให้ สตช. ย้ำถึงหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บหรืออันตราย

วสันต์ เปิดเผยว่า เมื่อ มี.ค. 2565 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากนายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) ขอให้ตรวจสอบกรณี มานะ หงษ์ทอง วัย 64 ปี ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ศีรษะโดยอ้างว่าเป็นผลมาจากการใช้กระสุนยางในการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (เจ้าหน้าที่ คฝ.) เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 บริเวณแฟลตดินแดง กรุงเทพมหานคร ซึ่งเหตุเกิดขณะที่มานะกำลังเดินทางกลับที่พักอาศัยโดยที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุม อาการบาดเจ็บดังกล่าวเป็นผลให้มานะ ต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลเป็นระยะเวลากว่า 1 เดือน และกลับมารักษาตัวต่อที่บ้านพักโดยไม่สามารถสื่อสาร เดิน และทำกิจธุระส่วนตัวด้วยตนเองได้ ต่อมา มานะได้เสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 โดยมีสาเหตุมาจากอาการแทรกซ้อนของโรคโควิด-19 ทั้งนี้ ผู้แทนโดยชอบธรรมของมานะ เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลดินแดงแล้ว แต่คดียังไม่มีความคืบหน้า และยังไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา จึงขอให้ตรวจสอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กสม. เห็นว่า กรณีดังกล่าวมีประเด็นที่ต้องพิจารณาว่า การปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ คฝ. ผู้ถูกร้อง ในวันดังกล่าว มีการกระทำหรือการละเลยการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อมานะ หงษ์ทอง หรือไม่ โดยเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ได้รับรองสิทธิในชีวิตและร่างกายของบุคคล และสิทธิในการที่จะได้รับการเยียวยาโดยรัฐจากการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพหรือจากการกระทำความผิดอาญาของบุคคลอื่น การรับรองสิทธิเช่นนี้ย่อมก่อหน้าที่ให้แก่รัฐที่จะต้องปกป้องคุ้มครองและดำเนินมาตรการชดเชยเยียวยาให้แก่ผู้ถูกละเมิดอย่างเหมาะสม โดยที่การเยียวยาหมายความรวมถึงการสืบสวนสอบสวนทำให้ข้อเท็จจริงกระจ่างชัด สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมและลงโทษอย่างเหมาะสมได้ภายในระยะเวลาอันควร นอกจากนี้ ตามหลักสากลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมดูแลการชุมนุมนั้น เจ้าหน้าที่ของรัฐยังมีหน้าที่ให้ความคุ้มครองแก่สื่อมวลชน ผู้สังเกตการณ์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่ทางการแพทย์ และประชาชนทั่วไป ซึ่งอยู่ในพื้นที่การชุมนุมให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง ทั้งยังมีหน้าที่ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บในพื้นที่การชุมนุมโดยเร็วที่สุดด้วย

จากการตรวจสอบ แม้ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าสาเหตุการบาดเจ็บของมานะ เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ คฝ. แต่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในช่วงเวลาที่คาดว่ามานะได้รับบาดเจ็บ พบเจ้าหน้าที่หลายนายประจำการอยู่ในพื้นที่ โดยบริเวณที่เกิดเหตุมีไฟส่องสว่างชัดเจน ทั้งยังไม่มีสิ่งกีดขวางมาบดบังที่จะทำให้เจ้าหน้าที่ คฝ. มองไม่เห็นนายมานะซึ่งนอนหมดสติอยู่ที่พื้น และไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ได้แจ้งหรือประสานไปยังหน่วยแพทย์ให้เข้ามาดูแลรักษา แต่กลับปล่อยให้มานะ นอนหมดสติอยู่ในบริเวณดังกล่าวกระทั่งมีประชาชนผ่านมาพบและแจ้งอาสาสมัครทางการแพทย์ให้เข้ามาดูแลช่วยเหลือเอง การเพิกเฉยดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ คฝ. จึงอาจเพิ่มความเสี่ยงให้มานะ ได้รับอันตรายจากการไม่ได้รับการปฐมพยาบาลอย่างทันท่วงที พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ นอกจากจะสะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ไม่สามารถคุ้มครองความปลอดภัยในสถานการณ์การชุมนุมให้แก่ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมแล้ว ยังถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่สอดคล้องกับหลักสากลที่ได้วางมาตรฐานให้เจ้าหน้าที่ คฝ. ให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์แก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บโดยเร็วที่สุด พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ คฝ. ผู้ถูกร้องจึงถือเป็นการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษชน

เหตุการณ์ขณะที่มานะ หงษ์ทอง ชายวัย 64 ปี ถูกลูกหลง บาดเจ็บสาหัสบริเวณศีรษะ เมื่อ 15 ส.ค. 2564

สำหรับประเด็นการเยียวยา แม้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจะมอบเงินช่วยเหลือให้แก่ทายาทของมานะแล้วเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 แต่ กสม. มีข้อสังเกตว่าอาจยังไม่เพียงพอและเหมาะสม เพราะนอกจากการชดเชยเยียวยาในรูปของตัวเงินแล้ว ควรรวมไปถึงการสืบสวนสอบสวนเพื่อทำให้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์การละเมิดสิทธิและเสรีภาพหรือการกระทำความผิดทางอาญาได้รับการคลี่คลายข้อสงสัยและนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีข้อสงสัยว่าผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ อย่างไรก็ดี จากข้อเท็จจริงปรากฏว่าคดีความที่ทายาทของมานะ ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ยังอยู่ในระหว่างการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดินแดง ซึ่งนับเป็นระยะเวลาที่เนิ่นนานพอสมควรแล้ว กรณีนี้จึงยังไม่อาจถือได้ว่าหน่วยงานของรัฐได้ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิที่จะได้รับการเยียวยาให้แก่นายมานะและครอบครัวอย่างเหมาะสม และไม่สามารถประกันสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในการที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างรวดเร็วได้

กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2565 จึงเห็นควรมีข้อเสนอแนะไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สรุปได้ดังนี้

1) มาตรการในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องกำชับให้เจ้าหน้าที่ คฝ. ใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมดูแลการชุมนุม โดยเฉพาะเมื่อต้องมีการใช้กำลังและเครื่องมือควบคุมฝูงชนที่อาจส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บหรืออันตรายต่อผู้ชุมนุมและประชาชนโดยทั่วไป และกำชับให้ดำเนินการจัดหาเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์และเครื่องมืออุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่มีความเหมาะสม มาสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุมอย่างเพียงพอทุกครั้ง และไม่ว่าสถานการณ์ในพื้นที่การชุมนุมจะร้ายแรงเพียงใด สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องกำชับไปยังเจ้าหน้าที่ คฝ. ให้ตระหนักถึงหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นอันดับแรก รวมถึงต้องอำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในการช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บทุกกรณีด้วย

นอกจากนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องทำการสอบสวนกรณีที่ปรากฏว่าไม่มีเจ้าหน้าที่ คฝ. รายใดทำการแจ้งหรือประสานไปยังเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ให้เข้ามารักษาพยาบาลมานะ หงษ์ทอง ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสในพื้นที่การชุมนุมอย่างทันท่วงที โดยหากพบข้อเท็จจริงจากการสอบสวนว่ามีการเพิกเฉยละเลยเกิดขึ้น ก็ให้ดำเนินการตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาดังกล่าวตามสัดส่วนของหน้าที่ความรับผิดชอบ ทั้งนี้ ให้ดำเนินการภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งรายงานผลการตรวจสอบนี้

2) มาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องสั่งการไปยังสถานีตำรวจนครบาลดินแดงให้เร่งรัดการสืบสวนสอบสวนคดีของมานะ หงษ์ทอง และนำผู้กระทำความผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการคลี่คลายข้อสงสัย และประกันความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้แก่ประชาชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท